รู้หรือไม่ ช่วงเวลาเพียงแค่ 6 ปีที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก ประกาศภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระดับโลกไปแล้วกี่ครั้ง นับตั้งแต่มีการระบาดของโรคอุบัติใหม่ อย่าง อีโบลาปี 2557 จนมาไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในปี 2552 และโควิด-19
เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2563 องค์การอนามัยโลก ประกาศให้โคโรน่าไวรัส เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern หรือ PHEIC) เนื่องจากพบการแพร่ระบาดของโรคนี้นอกประเทศจีน
กระทั่ง 2 เดือนผ่านไป ภูมิทัศน์ของโรคไวรัสโควิด-19 สวิงเปลี่ยนทิศ การระบาดของโรควันนี้ไม่จำกัดเฉพาะอยู่แต่ในประเทศจีนเท่านั้น แต่กลับขยายวงกว้างไปเรื่อยๆ ไม่มีทีท่าจะหยุด
ตัวเลข ณ วันที่ 11 มีนาคม 113 ประเทศพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่า ขณะที่ผู้ป่วยยืนยันทั่วโลก 118,326 ราย เสียชีวิต 4,292 ราย จน องค์การอนามัยโลก ประกาศให้ COVID-19 เป็น โรคระบาดที่แพร่กระจายไปทั่วโลก (pandemic)
ถือได้ว่า องค์การอนามัยโลกการออกมาส่งสัญญาณ และสั่นกระดิ่ง เตือนทุกประเทศให้ใช้มาตรการที่เข้มข้นเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด (อ่านประกอบ:องค์การอนามัยโลกชี้แค่2สัปดาห์'โควิด-19‘ระบาดเพิ่ม13เท่า ไม่เคยเห็นมาก่อน)
แต่เรารู้หรือไม่ เพียงระยะเวลาแค่ 6 ปี องค์การอนามัยโลก ได้ประกาศภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระดับโลกไปแล้วกี่ครั้ง นับตั้งแต่มีการระบาดของโรคอุบัติใหม่ อย่าง อีโบลาปี 2557 (2014) จนมาล่าสุด คือ จากการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในปี 2552
โรคอุบัติใหม่ ที่องค์การอนามัยโลกประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ มีโรคอะไรบ้างมานับกัน...
@ "ไวรัสอีโบลา" ซึ่งแพร่ระบาดในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ตั้งแต่ปี 2561 (2018) มีผู้เสียชีวิตกว่า 1,650 คน กระทั่งวันที่ 17 กรกฎาคม 2562 (2019) องค์การอนามัยโลกประกาศให้เป็น ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ
@ “โรคไข้ซิกา” (Zika Fever) ระบาดตั้งแต่ปี 2559 ที่มีต้นกำเนิดในบราซิลแพร่กระจายไปยังอเมริกา และในที่สุดก็ไปยัง 84 ประเทศ โดยมียุงลาย เป็นพาหะนำโรค องค์การอนามัยโลกประกาศให้เป็น ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2562 (2019)
@ การระบาดของโรคโปลิโอ ปี 2557 (2014) ทั้งที่ปากีสถาน แคเมอรูน ซีเรีย และฟิลิปปินส์ อิหร่าน ปาปัวนิกี โมซัมบิก และคองโก จนองค์การอนามัยโลกประกาศให้เป็น ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2557
@ "โรคอีโบลา" เกิดขึ้นในแอฟริกาตะวันตก เมื่อปี 2557 เริ่มขึ้นในหมู่บ้านเล็ก ๆ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศกินี ก่อนที่ไวรัสแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของโลก เพียงช่วงเวลาไม่กี่สัปดาห์ องค์การอนามัยโลกประกาศให้เป็น ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2557
การระบาดของโรคอีโบลา เริ่มปี 2557 และมาหยุดลงในปี 2559 พบผู้ป่วยต้องสงสัย 28,639 ราย ขณะที่มีผู้เสียชีวิต 11,316 คนทำให้เป็นโรคระบาดอีโบลาที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์
และล่าสุด ไวรัสโคโรน่า หรือ โควิด-19 โรคอุบัติใหม่ ล่าสุดที่ทั่วโลกกำลังจับตา จะขยายวงกว้างและรุนแรงมากขนาดไหน
ขณะที่การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ H1N1 มีความรุนแรงไม่แพ้กัน องค์การอนามัยโลก ก็เคยประกาศให้เป็น the flu pandemic of 2009 ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วกว่า 18,000 ราย มากกว่า 214 ประเทศ