ผ่าน 1 สัปดาห์หลังเหตุโจมตีฐานปฏิบัติการและจุดตรวจของชุดคุ้มครองตำบล หรือ ชคต. ในหมู่บ้านกอแลบิเละ ตำบลปะกาฮะรัง อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี สถานการณ์ที่ชายแดนใต้กลับสู่ภาวะนิ่งงัน
มีประเด็นหลังเหตุการณ์ที่น่าสนใจและไม่ควรมองข้าม ก็คือการประกาศมาตรการของ แม่ทัพภาคที่ 4 "บิ๊กเดฟ" พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ เพื่อติดตามไล่ล่ากลุ่มคนร้าย และป้องกันไม่ให้เกิดเหตุรุนแรงซ้ำซ้อน
มาตรการเฉพาะหน้า ให้เร่งตรวจสอบหลักฐานดีเอ็นเอ พร้อมตรวจกล้องโทรทัศน์วงจรปิดตามเส้นทางที่คนร้ายใช้ก่อเหตุและหลบหนี รวมถึงเร่งติดตามหาข่าวการหลบพักรักษาตัวของคนร้ายที่บาดเจ็บจากการปะทะด้วย เนื่องจากพบรอยเลือด ซึ่งขณะนี้ทราบตัวผู้ก่อเหตุบางส่วนแล้ว
สำหรับ มาตรการเชิงป้องกัน ได้สั่งให้จัดกำลังพลจากหน่วยเฉพาะกิจหมายเลข 2 ตัว เป็นชุดปฏิบัติการจรยุทธ์ จำนวน 735 ชุดปฏิบัติการ (ชป.) ชุดละ 12 นาย ใช้กำลังพลกว่า 10,000 นาย เข้าไปกินนอนในหมู่บ้านเป้าหมาย 118 หมู่บ้าน ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีความเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อความไม่สงบ เพื่อป้องกันเหตุร้ายรายวัน และขจัดความหวาดกลัวของชาวบ้าน พร้อมกดดันให้คนร้ายหลบหนีออกจากหมู่บ้าน ไปเคลื่อนไหวในพื้นที่ป่าเขา ซึ่งจะมีกำลังทหารและทหารพรานออกไล่ล่า โดยใช้ปฏิบัติการทางทหาร โดยจะไม่กระทบกับความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน
ข้อมูลจากคำประกาศของ "บิ๊กเดฟ" ระบุว่า จากการตรวจสอบทั้ง 1,988 หมู่บ้านในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอรอยต่อของจังหวัดสงขลา พบเป็น "หมู่บ้านจัดตั้ง" ของกลุ่มก่อความไม่สงบ และเป็นหมู่บ้านที่มือสังหารของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงใช้เป็นแหล่งกบดานอยู่ 118 หมู่บ้าน ซึ่งที่ผ่านมามีการเข้าตรวจสอบและปะทะจับกุม พบว่ามีการแอบสร้างห้องลับใต้ดินภายในบ้าน หมู่บ้านเหล่านี้จึงเป็นเป้าหมายที่คนร้ายใช้หลบไปซ่อนตัวหลังก่อเหตุแล้ว จึงให้จัดชุดร่วม 10,000 นาย เข้าไปอยู่กินนอนภายในหมู่บ้าน เพื่อติดตามจับกุมและทำพื้นที่ให้ปลอดภัย โดยบีบบังคับด้วยชุดจรยุทธ์ เป็นวิธีการกดดันอีกทางหนึ่ง
"การก่อเหตุเป็นลักษณะลอบกัด" แม่ทัพภาคที่ 4 ระบุตอนหนึ่ง และว่า "คนเหล่านี้มาจากหมู่บ้าน ออกจากหมู่บ้านแล้วกระจายไปก่อเหตุ จากนั้นก็มารวมกัน เพราะฉะนั้นใน 118 หมู่บ้าน ชุดปฏิบัติการทั้ง 735 ชุดต้องเข้าไปเต็มพื้นที่ ต้องบีบให้เขาออกมาให้ได้ พฤติการณ์ของเขาคือมารวมตัวกันก่อเหตุ เสร็จแล้วก็สลายหรือแอบข้างบ้าน อันนี้ก็กำลังติดตามดำเนินการอยู่ ก็คงจะฝากใน 118 หมู่บ้านหรือใกล้เคียงของหมู่บ้านที่ว่า ให้พี่น้องประชาชนช่วยแจ้งเบาะแส รับรองว่าตอนนี้คงจะเปลี่ยนเสื้อผ้าเรียบร้อยนั่งอยู่ในบ้าน ซึ่งพวกนี้ชุดปฏิบัติการจะติดตามดำเนินการอย่างใกล้ชิดต่อไป"
ข้อมูลที่น่าสนใจจากแม่ทัพภาคที่ 4 ก็คือ ตัวเลข 118 หมู่บ้านที่บอกว่าเป็นหมู่บ้านที่มีความเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อความไม่สงบ เป็นหมู่บ้านจัดตั้ง และเป็นหมู่บ้านที่มือสังหารใช้เป็นสถานที่กบดานหลบซ่อนตัว ซึ่งน่าจะอนุมานได้ว่าคือหมู่บ้านที่ถูกกาชื่อว่าเป็น "หมู่บ้านสีแดง" ในทางความมั่นคงนั่นเอง
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ฝ่ายความมั่นคงใช้วิธีกำหนดสีของหมู่บ้าน แบ่งเป็น 3 สี คือ สีแดง สีเหลือง และสีเขียว
หมู่บ้านสีแดง หมายถึง หมู่บ้านเสริมความมั่นคง หรือหมู่บ้านที่ยังมีความเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อความไม่สงบอยู่
หมู่บ้านสีเหลือง หมายถึง หมู่บ้านเฝ้าระวัง
หมู่บ้านสีเขียว หมายถึงหมู่บ้านที่ฝ่ายรัฐควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว จึงมุ่งเน้นงานพัฒนา หรือที่เรียกว่า "หมู่บ้านเสริมสร้างการพัฒนา"
การกำหนดสภาพพื้นที่โดยแยก "สี" ในทางความมั่นคง มาจากการตรวจสอบข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐและพบว่า สถานการณ์รุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นครอบคลุมทุกพื้นที่ ทุกตำบล ทุกหมู่บ้าน แต่มีหมู่บ้านที่เกิดเหตุรุนแรง หรือมีความเคลื่อนไหวของผู้ก่อความไม่สงบเพียงจำนวนหนึ่ง ไม่ถึง 1 ใน 4 เท่านั้น
แต่เดิมเคยมีการสำรวจและพบว่า มีหมู่บ้านสีแดงราวๆ 400 กว่าหมู่บ้าน จากนั้นเมื่อมีการแก้ไขปัญหา และใช้กฎหมายพิเศษเข้าไปควบคุมพื้นที่ ทำให้จำนวนหมู่บ้านสีแดงลดลงตามลำดับ จาก 400 กว่าหมู่บ้าน เหลือ 319 หมู่บ้าน และลดลงเหลือ 136 หมู่บ้านจากการเก็บข้อมูลเมื่อปี 59 (อ่านประกอบ : 12 ปีไฟใต้ละลายงบจ่อ3แสนล้าน สถิติรุนแรง-หมู่บ้านสีแดงลด ปืนถูกปล้นเพิ่ม!)
ต่อมามีเสียงวิพากษ์วิจารณ์การแบ่งสีของหมู่บ้านว่ามีลักษณะแบ่งแยกพื้นที่ แบ่งแยกประชาชน ทำให้ฝ่ายความมั่นคงเลิกพูดถึง "หมู่บ้านสีแดง" และไม่ได้นำมาแถลงเป็นผลงานการลดพื้นที่เคลื่อนไหวของกลุ่มก่อความไม่สงบอีกเลย แต่ในทางยุทธวิธีของทหาร ตำรวจ ก็ยังแบ่งพื้นที่ด้วย "สี" อยู่เช่นเดิม
ในปี 61 มีข้อมูลอีกชุดปรากฏออกมา พบว่ามีการแบ่งพื้นที่ตามสถานการณ์ความรุนแรง แยกเป็น 3 ระดับ แต่ไม่ได้ลงลึกถึงระดับหมู่บ้าน เพราะเป็นข้อมูลระดับอำเภอ ซึ่งมีทั้งสิ้น 37 อำเภอ (ปัตตานี 12 อำเภอ ยะลา 8 อำเภอ นราธิวาส 13 อำเภอ และสงขลา เฉพาะอำเภอรอยต่อ 4 อำเภอ) โดยพื้นที่ 3 ระดับแบ่งเป็น
พื้นที่เสริมสร้างความมั่นคงและ 8 เมืองเศรษฐกิจ รวม 11 อำเภอ (เดิมเรียกว่าพื้นที่สีแดง) หมายถึงพื้นที่ที่จะยังมีปฏิบัติการทางทหารต่อไป และมีความเข้มข้นในการตรวจตรามากเป็นพิเศษเพื่อป้องกันเหตุร้าย กำลังพลหลักที่ใช้จะเป็น "ทหาร" ทั้งทหารหลักและทหารพราน รวมถึงนาวิกโยธิน
พื้นที่เร่งรัดพัฒนา มี 16 อำเภอ (เดิมเรียกว่าพื้นที่สีเหลือง) พื้นที่เหล่านี้จะเป็นเป้าหมายของงานพัฒนา เพราะเหตุรุนแรงเริ่มเบาบาง ใช้กำลังทหารพราน ตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษ (นปพ.) ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) และกองกำลังภาคประชาชนในการดูแลความปลอดภัย
พื้นที่เสริมสร้างการพัฒนา มี 10 อำเภอ (เดิมเรียกว่าพื้นที่สีเขียว) พื้นที่เหล่านี้มีเหตุรุนแรงเบาบาง สถานการณ์เกือบๆ จะเป็นปกติ จึงมุ่งต่อยอดงานพัฒนา และส่งเสริมการลงทุน ใช้กำลังตำรวจโรงพัก ตชด. และกองกำลังภาคประชาชนในการดูแลความปลอดภัย (อ่านประกอบ : กำลังพลตรึง 1 ต่อ 10 ยังไม่สงบ? ไฟใต้จ่อ 15 ปีสูญงบ 3 แสนล้าน)
ฉะนั้นหากนับย้อนไปถึงปี 59 ที่ยังมีข้อมูล "หมู่บ้านสีแดง" ปรากฏอยู่ในรายงานของฝ่ายความมั่นคง จำนวน 136 หมู่บ้าน เทียบกับข้อมูลล่าสุด ณ ปี 62 ของแม่ทัพภาคที่ 4 ที่บอกว่ามี "หมู่บ้านจัดตั้ง" ที่มีความเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อความไม่สงบจำนวน 118 หมู่บ้าน ย่อมหมายความว่าจำนวน "หมู่บ้านสีแดง" ลดลง 18 หมู่บ้าน นับจากปี 59 เป็นต้น ซึ่งก็น่าจะเป็นข่าวดี
พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ให้ข้อมูลเสริมกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า ตัวเลข 118 หมู่บ้าน ปรับลดลงจาก 126 หมู่บ้านในช่วงก่อนหน้านี้ (แสดงว่ามีการปรับลดอย่างต่อเนื่องทุกปี)
แต่การเกิดเหตุโจมตีฐานปฏิบัติการและจุดตรวจ ชคต. ในตำบลหนึ่งของอำเภอเมืองปัตตานี ซึ่งมีความสูญเสียในชีวิตมากถึง 4 รายที่มิอาจประเมินค่าได้ ย่อมทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า สรุปแล้วสถานการณ์ที่ชายแดนใต้ดีขึ้นจริงๆ หรือ...
เพราะข้อมูลที่หน่วยงานความมั่นคงเก็บรวบรวมกันเองล่าสุดพบว่า แม้จะเพิ่งผ่านครึ่งปีของปี 62 มาเพียง 1 เดือน แต่สถิติเหตุรุนแรงพุ่งสูงใกล้เคียงกับจำนวนเหตุรุนแรงตลอดทั้งปี 61 เข้าไปแล้ว!
--------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ภาพชุดคุ้มครองตำบล หรือ ชคต. ที่ถูกโจมตีล่าสุดที่ ต.ปะกาฮะรัง อ.เมืองปัตตานี