2 ผู้พิพากษา ทำบันทึกข้อความถึงประธานศาลฏีกา ขอให้ยกเลิกจัดอบรมหลักสูตร บ.ย.ส. ห้ามผู้พิพากษาเข้าร่วมหลักสูตรดัง ว.ป.อ., ป.ป.ร., วตท. ฯลฯ ชี้ไม่ก่อเกิดประโยชน์ปฏิบัติงานข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม แถมยังอาจนำไปสู่การผิดศีล ผิดวินัย ส่งเสริมระบบอุปถัมภ์ สร้างคอนเนกชั่น นำไปสู่การเลือกปฏิบัติเพิ่มความเหลื่อมล้ำในสังคม ทำความเชื่อถือสาธารณชนต่อศาลยุติธรรมลดลง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 14 ม.ค.2568 นายบุญเขตร์ พุ่มทิพย์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลภาษีอากรกลางช่วยทำงานชั่วคราวในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกา กรรมการบริหารศาลยุติธรรม และ นายอนุรักษ์ สง่าอารีย์กูล ผู้พิพากษาศาลฎีกาและกรรมการตุลาการ ได้ทำบันทึกข้อความ ถึงประธานศาลฏีกาในฐานะประธานกรรมการบริหารศาลยุติธรรม และประธานกรรมการตุลาการ เพื่อขอให้ยกเลิกหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) และกำหนดไม่ให้ผู้พิพากษาเข้าร่วมอบรมหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (ว.ป.อ.) หลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิบไตยสำหรับนักบริหาระดับดับสูง (ป.ป.ร.) หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงสถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) หรือหลักสูตรอื่นในลักษณะเดียวกัน
เนื่องจากเห็นว่า หลักสูตรอบรมต่าง ๆ ไม่ก่อเกิดประโยชน์ใดแก่การปฏิบัติงานของข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม ทั้งยังอาจนำไปสู่การผิดศีล ผิดวินัย ของผู้พิพากษา ส่งเสริมระบบอุปถัมภ์ ซึ่งนำไปสู่การเลือกปฏิบัติและเพิ่มความเหลื่อมล้ำในสังคม นอกจากนี้ การใช้งบประมาณเพื่อจัดให้มีหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) เป็นการใช้งบประมาณที่ไม่คุ้มค่าไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ แก่ประเทศชาติ ที่สำคัญที่สุดหลักสูตรนี้ทำให้ความเชื่อถือที่สาธารณชนมีต่อศาลยุติธรรมลดลง
ทั้งนี้ ในบันทึกข้อความดังกล่าว ระบุว่า ตามที่ศาลยุติธรรมจัดให้มีหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) มาตั้งแต่ปี 2539 รวมถึงอนุญาตให้ผู้พิพากษาเข้าศึกษาในหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (ว.ป.อ.) การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสำหรับนักบริหารระดับสูบสูง (ป.ป.ร.) ผู้บริหารระดับสูงสถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) ฯลฯ ซึ่งมีผู้พิพากษาจำนวนมากสำเร็จการศึกษาและรอเข้ารับการศึกษาจากหลักสูตรดังกล่าวนั้น แม้หลักสูตรเหล่านี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความรู้ให้แก่ผู้เข้ารับการศึกษา แต่เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า อีกวัตถุประสงค์หนึ่งคือเพื่อสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดสนิทสนมระหว่างผู้เข้ารับการศึกษาซึ่งมีทั้งผู้บริหารระดับสูงของภาครัฐและเอกชน วัตถุประสงค์ดังกล่าวเป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้มีผู้ต้องการสมัครเข้าศึกษาในหลักสูตรดังกล่าว
"การที่ศาลยุติธรรมและผู้พิพากษาสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลภายนอกจำนวนมากในลักษณะเป็นเครือข่ายผ่านหลักสูตรต่าง ๆ ดังที่ได้กล่าวมา โดยที่บุคคลเหล่านี้อาจเข้ามาเป็นคู่ความหรือผู้มีส่วนได้เสียในคดีไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมได้ในอนาคต ย่อมทำให้สาธาธารณชนเคลือบแคลงสงสัยในความบริสุทธิ์ยุติธรรม ความเป็นกลางที่ปราศจากอคติ ความเป็นอิสระ และความซื่อสัตย์สุจริตของผู้พิพากษาได้" บันทึกข้อความระบุ
บันทึกข้อความยังระบุด้วยว่า คุณสมบัติหนึ่งที่สำคัญยิ่งของผู้พิพากษา คือ ความน่าเชื่อถือ คือ เชื่อถือในความบริสุทธิ์ยุติธรรม ความเป็นกลางที่ปราศจากอคติ ความเป็นอิสระ ความซื่อสัตย์สุจริตของผู้พิพากษา หมายความว่าการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลนั้นต้องปราศจากอคติทั้งสี่ประการ คือ รัก โลภ โกรธ หลง เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีเป็นไปด้วยความยุติธธรรมและเป็นธรรม ดังที่ Lord Hewart อดีต Lord Chief Justice of England เคยให้เหตุผลไว้ในคำพิพากษา คดี R v Sussex Justices [1924] ว่า นอกจากการพิจารณาพิพากษาต้องทำด้วยความยุติธรรมแล้ว ยังต้องแสดงออกให้เห็นโดยปราศความสงสัยว่าเป็นเช่นนั้น (Justice should not only be done, but should manifestly and undoubtedly be seen to be done)
"กระผมเห็นว่า หลักสูตรต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น ไม่ก่อเกิดประโยชน์ใด ๆ แก่การปฏิบัติงานของข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรม ทั้งยังอาจนำไปสู่การ ผิดศีล ผิดวินัยของผู้พิพากษาส่งเสริมระบบอุปถัมภ์ ซึ่งนำไปสู่การเลือกปฏิบัติและเพิ่มความเหลื่อมล้ำในสังคม นอกจากนี้ การใช้งบประมาณเพื่อจัดให้มีหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) เป็นการใช้งบประมาณที่ไม่คุ้มค่าไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ แก่ประเทศชาติ ที่สำคัญที่สุดหลักสูตรนี้ทำให้ความเชื่อถือที่สาธารณชนมีต่อศาลยุติธรรมลดลง หรือในที่สุดอาจไม่เหลือเลย"
บันทึกข้อความทิ้งท้ายว่า "ดังนั้น ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงควรยกเลิกหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (บ.ย.ส.) ทั้งนี้เพื่อส่งต่อศาลยุติธรรมที่ทรงไว้ซึ่งความเชื่อถือของสาธารณชนแก่ชนรุ่นหลังตามนโยบายของท่านประธานศาลฎีกา"