‘แพทองธาร’ แถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา 10 นโยบายเร่งด่วน ฟื้นเศรษฐกิจ-พลิกความเชื่อมั่น แก้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน-ปราบคอร์รัปชั่นทุกรูปบบ – ‘เท้ง’ ชี้ 1 ปีที่สูญเปล่า - 3 ปี เจ๊า หรือ เจ๊ง อัด นโยบายเรือธงเพื่อ ‘สามนาย’ นายใหญ่-นายทุน-นายหน้า
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 ที่รัฐสภา น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 162 โดยมี 10 นโยบาย เร่งด่วน-ทำทันที รวมถึงนโยบายระยะกลางและระยะยาว
@ 10 นโยบายเร่งด่วน-ทำทันที
น.ส.แพทองธารกล่าวว่า รัฐบาลตระหนักดีว่าความเดือดร้อนของที่น้องประชาชน ทั้งเรื่องปัญหาหนี้สิน รายได้ ค่าครองชีพ รวมทั้งความมั่นคงและปลอดภัยในสังคม คือ ปัญหาเร่งด่วนที่รัฐบาลจะต้องเร่งสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ ด้วยการแก้หนี้ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจ และแก้ไขปัญหาที่กระทบความมั่นคงของสังคม เพื่อนำความหวังของคนไทยกลับมาให้เร็วที่สุด โดยมีนโยบายเร่งด่วนที่จะดำเนินการทันที ดังนี้
@ ปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ
นโยบายแรก รัฐบาลจะผลักดันให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อบ้านและรถ ช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ ควบคู่กับการเพิ่มความรู้ทางการเงินและส่งเสริมการออมในรูปแบบใหม่ ๆ โดยจะดำเนินนโยบายผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐธนาคารพาณิชย์และบริษัทบริหารสินทรัพย์
นโยบายที่สอง รัฐบาลจะดูแลและส่งเสริมพร้อมกับปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs จากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมของคู่แข่งทางการค้าต่างชาติ โดยเฉพาะผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ และการแก้ไขปัญหาหนี้ของ SMEs เช่น การพักหนี้ การจัดทำ Matching Fund ลงทุนร่วมกันระหว่างรัฐบาลและเอกชน
@ เจรจาแหล่งพลังงาน พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา
นโยบายที่สาม รัฐบาลจะเร่งออกมาตรการเพื่อลกราค่าพลังงานและสาธารณูปโภค ปรับโครงสร้างราคาพลังงานควบคู่กับการเร่งรัดจัดทำ ปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อกำหนดเกี่ยวกับการทำสัญญาซื้อขายพลังงานได้โดยตรง (Direct PPA) รวมทั้งการพัฒนาระบบสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์ของประเทศ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) สำรวจหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติม และการเจรจาประเด็นพื้นที่ทับช้อนกับกัมพูชา (OCA)
@ รถไฟฟ้า ราคาเดียวตลอดสาย
พร้อมทั้งผลักดันการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ (Mass Transit) และการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วมในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับนโยบาย ‘ค่าโดยสารราคาเดียว’ ตลอดสาย เพื่อลดภาระค่าเดินทาง
นโยบายที่สี่ รัฐบาลจะสร้างรายใหม่ของรัฐด้วยการนำเศรษฐกิจนอกระบบภาษี (Informal Economy) และเศรษฐกิจใต้ดิน (Underground Economy) เข้าสู่ระบบภาษี ที่คาดว่าจะมีมูลค่าสูงกว่าร้อยละ 50 ของ GDP เพื่อนำไปจัดสรรสวัสดิการด้านการศึกษา สาธารณสุข และสาธารณูปโภค รวมทั้งอุดหนุนค่าใช้จ่ายขั้นพื้นฐานของประชาชน พร้อมทั้งจะปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
@ เดินหน้าแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต
นโยบายที่ห้า รัฐบาลจะเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ควบคู่กับการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพโดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางเป็นนลำดับแรก และผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet)
นโยบายที่หก รัฐบาลจะยกระดับการทำเกษตรระบบดั่งเดิมให้เป็นเกษตรทันสมัย โดยใช้แนวคิด ‘ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้’ นำเทคโนโลยีด้านการเกษตร (Agi-Tech) เช่น เกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) และเทคโนโลยีด้านอาหาร (Food Tech) มาใช้พัฒนาอาชีพด้านการเกษตร ประมง ปศุสัตว์ และอาชีพที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงการคว้าโอกาสในตลาดใหม่ ๆ รวมทั้งอาหารฮาลาล และพื้นนโยบาย ‘ครัวไทยสู่ครัวโลก’
นโยบายที่เจ็ด รัฐบาลจะเร่งเสริมการท่องเที่ยว ด้วยการสานต่อความสำเร็จในการปรับโครงสร้างการตรวจลงตราทั้งหมดของประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ขอวีซ่า เช่น กลุ่มผู้เข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ (MICE) และกลุ่มชาวต่างชาติที่ทำงานทางไกล (Digital Nornad) ซึ่งสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวถึง 1.892 ล้านล้านบาท ในปี 2566 โดยส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-made Destinations) เช่น สวนน้ำ สวนสนุก ศูนย์การค้า สถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) นำคอนเสิร์ต เทศกาล และการแข่งขันกีฬาระดับโลกมาจัดในประเทศไทย
@ ปราบยาเสพติด-สวัสดิการเท่าเทียม
นโยบายที่แปด รัฐบาลจะแก้ปัญหายาเสพติดอย่างเด็ดขาดและครบวงจรเริ่มตั้งแต่การตัดต้นตอการผลิตและจำหน่ายด้วยการร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน การสกัดกั้น ควบคุมการลักลอบนำเข้าและตัดเส้นทางการลำเลียงยาเสพติด การปราบปรามและการยึดทรัพย์ ผู้ค้าอย่างเด็ดขาด การค้นหาผู้เสพในชุมชนเพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษา ตลอดจนการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด การฝึกอาชีพ การศึกษา และการฟื้นฟูสภาพทางสังคม
นโยบายที่เก้า รัฐบาลจะเร่งแก้ปัญหาอาชญากรรม อาชญากรรมออนไลน์/มิจฉาชีพ และอาชญากรรมข้ามชาติเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน โดยการเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และรับมือกับอาชญากรรมออนไลน์อย่างรวดเร็ว ช่วยเหลือเหยื่อของมิจฉาชีพอย่างทันท่วงที โดยผนึกกำลังกับประเทศเพื่อนบ้าน และสร้างกลไกการร่วมรับผิดชอบของบริษัทผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมและธนาคารพาณิชย์
นโยบายที่สิบ รัฐบาลจะส่งเสริมพัฒนาศักยภาพ และจัดสวัสดิการสังคมให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป สร้างความเท่าเทียมทางโอกาสและเศรษฐกิจโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่สำคัญ ได้แก่ คนพิการ ผู้สูงอายุ กลุ่มชาติพันธุ์ บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติเพื่อให้ตามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการของรัฐได้โดยสะดวกตามที่กฎหมายบัญญัติ
@ ปักหมุด ‘แลนด์บริดจ์’
น.ส.แพทองธารกล่าวว่า เพื่อให้การพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างต่อเนื่องในระยะกลางและระยะยาวรัฐบาลจะต่อยอดการพัฒนาของภาคการผลิตและการบริการ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันเพื่อวางรากฐานสู่การพัฒนาประเทศในอนาคต โดยปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจ (Industry Transformation) และพัฒนาเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ (New Growth Engine) ที่จะปูพื้นฐานให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง ด้วยการส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของความต้องการของผู้บริโภคด้วยการใช้เทคโนโลยี เพื่อเร่งให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางโดยเร็ว และพัฒนาบทบาทให้เป็นผู้เล่นสำคัญทางเศรษฐกิจในเวทีโลก
รัฐบาลจะเดินหน้าลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ขนาดใหญ่ (Mega Projects) อย่างต่อเนื่อง ทั้งทางราง ทางน้ำ ทางถนน และทางอากาศอย่างไร้รอยต่อ ส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยทางถนน ลดต้นทุนระบบโลจิสติกส์ พัฒนาระบบขนส่งควบคุมอุณหภูมิ (Cold Chain) สร้างรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงควบคู่กับการพัฒนาเมืองที่สอดคล้องกับ ความต้องการของพื้นที่ เพื่อให้เกิดการกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจ ยกระดับท่าเรือเพื่อเพิ่มศักยภาพ ในการเชื่อมต่อการขนส่งสินค้า พัฒนาสนามบินและเส้นทางการบินใหม่ ๆ เช่น สนามบินล้านนา สนามบินอันดามัน เพื่อมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางทางการบิน (Aviation Hub) เพิ่มประตูบานใหม่ (Gateway) รองรับความต้องการเดินทางที่เพิ่มขึ้น ขับเคลื่อนโครงการ Landbridge โดยเฉพาะด้านการลงทุน โดยเอกชน เพื่อให้ประเทศเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและขนส่งของภูมิภาค (Logistics Hub)
@ รธน.ฉบับประชาชน-แก้คอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ
น.ส.แพทองธารกล่าวว่า ประเทศไทยเราเผชิญกับความไร้เสถียรภาพทางการเมืองและความขัดแย้ง แบ่งขั้วอุดมการณ์ที่รุนแรงมาอย่างยาวนาน ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ กระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น รัฐบาลนี้จำเป็นจะต้องพลิกฟื้นความเชื่อมั่นของทั้งคนไทยและต่างชาติ ด้วยการพัฒนาการเมือง ในระบอบประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง มีเสถียรภาพ มีนิติธรรม และความโปร่งใส
รัฐบาลจะเร่งจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นโดยเร็วที่สุด รวมถึงการสร้างสันติภาพและสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน รัฐบาลจะยึดมั่นในหลักนิติธรรม (Rule of Law) และความโปร่งใส (Transparency) สร้างความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดินด้วยการฟื้นฟูหลักนิติธรรม ที่เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ ใช้งบประมาณของรัฐน้อยที่สุดแต่มีประสิทธิภาพมากที่สุด รัฐบาลจะปฏิรูประบบราชการและกองทัพเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เปลี่ยนผ่าน ราชการไทยไปสู่ราชการทันสมัยในระบบดิจิทัล (Digital Government) ปรับขนาดให้มีความคล่องตัว เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการใช้งบประมาณและการปฏิบัติราชการ ปรับขนาด และกำลังคนภาครัฐให้สอดคล้องกับภารกิจ เปลี่ยนผ่านรูปแบบการเกณฑ์ทหารไปสู่แบบสมัครใจ ส่งเสริมให้มีการเผยแพร่ข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะของรัฐและต่อต้าน การทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ
@ พิทักษ์สถาบัน-ซื่อสัตย์สุจริต
ท้ายที่สุด รัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติพระราชกรณียกิจของสถาบันพระมหากษัตริย์ และดำเนินงานตามแนวพระราชดำริอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งส่งเสริมสถาบันศาสนาให้เป็นกลไกในการสร้างคุณธรรมและจริยธรรมในการดำเนินชีวิต ตลอดจนดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและจริงจัง
“ในนามนายกรัฐมนตรีของคนไทยทุกคน ในนามรัฐบาล ดิฉันขอให้ความมั่นใจกับรัฐสภาแห่งนี้ว่า จะมุ่งมั่นตั้งใจบริหารราชการแผ่นดินด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง พร้อมทั้งประสานพลังจากทุกภาคส่วน จากทุกช่วงวัย จากทุกความเชี่ยวชาญ ขับเคลื่อนนโยบายที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ซึ่งตอบสนองสถานการณ์ปัจจุบันให้สำเร็จ พัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมืองของประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้า เพื่อสร้างโอกาสอย่างเท่าเทียม ทำให้คนไทย มีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เพื่อนำพาความภาคภูมิใจกลับมาสู่คนไทยและประเทศไทยเพื่อสร้างความหวังและอนาคตที่ดีกว่าให้ประเทศไทย จากวันนี้ไปถึงอนาคต”
@ 1 ปีที่สูญเปล่า-3 ปี เจ๊า หรือ เจ๊ง
ด้านนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ลุกขึ้นอภิปรายคนแรกของพรรคฝ่ายค้าน ว่า เงินใหม่ที่เรียกว่าเงินดิจิทัลวอลเล็ต รัฐบาลบอกจะแจกทันที แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ เลื่อนแล้วเลื่อนอีก จนบัดนี้ก็ยังไม่จ่าย ตอนแรกบอกว่าจะใช้พร้อมกันเพื่อสร้างพายุหมุนทางด้านเศรษฐกิจ ก็เปลี่ยนเป็นทยอยจ่าย โดยจ่ายเป็นเงินสด ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไม่ได้จ่ายเป็นดิจิทัลวอลเล็ตทั้งหมดที่รัฐบาลมุ่งหวังที่จะสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ตอนแรกบอกจะใช้ระบบบล็อกเชน เพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบได้ว่าสุดท้ายแล้ว เงินจะหมุนไปเข้ากระเป๋าใคร ตนเริ่มกังวลว่า บล็อกเชนยังอยู่ในนโยบายตรงนี้หรือไม่
“สรุปนโยบายเรือธงลำนี้ แทบไม่เหลือเค้าโครงอะไรอีกแล้ว ผมก็ไม่แน่ใจว่านโยบายเรือธงลำนี้ ให้ใครขึ้น ประชาชนขึ้น หรือ นายคนไหนขึ้น”
นายณัฐพงษ์กล่าวว่า เป็น 1 ปีที่สูญเปล่าของประชาชน ไม่ว่าจะมองไปในกลุ่มคนยากไร้ เงินใหม่ยังไม่เข้า หนี้เก่ายังไม่แก้ กลุ่มเกษตรกรโครงสร้างราคาและผลผลิตทางการเกษตรถูกทำลาย รายได้มีแต่หด ภาคธุรกิจเจอปัญหาต้นทุนพลังงาน สินค้านำเข้าล้นทะลัก กลุ่มประชาชนทั่วไปความมั่นคงในชีวิตไม่ดี ยาเสพติดระบาด สวัสดิการไม่ทั่วถึง มีแต่ความล้มเหลว ซึ่งเป็นผลมาจากการจัดตั้งรัฐบาลผสมพันธุ์ข้ามขั้ว นายกรัฐมนตรีขาดอำนาจนำ มีการสั่งการมากที่สุดแต่ไร้ผล สมาธิในการบริหารราชการแผ่นดินของรับฐาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลถูกนำไปใช้กับการปกป้องช่วงชิงเก้าอี้รัฐมนตรีในกระทรวงต่าง ๆ แบ่งสรรกันตามระบบโควตาเพื่อต่อรองผลประโยชน์
ขอตั้งคำถามต่อไปว่า 3 ปีต่อจากนี้ เจ๊า หรือ เจ๊ง กับการจัดตั้งรัฐบาลนี้ คณะรัฐมนตรีชุดนี้ และการแถลงนโยบายวันนี้ สิ่งที่ตนจะอภิปรายต่อจากนี้ คือ ความท้าทายของประเทศ 3 ปีต่อจากนี้ ที่ตนคาดว่าหวังจะได้เห็นในการแถลงนโยบายที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้จากรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหา เช่น ด้านการศึกษาที่ไทยตามไม่ทันโลก สิ่งที่ตนอยากจะเห็นมากกว่าจากคำแถลงนโยบายของรัฐบาล คือ รายละเอียดของนโยบายเร่งด่วน 10 ข้อ รัฐบาลต้องรู้ลึก รู้จริง พร้อมนำไปปฏิบัติได้ทันที
@ นโยบายเรือธงเพื่อ ‘สามนาย’
นายณัฐพงษ์กล่าวว่า ส่วนที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน นอกเหนือจากนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล คือ นโยบายเรือธง ที่วันนี้มีคำถาม ว่า นโยบายเรือธงเพื่อใคร เพื่อประชาชน หรือว่า ‘เพื่อสามนาย’ นายใหญ่ นายหน้า และนายทุน”
ยกตัวอย่างนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต ที่มีการกลับไปกลับมา จนถึงวันนี้ เงินก็ยังไม่เข้า เป็นนโยบายเรือธงให้นายใหญ่ขึ้นใช่หรือไม่ นโยบาย Entertainment Complex มีข้อครหาว่า จะมีการเปิดกว้างในการประมูล หรือ ล็อกการประมูลเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เป็นนโยบายเรือธงให้กับนายทุนใช่หรือไม่ นโยบายแลนด์บริดจ์ ที่มีการตั้งข้อสงสัย การใช้งบประมาณของรัฐในการเวนคืนที่ดินมากมาย เป็นนโยบายที่เอื้อให้กับนายหน้าค้าที่ดินใช่หรือไม่
“สรุป 3 นโยบายเรือธงของรัฐบาลมีประชาชนอยู่ตรงไหนในสมการ”
สิ่งที่ตนอยากเห็นในหัวข้อแรก ๆ ของนโยบายเร่งด่วน ที่ไม่มีใน 10 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล และต้องเป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาลเช่นเดียวกัน เพื่อให้เจ้านายของท่าน ไม่ใช่ 3 นาย แต่เป็นประชาชน คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลได้แล้ว ว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในการจัดตั้ง ‘รัฐบาลตัวแทน’ ในวันนี้ ที่ตนตั้งคำถามว่า อาจจะไม่ใช่รัฐบาลตัวจริงจะช่วยให้ 3 ปีหลังจากนี้ เป็น 3 ปีที่เจ๊ากับเจ๊งใช่หรือไม่ ถ้าไม่แก้ปัญหาที่ต้นตอ
“ผมอยากให้นายกรัฐมนตรีลุกขึ้นพูดนอกสคริปต์ เพื่อแสดงบทบาทความเป็นผู้นำ ชี้นำรัฐบาลของท่าน ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นวาระเร่งด่วนของประเทศนี้”
นอกจากการแก้ไขรัฐธรรมยังมีอีกหลายวาระที่เราผลักดันร่วมกันได้ภายใน 3 ปีนี้ เช่น การปฏิรูปรัฐครั้งใหญ่ การกระจายงบประมาณ ปฏิรูประบบราชการและโครงสร้างภาษี เพิ่มสวัสดิการประชาชน การจัดการที่ดิน น้ำ
“กล่าวโดยสรุปการอภิปราย ตั้งแต่การตั้งคำถาม ว่าเราประชุมรัฐสภาร่วมกันวันนี้ด้วยเหตุผลใด เป็นเพราะประเทศของเรายังไม่ได้อยู่ในระบบนิติรัฐใช่หรือไม่ มาสู่การอภิปราย 1 ปีที่สูญเปล่าอันเนื่องมาจากการฟอร์มคณะรัฐมนตรีที่ไม่มีประชาชนอยู่ในสมการการตัดสินใจในการจัดตั้งรัฐบาล และที่ผมตั้งคำถาม 3 ปีต่อจากนี้ จะเจ๊า หรือ จะเจ๊ง เพราะนอกเหนือการจัดตั้งรัฐบาลแบบเดิม ๆ ที่มีการจัดสรรโควตาเก้าอี้รัฐมนตรีแล้ว ยังมีการจัดตั้งรัฐบาลตัวแทน เพราะท่านต้องหลบเลี่ยงกลไกการใช้อำนาจของคนที่ไม่ได้มาจากประชาชน ด้วยกลไกลมาตรฐานจริยธรรม”