นักวิชาการเผยคนไทยยังออมเงินไม่พอ ชี้เด็กอายุ 18 ขึ้นไปมีหนี้เร็วขึ้น เหตุเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่าย ทำให้การออมเพื่อเกษียณถูกบั่นทอน แก้ด้วยเพิ่มการรอบรู้ด้านการเงิน ด้านกระทรวงการคลังเผยอยู่ระหว่างเสนอกฎหมายกบช.
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดผลการสำรวจ “ดัชนีความพร้อมเพื่อการเกษียณแห่งชาติ” (National Retirement Readiness Index :NRRI) ประจำปี 2566 พร้อมระดมสมองกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) แลกเปลี่ยนความคิดภายใต้หัวข้อ “การเตรียมความพร้อม เพื่อการเกษียณอายุ เรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด” และ “ทักษะทางการเงินและทักษะทางดิจิทัลของคนไทย” เพื่อร่วมวางมาตรการกระตุ้นการออม
ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CBS) กล่าวว่า บทบาทของ CBS ไม่ได้ดำเนินการเฉพาะเรื่องการศึกษาเท่านั้น แต่ดำเนินการวิจัยเพื่อนำเสนอกลยุทธ์ และนโยบายทางการเงินของประเทศให้เดินไปในทิศทางที่เหมาะสมด้วย โดยพัฒนาดัชนีชี้วัดความพร้อมเพื่อการเกษียณ หรือ National Retirement Readiness Index (NRRI) ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) เพื่อเป็นเครื่องมือเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปเป็นแนวทางพัฒนานโยบายการเงินของประเทศ ให้คนไทยมีสุขภาพทางเงิน (Financial Wellness) ที่ดี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รัฐชัย ศีลาเจริญ หัวหน้าภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ดัชนีชี้วัดความพร้อมเพื่อการเกษียณ หรือ NRRI เกิดจากการสำรวจข้อมูลจากประชาชนทั่วประเทศ จัดทำทุก 2 ปี เริ่มครั้งแรกในปี 2564 ครั้งนี้ ปี 2566 เป็นครั้งที่ 2 และครั้งที่ 3 ในปี 2568 เป็นดัชนีที่ครอบคลุมทั้งความมั่นคงทางการเงิน (Financial Readiness Index : F-RRI) และความมั่นคงด้านสุขภาพ/คุณภาพชีวิต (Quality of Life Index : Q-RRI) สำหรับปี 2566 สำรวจข้อมูลจากประชากร 2,464 คน ผลปรากฎว่า NRRI มีค่าเฉลี่ยที่ 49.30 คะแนนสูงกว่าค่ามัธยฐานที่ 48.60 คะแนน แสดงว่าคนไทยมีความพร้อมเพื่อการเกษียณอยู่ในระดับปานกลาง
จากผลการวิจัยทำให้เห็นว่าคนไทยยังออมเงินไม่พอ เป็นแรงผลักดันให้คณะผู้วิจัยต้องการให้ NRRI เป็นเครื่องมือให้ทุกภาคส่วนนำไปใช้เป็นข้อมูลในการกำหนด และวางมาตรการส่งเสริมการออม ทำให้คนไทยมีทักษะด้านการจัดการเงินไม่ใช่เพียงแค่การรอบรู้เท่านั้น แต่ต้องนำไปสู่การปรับพฤติกรรมด้วย ซึ่งการส่งเสริมการออมนั้นจะต้องมีแนวทางที่แตกต่างของคนแต่ละกลุ่มวัย ในส่วนของวัยผู้ใหญ่ จะต้องเน้นทักษะการจัดการปัญหาหนี้สินเป็นหลัก เพื่อลดปัญหาหนี้สินอย่างมีประสิทธิภาพ
โดยเฉพาะกลุ่มเด็กอายุ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นกลุ่มที่น่ากังวล เพราะมีหนี้เร็ว และนานขึ้น เพราะเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย ทำให้การออมเพื่อเกษียณถูกบั่นทอน และส่วนใหญ่ยังเป็นหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคซึ่งไม่ก่อให้เกิดรายได้ในอนาคต ดังนั้นกลุ่มนี้ต้องเน้นมาตรการเชิงป้องกัน โดยสอดแทรกเข้าไปในหลักสูตรการเงินส่วนบุคคลในโรงเรียน และสถาบันการศึกษา แต่ต้องปรับโจทย์ใหม่มุ่งไปที่กระตุ้นการออมโดยตรง รวมถึงต้องให้ทักษะด้านดิจิทัลไปพร้อมกัน ซึ่งทุกภาคส่วนจำเป็นต้องช่วยกันออกแบบ รวมถึงกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ด้วย เพราะเข้าใจภาวะปัจจุบันของกลุ่มรากหญ้า ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางได้อย่างดี
รองศาสตราจารย์ ดร.อนิรุต พิเสฎฐศลาศัย ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายการเงินและบัญชี อาจารย์ภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเพิ่มว่า จากข้อมูลตัวเลขรายได้หลังเกษียณที่จะทำให้ประชาชนมีเงินใช้จ่ายต่อเดือนเพียงพอ ต้องอยู่ระหว่าง 15,000-25,000 บาท ซึ่งพบว่ามีกลุ่มคนจำนวนมากที่ไม่มีรายได้ถึง แม้แต่ผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคมก็มีรายได้หลังเกษียณเพียง 3,500-7,000 บาทต่อเดือนเท่านั้น ดังนั้นสิ่งที่ต้องแก้ไขเร่งด่วน คือ การเพิ่มการรอบรู้ด้านการเงิน (Financial Literacy) และสุขภาพ (Health Literacy) เพื่อนำไปสู่การวางแผนจัดการด้านการเงินส่วนบุคคลให้ดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่มีทั้งความมั่นคงทางการเงิน และความมั่นคงด้านสุขภาพ/คุณภาพชีวิตในระดับต่ำ ได้แก่ กลุ่มอาชีพอิสระ ลูกจ้าง และคนทำงานรับจ้าง อยู่ในพื้นที่ภาคกลาง อายุระหว่าง 18-29 ปี ขณะที่กลุ่มคนที่มีความพร้อมสูง ได้แก่ เจ้าของกิจการ ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ
นางสุขมีนา ภาสะวณิช ผู้อำนวยการกองนโยบายการออมและการลงทุน สำนักงานเศรษฐกิจคลัง กระทรวงการคลัง กล่าวว่า มีประชาชน 11.53 ล้านคนที่มีสวัสดิการชราภาพในช่วงเกษียณอายุซึ่งรัฐจัดให้ฝ่ายเดียว หรือเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 600-1,000 บาทต่อเดือน ส่วนที่ได้สวัสดิการขั้นพื้นฐานได้รับจากกองทุนประกันสังคม จำนวน 13.6 ล้านคน ปัญหาที่เกิดขึ้นคือประชาชนจำนวนมากมีเงินออมไม่พอหลังเกษียณ แนวทางที่ภาครัฐกำลังดำเนินการเป็นการเร่งวางมาตรการให้ประชาชนมีทักษะจัดการด้านการเงิน โดยคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติกรอบการดำเนินงาน 5 ปี เพื่อส่งเสริมทักษะด้านการเงินให้กับประชาชน รวมถึงตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ หรือ กบช.เป็นกองทุนภาคบังคับเพื่อให้คนไทยมีเงินออมที่เพียงพอต่อการเกษียณ โดยมีนายจ้างเป็นผู้ช่วยสมทบอัตราเงินสะสมและสมทบทยอยเพิ่มถึง 10% ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอกฎหมาย
นางจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ให้ข้อมูลว่า กอช.มีสมาชิก 2.4 ล้านคน ยังมีประชาชนอีกหลายล้านคนที่ยังไม่มีสวัสดิการในช่วงเกษียณ ปัจจุบันกอช.ได้จับมือกับทุกภาคส่วนเพื่อให้คนไทยออมกับกอช.มากขึ้น โดยเฉพาะนักเรียนนักศึกษา เพราะตามคุณสมบัติแล้วสามารถออมได้ตั้งแต่อายุ 15-60 ปี เริ่มต้น 50 บาทต่อครั้ง หลายปีที่ผ่านมาได้เข้าไปทำงานกับสถาบันการศึกษาเพื่อกระตุ้นให้นักเรียนนักศึกษาสมัครเป็นสมาชิกและเริ่มต้นการออมตั้งแต่วัยเรียนเตรียมพร้อมในช่วงเกษียณ แม้ว่าในระหว่างทำงานจะขาดคุณสมบัติ ทำให้ต้องหยุดออมกับกอช.แต่ก็ยังคงมีเงินสะสมในกองทุนฯที่สามารถนำมาใช้ช่วงเกษียณ
ที่มาภาพประกอบข่าว: khaosod