“…ประชาชน 56.8% ไม่เห็นด้วยกับมาตรการให้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารได้ โดยในกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยดังกล่าว เปิดเผยว่า ที่ไม่เห็นด้วย ส่วนใหญ่กังวลว่าจะเกิดการระบาดหรือคลัสเตอร์ใหม่ถึง 86.6% และรู้สึกไม่มั่นใจในมาตรการป้องกัน 56.3% คิดว่าจำนวนผู้ติดเชื้อยังสูง 53.8% กลัวตัวเองติดเชื้อ 17.7% และอื่นๆ เช่น การรวมกลุ่มกันทำให้ผู้ดื่มป้องกันตนเองลดลง 5.4% ตามลำดับ…”
ตั้งแต่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา มีการประกาศให้ 4 จังหวัดพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว หรือพื้นที่สีฟ้า ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร (กทม.) กระบี่ พังงา และภูเก็ต ให้สามารถกินดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารได้
ผ่านมาแล้ว 16 วัน สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้เปิดเผยผลการรวบรวมข้อมูลและการลงพื้นที่สำรวจสถานประกอบการต่างๆ ในการเปิดบริการกินดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในร้านอาหาร ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีข้อมูลดังนี้
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า โอกาสในการติดโควิดภายในร้านอาหารที่มีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีปัจจัยเสี่ยงอยู่ด้วยกัน 3 ปัจจัย คือ มาจากการมีผู้ติดเชื้ออยู่ในสถานที่ (Carrier) การอยู่ในสถานที่เป็นระยะเวลานาน (Long Stay) ซึ่งหากอยู่นานกว่า 2 ชั่วโมงขึ้นไป จะยิ่งมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น และพฤติกรรมการป้องกันตัวเองที่ลดลงเมื่อกินดื่มร่วมกันหรือเกิดอาการเมาสุรา (Behavior) เช่น ไม่เว้นระยะห่าง ไม่สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย และการใช้ภาชนะร่วมกัน
“สรุปได้ว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพิ่มความเสี่ยงติดโควิด ทั้งที่มาจากตัวเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เอง และปัจจัยพฤติกรรมป้องกันตนเองส่วนบุคคลที่ลดลง” นพ.สุวรรณชัย กล่าว
ปชช. 56.8% ไม่เห็นด้วยร้านอาหารขายแอลกอฮอล์
นพ.สุวรรณชัย กล่าวถึงผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการปรับมาตรการให้กินดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารได้ ผ่านการเก็บแบบสำรวจ Anamai Event Poll ณ วันที่ 1-14 พ.ย.2564 จำนวน 2,823 ราย ว่า ประชาชน 56.8% ไม่เห็นด้วยกับมาตรการให้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารได้ โดยในกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยดังกล่าว เปิดเผยว่า ที่ไม่เห็นด้วย ส่วนใหญ่กังวลว่าจะเกิดการระบาดหรือคลัสเตอร์ใหม่ถึง 86.6% และรู้สึกไม่มั่นใจในมาตรการป้องกัน 56.3% คิดว่าจำนวนผู้ติดเชื้อยังสูง 53.8% กลัวตัวเองติดเชื้อ 17.7% และอื่นๆ เช่น การรวมกลุ่มกันทำให้ผู้ดื่มป้องกันตนเองลดลง 5.4% ตามลำดับ
ขณะที่มีประชาชน 43.2% เห็นด้วยกับมาตรการให้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารได้ โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 86.6% สร้างรายได้ให้พนักงานหรือเจ้าของร้าน 61.4% พบปะสังสรรค์ได้ 29% อยากบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน 22% และอื่นๆ เช่น ส่งเสริมการท่องเที่ยว 6%
เกินครึ่งไม่เชื่อมั่นต่อมาตรการในร้านอาหาร
นพ.สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า เมื่อสอบถามถึงความเชื่อมั่นต่อมาตรการโควิด ของร้านอาหารที่เปิดให้บริการกินดื่มแอลกอฮอล์ พบว่า ประชาชนผู้ตอบแบบสอบถาม 56.6% ไม่มีความเชื่อมั่น ส่วนอีก 44.4% มีความเชื่อมั่น
โดยผู้ที่เคยไปร้านอาหารที่เปิดให้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ จำนวน 91.7% จากผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมด พบว่าร้านอาหารส่วนใหญ่ปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข โดยสิ่งที่ปฏิบัติได้ดีมากกว่า 50% คือ การจัดอุปกรณ์สำหรับบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แยกแต่ละบุคคล, มีการคัดกรองความเสี่ยงของพนักงานและลูกค้าก่อนเข้าร้าน ด้วยไทยเซฟไทย ไทยชนะ หรือแอปพลิเคชันอื่นๆ และการมีระบบระบายอากาศที่ดี
ส่วนมาตรการที่ทำได้ต่ำกว่า 50% คือ การงดจัดกิจกรรมที่มีการสัมผัสใกล้ชิด เช่น เต้นรำ ตะโกนเสียงดัง, การมีสัญลักษณ์ Thai Stop Covid plus หรือ COVID Free Setting และพนักงานแยกกันทานอาหาร ไม่รวมกลุ่ม
3 กิจกรรมเสี่ยงที่พบบ่อย
นพ.สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า สำหรับ 3 กิจกรรมเสี่ยงที่ยังพบบ่อยในร้านอาหารและเครื่องดื่ม ได้แก่ 1.มีกิจกรรมส่งเสริมการขาย และกิจกรรมที่มีลักษณะคล้ายกับสถานบันเทิง 2.มีกิจกรรมงานเลี้ยงสังสรรค์ที่มีการรวมกลุ่ม และ 3.มีกิจกรรมเต้นรำ ตะโกนเสียงดังของพนักงานและผู้รับบริการ
อย่างไรก็ตามมาตรการที่จะทำให้ประชาชนจะมีความมั่นใจมากขึ้น จากการสำรวจ พบว่า ประชาชนจะมั่นใจมากที่สุดเมื่อร้านอาหารผ่านการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุขและแสดงป้ายรับรองชัดเจน อาทิ Thai Stop Covid Plus, Covid Free Setting หรือ SHA 70.7%
รองลงมาคือ เมื่อพนักงานแสดงผลการตรวจหาเชื้อเป็นลบหรือแสดงผลการฉีดวัคซีนก่อนเข้า 68.9% ลูกค้าแสดงผลการตรวจหาเชื้อโควิดหรือผลการฉีดวัคซีนก่อนเข้า 65.7% มีเจ้าหน้าที่สุ่มตรวจ ประเมินและคุมเข้มมาตรการ 56% จำกัดเวลาในการดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร 41.1% และอื่นๆ เช่น จำกัดจำนวนการขายแอลกอฮอล์แต่ละโต๊ะ จัดจำนวนคนแต่ละโต๊ะ บังคับการสวมหน้ากากตลอดเวลายกเว้นเวลาดื่มกิน หมั่นทำความสะอาดโต๊ะ เก้าอี้ มีเจ้าหน้าที่ควบคุมดูแลภายในร้าน เป็นต้น 6.20% ตามลำดับ
“ประชาชนส่วนหนึ่งยังไม่มั่นใจมาตรการให้ดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร การสุ่มตรวจหาเชื้อด้วย ATK หรือ RT-PCR ของพนักงานและลูกค้า รวมถึงการได้รับการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุข หรือมาตรฐาน SHA จะทำให้ประชาชนมีความมั่นใจมากขึ้น” นพ.สุวรรณชัย กล่าว
พบ 3 ร้านอาหาร ไม่ปฏิบัติตามมาตรการ
ด้าน นพ.เกษม เวชสุทธานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมือง กรมอนามัย กล่าวถึงการลงพื้นที่ประเมินสถานประกอบการ ว่า จากนโยบายเปิดประเทศ สาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีมาตรการเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนต่อร้านอาหารที่เปิดให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยมีการติดตามและสุ่มประเมินร้านอาหารที่ให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งในพื้นที่กทม. และทั่วประเทศ มีรายละเอียดดังนี้
ในพื้นที่ กทม. ได้สุ่มตรวจร้านอาหารเมื่อวันที่ 5 พ.ย.ที่ผ่านมา จำนวน 25 ร้าน พบว่า ร้านค้าให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามมาตรการเป็นอย่างดี เช่น การจำกัดระยะเวลาการบริโภค ไม่มีกิจกรรมงานเลี้ยงสังสรรค์ที่มีการรวมกลุ่ม ไม่มีกิจกรรมส่งเสริมการขาย จัดอุปกรณ์การบริโภคเครื่องดื่มเฉพาะส่วนบุคคล ไม่จำหน่ายในรูปแบบภาชนะที่มีโอกาสสัมผัสหรือใช้ร่วมกัน
ส่วนมาตรการที่ร้านอาหารปฏิบัติได้น้อย และต้องปรับปรุง ได้แก่ การเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล เนื่องจากบางร้านมีลูกค้าจำนวนมาก และร้านไม่เข้มงวดเรื่องนี้ รวมทั้งมีการจัดพื้นที่ให้อากาศถ่ายเทได้ดี การจัดอุปกรณ์ทำความสะอาดฆ่าเชื้อแอลกอฮอล์ประจำโต๊ะ พนักงานประเมินความเสี่ยงตนเองผ่านไทยเซฟไทย และกำกับติดตามมาตรการส่วนบุคคล
นอกจากนี้ในการลงพื้นที่สุ่มประเมินร้านอาหารในพื้นที่ข้าวสาร เมื่อวันที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมา พบมี 3 ร้าน ไม่ปฎิบัติตามมาตรการ เช่น มีการเต้นรำ ร้องเพลงร่วมกับทางนักดนตรี ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ปรับ ตามความผิดตามมาตรา 51 เรียบร้อยแล้ว ที่ว่าด้วยการปรับไม่เกิน 20,000 บาท อัตราเปรียบเทียบคดี ครั้งที่ 1 จำนวน 6,000 บาท ครั้งที่ 2 จำนวน 12,000 บาท และครั้งที่ 3 เป็นต้นไป จำนวน 20,000 บาท
ส่วนพื้นที่สีฟ้านอก กทม. คือ กระบี่ พังงา ภูเก็ต ในส่วนของร้านอาหารรวม 604 แห่ง สุ่มตรวจประเมิน 105 แห่ง พบว่า ส่วนใหญ่ปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting และมาตรฐาน SHA+ ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (ททท.)
7 สิ่งไม่ควรทำของนักดื่ม
นพ.เกษม กล่าวเน้นย้ำอีกว่า อยากฝากให้ผู้มารับบริการถึง 7 สิ่งที่ไม่ควรทำ ประกอบด้วย 1. ไม่ดื่มร่วมแก้ว ร่วมจาน 2. ไม่พูดคุยใกล้ชิดกับคนไม่รู้จัก 3.ไม่ดื่มจนเมามายแค่เอาบรรยากาศ 4.ไม่ตะโกน สวมหน้ากากตลอดเวลา ถอดออกเฉพาะเวลาดื่ม 5. ไม่ดื่มเกินเวลา กลับบ้านอาบน้ำและเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที 6. ไม่ลืมล้างมือ เมื่อใช้ห้องน้ำร่วมกัน และ 7. ไม่ดื่มในร้านที่ไม่ผ่าน COVID Free Setting
“ดังนั้นสำหรับผู้มารับบริการร้านอาหารตอนนี้ แม้จะไม่มีมาตรการลงโทษ แต่อยากให้คำนึงถึงความปลอดภัยของตนเอง และผู้อื่นๆ ที่มาใช้บริการร่วมด้วย รวมถึงผู้ประกอบการต้องปฎิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting และกำชับผู้มาใช้บริการให้ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดร่วมด้วย” นพ.เกษม กล่าว
10 มาตรการปลอดโควิด รับ‘ลอยกระทง’
ส่วนในอีก 2 วัน จะถึงวันเทศกาลลอยกระทง กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้เผยแพร่ 10 มาตรการให้ผู้ประกอบการ ห้างร้านต่าง ๆ และประชาชนที่ต้องการที่ต้องการร่วมสืบสานประเพณีอันเก่าแก่ของไทย ให้ปลอดภัยห่างไกลจากโควิด ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
-
ผู้จัดงานต้องกำหนดจุดเข้าออกทางเดียว เพื่อควบคุมให้มีการลงทะเบียน คัดกรองได้อย่างไม่ตกหล่น
-
เลือกสถานที่จัดงานที่ไม่แออัด ระบายอากาศได้ดี กำหนดจำนวนผู้จัดงาน
-
มีห้องน้ำเพียงพอ ทำความสะอาดทุก 1 ชั่วโมง มีจุดล้างมือและเจลแอลกอฮอล์บริการ เพราะห้องน้ำเป็นจุดเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อตามมา
-
เว้นระยะห่างชองร้านค้า โต๊ะ อย่างน้อย 1 เมตร ซึ่งการจัดพื้นที่แบบดังกล่าวช่วยป้องกันอุบัติเหตุทางน้ำด้วย
-
กระจายจุดลอยกระทงและมีผู้ควบคุมไม่ให้แออัด
-
การแสดงทางวัฒนธรรม และมหรสพ ควรเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร ไม่ตะโกน และไม่จับมือ
-
แผงลอยหรือพาหนะจำหน่ายอาหาร ให้ปฏิบัติตามมาตรการ และงดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
-
ผู้จัดงาน ผู้ค้าขายอาหาร นักแสดง ต้องได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์
-
ผู้เข้าร่วมงานปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention อย่างเคร่งครัด
-
ผู้จัดงาน มีการกำกับการปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด
อย่างไรก็ตาม การจัดงานลอยกระทงสามารถจัดได้ ถ้ามีการวางมาตรการ และควบคุมกำกับให้มีการปฏิบัติอย่างเข้มงวดเคร่งครัด ที่สำคัญประชาชนต้องตระหนักและรู้จักป้องกันตนเอง และให้ความร่วมมือในมาตรการ ก็จะสามารถร่วมงานลอยกระทงได้อย่างปลอดภัยจากโควิด
ทั้งนี้ การเปิดเมืองเปิดประเทศ ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายและทุกคน 4 สิ่งที่สำคัญคือ ฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมมากที่สุด, ต้องปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention อย่างเคร่งครัดในทุกโอกาส, สถานประกอบการ ผู้จัดกิจกรรม ขอให้เข้มงวดและเคร่งครัดในการปฏิบัติตามมาตรการ Covid Free Setting และหากประชาชนประเมินตนเองว่ามีความเสี่ยง ขอให้ตรวจด้วย ATK หากพบผลบวกจะได้แยกกักตัวและนำไปสู่ระบบการดูแลตัดวงจรการแพร่ระบาด
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage