ครม.เคาะปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ ดันราคาขายเพิ่ม 6-8 บาทต่อซอง 'คลัง' เตรียมแจงรายละเอียด 30 ก.ย. คาดเริ่มมีผลบังคับใช้ 1 ต.ค. ขณะที่ 'ชัยวุฒิ' รมว.ดีอีเอส เสนอไอเดียชง 'บุหรี่ไอคอส' ถูกกฎหมาย ช่วยเกษตรกรผู้ปลูกใบยา - ลดปัญหาขาดทุนโรงงานยาสูบ แต่นายกฯ ยังเบรค อ้างหมอเห็นว่ายังอันตราย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 28 ก.ย.2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และจะเริ่มใช้ในวันที่ 1 ต.ค.2564 เป็นต้นไป ส่วนจะเป็นอัตราใดนั้น ขอให้รอประกาศไม่เกิน 1-2 วันนี้
รายงานข่าวกระทรวงการคลัง ระบุว่า โครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ มีการปรับทั้งหมด ในส่วนการจัดเก็บตามตามปริมาณจาก 1.20 บาทต่อมวนเป็น 1.25 บาทต่อมวน ขณะที่การเก็บภาษีตามมูลค่ายังเป็น 2 อัตรา จากที่เก็บ 20% ของราคาขายปลีกซองละไม่เกิน 60 บาท และ 40% สำหรับราคาขายปลีกที่เกิน 60 บาท เป็น 25% ของราคาขายปลีกซองละไม่เกิน 72 บาท และ 42% สำหรับราคาขายปลีกที่เกิน 72 บาท
"ครม.เห็นชอบภาษีบุหรี่ใหม่คาดว่าจะส่งผลให้ราคาขายปลีกบุหรี่ ขยับขึ้นอีกซองละ 6-8 บาท โดยกรมสรรพสามิต จะชี้แจงรายละเอียดการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ ทั้งหมด ในวันที่ 30 ก.ย.2564 เวลา 16.00 น. หลังอัตราภาษีใหม่ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้ว" รายงานข่าว ระบุ
(ที่มาข่าว : ไทยโพสต์)
รายงานข่าวจากที่ประชุม ครม. แจ้งว่า ระหว่างการพิจารณาโครงสร้างภาษีบุหรี่ ช่วงหนึ่ง นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิดัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) แสดงความเห็นต่อที่ประชุมว่า ควรพิจารณาให้บุหรี่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไอคอสถูกกฎหมาย เนื่องจากปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภคบุหรี่มวนลดลง หันไปบริโภคบุหรี่รูปแบบใหม่ๆ ส่งผลให้จัดเก็บภาษีของรัฐน้อยลงตามไปด้วย และเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบในประเทศ ก็ได้รับผลกระทบจากราคาใบยาสูบตกต่ำ ส่งผลให้รัฐต้องจ่ายชดเชยช่วยเหลือ อีกทั้ง โครงสร้างภาษีของไทย ทำให้บุหรี่ไทยหลายยี่ห้อที่โรงงานยาสูบผลิตและจำหน่ายในประเทศ ราคาสูงกว่ายี่ห้อต่างประเทศที่นำเข้ามาค่อนข้างมาก ผู้บริโภคส่วนหนึ่งจึงหันไปสูบบุหรี่ต่างประเทศ ตรงนี้ทำให้โรงงานยาสูบขาดทุน และบุหรี่ไทยจะตาย
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า นายชัยวุฒิ ได้นำเสนอที่ประชุมด้วยว่า หากทำให้บุหรี่ไอคอสถูกกฎหมาย จะช่วยลดการขาดทุนของโรงงานยาสูบ เป็นการช่วยเกษตรผู้ปลูกใบยาสูบ รัฐไม่ต้องจ่ายชดเชยอีกต่อไป และจะทำให้รัฐจัดเก็บรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันคนไทยนิยมบริโภคบุหรี่ประเภทนี้เป็นจำนวนมาก และในอนาคตอาจมีการตั้งโรงงาน เพื่อส่งออก เป็นการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรใบยาสูบด้วย
พร้อมกันนี้ นายชัยวุฒิ ยังได้ยกตัวอย่างหลายประเทศในยุโรป หรือญี่ปุ่น ที่ทำให้บุหรี่ไอคอสถูกกฎหมาย และยังได้หยิบยกงานวิจัยจำนวนมากที่ระบุว่า บุหรี่ไอคอสมีผลกระทบต่อสุขภาพน้อยกว่าบุหรี่มวน ดังนั้น การทำให้ถูกต้องเป็นการปรับตัวที่ให้ผลดีมากกว่า และไม่เป็นการฝืนธรรมชาติ
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ระบุถึงกรณีดังกล่าวว่า สาธารณสุขและแพทย์ยังยืนยันว่ายังมีความอันตรายอยู่ ขณะที่รัฐมนตรีคนอื่น ๆ ไม่มีใครแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/