“…ตอนนี้มีผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น ทำให้กรุงเทพฯประสบกับปัญหาเตียงเต็ม เราอยากแบ่งเบาภาระบุคลากรสาธารณสุข และเข้าไปช่วยเหลือผู้ป่วยโควิดให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ นอกจากช่วยเหลือผู้ป่วยนำส่งรักษาตัวในโรงพยาบาล เราจึงรับดูแลผู้ป่วยสีเขียวด้วย มีบริการจัดส่งยา กล่องอุปกรณ์ และอาหาร เพราะเราเชื่อว่าการรักษาได้ไวจะช่วยลดอาการป่วยหนัก และการเสียชีวิตได้ นอกจากนั้นยังให้ความรู้ในการป้องกันและการสังเกตอาการตนเองให้คนในพื้นที่ คนของผมจึงไม่ตื่นกลัว…”
………………………………………………….
‘การรักษาผู้ป่วยได้เร็ว’ เป็นหัวใจสำคัญในการลดอาการป่วยหนักและเสียชีวิต ยิ่งรอการรักษานานเท่าใด จากผู้ป่วยสีเขียวก็สามารถกลายเป็นผู้ป่วยสีเหลืองและแดงได้ แต่ท่ามกลางสถานการณ์การระบาด โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) เปิดเผยสถิติผู้ติดเชื้อภายในกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. เป็นต้นมา พบว่ามีผู้ติดเชื้อเฉลี่ยวันละ 3,826.9 ราย รวมสะสม 26,788 ราย และมีจำนวนผู้เสียชีวิตที่บ้านเฉลี่ยวันละ 1.6 ราย รวมสะสม 8 ราย ชี้ให้เห็นการระบาดที่ยังเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนั้นยังมีประชาชนในพื้นที่ กทม.บางส่วนกลับภูมิลำเนาอีกด้วย โดย นพ.ธงชัย เลิสวิไลรัตนพงศ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยสถานการณ์การเดินทางกลับภูมิลำเนา ในการแถลงข่าวกระทรวงสาธารณสุข ประจำวันที่ 5 ส.ค.2564 ว่า ในช่วงเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา มีผู้เดินทางกลับภูมิลำเนากว่า 9.4 หมื่นราย มีอัตราครองเตียงแล้ว 114,786 เตียง จาก 156,189 เตียง คิดเป็น 73.49% ซึ่งคาดว่าอีก 2 สัปดาห์สถานการณ์เตียงในส่วนภูมิภาคจะถึงจุดพีค แสดงให้เห็นถึงวิกฤตเตียงล้นภายในกรุงเทพมหานครอย่างชัดเจน
(อ่านข่าวประกอบ: คาดอีก 2 สัปดาห์ถึงจุดพีค! สธ.เผยคนป่วยโควิดกลับภูมิลำเนาเฉียดแสน-เกินครึ่งอยู่ในอีสาน)
ผู้ป่วยจำนวนมากต้องกลายเป็นผู้ป่วยตกค้าง ท่ามกลางสถานการณ์ที่บุคลากรสาธารณสุขอยู่ในภาวะอ่อนล้า เป็นเหตุให้อาสาภาคประชาชนออกมาขับเคลื่อน-ช่วยเหลือกันเองในภาวะวิกฤติ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงได้สัมภาษณ์เบื้องลึกภารกิจนำส่งผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล ของกลุ่มจิตอาสาในแต่ละพื้นที่ของเขตกรุงเทพมหานคร มีข้อมูลที่น่าติดตามดังนี้
@ 'สายไหมต้องรอด' ดูแล-ส่งต่อผู้ติดเชื้อ ช่วยชีวิตได้นับพันราย
นายเอกภพ เหลืองประเสริฐ ผู้ช่วย ส.ส.เขตสายไหม พรรคเพื่อไทย ในฐานะทีมผู้ก่อตั้งเพจสายไหมต้องรอด กล่าวว่า เราเริ่มก่อตั้งเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.2564 เพื่อรับแจ้งเรื่องร้องทุกข์ต่างๆ ช่วยเหลือคนในพื้นที่เขตสายไหม ต่อมาในช่วงสถานการณ์โควิดเราจึงเริ่มภารกิจนำส่งผู้ป่วยรักษาตัวโรงพยาบาล จนตอนนี้มีทีมงานกว่า 100 ชีวิต
“พื้นที่เขตสายไหม เป็นพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่มากกว่า 200,000 คน ซึ่งมากที่สุดใน กทม. เวลาเกิดเหตุระบาด ก็จะติดเยอะด้วย นอกจากนั้นยังอยู่ใกล้จังหวัดปทุมธานีที่มีการระบาดเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ มีผู้ติดเชื้อหลายราย ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสมในเขตสายไหมนับตั้งแต่เกิดการระบาด ก็ราว 2,000 รายแล้ว” นายเอกภพ กล่าว
โดยในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้เราเริ่มนำส่งผู้ป่วยหลักสิบรายเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยสีเขียว แต่ในปัจจุบันเราได้รับแจ้งผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก Survive - สายไหมต้องรอด ไม่ต่ำกว่า 100 ราย บางวันแตะถึงหลัก 200 รายด้วยซ้ำ และเราเริ่มเห็นผู้ป่วยสีเหลืองและแดงเพิ่มมากขึ้น
นายเอกภพ กล่าวอีกว่า ภารกิจของเรา เราจะรับแจ้งผ่านโทรศัพท์ เว็บไซต์สายไหมเราต้องรอด หรือผ่านเฟซบุ๊ก ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ประสานขอข้อมูลผู้ป่วย คือ รูปบัตรประชาชน ที่อยู่ ใบยืนยันตรวจหาเชื้อ (ถ้ามี) อาการล่าสุด และสิทธิ์ที่ใช้ในการรักษา เช่น ประกันสังคม บัตรทอง หรือประกันชีวิต เป็นต้น รวมถึงเบอร์โทรศัพท์ผู้ป่วยหรือญาติด้วย เมื่อได้เตียงเรียบร้อยแล้ว จะไปรับผู้ป่วยและนำส่งโรงพยาบาลต่อไป
สำหรับผู้ป่วยอาการน้อย หรือไม่มีอาการ (ผู้ป่วยสีเขียว) เราจะส่งทีมเข้าไปประเมินอาการทุกวัน แต่หากระหว่างรอเตียง อาการแย่ลงจากผู้ป่วยอาการน้อยกลายเป็นผู้ป่วยอาการปานกลาง (ผู้ป่วยสีเหลือง) หรือจากผู้ป่วยอาการปานกลางกลายเป็นผู้ป่วยอาการหนัก (ผู้ป่วยสีแดง) เราจะส่งทีมนำถังออกซิเจนไปช่วยเบื้องต้น
“ตอนนี้มีผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น ทำให้กรุงเทพฯประสบกับปัญหาเตียงเต็ม เราอยากแบ่งเบาภาระบุคลากรสาธารณสุข และเข้าไปช่วยเหลือผู้ป่วยโควิดให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ นอกจากช่วยเหลือผู้ป่วยนำส่งรักษาตัวในโรงพยาบาล เราจึงรับดูแลผู้ป่วยสีเขียวด้วย มีบริการจัดส่งยา กล่องอุปกรณ์ และอาหาร เพราะเราเชื่อว่าการรักษาได้ไวจะช่วยลดอาการป่วยหนัก และการเสียชีวิตได้ นอกจากนั้นยังให้ความรู้ในการป้องกันและการสังเกตอาการตนเองให้คนในพื้นที่ คนของผมจึงไม่ตื่นกลัว” นายเอกภพ กล่าว
ซึ่งในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เราช่วยผู้ป่วยโควิดไปได้แล้ว 200-300 ราย รวมสะสมตั้งแต่เกิดการระบาดทั้งหมดนับ 1,000 รายแล้ว
(นายเอกภพ เหลืองประเสริฐ ทีมผู้ก่อตั้งเพจสายไหมต้องรอด)
@ ไม่ใช่แค่เขตสายไหม แต่พร้อมใจช่วยเหลือผู้ป่วยทุกพื้นที่
นายเอกภพ กล่าวอีกว่า โดยส่วนใหญ่เราจะปฏิบัติภารกิจในพื้นที่เขตสายไหม และพื้นที่ใกล้เคียงโดย อาทิ เขตคันนายาว เขตคลองสามวา หรือจังหวัดปทุมธานี เป็นต้น แต่เดี๋ยวนี้มีผู้ป่วยโควิดติดต่อมาจากเขตอ่อนนุช หรือจังหวัดอยุธยาด้วย เราก็ไป
“ผู้ป่วยติดต่อมา ถ้าผมไม่ไปเขาจะทำอย่างไร ใครจะคอยช่วยเขา เราไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ อย่างเคสที่อ่อนนุช หรือจังหวัดอยุธยา ผมก็ไปมาแล้ว สุดท้ายแล้วพอเราสามารถช่วยเหลือชีวิตเขาได้ เราก็มีความสุข” นายเอกภพ กล่าว
@ แนะรัฐเปลี่ยนระบบดูแลผู้ป่วยโควิด เน้นเข้าหาประชาชน
จากการลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด นายเอกภพ กล่าวถึงการดำเนินงานสาธารณสุขภายในกรุงเทพมหานครว่า ระบบการบริหารจัดการดูแลผู้ป่วยโควิดยังเป็นระบบให้ผู้ป่วยเข้าไปหา และใช้ระบบออนไลน์เป็นหลัก แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมา พบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ใช้โทรศัพท์รุ่นธรรมดา ทำให้เขาไม่สามารถลงทะเบียนผ่านช่องทางออนไลน์ได้ และเมื่อเขาป่วย อย่างกรณีเป็นผู้ป่วยสีเหลือง ให้เขามาลงทะเบียนเอง ณ ตอนนั้น เขาก็แทบไม่ไหว ตนเองจึงอยากเสนอให้รัฐเปลี่ยนระบบใหม่ เปลี่ยนเป็นรัฐต้องเข้าหาประชาชน คือ นำยามาหาผู้ป่วยเอง
“ผมมีเจ้าหน้าที่พร้อม แต่ยาและอุปกรณ์ไม่เพียงพอ เรายังต้องการยาลดไข้ ยาลดการอักเสบ และยาสำหรับพ่นคอ ที่สำคัญยังขาดวัคซีนสำหรับจิตอาสา ส่วนอุปกรณ์ตอนนี้ถ้ารถเสีย พวกเราต้องซ่อมกันเอง หากมีเพียงพอมากกว่านี้ ผมเชื่อว่าเราจะสามารถช่วยคนได้มากกว่านี้” นายเอกภพ กล่าว
สุดท้ายนี้ตนเองอยากฝากให้กำลังใจบุคลากรการแพทย์ทุกคน พร้อมฝากข้อเสนอถึงรัฐให้จัดทีมหรือหน่วยงาน อาทิ เทศบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือศูนย์บริการสาธารณสุข ลงพื้นที่มาแจกยาให้กับผู้ป่วย และจัดหาแนวทางนำผู้ป่วยเข้าระบบการรักษา ที่เข้าถึงผู้ใช้โทรศัพท์รุ่นธรรมดาได้ด้วย
(นายนันทวุธ นันทพูลสิน หัวหน้าฝ่ายกู้ชีพกู้ภัย อปพร.เขตสาทร)
@ อาสา ‘ทีมกู้ชีพกู้ภัย อปพร.เขตสาทร’ เข้าเวรช่วยผู้ป่วย 24 ชั่วโมง
อีกทีมจิตอาสาที่ดูแลในพื้นที่เขตสาทร และพื้นที่โดยรอบใกล้เคียง คือ ‘ทีมกู้ชีพกู้ภัย อปพร.เขตสาทร’ ที่ได้ฟอร์มทีมกว่า 20 ชีวิต เริ่มปฏิบัติภารกิจนำส่งผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.2564 ผ่านมาแล้วกว่า 1 เดือน มาจนถึงวันนี้ช่วยเหลือผู้ป่วยโควิดไปได้กว่า 250 ราย
ด้าน นายนันทวุธ นันทพูลสิน หัวหน้าฝ่ายกู้ชีพกู้ภัย อปพร.เขตสาทร กล่าวถึงการปฏิบัติภารกิจของทีมกู้ชีพกู้ภัยฯว่า ทีมเราจะทำหน้าที่ประสานหาเตียงให้ผู้ป่วยตกค้าง โดยเฉพาะกรณีที่ผู้ป่วยได้รับผลตรวจจากชุดตรวจ Antigen Test Kit แล้ว ยังไม่สามารถประสานเข้าสู่ระบบการรักษาตัวได้ โดยจะร่วมมือกับสำนักเขตสาทรเพื่อแจ้งรายชื่อเข้าไป และนำส่งผู้ป่วยยังโรงพยาบาลต่อไป ซึ่งจะใช้เวลาไม่เกิน 3-4 วัน
“ทีมเราจะแบ่งการทำงานเป็น 2 ชุด คือ ทีมกลางวัน และกลางคืน เพื่อให้พร้อมช่วยเหลือผู้ป่วยโควิดได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยในทุกวันๆ ตั้งแต่ช่วงดึกเราจะมีการวางแผนส่งผู้ป่วยและโทรแจ้งผู้ป่วยล่วงหน้าก่อนตลอด เพื่อให้ผู้ป่วยได้มีโอกาสเตรียมตัวเข้าสู่ระบบการรักษาในโรงพยาบาล หรือศูนย์พักคอยในเช้าวันถัดไป พอรุ่งเช้า 8 โมง ก็จะเริ่มออกปฏิบัติภารกิจจนกว่าจะรับส่งผู้ป่วยรายสุดท้ายของแต่ละวัน ซึ่งในช่วงนี้ก็จะส่งผู้ป่วยจนถึงประมาณ 4-5 ทุ่ม บางคืนก็ประมาณตี 1 สำหรับทีมกลางคืนจะคอยรับแจ้งเหตุผู้ป่วยโควิดฉุกเฉิน เข้าช่วยเหลือพร้อมนำถังออกซิเจนให้ผู้ป่วยที่ยังไม่สามารถเข้าสู่ระบบการรักษาภายในโรงพยาบาลได้” นายนันทวุธ กล่าว
@ สภาพรถเก่าส่งต่อผู้ป่วยช้า - แต่ทีมอาสายังใจสู้
นายนันทวุธ กล่าวด้วยว่า ตอนนี้สถานการณ์ผู้ป่วยในพื้นที่เขตสาทรเยอะขึ้นมาก ไม่แตกต่างจากพื้นที่อื่น โดยช่วงแรกจากที่เราเคยรับส่ง 3-4 ราย ตอนนี้ วันนึงไม่ต่ำกว่า 10 ราย อย่างเมื่อวันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา เฉพาะวันเดียว เราส่งต่อผู้ป่วยรักษาตัวยังศูนย์พักคอย โรงพยาบาลสนาม และโรงพยาบาลของรัฐถึง 22 ราย
ส่วนสถานการณ์เตียงแม้ตึงตัว แต่ยังสามารถหาเตียงให้ผู้ป่วยได้บ้าง เนื่องจากเราสามารถส่งไปได้หลายพื้นที่ พื้นที่ใดมีผู้หายป่วยกลับบ้านประมาณเท่าใด เราจะกระจายนำส่งผู้ป่วยไปจนไม่เหลือผู้ป่วยตกค้าง เช่น ศูนย์พักคอยศูนย์ฝึกอบรมสถาบันวิทยาการศุลกากร ถ.มไหสวรรย์ แขวงบางคอแหลม, ศูนย์พักคอยวัดสุทธิวราราม, ศูนย์พักคอยวัดดอกไม้, ศูนย์แรกรับนิมิบุตร และโรงพยาบาลบุษราคัม เป็นต้น
“ปัจจุบันผู้ป่วยโควิดในพื้นที่เริ่มเยอะขึ้นทุกๆ วัน ยอมว่ารถเราไม่เพียงพอ และด้วยสภาพรถคันปัจจุบันเริ่มไม่ไหว ต้องซ่อมอยู่บ่อยครั้ง ทำให้การปฏิบัติภารกิจล่าช้า แต่เราก็พยายามเคลียร์ให้ได้มากที่สุด จึงยังมีผู้ป่วยตกค้างอยู่บ้าง อย่างไรก็ตามอยากฝากถึงประชาชนท่านใดมีรถตู้ที่ไม่ได้ใช้งาน อยากจะให้เรานำมาทำรถพยาบาลรับผู้ป่วยโควิด หรือร่วมสนับสนุนทุนซื้อรถพยาบาลสามารถติดต่อผ่านเฟซบุ๊กกู้ชีพกู้ภัย อปพร.เขตสาทรได้ ทุกความช่วยเหลือของทุกท่าน เราจะนำไปช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างเต็มกำลัง” นายนันทวุธ กล่าว
พร้อมกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า เดี๋ยวนี้เจอญาติผู้ป่วยโควิดเดินถือกระเป๋ามาส่งขึ้นรถกู้ชีพกู้ภัยฯ โดยไม่ได้สวมใส่หน้ากากอนามัยบ่อยครั้ง ด้วยความเป็นห่วง จึงอยากฝากให้ประชาชนดูแลตัวเองให้ดีที่สุด สวมใส่หน้ากากอนามัย และหากบุคคลภายในบ้านติดเชื้อโควิด ขอให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิดอย่างเคร่งครัด
(นายวันวิวัฒน์ รูปสม หัวหน้าชุดลมหายใจฉุกเฉิน)
@ 'ลมหายใจฉุกเฉิน' ส่งออกซิเจนช่วยคนบางพลัด-บางกอกน้อย
ขณะที่ นายวันวิวัฒน์ รูปสม หัวหน้าชุดลมหายใจฉุกเฉิน กล่าวว่า เมื่อก่อนสิ่งที่เราทำ คือ แจกข้าว แจกแมสก์ แนะนำวิธีประสานหาเตียงให้ผู้ป่วย แต่ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา สายด่วน 1668 และ 1669 เริ่มติดต่อยาก จนเจอผู้ป่วยโควิดรายหนึ่ง นอนหายใจไม่ออกแล้ว จึงรีบนำส่งโรงพยาบาลหัวเฉียว ทั้งที่ไม่มีเตียง ไม่มีอะไรไปเลย ผมเห็นพยาบาลใส่ท่อช่วยหายใจให้ผู้ป่วย หลังจากผมคุยกับหมอเสร็จประมาณ 2 ชั่วโมง ผมเห็นผู้ป่วยลุกขึ้นมานั่ง และชู 2 นิ้วให้ นี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิด ‘ทีมลมหายใจฉุกเฉิน’
หลังจากเหตุการณ์นั้น เราเห็นความสำคัญของออกซิเจน จึงร่วมระดมเงินกันซื้อ ได้มา 12 ชุด และเริ่มนำไปช่วยเหลือผู้ป่วยโควิดในพื้นที่บ้านเรา คือ เขตบางพลัด และเขตบางกอกน้อย ก่อนจะเริ่มเปิดเพจเฟซบุ๊ก ลมหายใจฉุกเฉิน เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา 7 ก.ค.2564 และได้รับบริจาคชุดออกซิเจนมาเพิ่มถึง 45 ถัง ก่อนจะเริ่มเดินทางออกไปช่วยในพื้นที่อื่นๆ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดรุนแรงขึ้น และไม่อาจนิ่งนอนใจต่อผู้ป่วยที่เข้ามาขอความช่วยเหลือได้
ผ่านมาแล้วราว 1 เดือน นายวันวิวัฒน์ กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดในกรุงเทพมหานครมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้ในพื้นที่เขตบางพลัด และเขตบางกอกน้อยบ้านเรา มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นในพื้นที่อื่น เริ่มมีแจ้งเข้ามาขอความช่วยเหลือผ่านเพจเฟซบุ๊กเยอะขึ้นมาก ผู้ป่วยสีเขียวแทบไม่เห็นแล้ว ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่แจ้งเข้ามาต่างเป็นผู้ป่วยสีเหลือง และสีแดงหมด กว่าผู้ป่วยจะรู้ว่าติดเชื้อ อาการก็หนักแล้ว
“ถึงแม้ว่าผมจะไม่ได้เรียนด้านการแพทย์มา แต่ผมรู้เลยว่าเชื้อครั้งนี้หนัก อย่างวันนี้ผมได้ไปช่วยคุณป้าท่านหนึ่ง คุณย่าป่วยมีอาการไม่เกิน 4 วัน ทีมงานลมหายใจฉุกเฉินและผมเดินทางเข้าไปช่วยคุณป้า แต่โควิดได้คร่าชีวิตคุณป้าไปก่อนแล้ว” นายวันวิวัฒน์ กล่าว
@ ปรับแผนรักษาที่บ้าน แทนการนำส่งผู้ป่วย หลังเตียงล้นรอกลางแดด 2 ชั่วโมง
สำหรับเคสผู้ป่วยที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ นายวิวัฒน์ กล่าวว่า ช่วงนี้เจอแต่ละวันประมาณ 5-6 ราย ส่วนผู้ป่วยที่เราไปให้คำแนะนำวิธีการรักษา หรือกินยานั้นก็ตกประมาณ 12-13 รายต่อวัน ซึ่งเพิ่มมากขึ้น จนเดี๋ยวนี้ในแต่ละวันเราออกช่วยเหลือผู้ป่วยถึงเวลา 01.00-02.00น.
ขณะเดียวกันด้วยสถานการณ์เตียงล้นอยู่ในสภาพที่รับไม่ไหว ตนเองเคยพาผู้ป่วยสีแดงไปส่งที่โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ จนได้เห็นสภาพที่พยาบาลถึงขั้นร้องไห้ยอมรับสภาพว่า ไม่ไหวแล้ว ตอนนี้เตียงล้นออกมามาก เวลาจะกินข้าวแทบไม่มี และออกซิเจนสำหรับช่วยเหลือผู้ป่วยไม่เพียงพอ ทำให้ผู้ป่วยเคสสีแดงของตนเองต้องรอเข้าสู่ระบบการรักษากลางแดดร้อนๆ ถึง 2 ชั่วโมง จึงทำให้ทีมลมหายใจฉุกเฉินเปลี่ยนการทำงานมาเน้นการรักษาที่บ้าน แทนการนำส่งผู้ป่วย
“สถานการณ์ตอนนี้น่ากลัวนะ เราเคยนำผู้ป่วยไปส่งที่โรงพยาบาลเจริญกรุงฯ แต่เขาไม่สามารถให้การรักษาได้ เนื่องจากเตียงล้นออกมาจำนวนมาก และชุดออกซิเจนไม่เพียงพอ ผู้ป่วยของผมต้องนอนรอกลางแดดกว่า 2 ชั่วโมง หลังจากเกิดเหตุนั้น ผมจึงเลิกที่จะให้ผู้ป่วยเข้าไปรักษาตามโรงพบาบาลแล้ว แต่เราจะนำทีมเอาชุดออกซิเจนเข้าช่วยเหลือแทน ซึ่งตนเองมองว่าได้ผลดีมากกว่าให้ประชาชนต้องนอนรอเตียงกลางแดด” นายวันวิวัฒน์ กล่าว
@ รัฐล้มเหลว เตียงเต็ม-คนป่วยไร้ที่รักษา
สถานการณ์การระบาดที่รุนแรงไม่ได้มีเพียงเท่านั้น นายวันวิวัฒน์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันเรายังพบอีกว่าหากบ้านไหนมีผู้ติดเชื้อ 1 ราย เท่ากับทั้งบ้านนั้นติดเชื้อทั้งหมด เนื่องจากไม่มีโรงพยาบาลรองรับ เมื่อเขาไม่มีที่อยู่ ทำให้เขาต้องอยู่แต่ในบ้าน กินข้าวร่วมกัน และใช้ห้องน้ำร่วมกัน โดยตอนนี้ในพื้นที่ที่ตนเองดูแล พบครัวเรือนติดเชื้อกันภายในครอบครัวกว่า 60 รายแล้ว
ตอนนี้ประชาชนเริ่มการ์ดตกแล้ว จึงอยากขอให้ประชาชนเคร่งครัดมาตรการป้องกันโรคโควิดมากขึ้น เหมือนช่วงการระบาดระลอกแรก ที่เราไม่ออกกันไปไหน และเน้นการสั่งอาหารแบบเดลิเวอรี่อย่างเดียว ส่วนการเข้ามาช่วยเหลือของหน่วยงานรัฐ ตนเองยังไม่พบหน่วยงานใดติดต่อเข้ามา และยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน หากหน่วยงานรัฐเข้ามาร่วมด้วย ตนเองยินดีเสมอ
แต่ที่ผ่านมา แม้จะไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐ แต่ยืนยันว่าจะสู้ต่อ เนื่องจากประชาชนไม่เกี่ยว คนที่เดือดร้อนยังมีอีกเยอะ สิ่งเล็กๆ ที่ตนเองทำอยู่ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเลิกวิตกกังวล
“การบริหารของรัฐเรียกได้ว่าเราอยู่ในจุดที่ล้มเหลว สถานการณ์ตอนนี้ไม่ไหวแล้วจริงๆ บุคลากรแพทย์ต้องทำงานกันอย่างหนัก แม้กระทั่งจะรักษาผู้ประสบอุบัติเหตุหรือป่วยด้วยโรคอื่น ยังไม่มีที่รักษา เนื่องจากโรงพยาบาลเต็มไปด้วยผู้ป่วยโควิดหมดแล้ว ไม่สามารถรับเพิ่มได้” นายวันวิวัฒน์ กล่าว
ทั้งหมดนี้เป็นเบื้องลึกการทำงานของทีมจิตอาสาภาคประชาชน ซึ่งกลายเป็นกลุ่มที่สำคัญที่เข้าไปช่วยเหลือผู้ติดเชื้อในขณะที่สาธารณสุขของรัฐไม่เพียงพอ ต่างสะท้อนกันออกมาเป็นเสียงเดียวกันว่าสถานการณ์การระบาดทุกพื้นที่อยู่ในขั้นวิกฤต บางรายต้องลำบากรอเตียงกลางแดดหรือเสียชีวิตที่บ้าน เพราะเข้าไม่ถึงระบบบริการ ทำให้ทีมจิตอาสาแรกเริ่มดูแลเฉพาะพื้นที่ ต่างไม่อาจนิ่งนอนใจผันตัวช่วยเหลือทุกพื้นที่ที่ประชาชนร้องขอเข้ามา พร้อมขอเน้นย้ำประชาชนอย่าเพิ่งการ์ดตก ส่วนรัฐขอให้เน้นเข้าหาประชาชนมากขึ้น
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage