"...ทั้งหมดนี้ เป็นข้อสังเกต 3 ประเด็นหลักสำคัญที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบและรวบรวมมานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบล่าสุด ก่อนที่จะขยายผลการตรวจสอบไปยัง อปท.แห่งอื่น ๆ ต่อไป โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน ที่มีการตรวจสอบพบว่า อปท.แห่งหนึ่ง ใช้วิธีการแบ่งซอยงานสัญญา เจาะจงเลือกบริษัท บางกอกไฟถนน จำกัด เข้ามารับงานเป็นจำนวนมากหลายสิบสัญญา..."
............................................
ประเด็นตรวจสอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างโครงการเสาไฟฟ้าส่องสว่างพลังงานแสงอาทิตย์ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งขยายผลมาจากกรณีการจัดซื้อเสาไฟรูปประติมากรรมกินรี ขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ราชาเทวะ ที่กำลังอยู่ระหว่างตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในขณะนี้ นั้น
ปัจจุบันยังไม่มีผลสรุปการตรวจสอบจากหน่วยงานใดออกมาเป็นทางการ
แต่ในส่วนของสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สามารถสรุปข้อมูลผลการตรวจสอบช่วงแรกที่สำคัญได้ดังต่อนี้
หนึ่ง.
โครงการติดตั้งเสาไฟฟ้าสาธารณะประติมากรรมรูปสิงห์พร้อมอุปกรณ์ระบบไฟฟ้าของ อบต.บางมัญ อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากโครงการปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง (งบประตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2) ปีงบประมาณ 2553 ดำเนินการในพื้นที่ หมู่ที่ 1 ตามสัญญาเลขที่ 2/2553 ลงวันที่ 8 เมษายน 2553 จำนวนเงิน 722,595 บาท ซึ่งถือเป็นปฐมบท จุดเริ่มต้นภารกิจตรวจสอบโครงการเสาไฟฟ้าสาธารณะประติมากรรม อปท.ทั่วประเทศ
โดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เข้าไปดำเนินการตรวจสอบพบว่า มีการใช้จ่ายงบประมาณสูงเกินความจำเป็น เนื่องจากเป็นการติดตั้งเสาไฟฟ้าประติมากรรม ที่ใช้งบประมาณสูงเมื่อเปรียบเทียบกับการติดตั้งเสาไฟฟ้าตามถนนทั่วไป ซึ่งเป็นกิ่งโคมเดี่ยว คิดเป็นจำนวนเงิน 15,708.04 บาทต่อต้น รวม 204,204.52 บาท
ทั้งที่ ความต้องการของชุมชนและวัตถุประสงค์ของโครงการเพียงต้องการแสงสว่างนำทางเพื่อความปลอดภัย ในการสัญจรไปมาเท่านั้น
นอกจากนี้ ยังพบว่า เสาไฟฟ้าประติมากรรมรูปสิงห์ที่ตั้งอยู่ในชุมชน 9 ต้น และนอกชุมชน 4 ต้น
จากการสังเกตยังพบว่าสามารถใช้การได้เพียง 3 ต้น ส่งผลให้การดำเนินโครงการไม่บรรลุวัตถุประสงค์ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้อย่างแท้จริง และทำให้การใช้จ่ายเงินไม่มีประสิทธิภาพ
เบื้องต้น สตง. ได้ทำหนังสือแจ้งกระทรวงมหาดไทยว่า โครงการติดตั้งเสาไฟฟ้ารูปประติมากรรม กำลังได้รับความสนใจจาก อปท.หลายพื้นที่ทั่วประเทศ เพราะฉะนั้นกระทรวงมหาดไทย ควรจะต้องกำชับท้องถิ่นให้กำกับดูแลเรื่องการใช้จ่ายเงินให้เกิดประโยชน์คุ้มค่าและสามารถสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนได้อย่างแท้จริง (ดูเอกสารประกอบ)
ต่อมาในปี 2560 สตง.ได้ตรวจสอบโครงการจัดซื้อเสาไฟฟ้าแสงสว่าง พร้อมประติมากรรมรูปกินรี ในส่วนของ อบต.ราชาเทวะ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ พบว่ามีประเด็นข้อสังเกตหลายประการ เช่น ราคาเสาไฟฟ้าที่จัดซื้อมีราคาสูง การกำหนดราคากลางไม่ถูกต้อง การติดตั้งไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการและมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง ปัญหาเรื่องการชำรุด ขาดการดูแล บำรุงรักษา ประกอบกับผลการตรวจสอบในพื้นที่อื่น ๆ มีลักษณะเช่นเดียวกัน สตง.จึงวิเคราะห์ในภาพรวม และได้มีหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบพร้อมข้อเสนอแนะไปยังอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และสำเนาหนังสือส่งปลัดกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 ใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1. เรื่องราคาที่สูงมาก รูปแบบความเหมาะสมของพื้นที่ที่จะติดตั้งกับภูมิทัศน์ของท้องถิ่น 2. การติดตั้งเสาไฟฟ้าประติมากรรมไม่เป็นไปตามมาตราฐานไฟฟ้าสาธารณะที่กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด เช่น การติดตั้งมีความถี่มากกว่าที่กำหนด 3. การชำรุดเสียหาย ไม่สามารถใช้งานได้ ขาดการบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง
จากนั้นเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2561 กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) ได้มีหนังสือแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ให้แจ้งกำชับให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ สตง. หากจะดำเนินโครงการติดตั้งเสาไฟฟ้าประติมากรรมเป็นแนวทางปฏิบัติในการดำเนินงานโครงการฯ
ก่อนที่การดำเนินงานโครงการฯ ส่วนนี้จะเงียบหายไป
(อ่านประกอบ : เปิดตัว อบต.บางมัญ เจ้าแรกปี 55 โดน สตง. สอบผลาญงบทำเสาไฟรูปสิงห์แพงต้นละ 5.5 หมื่น)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบข้อมูลเพิ่มเติม ภายหลังจากโครงการเสาไฟฟ้ารูปประติมากรรม ของ อปท.ในพื้นที่หลายจังหวัด ปรากฏเป็นข่าวใหญ่ในสังคมถูกตรวจสอบจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ได้ทำหนังสือแจ้งเวียนผู้ว่าราชการจังหวัด แจ้งกำชับ อปท. ดำเนินการกรณีการติดตั้งไฟฟ้าสาธารณะหรือการก่อสร้างเสาไฟฟ้าประติมากรรมพร้อมอุปกรณ์ระบบไฟฟ้า ควรมีการสำรวจ ตรวจสอบความต้องการของประชาชนในพื้นที่ โดยผ่านประชาคมท้องถิ่น และนำบรรจุเข้าแผนพัฒนาท้องถิ่นก่อน นอกจากนี้ ควรพิจารณาเลือกรูปแบบเสาไฟฟ้าแสงสว่างที่จะนำมาติดตั้งบนถนนให้เหมาะสมกับสภาพภูมิทัศน์ของท้องถิ่นด้วย ทั้งนี้ กรณีการก่อสร้างเสาไฟฟ้าประติมากรรมพร้อมอุปกรณ์ระบบไฟฟ้านั้น ให้พิจารณาถึงความสวยงาม หรือเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น หรือความเหมาะสมของจุดติดตั้งตามการใช้ประโยชน์ในสวนสาธารณะ แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ และคำนึงถึงความคุ้มค่า โปร่งใส มีประสิทธิภาพประสิทธิผล และตรวจสอบได้ เนื่องจากเสาไฟฟ้าประติมากรรมมีราคาสูงเมื่อเทียบกับราคาเสาไฟฟ้าแบบปกติ
อย่างไรก็ดี ในหนังสือฉบับนี้ ไม่ได้มีการระบุถึงการสั่งห้ามหรือระงับการดำเนินงานโครงการฯ ในภาพรวมแต่อย่างใด
(อ่านประกอบ : ต้องผ่านประชาคมก่อน! สถ.ออกแอคชั่นสั่งผู้ว่าฯ คุมเข้ม อปท.ทำเสาไฟรูปประติมากรรม)
สอง .
จากการขยายผลการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกรายละเอียดจัดซื้อจัดจ้างโครงการเสาไฟฟ้าของอปท.แห่งต่าง ๆ ของ สำนักข่าวอิศรา ภายหลังจากที่ได้สืบค้นข้อมูลในส่วนของ อบต.ราชาเทวะ ที่พบว่าผูกจ้างบริษัท บางกอกไฟถนน จำกัด เข้ามาเป็นคู่สัญญารับงานโครงการเสาไฟฟ้ากินรี ตั้งแต่ปี 2556-2563 รวมจำนวน 11 สัญญา วงเงิน 907,270,000 บาท (ที่มีการประกาศผลเป็นทางการ)
ในช่วงปี 2562 -2564 สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า มี อปท.อีก 4 แห่ง ที่จัดซื้อจัดจ้างโครงการที่เกี่ยวกับเสาไฟฟ้าส่องสว่าง และปรากฏชื่อ บริษัท บางกอกไฟถนน จำกัด ได้รับงานไปทั้งหมด
คือ อบจ.อ่างทอง ,อบจ.สุพรรณบุรี ,เทศบาลนครเจ้าพระยาสุรศักดิ์ (ทน.เจ้าพระยาสุรศักดิ์) อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี , อบต.หนองปรือ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ
เมื่อรวมจำนวนงานที่ บริษัท บางกอกไฟถนน จำกัด ได้รับไปทั้งหมดจาก อปท.ทั้ง 5 แห่ง จำนวน 73 สัญญา วงเงิน 1,554,521,267 บาท เท่าที่ตรวจสอบพบ (ดูข้อมูลในตารางประกอบ)
เมื่อสำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกรายละเอียดการจัดซื้อจัดจ้างโครงการฯ ของ อปท.ทั้ง 5 แห่ง จะพบว่ามีลักษณะคล้ายกัน คือ
1. หจก.สารคามการไฟฟ้า เป็นคู่เทียบที่เข้ามาร่วมการประกวดราคาส่วนใหญ่ โดยจะเสนอราคาสูงกว่า บริษัท บางกอกไฟถนน จำกัด หลักพันหรือหลักหมื่น ก่อนจะแพ้ไป
2. การประกวดราคางานในช่วงปี 2562 จะมีคู่เทียบอีกกลุ่มหนึ่ง ที่เข้ามาร่วมการเสนอราคาด้วย โดยจะเสนอราคาต่ำมาก แต่ไม่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติเทคนิค
ในจำนวนนี้แบ่งเป็นเอกชน 2 ลักษณะ คือ (1.) เป็นเอกชนรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ ทุนจดทะเบียนหลายสิบล้าน (หลายรายอยู่ในภาคอีสาน) 2. เป็นผู้ประกอบการรายเล็ก
ทั้งนี้ ในส่วนของเอกชนรายเล็ก มีข้อสังเกตสำคัญอยู่ 2 บริษัท คือ
- บริษัท ท็อป เอ.วี ซิสเท็ม จำกัด ที่เข้าร่วมการประกวดราคาของอบจ.อ่างทอง สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก พบว่า ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 กระทรวงการคลัง ได้ทำหนังสือแจ้งเวียนรายชื่อให้ บริษัท ท็อป เอ.วี ซิสเท็ม จำกัด และนายนิคม อภิฐานะตระกูล ผู้บริหารฯ เป็นผู้ทิ้งงานจ้างก่อสร้างเสาไฟถนนพลังงานแสงอาทิตย์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา วงเงิน 1,440,000 บาท ของ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา หรือเป็นระยะเวลา 1 เดือน หลังจากปรากฏชื่อเป็นคู่เทียบ ในช่วงปี 2563 ที่มีการประกาศผลในเดือนมกราคม 2563
- บริษัท ทรัพย์เจริญยิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ที่เข้าร่วมการประกวดราคาของ อบต.ราชาเทวะ , อบจ.อ่างทอง และ อบจ.สุพรรณบุรี สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบในฐานข้อมูลออนไลน์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า มีบริษัทแห่งเดียวที่ใช้ชื่อว่า บริษัท ทรัพย์เจริญยิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด
จดทะเบียนจัดตั้ง 29 กันยายน 2559 ทุน 1 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 248/11 หมู่ที่ 5 ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี
แจ้งประกอบธุรกิจขายส่งอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับให้แสงสว่าง
ปรากฎชื่อ นางสาววิรี เอกรินทรากุล นาย วิชิต เอกรินทรากุล และ นาง สิริพร เอกรินทรากุล เป็นกรรมการ ณ 1 กันยายน 2559 นางสาว วิรี เอกรินทรากุล ถือหุ้นใหญ่
อย่างไรก็ดี ในฐานข้อมูลออนไลน์กรมพัฒนาธุรกิจการค้าปัจจุบัน ยังไม่โชว์ข้อมูลงบการเงินของ บริษัทฯ นับตั้งแต่จดทะเบียนตั้งบริษัทฯ เมื่อปี 2559 ขณะที่สำนักข่าวอิศรา ได้พยายามติดต่อผู้บริหารบริษัทฯ ให้ชี้แจงข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏเป็นข่าวแล้วแต่ไม่สามารถติดต่อได้ (ดูภาพข้อมูลประกอบ)
ขณะที่จากการตรวจสอบฐานข้อมูลออนไลน์ สำนักข่าวอิศรา พบว่า ในเฟซบุ๊ก มีคนชื่อ-นามสกุล เหมือนกับกรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท ทรัพย์เจริญยิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด คือ นางสาววิรี เอกรินทรากุล นาย วิชิต เอกรินทรากุล อยู่
เนื้อหาข้อความส่วนใหญ่ที่โพสต์และแชร์ต่อในเฟซบุ๊ก คือ การเปิดรับออเดอร์ขายอาหาร อาทิ ข้าวไข่เจียว ยำขนมจีน หมูทอดชาววัง เป็นต้น พร้อมระบุเบอร์โทรศัพท์ติดต่อไว้ (ดูภาพประกอบ)
เมื่อสำนักข่าวอิศรา ติดต่อไปตามเบอร์โทรศัพท์ดังกล่าว มีผู้หญิงคนหนึ่งรับ
เมื่อสอบถามว่า นี่คือเบอร์ของ นางสาววิรี เอกรินทรากุล ใช่หรือไม่ ได้รับแจ้งว่า ใช่ และสอบถามกลับว่า ต้องการจะติดต่ออะไร
เมื่อผู้สื่อข่าวแนะนำตัวว่าเป็นผู้สื่อข่าวและเกริ่นเรื่องการทำสัญญาเสาไฟฟ้ารูปประติมากรรมกินรี
ผู้หญิงรายนี้ ตอบว่า "ไม่สะดวกจะให้ข้อมูล ไม่ขอให้ข่าว จากนั้นจึงวางสายโทรศัพท์ไปทันที"
สำหรับข้อมูลในส่วนของเอกชนรายใหญ่นั้น สำนักข่าวอิศรา ได้รับคำชี้แจงผู้บริหารบางบริษัทฯ ถึงเหตุผลที่ไม่ได้รับงานตกคุณสมบัติและเทคนิค เป็นเพราะเงื่อนไขการประกวดราคาที่มีการกำหนดให้ต้องนำสินค้าตัวอย่างไปโชว์ให้หน่วยงานดูด้วย ทำให้เสียเปรียบในการแข่งขันเสนอราคาเป็นอย่างมาก (ดูเอกสารประกอบ)
อย่างไรก็ดี การตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของ อปท.ทั้ง 5 แห่ง ในการจัดทำโครงการก่อสร้างที่เกี่ยวกับการจัดซื้อเสาไฟฟ้าโซล่าเซลล์ ที่ปรากฏชื่อ บริษัท บางกอกไฟถนน จำกัด ได้รับงานไปดังกล่าว
ปัจจุบันยังไม่มีการชี้มูลความผิดจากหน่วยงานตรวจสอบแห่งใด
ผู้เกี่ยวข้องทั้งในส่วนภาครัฐ และเอกชนที่ปรากฎในข่าว จึงยังถือเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
สาม.
ในประเด็นการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกกรณี อบต.ราชาเทวะ นั้น สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลจากผู้บริหารระดับสูงของ สตง. ว่า โครงการจัดซื้อเสาไฟกินรี ในช่วงปี 2556 ที่มีปัญหาเกิดขึ้น เป็นข้อมูลสำคัญ ที่ สตง.เสนอเรื่องต่อ ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) จนนำไปสู่การใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการสั่งให้ นายก อบต.ราชเทวะ หยุดปฏิบัติหน้าที่
โดยโครงการฯ ในช่วงปี 2556 นั้น สตง. ตรวจสอบพบข้อบกพร่องสำคัญ คือ อบต. ราชาเทวะ ได้ทำสัญญาจัดซื้อเสาไฟฟ้าแสงสว่าง พร้อมรูปประติมากรรมกินรี จากเอกชน โดยที่ยังไม่ได้ดำเนินการจัดส่งรูปแบบรายละเอียดของงานให้แขวงการทางสมุทรปราการพิจารณาก่อนการดำเนินงาน และเมื่อแขวงการทางสมุทรปราการ ได้เชิญ อบต. ราชาเทวะ มาหารือแนวทางการติดตั้งและรื้อถอนไฟฟ้า เพื่อนำไปติดตั้งในพื้นที่รับผิดชอบ หรือจัดเก็บเสาไฟฟ้าไว้ก่อนจนกว่าจะหาที่เหมาะสม พร้อมให้แขวงการทางสมุทรปราการเป็นผู้ดำเนินการติดตั้งตามมาตรฐานกรมทางหลวงอีกครั้ง แต่ อบต.ราชาเทวะ กับไม่ได้ปฏิบัติตามมติที่ประชุม อีกทั้งยังไปจัดทำสัญญาจัดซื้อเสาไฟฟ้ามาเพิ่มเติมอีก เป็นเหตุให้ราชการเกิดความเสียหายเป็นเงินจำนวน 67.29 ล้านบาท
เบื้องต้น นอกจาก สตง. จะทำหนังสือแจ้งให้ อบต.ราชาเทวะ ดำเนินการเรียกเงินคืนจากผู้เกี่ยวข้อง เป็นจำนวน 67.29 ล้านบาท หากไม่สามารถดำเนินการได้ให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเพื่อหาผู้รับผิดชอบและดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องต่อไปแล้ว
สตง. ยังได้ทำหนังสือแจ้งผลการสอบสวนให้กับ ป.ป.ช. และ ปปง. ตั้งแต่ปี 2561 แล้ว
แต่หลังจากนั้น เรื่องทุกอย่างก็ดูเหมือนจะเงียบไป และไม่นานนัก นายก อบต.ราชเทวะ ก็ได้รับการคืนตำแหน่งกลับมา
จึงทำให้เกิดข้อสังเกตเกี่ยวกับการใช้อำนาจตาม ม.44 ของ พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งการสั่งให้ นายก อบต.ราชเทวะ หยุดปฏิบัติหน้าที่ และคืนตำแหน่งให้ ว่า ใช้เหตุผลข้อมูลอะไรมาประกอบการพิจารณากันแน่? บางกระแสข่าวมีความพยายามจะเชื่อมโยงไปถึงเรื่องการเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้งช่วงปี 2562 ของพรรคการเมืองใหญ่แห่งหนึ่งด้วย
แต่ประเด็นนี้ จนถึงปัจจุบันยังไม่ได้รับคำชี้แจงเป็นทางการจาก พล.อ.ประยุทธ์แต่อย่างใด
(อ่านประกอบ : ข้อสงสัย? คำสั่ง หน.คสช. กรณีคืนตำแหน่ง นายก อบต.ราชาเทวะ)
ล่าสุด เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2564 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้มีมติชี้มูลความผิดทางอาญา นายทรงชัย นกขมิ้น นายก อบต. ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ กับพวก ถูกกล่าวหาว่า ทุจริตประกวดราคาซื้อรถยนต์ดับเพลิงกู้ภัยแบบกระเช้าบันได จำนวน 1 คัน วงเงิน 39,950,000 บาท ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2555 ไปแล้ว
ขณะที่ก่อนหน้านั้น สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันจาก นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ปัจจุบันขับเคลื่อนงานปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันในสังคม ในนามผู้ตรวจสอบเงินแผ่นดินภาคประชาชน ว่า โครงการจัดซื้อรถดับเพลิงของอบต.ราชาเทวะ เป็น 1 ใน 4 เรื่อง รวมกับ โครงการตู้ดับเพลิงอุ่นใจ โครงการจัดซื้อเสาไฟกินรี และโครงการจัดทำปฏิมาติกรรมเกาะกลางถนน ที่สตง. ส่งเรื่องให้ ศอตช. เพื่อเสนอเรื่องต่อ หัวหน้า คสช. ให้พิจารณาจนมีคำสั่งให้นายกอบต.ราชาเทวะ ยุติการปฎิบัติหน้าที่ด้วย
(อ่านประกอบ : ยกปย.คืนตำแหน่งให้! อดีตผู้ว่าฯ สตง.ยันนายก อบต.ราชาเทวะ โดน ม.44 มีเรื่องเสากินรี)
ก็ยิ่งชวนให้สงสัยถึงข้อสังเกตเกี่ยวกับการใช้อำนาจตาม ม.44 ของ พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งการสั่งให้ นายก อบต.ราชเทวะ หยุดปฏิบัติหน้าที่ และคืนตำแหน่งให้ ว่า ใช้เหตุผลข้อมูลอะไรมาประกอบการพิจารณากันแน่เพิ่มมากขึ้นไปอีก
แท้จริงแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จริงใจและให้ความสำคัญกับนโยบายการปราบปรามการทุจริตของประเทศไทยอย่างตรงไปตรงมา มากน้อยเพียงใด?
ทั้งหมดนี้ เป็นข้อสังเกต 3 ประเด็นหลักสำคัญที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบและรวบรวมมานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบล่าสุด ก่อนที่จะขยายผลการตรวจสอบไปยัง อปท.แห่งอื่น ๆ ต่อไป
โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน ที่มีการตรวจสอบพบว่า อปท.แห่งหนึ่ง ใช้วิธีการแบ่งซอยงานสัญญา เจาะจงเลือกบริษัท บางกอกไฟถนน จำกัด เข้ามารับงานเป็นจำนวนมากหลายสิบสัญญา
รายละเอียดเป็นอย่างไร โปรดติดตามผลการตรวจสอบช่วงที่สองต่อไป
อ่านเรื่องในหมวดเดียวกันประกอบ :
เปิดชัดๆ หนังสือ สถ.แจ้งผลสอบ สตง. คุมเข้ม อปท.ผลาญงบเสาไฟประติมากรรม ปี 61
ป.ป.ช.ตั้ง 5 คณะไต่สวนเบื้องต้นเสาไฟกินรี อบต.ราชาเทวะ -แยกสอบตามปีงบประมาณ
อบจ.สุพรรณบุรี
ไส้ใน อบจ.สุพรรณ ซื้อเสาไฟมังกร 60.9 ล. 'ผู้ชนะ-คู่เทียบ' ชุดเดียวราชาเทวะ (อีกแล้ว)
เทศบาลนครเจ้าพระยาสุรศักดิ์
ลาม ทน.เจ้าพระยาฯ ! บิ๊กรับเหมาอีสานหมื่นล.โผล่ คู่เทียบ แข่งเสาไฟยื่นราคาต่ำ-ตกคุณสมบัติ
คู่เทียบขาใหญ่ตกเทคนิคหมด! ไส้ใน บ.บางกอกฯ กวาดงาน ทน.เจ้าพระยาสุรศักดิ์ 8 ส. 88 ล้าน
อบต.หนองปรือ
ถึงคิว! ตรวจเสาไฟ อบต.หนองปรือ บ.บางกอกฯ คว้างานเพียบ 12 สัญญา 97.3 ล้าน
ราชาเทวะโมเดล? ไส้ใน อบต.หนองปรือ ซื้อเสาไฟ 35 ล.'คู่เทียบ' ยื่นราคาต่ำแต่ตกคุณสมบัติ
อบต.ให้โชว์เสาไฟตัวอย่าง! คู่เทียบแห่ง 2 แจงแข่งงานหนองปรือ ตกคุณสมบัติ 3 สัญญารวด
เปิดหมด! ไส้ในแข่งงานเสาไฟ อบต.หนองปรือ 12 สัญญา 97 ล. - โมเดลเดียวราชาเทวะ?
อบต.บางมัญ สิงห์บุรี
เปิดตัว อบต.บางมัญ เจ้าแรกปี 55 โดน สตง. สอบผลาญงบทำเสาไฟรูปสิงห์แพงต้นละ 5.5 หมื่น
เทศบาลนครตรัง
ซากอยู่บ่อขยะ-รอประมูลขาย! ป.ป.ช.ตรัง ลุยสอบถอนเสาไฟหงส์ ต้นละแสน งบ 3 ล. โดยพลการ
อบจ.อ่างทอง
โผล่ อบจ.อ่างทอง! บ.บางกอกฯ กวาดงานเสาไฟ 12 ส. 147 ล. คู่เทียบ ชุดเดียว 'อบต.ราชาเทวะ'
พบ 'คู่เทียบรายใหม่' ถูกขึ้นบัญชีดำทิ้งงาน หลังแข่งเสาไฟ อบจ.อ่างทอง 18 ส.145 ล้าน
ครบชุด! อบจ.อ่างทอง ซื้อเสาไฟปี 63 บ.บางกอกฯ กวาดเรียบ 8 ส. 145 ล. - คู่เทียบรายเดียว
กระฉูด 400 ล.! คุ้ยเจอ บ.บางกอกฯ ได้งาน อบจ.อ่างทอง ปี 62 อีก 107 ล.- คู่เทียบชุดเดิม
อบต.ราชาเทวะ
สตง.จี้ 'อบต.ราชาเทวะ' คืนเงิน67ล. เหตุบกพร่องเร่งรีบซื้อเสาไฟฟ้า-กินรี ปี 56
นายกอบต.ราชาเทวะ โต้ สตง.สอบเสาไฟฟ้ากินรี67ล. ยันทำถูกต้อง 'บิ๊กตู่' คืนตำแหน่ง ม.44 ด้วย
ฉบับเต็ม! ผลสอบ สตง.จัดซื้อเสาไฟฟ้ากินรี 67ล. ก่อน นายกฯ อบต.ราชาเทวะ โต้ไร้ปมทุจริต
หลังโดนสตง.เรียกเงินคืน 67ล.! อบต.ราชาเทวะ ซื้อเสาไฟกินรีแสงอาทิตย์ บ.เจ้าเดิม 1.8 พันต้น171ล.
พบอบต.ราชาเทวะ ควักอีก 27ล. ปรับปรุงเสาไฟกินรีที่ถูกสตง.เรียกเงินคืน 67ล.- คู่สัญญาเดิม
สนามบินอยู่เขต อบต. ต้องดูดี! นายกฯ ราชาเทวะ แจงทำเสาไฟกินรี 263ล.-บ.เจ้าเดียวได้งานโปร่งใส
ตามไปดู บ.บางกอกไฟถนน ขายเสากินรีแสงอาทิตย์ อบต.ราชาเทวะ 263 ล. - รอผู้บริหารชี้แจง
คู่เทียบอยู่สารคาม! แกะรอย อบต.ราชาเทวะ จัดซื้อเสาไฟกินรี171ล.แข่ง2เจ้า-ไม่เผยราคาประมูล
พลิกปูมข่าวเสาไฟกินรี อบต.ราชาเทวะ! ก่อนเพจต้องแฉ โชว์ภาพ-บ.เดียว 7 สัญญา 461 ล.
734 ล้าน 8 ปี 10 สัญญา! อบต.ราชาเทวะ ผูกจ้าง บ.เดียวรับงานเสาไฟกินรี
เจออีกสัญญา 172.8 ล.! ยอด อบต.ราชเทวะ ผูกซื้อเสาไฟกินรี บ.เดียว พุ่ง 907.2 ล.
ทั่วปท. 287 โครงการ 1,361 ล.! บ.บางกอกไฟฯ คว้างานเสาไฟรัฐ- อบต.ราชาเทวะ มากสุด 907 ล.
ไส้ใน อบต.ราชาเทวะ ซื้อเสากินรี 428 ล. ปี 64 'คู่เทียบ' ยื่นซองต่ำหลายสิบล.แต่ชวดงานหมด
ร้อง ป.ป.ช.สอบ อบต.ราชาเทวะซื้อ‘เสาไฟกินรี’-ผูกจ้างเอกชนเจ้าเดียว 12 สัญญาพันล.
ซอยร้างหญ้ารกชัฏก็ติด! ข้อมูล ‘ศรีสุวรรณ’ ยื่นสอบ อบต.ราชาเทวะ ซื้อเสาไฟกินรีพันล้าน
พบ 'คู่เทียบ' เสาไฟกินรีรายที่ 2 ยื่นซองต่ำแต่ตกคุณสมบัติ-ชื่อเหมือน บ.ขายเฟอร์นิเจอร์
ขยายผลสอบเสาไฟกินรี! สตง.สั่งยกระดับตรวจ อปท.5 จว.เน้นเปรียบเทียบราคา-ประสิทธิภาพ
ก่อนยอดพุ่ง 907ล.! โชว์หนังสือลับ สตง.จี้ อบต.ราชาเทวะ คืน67ล. บกพร่องซื้อเสากินรี ปี 56
แกะรอย บ.คู่เทียบเสาไฟกินรี อบต.ราชเทวะ พบคนชื่อเหมือน กก.โพสต์ขายไข่เจียว-ไม่ขอให้ข่าว
รับขยายผลต่อ! สตง.รู้ข้อมูล 'คู่เทียบ' แข่งขายเสาไฟกินรี อบต.ราชาเทวะ แล้ว
เปลี่ยนชื่อหลังยื่นซอง 7 วัน! บ.เฟอร์นิเจอร์ คู่เทียบเสาไฟกินรี อบต.ราชเทวะ สัญญา 74 ล.
อบต.ราชาเทวะไม่หยุด! สภาฯ อนุมัติซื้อเสากินรีอีก 720 ต้น-ยอด อบจ.อ่างทอง พุ่ง 412 ล.
ข้อสงสัย? คำสั่ง หน.คสช. กรณีคืนตำแหน่ง นายก อบต.ราชาเทวะ
ยกปย.คืนตำแหน่งให้! อดีตผู้ว่าฯ สตง.ยันนายก อบต.ราชาเทวะ โดน ม.44 มีเรื่องเสากินรี
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/