ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “เชื่อหรือไม่ นายกฯจะเปิดประเทศภายใน 120 วัน ” พบว่า ร้อยละ 53.55 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย เพราะ สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ยังไม่สามารถควบคุมได้ ยังไม่ต้องการให้เสี่ยงรับต่างชาติเข้ามา และต้องการให้เปิดประเทศตอนที่ประชาชนฉีดวัคซีนแล้วเกือบทั้งประเทศก่อน
........................
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “เชื่อหรือไม่ นายกฯจะเปิดประเทศภายใน 120 วัน ” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 22 – 25 มิถุนายน 2564 จากประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,311 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับคำประกาศของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะต้องเปิดทั้งประเทศ ให้ได้ภายใน 120 วัน การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่าง ด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 97.0
จากการสำรวจเมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนกับคำประกาศของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะต้องเปิดทั้งประเทศ ให้ได้ภายใน 120 วัน พบว่า ร้อยละ 12.43 ระบุว่า เห็นด้วยมาก เพราะ เป็นการกระตุ้นให้เศรษฐกิจดีขึ้น เป็นการช่วยเหลือ ฟื้นฟู การท่องเที่ยวในไทย ให้มีรายได้เหมือนเดิม แก้ปัญหาปากท้องของประชาชนในประเทศได้ ร้อยละ 13.58 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะ มีเงินหมุนเวียนเข้าประเทศ ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยว และรัฐต้องมีการควบคุมอย่างเข้มงวด ร้อยละ 19.91 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะ สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ยังรุนแรงอยู่ ประชาชนบางส่วนยังไม่ได้รับวัคซีน และไม่เชื่อมั่นในมาตรการป้องกันของรัฐ ร้อยละ 53.55 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย เพราะ สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ยังไม่สามารถควบคุมได้ ยังไม่ต้องการให้เสี่ยงรับต่างชาติเข้ามา และต้องการให้เปิดประเทศตอนที่ประชาชนฉีดวัคซีนแล้วเกือบทั้งประเทศก่อน และร้อยละ 0.53 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ด้านความเชื่อของประชาชนต่อรัฐบาลว่าจะสามารถเปิดทั้งประเทศได้ภายใน 120 วัน ตามคำประกาศของนายกฯ พบว่า ร้อยละ 6.94 ระบุว่า เชื่อมาก ร้อยละ 20.22 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อ ร้อยละ 28.68 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อ ร้อยละ 42.94 ระบุว่า ไม่เชื่อเลย และร้อยละ 1.22 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อการยอมรับความเสี่ยงร่วมกันกับรัฐบาลจากการเปิดทั้งประเทศ ตามคำประกาศของนายกฯ แต่อาจต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่เพิ่มขึ้น พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 52.56 ระบุว่า จะไม่ยอมรับความเสี่ยงใด ๆ และรัฐบาลต้องรับผิดชอบ รองลงมา ร้อยละ 24.56 ระบุว่า จะยอมรับความเสี่ยง แต่รัฐบาลต้องรับผิดชอบ ร้อยละ 11.29 ระบุว่า จะไม่ยอมรับ ความเสี่ยงใด ๆ แต่ก็ไม่โทษรัฐบาล ร้อยละ 9.00 ระบุว่า จะยอมรับความเสี่ยง และไม่โทษรัฐบาล และร้อยละ 2.59 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ ไม่สนใจ
ท้ายที่สุดเมื่อถามประชาชนถึงการให้ความสำคัญระหว่างความอยู่รอดทางเศรษฐกิจกับความปลอดภัยของสุขภาพ พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 69.19 ระบุว่า เลือกความปลอดภัยของสุขภาพ แม้ว่าจะต้องอยู่ในภาวะเศรษฐกิจที่ยากลำบาก เพราะ ถ้าประชาชนสุขภาพแข็งแรงดี ทำให้ไม่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ขึ้น จะได้กลับมาในการดำรงชีวิต ประกอบอาชีพได้ และมีแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ดีขึ้นตามมา รองลงมา ร้อยละ 18.99 ระบุว่า เลือกความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ แม้ว่าจะต้องเสี่ยงกับความปลอดภัยของสุขภาพ เพราะ เศรษฐกิจแย่ ส่งผลกระทบในหลาย ๆ ด้าน ต้องการประกอบอาชีพเหมือนเดิม และประชาชนส่วนใหญ่มีการดูแลและรับผิดชอบตัวเองได้ และร้อยละ 11.82 ระบุว่า อะไรก็ได้แล้วแต่รัฐบาลจะเห็นสมควร เพราะ ทั้ง 2 สิ่งมีความสำคัญเท่ากัน ต้องทำควบคู่กันไป
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.85 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.71 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 18.15 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.64 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 13.65 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 49.05 เป็นเพศชาย และร้อยละ 50.95 เป็นเพศหญิง
ตัวอย่างร้อยละ 8.70 มีอายุ 15 – 25 ปี ร้อยละ 15.87 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 21.43 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 30.89 มีอายุ 46 – 59 ปี และร้อยละ 23.11 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 95.50 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.05 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.84 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ และร้อยละ 0.61 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่างร้อยละ 22.96 สถานภาพโสด ร้อยละ 73.68 สมรสแล้ว ร้อยละ 2.75 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 0.61 ไม่ระบุสถานภาพ
ตัวอย่างร้อยละ 28.22 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 34.86 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 6.79 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 25.78 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 3.51 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 0.84 ไม่ระบุการศึกษา
ตัวอย่างร้อยละ 10.22 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 14.57 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 21.05ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 13.43 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 15.48 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 20.59 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 3.59 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 1.07 ไม่ระบุอาชีพ
ตัวอย่างร้อยละ 21.21 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 23.19 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 25.40 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 9.23 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 5.42 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 4.73 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาท ขึ้นไป และร้อยละ 10.82 ไม่ระบุรายได้