ศาลอาญาร่วมมือ 4 หน่วยงาน จัดกิจกรรม ‘ทำงานแทนค่าปรับ’ ถวายเป็นพระราชกุศล 12 ส.ค. ช่วยลดงบประมาณการคุมขัง ให้คนจนได้รับโอกาสทำสาธารณประโยชน์แทนการจ่ายค่าปรับวันละ 500 บาท ถ้าบริจาคโลหิตให้คิดเป็นโปรแทน 3 วัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 12 ส.ค. 2563 ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอาญาร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร กรมคุมประพฤติ และกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) จัดกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล 12 สิงหาคมฯ โดยได้รับเกียรติจาก นายชูชัย วิริยะสุนทรวงศ์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา นายสมเกียรติ ศรลัมพ์ ผู้ช่วย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นางศศิฑอณร์ สุวรรณมณี ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม นางธารินี แสงสว่าง รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ น.ส.พนิตนาฏ ธนาอภินันทน์ รอง ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. และ พล.ต.ต.พัฒนา เพศยนาวิน ผบก.น.2
นายชูชัย กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า การจัดงานวันนี้เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระองค์ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อประโยชน์แห่งปวงชนชาวไทย ซึงปัจจุบันการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลอาญา ศาลจะพิจารณากำหนดโทษตามความร้ายแรงพฤติการณ์แห่งคดี ในกรณีที่จำเลยกระทำความผิดอาญาที่ไม่ร้ายแรง และศาลลงโทษปรับ จำเลยกลุ่มนี้มีลักษณะที่ไม่เป็นอันตรายต่อสังคม การให้โอกาสจำเลยได้กลับตัวเป็นพลเมืองดี ด้วยการให้ทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ แทนการกักขัง แทนค่าปรับ ถือได้ว่าเป็นการให้โอกาสแก่ผู้พลาดพลั้งกระทำความผิดให้ได้บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ก่อให้เกิดจิตสำนึกสาธารณะและเป็นการให้โอกาสจำเลยได้กลับตัวเป็นพลเมืองดี ไม่ต้องมีมลทินทางคดีติดตัว และสามารถกลับคืนสู่สังคมได้อย่างราบรื่น ต่อไป
นายชูชัย ให้สัมภาษณ์ภายหลังการเปิดงานว่า ประธานศาลฎีกามีนโยบายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและลดการคุมขังที่ไม่จำเป็น จึงเกิดเป็นโครงการนี้ขึ้นมา เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. ที่ผ่านมา มีการเซ็น MOU กับทั้ง 4 หน่วยงาน ทำให้เป็นรูปธรรม โครงการนี้มีประโยชน์ในการลดงบประมาณในการคุมขังลง ทำให้คนไม่ต้องถูกกักขังโดยไม่จำเป็น คนจนที่ทำผิดได้รับโอกาสในการทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับ ตั้งแต่จัดตั้งโครงการมา ศาลอาญาได้มีคำสั่งให้ทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ จำนวน 29 คดี ศาลอาญาเป็นศาลนำร่อง น่าจะมีศาลอื่นที่เห็นเราเป็นศาลต้นแบบเอาไปทำ ส่วนผู้ที่เข้าร่วมโครงการนี้ ส่วนใหญ่เป็นคดีเล็กน้อย เช่น คดีลักทรัพย์
“ปกติคนลักทรัพย์ พื้นฐานคือไม่มีเงินอยู่แล้ว เล็กๆ น้อยๆ แต่เดิมเราจะรอการลงโทษ โดยลงโทษปรับ ก็จะไม่มีเงินเสียค่าปรับ ก็จะต้องถูกกักขัง โครงการนี้คือมาช่วยเหลือเขาไม่ให้ต้องถูกกักขัง แทนที่จะถูกกักขังก็มาทำงานบริการสังคม หรือทำงานที่เป็นสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ ก็คิดให้อัตราวันละ 500 บาท แต่ก็ขึ้นอยู่กับชนิดของงาน เช่น ไปดูแลผู้ชรา คนพิการ 2 ชั่วโมง เราก็คิดให้ 1 วัน หรืองานซ่อมแอร์ ซ่อมไฟฟ้า 3 ชั่วโมง คิดให้ 1 วัน งานทำความสะอาดสถานที่สาธารณะ 4 ชั่วโมง คิดให้ 1 วัน บริจาคโลหิต ถือว่าเป็นงานบริการสังคมเหมือนกัน อันนี้คิดให้ 3 วันเลย” นายชูชัย กล่าว
ภายหลังพิธีเปิดเสร็จสิ้น ผู้เข้าร่วมโครงการได้แยกย้ายกันทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ในบริเวณศาลอาญา โดยการจัดกิจกรรมในวันนี้ มีผู้เข้ากิจกรรมทั้งสิ้น 241 คน แบ่งเป็นผู้แทนจากกระทรวงวัฒนธรรม จำนวน 5 คน กรุงเทพมหานคร จำนวน 78 คน กรมคุมประพฤติ จำนวน 22 คน และบช.น. 16 คน และผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 120 คน
สำหรับกิจกรรมการทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ในวันนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับความรู้ด้านการปฏิบัติงานตัดแต่งต้นไม้ใหญ่ตามหลักสูตรรุกขกรรม งานจราจร การทำความสะอาดบริเวณศาลและที่สาธารณะ เป็นต้น
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/