สอวช. ชงโมเดลพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก พุ่งเป้าขจัดความยากจนแบบตรงจุด ดึงภาครัฐ มหาวิทยาลัยท้องถิ่นเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง “สุวิทย์” แนะบูรณาการข้อมูลทุกภาคส่วนเพื่อแก้ปัญหาจริงจัง
สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรแห่งชาติ (สอวช.) ประชุมคณะกรรมการอํานวยการ สอวช. ครั้งที่ 5/2563 โดยมี ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธาน โดยในที่ประชุมมีการนำเสนอประเด็นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก กำหนดทิศทางการวิจัยออกแบบนโยบายขจัดความยากจนแบบตรงจุด
ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ เปิดเผยว่า กรอบแนวคิดนโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) เพื่อขจัดความยากจนแบบตรงจุด เป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยเชิงระบบ โดยมุ่งไปที่ประเด็นเศรษฐกิจฐานราก ซึ่ง สอวช. ดำเนินการริเริ่มทำนโยบายลงลึกเชิงสังคมโดยใช้องค์ความรู้ด้าน อววน. มาเป็นกลไกในการบริหารจัดการ ทั้งนี้ เศรษฐกิจฐานราก เป็นประเด็นการพัฒนาที่สำคัญของประเทศไทยมาโดยตลอด และได้ถูกบรรจุเป็นแผนแม่บทประเด็นที่ 16 ของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่มุ่งเน้นการเพิ่มพูนองค์ความรู้ในการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจ และการสร้างระบบนิเวศน์ของการประกอบการ โดยในปี 2564 รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณบูรณาการการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากไว้ 8,900 ล้านบาท นอกจากนี้ การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและลดความเหลื่อมล้ำยังเป็นหลักการสำคัญของนโยบายบีซีจี (Bio-Circular-Green Economy) ที่ต้องการให้นำนวัตกรรมเข้าไปช่วยให้เกิดการกระจายรายได้ผ่านการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรและท่องเที่ยวอีกด้วย ทั้งนี้ นโยบายและยุทธศาสตร์ อววน. ยังได้บรรจุประเด็นดังกล่าวไว้ในแพลตฟอร์มการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ และได้จัดสรรงบประมาณกองทุนจำนวน 720 ล้านบาท
“กรอบแนวคิดนโยบายฯ ที่นำเสนอในครั้งนี้ ได้มอบหมายให้ สอวช. ไปทำรายละเอียดเพิ่มเติมจากความเห็นที่ประชุม ทั้งการนำกรณีศึกษาการขจัดความยากจนจากประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากประเทศจีนที่ สอวช. นำมาวิเคราะห์แล้วมาศึกษาเป็นข้อมูลประกอบเพิ่มเติม เพื่อดูการบริหารจัดการที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย ซึ่งความจริงแล้วประเทศไทยเองมีกลไกในการบริหารจัดการที่แก้ไขปัญหาความยากจนอยู่แล้วหลายส่วน ทั้งกองทุนหมู่บ้าน โอท็อป และ ธกส. แต่ยังขาดการบูรณาการข้อมูลเพื่อมาใช้แก้ปัญหาอย่างจริงจัง ทั้งนี้ การแก้ปัญหาความยากจนต้องตั้งต้นตั้งแต่การเปลี่ยนแนวคิดว่าเป็นเรื่องของโอกาสมากกว่าเป็นการแก้ปัญหา เรามีตัวช่วยทั้งเรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรม แต่จะทำอย่างไรให้กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงง่ายและจับต้องได้ ในด้านการจัดการก็ต้องดูว่าจะทำแบบกำหนดพื้นที่แล้วเมื่อประสบผลสำเร็จค่อยขยายผลออกไป หรือทำทีเดียวทั่วประเทศจึงจะเกิดประสิทธิภาพมากกว่า และมองว่านโยบายนี้ต้องใช้พลังการบูรณาการความร่วมมือทั้งประเทศ โดย อว. เองมีพลังของมหาวิทยาลัย นักศึกษา องค์ความรู้ต่างๆ ที่จะเข้าไปช่วยสนับสนุน อย่างไรก็ตาม กรอบแนวคิดดังกล่าวจะนำเข้าที่ประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวง อว. เพื่อพิจารณาและร่วมกันหาแนวทางการขับเคลื่อน โดยอาจนำกรอบแนวคิดดังกล่าวมาเชื่อมโยงกับนโยบายการจ้างงานนักศึกษาที่กระทรวงดำเนินการอยู่” ดร. สุวิทย์ กล่าว
สำหรับรายละเอียดกรอบแนวคิดนโยบาย อววน. เพื่อขจัดความยากจนแบบตรงจุด ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า สอวช. ได้ดำเนินการศึกษารายละเอียดของนโยบายและกลไกการบรรเทาความยากจนแบบมุ่งเป้าของประเทศจีน นำมาถอดแบบปรับปรุงให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย และจัดทำแนวคิดกรอบนโยบายการขจัดความยากจนแบบตรงจุด โดยกรอบแนวคิดเบื้องต้นสำหรับประเทศไทยมองว่าสิ่งที่ต้องทำอันดับแรก คือ การวางระบบบริหารจัดการการขจัดความยากจนแบบตรงเป้าหมาย ผ่านการตั้งคณะกรรมการขจัดความยากจนแห่งชาติ และคณะกรรมการขจัดความยากจนระดับจังหวัด ซึ่งประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด ธกส. ภาคเอกชน ชุมชน สถาบันอุดมศึกษา ซึ่งจะมีบทบาทในการรวบรวมข้อมูลเชิงพื้นที่เพื่อให้สามารถชี้เป้าได้ในหลายระดับ มีการเลือกกลุ่มประชากรที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือ จัดทีมขับเคลื่อนซึ่ง ประกอบด้วย อาจารย์ นักศึกษา เจ้าหน้าที่ของรัฐ ลงพื้นที่เข้าไปศึกษาปัญหาของกลุ่มประชากร และติดตามและประเมินผลอย่างมีประสิทธิภาพ
“ในการจัดทีมลงพื้นที่เกาะติดรายครัวเรือนเพื่อศึกษาปัญหาเชิงลึก ต้องใช้ระยะเวลาศึกษาที่มากพอในการเก็บข้อมูล ประมาณ 1-3 ปี โดยมีเป้าหมายคือกลุ่มเกษตรกรยากจนใน 7 จังหวัดยากจนเรื้อรัง คือ แม่ฮ่องสอน นราธิวาส ปัตตานี กาฬสินธุ์ นครพนม ตาก และบุรีรัมย์ โดยจะใช้กลไกเจ้าหน้าที่รัฐ และ ธกส. ในพื้นที่จังหวัดนั้นๆ ทำหน้าที่ระบุปัญหาทางเศรษฐกิจในท้องที่อย่างแม่นยำ กำหนดเป้าหมายและทิศทางการแก้ปัญหา ออกแบบและขับเคลื่อนโครงการ โดยจะทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยท้องถิ่น ทั้งอาจารย์และนักศึกษา ที่จะมาช่วยออกแบบวิธีแก้ปัญหาที่เหมาะสมและตรงจุดกับหมู่บ้าน โดยอาจออกแบบโมเดลในลักษณะ 1 ภาควิชา 1 หมู่บ้าน เป็นต้น” ดร.กิติพงค์ กล่าว
ดร.กิติพงค์ ยังกล่าวว่า สอวช. ได้ดำเนินการร่าง Roadmap ขจัดความยากจนของประเทศไทย โดยสรุปเป็น 5 ขั้นตอน ประกอบด้วย 1. นโยบายระดับประเทศ ผ่านการจัดตั้งคณะกรรมการขจัดความยากจนระดับชาติ จัดตั้งคณะกรรมการขจัดความยากจนระดับจังหวัด 2. เก็บข้อมูลเชิงปริมาณ โดยการเก็บข้อมูลสำมะโนครัวเรือนยากจน สำรวจข้อมูลพื้นฐานอย่างละเอียด ผ่านทางบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TPMAP) และส่งนักศึกษา และอาจารย์ลงพื้นที่ 3. ลงพื้นที่ระบุปัญหา โดยกำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐ และ ธกส. 1,000 คน เกาะติดครัวเรือน 1-3 ปี เพื่อศึกษาปัญหาและพัฒนาโครงการของบประมาณ และสร้างกลไกส่งนักศึกษาลงแก้ไขปัญหาในพื้นที่โดยบรรจุเป็นวิชาเลือกนับหน่วยกิตได้ 4. ขับเคลื่อนโครงการ โดยการสร้างกลไกให้ภาคธุรกิจเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาพื้นที่ เช่น การเปิดรับเสนอโครงการ การออกแบบกลไกเพื่อแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม และ 5. การติดตามประเมินผล โดยใช้กลไกคณะกรรมการระดับจังหวัดรายงานรายได้และสัดส่วนคนยากจนในพื้นที่ต่อคณะกรรมการระดับชาติผ่านรายงานประจำปี (The Poverty Monitoring Report)
นอกจากนี้ จากการศึกษาความสำเร็จของโมเดลประเทศจีน พบว่า กุญแจสำคัญที่จะช่วยขจัดความยากจนอย่างตรงจุด คือ นโยบายและการสนับสนุนทรัพยากรที่มาจากส่วนกลาง ดำเนินงานโดยท้องถิ่น ทุกหน่วยงานต้องมีเป้าหมายเดียวกัน ทำงานอย่างบูรณาการ เชื่อมโยงมาตรการต่าง ๆ เพื่อสร้างพลังร่วมก่อให้เกิดประสิทธิภาพและความยั่งยืน และทุกมาตรการต้องยึดหลักสนับสนุนให้ประชาชนพึ่งตนเองได้ในระยะยาว อีกทั้งมาตรการต่าง ๆ ต้องออกแบบจากการระบุอุปสงค์ที่ชัดเจน โดยใช้ big data
ทั้งนี้ สอวช. จะนำความเห็นจากที่ประชุมมาพัฒนากรอบแนวคิดดังกล่าวให้มีความสมบูรณ์ก่อนนำเข้าที่ประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวง อว. ตามดำริรัฐมนตรี โดยตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาให้เป็นข้อริเริ่มของกระทรวง อว. หรือข้อเสนอมาตรการเข้าสู่สภานโยบาย ฯ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดเป็นรูปธรรมตามกระบวนการพัฒนานโยบายที่ครบถ้วนต่อไป