‘อีไอซี’ ปรับลดคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจไทยปีนี้เป็นติดลบ 5.6% ต่ำสุดนับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้ง จากผลกระทบโควิด-19 ที่ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงเหลือ 13.1 ล้านคน การบริโภคเอกชนหดตัว 7.3% ขณะที่เศรษฐกิจโลกที่ถดถอย-ราคาน้ำมันโลกทรุด ฉุดส่งออกไทยติดลบ 12.9%
เมื่อวันที่ 3 เม.ย. นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) หรือ อีไอซี เปิดเผยว่า อีไอซี ปรับลดประมาณการอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจปี 2563 เป็นหดตัวที่ -5.6% ซึ่งเป็นต่ำสุดนับจากวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2541 จากเดิมที่คาดว่าจะหดตัว -0.3% โดยมีสาเหตุจากเศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่ภาวะถดถอย มาตรการปิดเมืองของไทย และจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มลดลงมากและฟื้นตัวล่าช้า
สำหรับการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจดังกล่าว อีไอซีได้พิจารณาจาก 4 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ 1.เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย 2.จำนวนนักท่องเที่ยวที่จะลดลงมากกว่าคาด 3.ผลกระทบต่อการบริโภคจากการประกาศปิดเมือง และ4.ผลจากมาตรการการเงินและการคลังล่าสุด รวมถึงเม็ดเงินเพิ่มเติมจาก พ.ร.ก.กู้ฉุกเฉิน
ประเด็นที่ 1 กรณีเศรษฐกิจโลกถดถอย ซึ่งอีไอซีคาดว่าเศรษฐกิจโลกปี 2563 จะหดตัว -2.1% และปัญหาด้าน supply disruption ที่รุนแรงมากขึ้นจากการหยุดชะงักด้านการผลิตของหลายประเทศ และราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงอย่างรวดเร็ว จะส่งผลต่อการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวกับน้ำมันและปิโตรเคมีของไทย (อีไอซีลดคาดการณ์ราคาน้ำมัน Brent เฉลี่ยปี 2563 ลงจาก 43.1 เป็น 36.4 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล) และส่งผลต่อภาคส่งออกไทยโดยตรง
ทั้งนี้ อีไอซีคาดว่ามูลค่าการส่งออกไทยในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวถึง -12.9% โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปีที่มีแนวโน้มหดตัวสูง
ประเด็นที่ 2 อีไอซีปรับลดคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวปี 2020 เหลือ 13.1 ล้านคน จากเดิมคาดอยู่ที่ 27.7 ล้านคน เนื่องจากข้อมูลจริงล่าสุดที่หดตัวมากกว่าคาด ประกอบกับเศรษฐกิจโลกหดตัวน่าจะทำให้ความต้องการท่องเที่ยวในช่วงที่เหลือของปีนี้ลดลงอย่างมาก
โดยข้อมูลนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางผ่าน 5 สนามบินหลัก (สุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต เชียงใหม่ และหาดใหญ่) ล่าสุดพบว่าในช่วงวันที่ 1-28 มี.ค.2563 นักท่องเที่ยวหายไปกว่า -78% และช่วงหลังหดตัวเกือบ 100% ซึ่งเป็นอัตราหดตัวที่มากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ ทำอีไอซีปรับประมาณการนักท่องเที่ยวใหม่ในส่วนของอัตราหดตัวที่ลึกที่สุด (Max drawdown) จากเดิมที่เคยคาดไว้ที่ -75% ในเดือนเม.ย.เป็น -100% หรือหายไปทั้งหมดในช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค.
“สถานการณ์ล่าสุดที่หลายประเทศเริ่มมีมาตรการปิดประเทศ ทำให้ไม่มีการเดินทางของนักท่องเที่ยวเข้าไทย ขณะที่ในส่วนของไทย แม้จะยังไม่มีการปิดประเทศ แต่มาตรการที่เข้มงวดในการเข้าประเทศ ก็จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อีไอซีคาดว่านักท่องเที่ยวจะหายไปทั้งหมดในช่วงเดือนเม.ย.และพ.ค.” นายยรรยงระบุ
นอกจากนั้น อีไอซีประเมินว่า การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม โดยจากเดิมที่คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะสามารถฟื้นตัวได้เท่ากับปีก่อนภายในสิ้นปีนี้ ล่าสุดอีไอซีประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในแต่ละเดือนของช่วงที่เหลือของปีน่าจะหดตัวทุกเดือนเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่แพร่กระจายไปในหลายประเทศหลักมากขึ้น รวมถึงภาวะเศรษฐกิจโลกที่หดตัวสูง
ประเด็นที่ 3 การประกาศปิดเมือง (lockdown) ในหลายเมืองสำคัญของไทย ประกอบกับความตื่นกลัวด้านการระบาดของ COVID-19 จะส่งผลกระทบต่อการบริโภคสินค้าหลายประเภท และทำให้การบริโภคภาคเอกชนโดยรวมจะลดลง -7.3% ของ GDP ซึ่งถ้าเหตุการณ์ดังกล่าวมีระยะเวลา 1 เดือน ก็จะทำให้ GDP ต่อเดือนลดลง 7.3% หรือโดยเฉลี่ยแล้ว GDP ทั้งปีจะหายไปประมาณ -0.6 percentage point
อีไอซี คาดว่าสถานการณ์ peak ของไทยที่มีการปิดเมืองหรือผู้คนมีความกลัวสูงสุดจะอยู่ในช่วงปลายเดือนมี.ค.จนถึงช่วงกลางเดือนมิ.ย.
ประเด็นที่ 4 มาตรการภาครัฐที่ทยอยจัดทำในช่วงก่อนหน้า เช่น การช่วยเหลือด้านสภาพคล่องให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ จะมีส่วนช่วยพยุงพยุงเศรษฐกิจเท่านั้น แต่มีประสิทธิภาพในการกระตุ้นเศรษฐกิจมีจำกัด มีเพียงมาตรการสนับสนุนเงินผู้ที่ได้รับผลกระทบคนละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน ที่จะเป็นเม็ดเงินใหม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ แต่จากขนาดเม็ดเงินที่ไม่สูงมาก ประกอบกับเศรษฐกิจที่ซบเซา ทำให้ประสิทธิภาพในการกระตุ้นเศรษฐกิจมีไม่มากนัก
อย่างไรก็ตาม ในระยะข้างหน้า ภาครัฐจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากการออก พ.ร.ก.กู้ฉุกเฉิน โดยจากข่าวล่าสุด คาดว่าจะมีเม็ดเงินประมาณ 2 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นเม็ดเงินขนาดใหญ่ที่จะเข้ามาประคับประคองเศรษฐกิจปีนี้ได้ แต่ทั้งนี้ ต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไปว่ามาตรการเพิ่มเติมจะมีขนาดเป็นไปตามคาดหรือไม่ โดยอีไอซีคาดว่าเม็ดเงินใหม่ทุก 5 หมื่นล้านบาทที่อัดฉีดเข้าระบบเศรษฐกิจ จะสามารถกระตุ้น GDP ได้ 0.25%
“หากสถานการณ์ COVID-19 จบเร็วกว่าในกรณีฐาน GDP ไทย มีโอกาสหดตัวน้อยลงที่ -3.2% แต่หากสถานการณ์ COVID-19 รุนแรงและยืดเยื้อมากกว่าคาด ก็อาจทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวและภาคส่งออกของไทยปรับลดลงมากกว่าเดิม ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังภาคเศรษฐกิจในประเทศ ทั้งด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน จึงมีแนวโน้มทำให้เศรษฐกิจไทยปี 2563 จะหดตัวได้มากถึง -7.2%” นายยรรยงระบุ
อ่านประกอบ :
กนง.มีมติ 4 ต่อ 2 คงดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% หั่นจีดีพีปี 63 ติดลบ 5.3%
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/