6 องค์กรวิชาชีพสื่อ ออกแถลงการณ์ร่วม เรื่อง สถานการณ์ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) โดยขอให้สื่อนำเสนอข้อมูลตาม แนวทางการปฏิบัติงานของสื่อมวลชนในภาวะวิกฤต และคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้สื่อข่าวในการปฎิบัติงาน
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ทำให้มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศเมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2563 ให้การแพร่ระบาดจากโรคระบาด (Epidemic) เป็นโรคระบาดครั้งใหญ่ของโลก (Pandemic) อย่างเป็นทางการ ขณะเดียวกันรัฐบาลได้จัดตั้ง “ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19)” โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ประกอบด้วย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวด้วยความห่วงใย จึงเสนอแนะและเรียกร้องมายังฝ่ายต่างๆ ดังต่อไปนี้
1.ขอให้สื่อมวลชนทุกสำนักยึดมั่นจริยธรรม โดยนำเสนอข้อมูลข่าวสารตาม “แนวทางการปฏิบัติงานของสื่อมวลชนในภาวะวิกฤต” ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานในสถานการณ์โรคและภัยสุขภาพ ที่อันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพและชีวิตของประชาชน ซึ่งระบุว่า “พึงระมัดระวังการสร้างความตื่นตระหนก จากการนำเสนอโดยการคาดเดา หรือไม่ได้รับการยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์หรือหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรงเกี่ยวกับสาเหตุการแพร่ระบาดของโรคหรือสถานการณ์ภัยสุขภาพ รวมถึงวิธีการป้องกัน แก้ไข และรักษา” เพื่อนำไปสู่การบรรเทาความเสียหายและคลี่คลายวิกฤตการณ์ นอกจากนี้ ต้องศึกษากฎหมาย ข้อกําหนด หรือข้อตกลงที่บังคับใช้ในภาวะวิกฤต เพื่อมิให้การปฏิบัติงานข่าวกระทบต่อประโยชน์หรือความปลอดภัยสาธารณะ
2.ขอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความสำคัญและระมัดระวังเป็นพิเศษในการสื่อสารในภาวะวิกฤติ ในสถานการณ์ที่สังคมต้องการข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจน เชื่อถือได้ ไม่เกิดความสับสน และสร้างความเชื่อมั่นในการดำเนินชีวิตและปฏิบัติตัว
3. ขอให้ผู้บริหารสำนักข่าวทุกสำนักให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพของกองบรรณาธิการ ผู้สื่อข่าวที่จะต้องปฏิบัติงานข่าว ลงพื้นที่ทำข่าว รายงานข่าวในสถานการณ์โรคระบาด ด้วยการวางมาตรการตามกฎควบคุมโรค ประเมินความเสี่ยงของสถานที่ และต้องจัดหาอุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยง ไม่ให้ต้องตกเป็นผู้ป่วยติดเชื้อเสียเอง
4. ขอให้ภาคประชาสังคมและประชาชนทั่วไป ระมัดระวังการส่งต่อหรือแชร์ข้อมูลข่าวสารที่อาจจะเป็นข่าวลวง ข่าวปลอม ไม่มีแหล่งที่มา ไม่มีความน่าเชื่อถือ ซึ่งจะสร้างปัญหาให้กับสังคมเพิ่มเติม หากไม่มั่นใจ ขอให้ตรวจสอบข้อมูลจากหลายๆแหล่ง รวมทั้งสื่อมวลชนก่อนทุกครั้ง
แนวทางการปฏิบัติงาน ของสื่อมวลชนในภาวะวิกฤต : http://bit.ly/2U4xG1F