เวทีเสวนา ‘ACTIVE WOMEN’ พลังหญิงต้านโกงชี้ ทุกเพศต้านโกงได้-ผู้หญิงมีสัญชาตญาณพิเศษจับพิรุธเก่ง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2566 ที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน จัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชัน 2566 WHAT THE FACT? ค้นหาความจริง-ใจในการต่อต้านคอร์รัปชันภายในงานมีเวทีนำเสนอข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลใหม่และปาฐกถาพิเศษจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี
นอกจากนี้ยังมีเวทีเสวนา ‘ACTIVE WOMEN’
เวทีเสวนา ‘ACTIVE WOMEN’ โดยผู้เข้าร่วมเวทีเสวนากล่าวถึงบทบาทของผู้หญิงต่อการต่อต้านคอร์รัปชัน ไว้อย่างน่าสนใจดังนี้
รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษาประจำสภามหาวิทยาลัย และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า มองว่าบทบาทของผู้หญิงต่อการต่อต้านคอร์รัปชันนั้น ทุกเพศสามารถทำได้ แต่มองว่าฐานะเพศหญิงมีประโยชน์ที่มากกว่าเพศชาย ดังนี้
1. ผู้หญิงมีอารมณ์ ความเห็นใจ ทักษะการร่วมมือกัน เวลาดำเนินการสิ่งใดคนจะให้การส่งเสริมและร่วมมือ
2. มีพลังจากสื่อสังคมออนไลน์ เนื่องจากผู้หญิงขยันและกระตือรือร้นในการใช้สื่อสังคมออนไลน์มากกว่าผู้ชาย
3. แนวโน้มของโลกผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้นำมากกขึ้น
4. ประเทศไทยมีงานวิจัยเกี่ยวกับการคอ์รรัปชันน้อย ควรมีงานวิจัยเหล่านี้มากขึ้น ในอดีตมีนักวิจัยงานคอร์รัปชันผู้หญิง เช่น ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ เป็นต้น แต่ปัจจุบันไม่มีแม้แต่น้อย
สรุปได้ว่าความเป็นผู้หญิงได้เปรียบกับการต่อต้านคอร์รัปชัน
นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ กล่าวว่า บทบาทของผู้หญิงในระบบราชการต่อการต่อต้านคอร์รัปชันนั้น เห็นด้วยกับ รศ.ดร.เสาวนีย์ ว่าผู้หญิงมีบทบาทมาก เนื่องจากในภาครัฐมีบุคคลากร 1.3 ล้าน เป็นผู้หญิง 7.8 แสนคน ดังนั้นผู้หญิงสามารถช่วยได้ในเชิงจำนวน ส่วนในเชิงคุณภาพนั้นการแก้ปัญหาทุจริตมี 2 มุม ได้แก่ เชิงปราบปราม และเชิงป้องกันส่งเสริม ซึ่งคิดว่าผู้หญิงสามารถทำในเชิงการส่งเสริมป้องกันได้ดี อย่างไรก็ตามการต่อต้านคอร์รัปชันก็ควรช่วยกันทำทั้งเพศชายและเพศหญิง ปัจจุบันเทคโนโลยีมีส่วนสำคัญในการดำเนินชีวิต ภาครัฐพยายามใช้เทคโนโลยีในการดำเนินการอนุมัติ อนุญาตการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อลดการเจอหน้าระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐที่อาจเรียกรับเงินจากประชาชนได้ นอกจากนี้พลังและเสียงของประชาชนมีความสำคัญ การที่มีรัฐบาลที่ใช้เทคโนโลยีเป็นหลัก (Digital Government) จะทำให้เข้าถึงเสียงของประชาชนที่สะท้อนการทำงานของภาครัฐป้องการทุจริตได้
นางสาวปรินดา คุ้มธรรมพินิจ ผู้ประกาศข่าว กล่าวว่า บทบาทของผู้หญิงในฐานะสื่อมวลชนนั้นมองว่าผู้ชายและผู้หญิงไม่ต่างกันมาก ส่วนตัวมองว่าผู้ชายและผู้หญิงที่ทำหน้าที่สื่อมวลชนทำการต่อต้านการคอร์รัปชันได้ไม่ต่างกัน แต่ในความจริงจากประสบการณ์ส่วนตัวพบว่า เมื่อผู้หญิงที่เป็นสื่อมวลชนลุกขึ้นมาตั้งคำถามเกี่ยวกับการคอร์รัปชันที่มีความลึกของเนื้อหา ตรงประเด็น มักจะเป็นถูกพูดถึงและกลายเป็นไวรัล เพราะบริบทของสังคมไทยบางส่วนมองว่า ผู้หญิงไม่อาจทำเรื่องข้างต้นได้ดี เมื่อมีผู้หญิงลุกขึ้นมาทำเรื่องดังกล่าวจึงกลายเป็นจุดสนใจ แต่ไม่ได้หมายความว่าให้รุนแรงหรือกร้าวร้าว แต่ให้มีความตรงประเด็น
นางสาวณัฏฐา มหัทธนา นักวิเคราะห์ประเด็นสังคม กล่าวว่า บทบาทของผู้หญิงในการต่อต้านคอรืรัปชันนั้น มองว่าเพศหญิงมีสัญชาตญาณบางอย่างที่พบความผิดปกติในจุดเล็ก ๆ ซึ่งคิดว่าสามารถนำสัญชาตญาณนั้นมาเป็นจุดเริ่มต้นในการต่อต้านคอร์รัปชันได้
นางจงใจ กิจแสวง เจ้าของแบรนด์หมูทอดเจ๊จง กล่าวว่า บทบาทของผู้หญิงในการต่อต้านคอร์รัปชันนั้น มองว่าผู้หญิงมีความเด็ดขาดในการตัดสินใจ อีกทั้งเห็นด้วยกับสิ่งที่นางสาวณัฏฐาพูดที่ผู้หญิงมีสัญชาตญาณบางอย่างที่ทำให้พบจุดที่มีพิรุธได้ทันที