กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจพบวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทชนิดใหม่ 'ฟลูอัลปราโซ' ในของกลางยาเม็ดอีริมิน 5 รูปลักษณ์เดิมแต่สารเปลี่ยนไป
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2566 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงการตรวจพบวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทชนิดใหม่ (ฟลูอัลปราโซแลม)ว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 สงขลา ได้รับของกลางเพื่อตรวจวิเคราะห์ มีลักษณะเป็นยาเม็ดกลมแบนสีส้ม ด้านหนึ่งพิมพ์เลข “5” อีกด้านหนึ่ง พิมพ์สัญลักษณ์บนแผงพิมพ์คำว่า อีริมิน 5 “Erimin 5” ตรวจพบตัวยาฟลูอัลปราโซแลม (Flualprazolam) ซึ่งเป็นยานอนหลับกลุ่มเบนโซไดอะเซปีนส์ (benzodiazepines) ชนิดใหม่ ที่ยังไม่เคยตรวจพบมาก่อน ในประเทศไทย จัดเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในประเภท 1
ยาเม็ดอีริมิน 5 โดยปกติมีส่วนประกอบของวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ชื่อไนเมตาซีแพม (Nimetazepam) มีขนาดยา 5 มิลลิกรัม จัดเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ฯ ในประเภท 2 ปัจจุบันไม่มีการจำหน่าย ในประเทศไทย มีการนำไปใช้ในทางที่ผิดและพบระบาดมากใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดนราธิวาส ระยะหลังพบการระบาดของยาอีริมินปลอมเพิ่มมากขึ้น โดยการใส่หรือผสมยาหรือวัตถุออกฤทธิ์ ตัวอื่น เพื่อหลีกเลี่ยงข้อกฎหมาย จากรายงานการตรวจพิสูจน์ของกลาง Erimin 5 ตั้งแต่ปี 2556 ตรวจพบ Nimetazepam, Nitrazepam, Phenazepam, Diazepam, Clozapine และ Etizolam ดังนั้นการตรวจพบ ตัวยาฟลูอัลปราโซแลม จึงเป็นการตรวจพบครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งในประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย มีการตรวจพบ ตั้งแต่ปี 2564
ห้องปฏิบัติการยา ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 12 สงขลา ตรวจพิสูจน์ยืนยันตัวยาฟลูอัลปราโซแลม ในของกลางยาเม็ด Erimin 5 ด้วยเทคนิค Liquid chromatography mass spectrometry (LCMS), Gas chromatography mass spectrometry (GCMS), Thin Layer Chromatography (TLC) และUV-Vis spectrophotometry โดยเปรียบเทียบตัวอย่างกับสารมาตรฐานฟลูอัลปราโซแลม
นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า ฟลูอัลปราโซแลม เป็นยากลุ่มเบนโซไดอะเซปีนส์ที่ถูกสังเคราะห์ขึ้น (Synthetic benzodiazepines) มีโครงสร้างทางเคมีคล้ายกับอัลปราโซแลม (alprazolam) แตกต่างกันที่ฟลูอัลปราโซแลมมีอะตอมของฟลูออรีนอยู่ในโครงสร้าง ทั้งนี้ ฟลูอัลปราโซแลม จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 มีการออกฤทธิ์คล้ายกับยานอนหลับตัวอื่นในกลุ่มเบนโซไดอะเซปีนส์ โดยออกฤทธิ์คลายความวิตกกังวล และทำให้ง่วงนอน
เนื่องจากฟลูอัลปราโซแลม ไม่มีการใช้เป็นยาในมนุษย์ จึงไม่พบการศึกษาวิจัยทางคลินิก ของตัวยา แต่จากโครงสร้างทางเคมี คาดว่าฟลูอัลปราโซแลมออกฤทธิ์ภายใน 10 - 30 นาที หลังการรับประทาน และออกฤทธิ์นาน 6 - 14 ชั่วโมง เนื่องจากไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่ชัดเจน ดังนั้นการใช้หรือเสพ ตัวยาฟลูอัลปราโซแลม จึงเป็นความเสี่ยงต่อผู้เสพที่อาจทำให้เกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องควรเฝ้าระวัง ตรวจสอบ และควบคุมการแพร่ระบาดของยาดังกล่าวต่อไป
“ยา Flualprazolam ตัวนี้ไม่เคยมีในประเทศไทยมาก่อน ต้องระมัดระวังกันมาก โดยให้ระวังตัว อย่าดื่มเครื่องดื่มจากคนไม่รู้จัก หรือคนที่ไม่น่าไว้วางใจ เพราะไม่ใช่แค่หลับ แต่จะอันตรายต่อชีวิต ซึ่งสารตัวนี้จึงเป็นสารตัวแรกที่เราเจอในประเทศไทย จากนี้เราจะนำข้อมูลประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องต่อไป” นพ.ศุภกิจ กล่าว
ด้าน นพ.พิเชฐ บัญญัติ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า สำหรับ อิริมิน 5 มีการใช้มานาน แต่ยกเลิกทะเบียนไป ซึ่งเดิมเป็นยา “ไนเมตาซีแพม” (Nimetazepam) แต่เมื่อยกเลิกขึ้นทะเบียน การใช้ก็ผิดกฎหมาย แต่ด้วยชื่อ Erimin 5 คงมีการใช้กันมาก จึงมีการใช้สารตัวอื่นๆ และล่าสุดปีนี้ จึงใช้ ฟลูอัลปาโซแลม และจากศึกษาข้อมูลจากหน่วยงานอเมริกาที่ทำเรื่องยากับอาชญากรรมพบว่า ยาฟลูอัลปาโซแลม เจอ 1 ใน 3 ที่มีการใช้ในทางที่ผิดและมีผลต่อการออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท โดยมาเลเซีย สิงคโปร์เจอแล้ว แต่รอบนี้เพิ่งเจอในไทย ทางกรมวิทย์จึงต้องออกมาเตือน เพราะออกฤทธิ์เร็วและยาว และยังเสี่ยงเกิดอาการโคม่า ซึ่งไม่มีข้อมูลทางคลินิกเพราะไม่ใช้เป็นยา
“ข้อมูลในอเมริกา มีการแอบซื้อขายในออนไลน์ โดยเฉพาะผู้ชาย เอามาใช้ในทางสันทนาการ และส่วนหนึ่งวัยรุ่นชายก็เอาไปใช้ทางที่ผิด มอมเมา ก่ออาชญากรรม ซึ่งอันตรายมาก จึงต้องมาเตือน” นพ.พิเชฐกล่าว