รองทวิดา เผย ตัวเลขตรวจถังดับเพลิงทั่วกรุงฯ 40,000 ถัง พบเสียเกือบครึ่ง 19,657 ถัง ‘ชัชชาติ’ แย้มได้ถึงใหม่แล้ว 10,000 ถัง จี้การบริการประชาชนในเรื่องต่างๆต้องไวกว่านี้ หลังพบถูกร้องเรียนให้บริการล่าช้าถึง 15 นาที
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 6 กรกฎาคม 2566 นางทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสภาพถังดับเพลิงว่า จากการปูพรมตรวจสภาพถัง 1 อาทิตย์ที่ผ่านมา ทั้ง 50 สำนักงานเขต นั้น ยังตรวจไม่ครบ 100% โดยตรวจถังไปทั้งหมด 44,160 ถัง ใช้งานได้ปกติประมาณ 26,000 ถัง จัดเก็บมา 19,657 ถังเนื่องจากชำรุด อยู่ระหว่างการส่งไปยังสำนักสิ่งแวดล้อมเพื่อเข้าสู่กระบวนการทำลาย ขณะนี้กำลังดำเนินการติด QR Code ถังที่ยังอยู่ในชุมชน ปัจจุบันดำเนินการไปแล้ว 3,737 ถัง
จากนั้นสำนักงานเขตจะปูพรมและบันทึกข้อมูลของถัง ซึ่งแต่ละถังจะมีข้อมูล 3 อย่างด้วยกันคือ เป็นถังประเภทไหน บำรุงรักษาล่าสุดเมื่อไหร่ และติดอยู่ที่ตำแหน่งไหน ประโยชน์สุดท้ายคือจะทำให้วิเคราะห์ได้ว่ายังมีชุมชนไหนที่ยังขาดเครื่องมือ เมื่อดำเนินการติดตั้งให้แล้วความสามารถชุมชนในการเผชิญเหตุเบื้องต้นก็จะดีขึ้น ต่อไปจะจัดระบบให้มีการตรวจถังทุกปีโดยสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานเขต อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนและประธานชุมชน
@ซื้อถังดับเพลิง 1 หมื่นถัง
ด้านนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. เสริมว่า สืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่โรงเรียนราชวินิตซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียใจ ได้แจ้งทางผู้บริหารว่าการตรวจถังนั้นไม่ต้องรอให้เกิดเรื่องก่อน เป็นหน้าที่ที่ต้องไปตรวจอยู่แล้ว ขอให้ทำมาตรการเชิงรุกด้านอื่นด้วยเช่น หัวแดงดับเพลิงในชุมชน การดูแลรักษาอุปกรณ์ต่างๆ ที่อยู่ในกระบวนการป้องกันอัคคีภัย เป็นบทเรียนที่ต้องนำไปปรับปรุงการให้บริการให้เป็นเชิงรุกมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันไม่ต้องกังวลเรื่องถังชำรุดเนื่องจากขณะนี้มีการจัดซื้อถังใหม่ประมาณ 10,000 ถัง มาทดแทน
ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.)
@ติงบริการประชาชนช้า 15 นาที
นอกจากนี้ ผู้ว่าฯกทม. กล่าวถึงการให้บริการประชาชน ว่า ที่ผ่านมายังมีประชาชนร้องเรียนผ่าน Traffy Fondue ว่า บางเขตยังมีประชาชนต้องรอคิวใช้บริการเป็นจำนวนมาก ตอนนี้จึงเน้นเรื่องการให้บริการที่เขต ทั้งในส่วนของการขอใบอนุญาต และการให้บริการข้อมูลต่างๆผ่านทางโทรศัพท์
จากข้อมูล BMAQ ตั้งแต่มกราคม - มิถุนายน 2566 มีการให้บริการทำบัตรประชาชนกว่า 700,000 ใบ ทะเบียนราษฎร์ กว่า 400,000 ใบ การให้บริการทำบัตรประชาชนต้องใช้เวลาไม่เกิน 15 นาที แต่ปัจจุบันการบริการใช้เวลามากกว่า 15 นาที มากกว่า 51%
ทั้งนี้ บางเขตมีประชาชนหนาแน่นกว่าปกติ เช่น เขตชายขอบที่มีประชาชนต่างจังหวัดเข้ามารับบริการ ซึ่งทาง กทม.ยินดีและพร้อมให้บริการทุกคนที่อยู่ในพื้นที่ เมื่อเกิดปัญหานี้จึงต้องมีการปรับปรุงการให้บริการให้ดีและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการใช้เทคโนโลยีให้มากขึ้น เช่น การจองออนไลน์ การทำ Line Alert เมื่อมีประชาชนรอคิวเกิน 15 นาทีจะแจ้งเตือนไปยังผู้บริหารโดยตรง เพื่อที่จะทำให้แก้ปัญหาได้ทันที
อีกเรื่องที่ประชาชนร้องเรียนเข้ามาคือการโทรเข้ามาที่เขตแต่ไม่มีคนรับสาย สาเหตุหนึ่งมาจาก ได้ส่งใบแจ้งเก็บเงินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างถึงประชาชน ปีนี้ได้มีการแจ้งมากกว่าเดิมถึง 400,000 ราย ทำให้ประชาชนเกิดข้อสงสัยต่างๆ เนื่องจากอาจได้รับใบแจ้งเก็บเงินเป็นครั้งแรก จึงโทรสอบถามมายังสำนักงานเขตซึ่งอาจจะมีจำนวนคู่สายไม่เพียงพอ ต้องปรับปรุงเพื่อให้กระบวนการตรงนี้สามารถตอบโจทย์ประชาชนได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น สำหรับจุดบริการด่วนมหานครนั้นจะเน้นในพื้นที่ห้างเป็นหลัก ซึ่งสถานที่เหล่านี้เราไม่ต้องใช้เงิน แต่เอกชนเอื้อเฟื้อสถานที่ให้แก่กทม.
อ่านประกอบ