ผอ.ท่าอากาศยานดอนเมืองรับ 'ยังตอบไม่ได้' ทำไมเกิดอุบัติเหตุทางเลื่อนดูดขาผู้โดยสารขาด ตอนนี้กำลังตรวจสอบอย่างละเอียด สั่งยุติใช้ทางเลื่อนทั้งหมดแล้ว พร้อมให้ปรับปรุงไม่ให้เกิดเหตุซ้ำอีก
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. นายการันต์ ธนกุลจีรพัฒน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 08.27 น. ของวันที่ 29 มิ.ย. 66 ท่าอากาศยานดอนเมือง ได้รับแจ้งผู้โดยสารเพศหญิง อายุ 57 ปี ประสบอุบัติเหตุบริเวณปลายทางเลื่อนบริเวณทางเดิน South Corridor ระหว่าง Pier 4-Pier 5 อาคารผู้โดยสารภายในประเทศ อาคาร 2 ขณะกำลังจะเดินทาง เที่ยวบิน DD552 จากท่าอากาศยานดอนเมืองไปนครศรีธรรมราช โดยเป็นอุบัติเหตุที่ค่อนข้างรุนแรง ขาลงไปติดอยู่ในทางเลื่อน โดยขาขาดตั้งแต่บริเวณเหนือหัวเข่าขึ้นไป
นายการันต์ กล่าวต่อว่า ทันทีที่เกิดเหตุทางทีมแพทย์ ทดม. ได้เข้าดูแล พร้อมนำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ โดยได้รับทราบจากทางทีมแพทย์ว่า ขาไม่สามารถต่อได้ ซึ่งผู้ป่วยประสงค์จะไปรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ สุขุมวิท โดยทางทีมแพทย์โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ก็รับปากว่าจะพยายามจะรักษาอย่างเต็มที่ที่สุด อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ทดม. ยังไม่สามารถตอบได้ว่าการเกิดอุบัติเหตุครั้งนี้เกิดจากสาเหตุใด อยู่ระหว่างการตรวจสอบอย่างละเอียด เบื้องต้นได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว โดยเชิญบุคคลภายนอก อาทิ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ร่วมตรวจสอบด้วย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และชัดเจน
นายการันต์ กล่าวอีกว่า ทางเลื่อนที่ ทดม. มีทั้งหมด 20 ตัว ติดตั้งมาตั้งแต่ปี 2539 ใช้งานมาแล้วประมาณ 27 ปี โดยในจำนวน 20 ตัวนี้ได้เปลี่ยนเป็นตัวใหม่แล้ว 6 ตัว ส่วนที่เหลืออีก 14 ตัว มีแผนทยอยเปลี่ยนใหม่ เดิมจะของบประมาณในปี 2568 แต่เนื่องจากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น จะเร่งเปลี่ยนทางเลื่อนโดยจะของบประมาณเร่งด่วนเพิ่มเติมของปี 2567 มาดำเนินการ สำหรับทางเลื่อนดังกล่าวยี่ห้อ ฮิตาชิ ติดตั้ง และดูแลบำรุงรักษาโดย บริษัท สยามฮิตาชิ เอลลิเวเตอร์ จำกัด ตัวแทนบริษัทฮิตาชิ ของประเทศญี่ปุ่น ที่ผ่านมาทางเลื่อนนี้มีการตรวจเช็กทั้งแบบเป็นรายวัน รายเดือน ราย 3 เดือน และรายปี โดยการตรวจล่าสุดเมื่อเช้าวันที่ 29 มิ.ย. ก็พบว่าทางเลื่อนที่เกิดเหตุมีความสมบูรณ์ พร้อมใช้งานปกติ และหลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ของบริษัท ฮิตาชิ ประเทศญี่ปุ่น ได้ส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบแล้ว
“จากการตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิด เบื้องต้น ภาพไม่ค่อยชัด เพราะอยู่ไกลจากที่เกิดเหตุ ขณะนี้สั่งให้หยุดการใช้งานทางเลื่อนทั้ง 20 ตัวแล้ว จนกว่าจะหาสาเหตุที่แท้จริงได้ และปรับปรุง เพื่อให้เกิดความปลอดภัย และเรียกความเชื่อมั่นจากผู้โดยสารกลับคืนมา ผมขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทดม. พร้อมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล และค่าอื่นๆ ทุกกรณี โดยหลังจากผู้ป่วยฟื้นตัวแล้ว ก็จะมีการหารือเรื่องการเยียวยาช่วยเหลือผู้ป่วยต่อไป ยืนยันว่าจะดูแลอย่างเต็มที่ และจะไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นครั้งที่ 2” นายการันต์ กล่าว
ผู้อำนวยการ ทดม. กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมายืนยันว่ามีการดูแล และบำรุงรักษาทางเลื่อนเป็นอย่างดี หากพบว่าร่องหวีของทางเลื่อนมีซี่หักเกินกว่า 2 ซี่ติดกัน ก็จะเปลี่ยนใหม่ทันที ซึ่งก่อนเกิดเหตุทางเลื่อนตัวที่เกิดเหตุร่องหวี่ก็ไม่ได้หัก แต่เมื่อเกิดเหตุมาพบว่ามีล้อกระเป๋าอยู่ใต้สายพาน และมีร่องหวีหักด้วย อย่างไรก็ตามเนื่องจากทางเลื่อนเป็นระบบเก่า การทำงานของเซ็นเซอร์จะค่อนช้า ไม่เหมือนกับตัวใหม่ ซึ่งปกติเซ็นเซอร์จะวัดจากความตึงของทางเลื่อน หากมีอะไรเข้าไปติด เซ็นเซอร์จะตัดทันที โดยกรณีนี้ต้องหาสาเหตุว่ามีอะไรไปกระแทกก่อนเกิดเหตุ ที่อาจเป็นเหตุให้มีความตึงและเซ็นเซอร์ตัดช้าลงหรือไม่ พร้อมทั้งจะพิจารณาเงื่อนไขสัญญากับบริษัท สยามฮิตาชิฯ ด้วยว่า ต้องรับผิดชอบเรื่องนี้อย่างไร
ด้านนายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. กล่าวว่า ได้สั่งการให้ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ ทอท. ตรวจสอบทางเลื่อน และบันไดเลื่อนทุกตัว รวมถึงได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หากพบว่ากรณีดังกล่าวเกิดจากความบกพร่อง หรือประมาท จะดำเนินการลงโทษโดยเคร่งครัด ทั้งนี้ ทอท. ขอแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมรับผิดชอบดูแลค่ารักษาพยาบาล และจะดำเนินการเรื่องค่าชดเชยเยียวยาผู้บาดเจ็บอย่างดีที่สุด