SCB EIC ประเมินการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลไม่กระทบการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย ระบุว่าแม้ ‘ฝ่ายเสรีนิยม’ จะมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลมากขึ้น แต่ยังมีความไม่แน่นอนสูง
......................................
เมื่อวันที่ 19 พ.ค. ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เผยแพร่บทวิเคราะห์เกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยฉบับเดือน พ.ค.2566 โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยจะยังได้รับแรงสนับสนุนสำคัญจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวดีในช่วงที่เหลือของปี สอดคล้องกับตัวเลขเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกที่ขยายตัว 2.7% เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อน ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะกลับสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤติโควิดได้ในช่วงกลางปีนี้
โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเร่งตัวตามการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงเล็กน้อยเนื่องจากเข้าสู่ช่วง Low season นอกจากนี้ การลงทุนและภาคการผลิตมีแนวโน้มปรับดีขึ้นในไตรมาสที่ 2
ทั้งนี้ SCB EIC ยังคงมุมมองมูลค่าการส่งออกสินค้าปีนี้เติบโตที่ 1.2% ท่ามกลางความเสี่ยงด้านต่ำจากเศรษฐกิจโลกที่สูงขึ้น โดยคาดว่าการส่งออกในไตรมาสที่ 2 จะยังหดตัวจากปัจจัยฐาน แต่จะเริ่มขยายตัวตามอุปสงค์จีนที่ปรับดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มเกินดุลในปีนี้จากทั้งดุลการค้าและดุลบริการ
ส่วนเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะขยายตัวลดลงอย่างชัดเจนในเดือน พ.ค. จากราคาพลังงานที่มีแนวโน้มชะลอตัวและผลจากปัจจัยฐาน แต่ยังมีความเสี่ยงด้านสูงในระยะต่อไปจากการทยอยส่งผ่านต้นทุนมายังราคาผู้บริโภคและผลจากปัจจัยฐานที่ลดลง สำหรับเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มขยายตัวลดลงเช่นกัน อย่างไรก็ดี เงินเฟ้อไทยยังมีความเสี่ยงด้านสูงจากการส่งผ่านต้นทุนและแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนทางการเมืองเป็นความเสี่ยงในประเทศที่ต้องติดตาม แม้ความน่าจะเป็นที่ฝ่ายเสรีนิยมจะได้จัดตั้งรัฐบาลเพิ่มขึ้นมาก หลังทราบผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ แต่ยังมีความไม่แน่นอนสูง
ในกรณีฐาน SCB EIC มองการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลจะไม่กระทบทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยคาดว่าจะเห็นผลกระทบด้านลบในไตรมาสที่ 4 จากความล่าช้าในการประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 อยู่บ้าง แต่คาดว่าจะกลับมาเร่งเบิกจ่ายได้ตั้งแต่ต้นปี 2567 พร้อมการผลักดันนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลใหม่ที่จะเริ่มมีผลบวกสู่เศรษฐกิจ
SCB EIC ระบุด้วยว่า เศรษฐกิจไทยในระยะสั้นจะต้องเผชิญความไม่แน่นอนจากรูปแบบของการจัดตั้งรัฐบาล สำหรับในระยะปานกลางความยั่งยืนทางการคลังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ เพราะนโยบายหาเสียงส่วนใหญ่ใช้เงินมากและมีความเสี่ยงทางการคลังในระดับสูง เช่น กระเป๋าเงินดิจิทัล 5.6 แสนล้าน และการบริหารจัดการน้ำ 5 แสนล้านบาท เป็นต้น แต่ที่มาของเงินและผลบวกต่อเศรษฐกิจในระยะยาวยังไม่ชัดเจน
ขณะเดียวกัน SCB EIC คาดนโยบายการเงินไทยจะทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องสู่ Terminal rate ที่ 2.5% ในไตรมาส 3 ตามแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวต่อเนื่องและแรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังมี เงินบาทกลับมาแข็งค่าเร็วในเดือนที่ผ่านมา จากตัวเลขเศรษฐกิจไทยที่ออกมาดีกว่าตลาดคาดการณ์ การจัดการเลือกตั้งที่เป็นไปอย่างราบรื่น และเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่า
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทในปีนี้คาดว่าจะกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่จะปรับดีขึ้น และเงินดอลลาร์สหรัฐที่คาดว่าจะกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ในช่วงไตรมาส 2 นี้ คาดว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 33.20-34.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และกลับมาแข็งค่าอยู่ที่ 32-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี 2566 คาดว่าจะหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ แต่มีความเสี่ยงด้านต่ำเพิ่มขึ้น แม้เศรษฐกิจโลกจะทยอยปรับดีขึ้นต่อเนื่องในไตรมาส 2 แต่ตัวเลขเศรษฐกิจออกมาต่ำกว่าที่คาดไว้ การฟื้นตัวของภาคการผลิตและภาคบริการยังมีความแตกต่างกันมาก
นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำและความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น ทั้งจากปัญหาเสถียรภาพระบบการเงินและความไม่แน่นอนในการขยายเพดานหนี้ของรัฐบาลในสหรัฐฯ กิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนที่ขยายตัวชะลอลงในเดือน เม.ย. เศรษฐกิจยุโรปที่ยังอ่อนแอแม้จะหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยได้ ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงในครึ่งหลังของปีนี้จากปัจจัยกดดันที่เพิ่มขึ้น
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อโลกมีแนวโน้มปรับลดลงเข้าใกล้กรอบเป้าหมายของธนาคารกลางมากขึ้นตามราคาพลังงานโลกที่ลดลงและอุปทานคอขวดที่ปรับดีขึ้น ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานยังมีแนวโน้มปรับลดลงได้ช้ากว่า
ทั้งนี้ SCB EIC คาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) มีแนวโน้มจะยุติการขึ้นดอกเบี้ยและคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ตลอดปี ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งสู่ระดับ 3.75% และ 5% ตามลำดับ เนื่องจากภูมิภาคยุโรปเผชิญแรงกดดันเงินเฟ้อรุนแรงกว่า
สำหรับธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีแนวโน้มปรับนโยบายการเงินให้ผ่อนคลายน้อยลงจากแรงกดดันเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และการเติบโตของเศรษฐกิจที่ออกมาดีกว่าคาด โดยมองว่า BOJ จะปรับเงื่อนไขนโยบายควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve Control) เพิ่มเติมในเดือน ก.ค.นี้