‘ธปท.’ ประกาศแนวนโยบาย ‘การพัฒนาสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย’ ผลักดัน ‘สถาบันการเงิน’ สนับสนุนสินเชื่อ 'ธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม' เร่งเดินหน้าวาง 5 เสาหลักสำคัญ
..................................
เมื่อวันที่ 23 ส.ค. นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวเปิดงานMedia briefing ‘ทิศทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย’ ว่า นับตั้งแต่เดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ธปท.ได้เผยแพร่ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน (Financial Landscape) เพื่อสื่อสารมุมมองและทิศทางนโยบายของ ธปท. ในการพัฒนาภาคการเงินไทยภายใต้กระแสโลกใหม่
และต่อมา ธปท.ได้ทยอยออกรายละเอียดของมุมมองต่อแนวนโยบายในแต่ละด้าน เพื่อเพิ่มความชัดเจนในสิ่งที่ ธปท.อยากเห็นและไม่อยากเห็น รวมถึงความเชื่อมโยงต่อแนวทางพัฒนาภาคการเงินในระยะข้างหน้า
โดยเริ่มจากแนวนโยบายด้านดิจิทัลที่เน้นเรื่องสร้างสมดุลระหว่างการส่งเสริมนวัตกรรมและการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสม เช่น การอนุญาตให้กลุ่มธนาคารพาณิชย์ทำธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างค่อยเป็นค่อยไป การกำหนดนโยบายกำกับดูแลให้เท่าทันความเสี่ยงใหม่ๆ อาทิ การกำกับธุรกิจเช่าซื้อและลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคและดูแลการก่อหนี้ของครัวเรือน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความเห็น นั้น
ในวันนี้ ธปท. จะนำเสนอแนวนโยบายอีกด้านที่สำคัญ คือ บทบาทของภาคการเงินในการสนับสนุนความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นอีกเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการ เพราะไทยมีความเสี่ยงสูง เห็นได้จากแรงงานกว่า 1 ใน 3 ของไทยที่อยู่ในภาคเกษตร ซึ่งได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และไทยติดอันดับ 9 ของประเทศทั่วโลกที่มีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบด้านนี้ ตามดัชนีความเสี่ยง Global Climate Risk Index 2021
อีกทั้งการผลิตกว่า 13% ของจีดีพีในภาคอุตสาหกรรมไทยยังอยู่ในโลกเก่า และอาจได้รับผลกระทบจากมาตรการ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ของสหภาพยุโรป
“สำหรับไทย เรายังมีบางจุดที่ปรับตัวในเรื่องนี้ช้ากว่าประเทศอื่นๆ เห็นได้จากความสามารถในการรับภัยธรรมชาติของไทยที่อยู่อันดับ 39 จาก 48 ประเทศ และแม้ว่าธุรกิจขนาดใหญ่จะเริ่มปรับตัวไปแล้ว โดยมีบริษัทไทยเข้าไปอยู่ในดัชนีความยั่งยืนดาวน์โจนส์ (Dow Jones Sustainability Index หรือ DJSI) ถึง 24 บริษัท ซึ่งสูงที่สุดในอาเซียน แต่ธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีสายปานสั้นยังปรับตัวได้ยาก โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่อยู่ในซัพพลายเชนของธุรกิจขนาดใหญ่
ในการช่วยสนับสนุนให้เกิดการปรับตัวเพื่อลดความเสี่ยง ภาคการเงินจะมีบทบาทสำคัญ เพราะมีหน้าที่จัดสรรเงินทุนให้ภาคเศรษฐกิจและสามารถจูงใจให้เกิดการปรับตัวได้ อีกทั้งภาคการเงินยังมีส่วนได้เสียจากการมี exposure กับลูกหนี้ธุรกิจและภาคครัวเรือนที่จะได้รับผลกระทบ ซึ่งในการทำหน้าที่ของภาคการเงินเพื่อช่วยให้เศรษฐกิจเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน โดยสร้างผลข้างเคียงให้น้อยที่สุด
จึงต้องสร้างสมดุลระหว่างความสามารถในการปรับตัวและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ซึ่งการดำเนินการต้องไม่เร็วเกินไปจนภาคเศรษฐกิจส่วนใหญ่ปรับตัวไม่ทัน แต่ก็ต้องไม่ช้าเกินไป จนผลกระทบลุกลามและแก้ไขได้ยาก ดังนั้น จังหวะเวลาและความเร็วของการดำเนินการจึงต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศและแต่ละภาคส่วน
ธปท.จึงได้จัดทำ ‘แนวนโยบายการพัฒนาสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่’ เพื่อสื่อสารทิศทางการดำเนินงานที่ ธปท.จะผลักดันในอนาคต เพื่อสนับสนุนให้ภาคการเงินพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม และสามารถตอบโจทย์การปรับตัวของภาคส่วนต่างๆให้ดีขึ้น รวมถึงกรอบเวลาและขั้นตอนการขับเคลื่อน เพื่อช่วยให้ภาคส่วนต่างอื่นๆสามารถวางแผนและดำเนินการให้สอดคล้องกัน”
นายเศรษฐพุฒิ ย้ำว่า ภาคการเงินจะช่วยสนับสนุนให้เกิดการปรับตัวของภาคเศรษฐกิจไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่การขับเคลื่อนให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่น และเกิดผลสัมฤทธิ์ ต้องอาศัยทุกภาคส่วน โดยภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการกำหนดเป้าหมายและแนวทางการดำเนินงานในระดับประเทศภายใต้กรอบเวลาที่ชัดเจน ส่วนภาคธุรกิจต้องประเมินผลกระทบและปรับตัวให้ทันการณ์และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล
ขณะที่ประชาชนต้องตระหนักถึงผลกระทบและปรับการใช้ชีวิต ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยให้การก้าวไปสู่เป้าหมายของประเทศ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและเศรษฐกิจ เป็นไปอย่างราบรื่น
รายงานข่าวจาก ธปท. ระบุว่า สำหรับการขับเคลื่อน ‘ทิศทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย’ นั้น ธปท. จะคำนึงถึงจังหวะเวลาและความเร็วของการดำเนินการที่ชัดเจนและให้มีสมดุลระหว่างการปรับตัวและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยต้องไม่เร่งรัดจนทำให้ภาคเศรษฐกิจส่วนใหญ่ปรับตัวไม่ทัน หรือไม่ช้าจนเกินไปจนทำให้เกิดการละเลยหรือเพิกเฉยที่จะปรับตัว จนส่งผลกระทบเชิงลบในระยะยาว
ทั้งนี้ ภายใต้แผนดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ฯ ดังกล่าว ธปท.จะมีการวางรากฐานสำคัญ 5 ด้าน ได้แก่
1.ปรับกระบวนการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงิน เพื่อให้มีบริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงินด้านสิ่งแวดล้อมที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจ (Products and Services) โดยจะออกแนวนโยบายการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงินที่คำนึงถึงมิติด้านสิ่งแวดล้อมในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2565 เพื่อให้สถาบันการเงินผนวกแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมที่มีมาตรฐานเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงาน และการสร้างแรงจูงใจให้กับธุรกิจผ่านธุรกรรมการปล่อยสินเชื่อ รวมถึงผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน ที่สามารถรองรับการปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อมของภาคธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs ได้อย่างตรงจุด
2.จัดทำมาตรฐานกลางที่กำหนดนิยามและจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Taxonomy) ร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการเงิน โดยเริ่มจากการจัดกลุ่มกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจหลักที่มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนที่สูง อาทิ ภาคพลังงานและภาคการขนส่ง ให้แล้วเสร็จภายในเดือน ม.ค.2566 เพื่อให้แต่ละภาคส่วนนำไปใช้อ้างอิงและช่วยให้สามารถประเมินสถานะการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของตนได้
3.ร่วมพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลางด้านสิ่งแวดล้อมและมีมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลของสถาบันการเงิน (Data and Disclosure) โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการเงิน ในการพัฒนาฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2565 เป็นต้นไป เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีข้อมูลเพียงพอสำหรับการประเมินโอกาสและความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม ในการกำหนดนโยบาย กลยุทธ์ หรือการบริหารจัดการความเสี่ยง รวมถึงตัดสินใจลงทุนหรือเลือกใช้บริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ส่งเสริมกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม
4.สนับสนุนการสร้างแรงจูงใจที่เหมาะสม (Incentive) เพื่อกระตุ้นให้สถาบันการเงิน ภาคธุรกิจ และผู้บริโภค เห็นความจำเป็นเร่งด่วนในการปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งล่าสุด ธปท. ได้นำร่องโดยการออกมาตรการสินเชื่อเพื่อการปรับตัวภายใต้ พ.ร.ก.ฟื้นฟู เพื่อสนับสนุนวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้เหมาะสมแก่ SMEs ในการส่งเสริมศักยภาพธุรกิจ ซึ่งมิติด้านสิ่งแวดล้อม เป็นหนึ่งในรูปแบบการปรับตัวที่มีความสำคัญต่อความสามารถในการแข่งขันภายใต้กระแสบริบทโลกใหม่
5.ยกระดับองค์ความรู้และความชำนาญของบุคลากรในภาคการเงิน (Capacity Building) โดยพัฒนาหลักสูตรร่วมกับผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจ สามารถประเมินโอกาสและความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม และให้คำแนะนำแก่ภาคธุรกิจได้อย่างเหมาะสม
“การขับเคลื่อนให้ภาคส่วนทางเศรษฐกิจสามารถปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างทันการณ์และไม่ส่งผลกระทบเชิงลบในวงกว้าง ต้องอาศัยการผลักดันและดำเนินการร่วมกันอย่างบูรณาการ จากทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคการเงิน โดย ธปท. พร้อมร่วมมือกับทุกภาคส่วนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ประเทศบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน” ธปท.ระบุ
ด้าน นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. ระบุว่า ภายใต้แนวนโยบายการพัฒนาสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ นั้น ธปท.จะมุ่งเน้นให้สถาบันการเงินไทยสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจสีเขียว (Green) หรือธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แม้ว่าในช่วงแรกการปล่อยสินเชื่อสีเขียวจะมีสัดส่วนไม่มาก แต่จะทยอยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และต้องไปในจังหวะที่ไม่ช้าจนเกินไป เพราะอาจจะทำให้สินค้าส่งออกของไทยตกขบวนได้
“ไม่ใช่ว่าเมื่อมีแนวนโยบายนี้ ออกเอกสารไปแล้ว ทุกคนจะต้องเป็นเขียวหมด ไม่ใช่ แต่เรากำลังจะแปลงประเทศไทยจากที่ออกเป็นสีน้ำตาลๆ ซึ่งอาจจะยังไม่มีสัดส่วนของธุรกิจสีเขียวเยอะนัก ให้เป็นสีน้ำตาลที่อ่อนลง มีเฉดสีเขียวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเราเข้าใจดีว่ากระบวนการนี้จะไม่เร็ว แต่อย่างน้อยให้เราไปในทิศที่ถูกและไปในจังหวะที่ไม่ช้าเกินไป และจังหวะนี้จะขึ้นอยู่กับต่างประเทศด้วย เพราะเวลาเขาออกฎหมายอะไรมา เราในฐานะคนที่อยากส่งออกไปตลาดเขา เราเลี่ยงไม่ได้ เพราะเขาเป็นคนกำหนดว่าสินค้าของเราจะถูกเก็บภาษีเท่าไหร่ ถ้าเราช้าเราก็ตกขบวน” นางรุ่งระบุ