‘ศาลปกครองกลาง’ พิพากษาเพิกถอนคำสั่ง ‘สำนักงาน กสทช.’ ที่ลงโทษไล่ออก ‘ประเสริฐ อภิปุญญา’ จากตำแหน่ง ‘รองเลขาฯ กทสช.’ กรณีจ่ายเงินโบนัสพนักงาน 8.7 หมื่นบาท เหตุเป็นการทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา-ไม่ปกปิดข้อเท็จจริง
........................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งสำนักงาน กสทช. ที่ 210/2559 ลงวันที่ 24 ก.พ.2559 ที่ลงโทษไล่นายประเสริฐ อภิปุญญา (ผู้ฟ้องคดี) อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ออกจากงาน เนื่องจากคำสั่งของสำนักงาน กสทช.ดังกล่าว ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
พร้อมกันนั้น ศาลฯยังพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) ลงวันที่ 2 มิ.ย.2559 ที่มีคำสั่งไม่รับคำอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี (นายประเสริฐ อภิปุญญา) ไว้พิจารณา โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่มีคำสั่งและคำวินิจฉัยดังกล่าว เนื่องจากคำวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ลงวันที่ 2 มิ.ย.2559 ที่มีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณา นั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ส่วนกรณีที่ผู้ฟ้องคดี (นายประเสริฐ อภิปุญญา) ยื่นคำขอทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครอง ลงวันที่ 25 พ.ค.2565 โดยขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งสำนักงาน กสทช. ที่ 210/2559 ลงวันที่ 24 ก.พ.2559 ที่ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากงานเป็นการชั่วคราว เนื่องจากผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ได้ยื่นใบสมัครเพื่อเข้ารับการดำเนินการคัดเลือกบุคคลผู้สมควรได้รับการเสนอชื่อเพื่อนำเสนอวุฒิสภาพิจารณาคัดเลือกเป็นกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ (กตป.) นั้น
ศาลฯมีคำสั่งไม่รับคำขอทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครอง ลงวันที่ 25 พ.ค.2565 ของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณา เนื่องจากผู้ฟ้องคดี (นายประเสริฐ อภิปุญญา) มิได้แสดงเอกสารหลักฐานการสมัครเพื่อเข้ารับการคัดเลือกบุคคลผู้สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน ประกาศผลการคัดเลือกบุคคลผู้สมควรได้รับการเสนอชื่อฯ
อีกทั้งไม่ปรากฏหลักฐานหลักฐานใดๆที่แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า วุฒิสภาจะประชุมเพื่อคัดเลือกกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานฯ ตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้าง ด้วยเหตุนี้ จึงเห็นว่าคำขอทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งทางปกครอง ลงวันที่ 25 พ.ค.2565 ของผู้ฟ้องคดี ยังไม่มีข้ออ้างหรือข้อเท็จจริงเพียงพอที่ควรได้รับการพิจารณา ตามข้อ 70 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2543
สำหรับรายละเอียดของประเด็นที่ศาลปกครองได้วินิจฉัยก่อนมีคำพิพากษาดังกล่าว สรุปได้ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง คำสั่งสำนักงาน กสทช. ที่ 210/2559 ลงวันที่ 24 ก.พ.2559 ที่ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากงาน ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ขณะที่ผู้ฟ้องคดี (นายประเสริฐ อภิปุญญา) ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองเลขาธิการ กทช.) และรักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรบุคคล (อบค.) คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 19/2554 เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.2554 อนุมัติการจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษประจำปี พ.ศ.2553 ให้แก่ผู้ปฏิบัติงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (สำนักงาน กสทช.) ในอัตรา 1 เท่าของเงินเดือน
ต่อมา สำนักประชาสัมพันธ์ได้เสนอรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนประจำปี พ.ศ.2553 โดยไม่ได้เสนอรายชื่อ น.ส.นนทรี เหมทานนท์ ให้เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าตอบแทนในปีงบประมาณ พ.ศ.2553 เนื่องจากเป็นผู้อยู่ในระหว่างลาศึกษาต่อระดับปริญญาเอก คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
จากนั้นเจ้าหน้าที่สำนักทรัพยากรบุคคลได้รวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนประจำปี พ.ศ.2553 เสนอผู้ฟ้องคดีในฐานะรักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรบุคคล โดยไม่มีรายชื่อ น.ส.นนทรี อยู่ในส่วนของผู้มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนประจำปี พ.ศ.2553 เนื่องจากเป็นผู้ขาดคุณสมบัติ เพราะอยู่ในระหว่างลาศึกษาต่อ และมีระยะเวลาปฏิบัติงานไม่ครบ 6 เดือน
แต่ผู้ฟ้องคดี (นายประเสริฐ อภิปุญญา) เห็นว่า แม้ว่า น.ส.นนทรี จะอยู่ในระหว่างการลาศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ปรากฏหลักฐานว่าในระหว่างการลาศึกษาต่อ น.ส.นนทรี มาปฏิบัติงานให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (สำนักงาน กสทช.) โดยปฏิบัติหน้าที่เป็นคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะทำงาน ที่เกี่ยวกับ 3G และ MNP ตามที่ กทช. แต่งตั้ง
ได้แก่ คณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์การให้บริการคงสิทธิหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ ,คณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์เพื่อการอนุญาตประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT หรือ 3G and Beyond , คณะอนุกรรมการร่างประกาศที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนโครงข่ายเสมือน (MVNO) และการให้บริการโครงข่ายภายในประเทศ (Roaming) และคณะอนุกรรมการเตรียมการประมูล
อีกทั้งยังปฏิบัติหน้าที่เป็นคณะกรรมการด้านพัสดุหรือด้านจัดซื้อจัดจ้างหรือการตรวจรับ ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (สำนักงาน กสทช.) แต่งตั้ง และได้รับการประเมินผลการปฏิบัติงาน (KP) เป็นลายลักษณ์อักษรจากนายสุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร และพ.อ.นที ศุกลรัตน์ กรรมการ กทช. ที่รับผิดชอบควบคุมงานในเรื่องดังกล่าว
ประกอบกับ ศ.ประสิทธิ์ ประพิณมงคลการ ประธาน กทช. ปฏิบัติหน้าที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ในขณะนั้น ได้เร่งรัดให้ผู้ฟ้องคดี (นายประเสริฐ อภิปุญญา) ดำเนินการเสนอรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนประจำปี พ.ศ.2553 และสั่งการด้วยวาจาว่าคณะกรรมการมีมติอนุมัติค่าตอบแทนให้พนักงานและผู้ปฏิบัติงานอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อเป็นขวัญกำลังใจสำหรับผู้ที่มีส่วนขับเคลื่อนองค์กรให้ประสบความสำเร็จ
จึงให้ผู้ฟ้องคดี (นายประเสริฐ อภิปุญญา) ตรวจสอบรายละเอียดเบื้องต้น ถ้ามีปัญหาให้เสนอรายละเอียดต่อประธาน กทช. ในฐานะผู้รักษาการตามระเบียบคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนประจำปี พ.ศ.2550 เพื่อวินิจฉัยให้ความเห็นชอบ ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือ ลงวันที่ 6 ก.ค.2554 ถึง ศ.ประสิทธิ์ ประธาน กทช. ขอความเห็นชอบจ่ายค่าตอบแทนประจำปี พ.ศ.2553 ให้แก่ผู้ปฏิบัติงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (สำนักงาน กสทช.) จำนวน 831 ราย ซึ่งรวมถึงน.ส.นนทรี เหมทานนท์ และนางรมิดา จรินทร์ทิพย์พิทักษ์ ที่ลาศึกษาต่อในประเทศ และมีการปฏิบัติหน้าที่ให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (สำนักงาน กสทช.) ด้วย
เมื่อประธาน กทช. พิจารณาและให้ความเห็นชอบแล้ว ผู้ฟ้องคดี (นายประเสริฐ อภิปุญญา) ได้มีหนังสือ ลงวันที่ 7 ก.ค.2554 เสนอนายทศพร เกตุอดิศร รองเลขาธิการ กทช. รักษาการผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (เลขาธิการ กสทช.) ขออนุมัติจ่ายค่าตอบแทนประจำปี พ.ศ.2553 ให้แก่ผู้ปฏิบัติงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (สำนักงาน กสทช.) จำนวน 831 ราย ดังกล่าว และได้รับอนุมัติจากนายทศพร ในวันเดียวกัน
ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (สำนักงาน กสทช.) เห็นว่า การจ่ายค่าตอบแทนประจำปี พ.ศ.2553 ให้แก่ น.ส.นนทรีและนางรมิดา ไม่เป็นไปตามข้อ 6 ของระเบียบคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนประจำปี พ.ศ.2550 เนื่องจากมีระยะเวลาปฏิบัติงานติดต่อกันในปีงบประมาณ พ.ศ.2553 น้อยกว่า 6 เดือน
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (เลขาธิการ กสทช.) จึงมีคำสั่งสำนักงาน กสทช. ที่ 93/2554 ลงวันที่ 15 ส.ค.2554 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว ซึ่งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงได้มีหนังสือ ลงวันที่ 21 พ.ย.2554 รายงานผลการสอบสวนข้อเท็จจริงต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (ประธาน กสทช.) ว่า น.ส.นนทรี เป็นผู้ขาดคุณสมบัติ ไม่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนประจำปี พ.ศ.2553 ส่วนนางรมิดา เป็นผู้มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนประจำปี พ.ศ.2553
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (เลขาธิการ กสทช.) จึงมีคำสั่งสำนักงาน กสทช. แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงแก่ผู้ฟ้องคดี (นายประเสริฐ อภิปุญญา) กรณีดำเนินการเพื่อให้มีการจ่ายเงินค่าตอบแทนประจำปี พ.ศ.2553 ให้แก่น.ส.นนทรี โดยมิชอบ หลังจากนั้น คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยได้จัดทำรายงานการสอบสวน ลงวันที่ 21 ต.ค.2556 เสนอผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (เลขาธิการ กสทช.)
โดยเห็นว่า การกระทำของผู้ฟ้องคดี (นายประเสริฐ อภิปุญญา) เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานจงใจหรือประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเป็นเหตุให้เสียหายแก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (สำนักงาน กสทช.) อย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ผลประโยชน์ที่มิควรได้ อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่และฐานกระทำการใดๆ อันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามข้อ 48 วรรคสี่ ข้อ 49 วรรคสอง และข้อ 57วรรคสอง ของระเบียบคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ.2555 สมควรลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากงาน
แต่คณะทำงานพิจารณาให้ความเห็นผลการสอบสวนทางวินัยตามคำสั่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (ประธาน กสทช.) ที่ 5/2558 ลงวันที่ 30 เม.ย.2558 เห็นว่า กระบวนการสอบสวนทางวินัยไม่ชอบในขั้นตอนการแจ้งข้อกล่าวหา และสรุปพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาให้ผู้ฟ้องคดีทราบ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (เลขาธิการ กสทช.) จึงมีคำสั่งให้คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าว
เมื่อคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมแล้ว ได้จัดทำรายงานการสอบสวน ลงวันที่ 22 ธ.ค.2558 เสนอผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (เลขาธิการ กสทช.) โดยมีมติยืนยันตามความเห็นเดิม และเสนอให้ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากงาน จากนั้นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีหนังสือ ลงวันที่ 9 ก.พ.2559 เสนอผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (ประธาน กสทช.) ให้ปลดผู้ฟ้องคดีออกจากงาน แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ให้ทบทวนการกำหนดโทษ
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (สำนักงาน กสทช.) พิจารณาแล้ว จึงมีคำสั่งสำนักงาน กสทช. ที่ 210/2559 ลงวันที่ 24 ก.พ.2559 ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดี (นายประเสริฐ อภิปุญญา) ออกจากงาน ตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2556 ซึ่งเป็นวันที่ผู้ฟ้องคดีได้รับอนุญาตให้ลาออกจากงาน
ซึ่งในเรื่องเดียวกันนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดยื่นฟ้องคดีอาญา และอัยการสูงสุดได้ฟ้องผู้ฟ้องคดีต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
ต่อมา ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางมีคำพิพากษา คดีหมายเลขแดงที่ อท 111/2563 ลงวันที่ 16 ก.ค.2563 พิพากษายกฟ้อง เนื่องจากข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าการกระทำของผู้ฟ้องคดี (นายประเสริฐ อภิปุญญา) ที่เสนอรายชื่อ น.ส.นนทรี และมีความเห็นต่อ ศ.ประสิทธิ์ ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (ประธาน กสทช.) เป็นการกระทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาโดยสุจริต
การกระทำของผู้ฟ้องคดี ไม่เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามฟ้อง และต่อมาศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดตาม คดีหมายเลขแดงที่ 1130/2564 ลงวันที่ 22 ม.ค.2564 พิพากษายืน
กรณีจะเห็นได้ว่าการที่ผู้ฟ้องคดี (นายประเสริฐ อภิปุญญา) มีหนังสือ ลงวันที่ 6 ก.ค.2554 ถึง ศ.ประสิทธิ์ ประธาน กทช. ขอความเห็นชอบจ่ายค่าตอบแทนประจำปี พ.ศ.2553 ให้แก่ผู้ปฏิบัติงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (สำนักงาน กสทช.) จำนวน 831 ราย รวมถึง น.ส.นนทรี ซึ่งอยู่ในระหว่างการลาศึกษาต่อ
เนื่องจากเห็นว่าในระหว่างการลาศึกษาต่อ น.ส.นนทรี มาปฏิบัติงานให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 โดยปฏิบัติหน้าที่เป็นคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะทำงานต่างๆ ตามที่ กทช. และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ แต่งตั้งและได้รับการประเมินผลการปฏิบัติงาน (KPI) เป็นลายลักษณ์อักษรจากกรรมการ กทช. ที่รับผิดชอบควบคุมงานในเรื่องดังกล่าว
ประกอบกับศาสตราจารย์ประสิทธิ์ ประธาน กทช. ได้เร่งรัดให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินการเสนอรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนประจำปี พ.ศ.2553 และสั่งการให้ผู้ฟ้องคดีตรวจสอบรายละเอียดเบื้องต้น ถ้ามีปัญหาให้เสนอรายละเอียดต่อประธาน กทช. ในฐานะผู้รักษาการตามระเบียบคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนประจำปี พ.ศ.2550 เพื่อวินิจฉัย จึงเป็นการกระทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา
อีกทั้งเมื่อพิจารณาเนื้อความที่ปรากฎในหนังสือ ลงวันที่ 6 ก.ค.2554 ที่ผู้ฟ้องคดี (นายประเสริฐ อภิปุญญา) เป็นผู้จัดทำ พบว่า ในข้อ 2.4 ของหนังสือดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีได้ระบุว่า เพื่อให้สอดคล้องตามมติ กทช. ปฏิบัติหน้าที่ กสทช. สำนักงาน กสทช. ขอเสนอแนวทางการดำเนินการดังนี้... 2.4.3 จ่ายค่าตอบแทนโดยใช้อัตราเงินเดือนหรือค่าตอบแทนรายเดือน ณ วันสิ้นปีงบประมาณ จำนวน 831 ราย รวมผู้อำนวยการสถาบัน จำนวน 2 ราย และผู้ปฏิบัติงานที่ลาศึกษาต่อในประเทศที่มีการปฏิบัติหน้าที่ให้กับสำนักงาน กสทช. จำนวน 2 ราย
แสดงว่า ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ปกปิดข้อเท็จจริงว่า ในบรรดารายชื่อผู้มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนประจำปี พ.ศ.2553 มีรายชื่อของบุคลากรที่อยู่ในระหว่างการลาศึกษาต่อ จำนวน 6 ราย รวมอยู่ด้วย เพื่อให้ ศ.ประสิทธิ์ ประธาน กทช.ในฐานะผู้รักษาการตามระเบียบคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนประจำปี พ.ศ.2550 พิจารณา
นอกจากนี้ ไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่า ผู้ฟ้องคดี (นายประเสริฐ อภิปุญญา) ได้รับผลประโยชน์จากการเสนอรายชื่อ น.ส.นนทรี เป็นผู้มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนประจำปี พ.ศ.2553 หรือมีมูลเหตุจูงใจถึงขนาดทำให้ผู้ฟ้องคดีต้องกระทำการดังกล่าวเพื่อให้ น.ส.นนทรี ได้รับผลประโยชน์ที่มิควรได้
การกระทำของผู้ฟ้องคดี (นายประเสริฐ อภิปุญญา) จึงรับฟังไม่ได้ว่า จงใจปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเป็นเหตุให้เสียหายแก่สำนักงานอย่างร้ายแรง หรือมีเจตนาปฏิบัติหรือการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ ตามข้อ 48 วรรคสี่ และข้อ 49 วรรคสอง ของระเบียบคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ.2555
แต่อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีพยานหลักฐานว่าในระหว่างการลาศึกษาต่อ น.ส.นนทรี มาปฏิบัติงานให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (สำนักงาน กสทช.) และ ศ.ประสิทธิ์ ประธาน กทช. เร่งรัดให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินการเสนอรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนประจำปี พ.ศ.2553 และสั่งการให้ผู้ฟ้องคดีเสนอรายละเอียดต่อประธาน กทช. ในฐานะผู้รักษาการตามระเบียบคณะกรรมการกิจกาโทรคมนาคมแห่งชาติ ว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนประจำปี พ.ศ.2550 เพื่อวินิจฉัย
แต่ผู้ฟ้องคดี (นายประเสริฐ อภิปุญญา) ควรตรวจสอบให้แน่ชัดก่อนว่า น.ส.นนทรี มีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนประจำปี พ.ศ.2553 ตามระเบียบคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนประจำปี พ.ศ.2550 หรือไม่
ซึ่งข้อ 6 ของระเบียบดังกล่าว กำหนดว่า พนักงานที่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนประจำปีต้องมีคุณสมบัติ 2 ประการ ประการแรก ต้องปฏิบัติงานติดต่อกันในปีงบประมาณไม่น้อยกว่า 6 เดือนนับถึงวันสิ้นปีงบประมาณนั้น และต้องอยู่ปฏิบัติงานจนถึงวันสิ้นปีงบประมาณนั้นด้วย ประการที่สอง ต้องไม่ถูกลงโทษทางวินัยในปีงบประมาณนั้น
แต่ไม่ปรากฎหลักฐานว่า ผู้ฟ้องคดี (นายประเสริฐ อภิปุญญา) ได้ตรวจสอบว่า น.ส.นนทรี มาปฏิบัติงานติดต่อกันในปีงบประมาณ พ.ศ.2553 ไม่น้อยกว่า 6 เดือน นับถึงวันสิ้นปีงบประมาณนั้น ก่อนเสนอประธาน กทช. ในฐานะผู้รักษาการตามระเบียบคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนประจำปี พ.ศ. 2550 เพื่อพิจารณาเห็นชอบ
การกระทำของผู้ฟ้องคดี (นายประเสริฐ อภิปุญญา) จึงเป็นการกระทำที่ขาดความเอาใจใส่ ไม่ระมัดระวัง และเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่เป็นเหตุให้มีการเบิกจ่ายค่าตอบแทนประจำปี พ.ศ.2553 ให้แก่ น.ส.นนทรี เป็นเงินจำนวน 89,651 บาท แต่เงินจำนวนดังกล่าวไม่ถึงขั้นทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (สำนักงาน กสทช.) ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
ประกอบกับข้อเท็จจริงปรากฏว่า น.ส.นนทรี ได้นำเงินจำนวนดังกล่าวมาคืนให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (สำนักงาน กสทช.) แล้ว เมื่อวันที่ 27 ก.ย.2555 ซึ่งเป็นการคืนเงินก่อนที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (เลขาธิการ กสทช.) จะมีคำสั่งสำนักงาน กสทช. ที่ 210/2559 ลงวันที่ 24 ก.พ.2559 ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากงาน และไม่ปรากฏว่าการกระทำของผู้ฟ้องคดี ทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (สำนักงาน กสทช.) ต้องเสื่อมเสียชื่อเสียง หรือมีกระทบต่อการจัดทำบริการสาธารณะในอำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 อย่างร้ายแรง
ดังนั้น การกระทำของผู้ฟ้องคดีจึงไม่เป็นความวินัยอย่างร้ายแรง ฐานประมาทเลินเล่อ ในการปฏิบัติหน้าที่เป็นเหตุให้เสียหายแก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 อย่างร้ายแรง ตามข้อ 48 วรรคสี่ของระเบียบคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ.2555
และเมื่อผู้ฟ้องคดีไม่ได้กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานจงใจหรือประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเป็นเหตุให้เสียหายแก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (สำนักงาน กสทช.) อย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ผลประโยชน์ที่มิควรได้อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่
การกระทำของผู้ฟ้องคดี (นายประเสริฐ อภิปุญญา) จึงไม่เป็นความผิดฐานกระทำการใดๆ อันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามข้อ 57 วรรคสองของระเบียบคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ.2555 ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามกล่าวอ้าง
ด้วยเหตุผลที่วินิจฉัยมาข้างต้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (เลขาธิการ กสทช.) เห็นว่า ผู้ฟ้องคดีกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานจงใจหรือประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเป็นเหตุให้เสียหายแก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (สำนักงาน กสทช.) อย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ผลประโยชน์ที่มิควรได้อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ และฐานกระทำการใด ๆ
อันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามข้อ 48 วรรคสี่ ข้อ 49 วรรคสอง และข้อ 57 วรรคสองของระเบียบคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2555 และมีคำสั่งสำนักงาน กสทช. ที่ 210/2559 ลงวันที่ 24 ก.พ.2559 ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากงาน คำสั่งดังกล่าวจึงไม่ซอบด้วยกฎหมาย
(ประเสริฐ อภิปุญญา)
ประเด็นที่สอง คำวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ลงวันที่ 2 มิ.ย.2559 ที่มีคำสั่งไม่รับคำอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณา ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่า หลังจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (เลขาธิการ กสทช.) มีคำสั่งสำนักงานกสทช. ที่ 210/2559 ลงวันที่ 24 ก.พ.2559 ลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดี (นายประเสริฐ อภิปุญญา) ออกจากงาน ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือ ลงวันที่ 9 มี.ค.2559 อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (ประธาน กสทช.) จึงเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีได้อุทธรณ์คำสั่งลงโทษเป็นหนังสือภายในระยะเวลา 30 วันนับแต่วันทราบคำสั่งตามข้อ 4 ของประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการว่าด้วยการอุทธรณ์ ฯ และเมื่อพิจารณาหนังสืออุทธรณ์ ลงวันที่ 9 มี.ค.2559 ของผู้ฟ้องคดี
จะเห็นว่าผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คำสั่งลงโทษไล่ออกโดยอ้างเหตุผล 2 ประการ ประการแรก กระบวนการพิจารณาไม่ถูกต้อง เนื่องจากไม่ปรากฏผลการพิจารณากลั่นกรองของคณะกรรมการบริหารงานบุคคลและการพิจารณาดังกล่าวมีความบกพร่องในสาระสำคัญ ตั้งแต่กระบวนการสอบข้อเท็จจริงก่อนการตั้งคุณะกรรมการสอบสวนทางวินัย
ประการที่สอง การพิจารณาของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยยังขาดพยานหลักฐานสำคัญที่ยืนยันว่าผู้ฟ้องคดีกระทำการเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ รวมทั้งการลงโทษไล่ออกเป็นการกำหนดมาตรการลงโทษที่รุนแรงเกินกว่าความจริง เนื่องจากผู้ฟ้องคดีเป็นเพียงผู้มีหน้าที่ตรวจสอบและนำเสนอข้อมูลให้ผู้มีอำนาจ คือ ประธาน กทช. ปฏิบัติหน้าที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (ประธาน กสทช.) เป็นผู้พิจารณา จึงเป็นเพียงประมาทเลินเล่อเท่านั้น
คำอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี (นายประเสริฐ อภิปุญญา) จึงเป็นคำอุทธรณ์ที่แสดงข้อเท็จจริงและเหตุผลในการอุทธรณ์ว่า คำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากงานไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากมีความบกพร่องในกระบวนพิจารณาและการพิจารณายังขาดพยานหลักฐานสำคัญที่ยืนยันว่าผู้ฟ้องคดีกระทำการเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ รวมทั้งการลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากงานเป็นการลงโทษที่ไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรม
ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (ประธาน กสทช.) วินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี (นายประเสริฐ อภิปุญญา) ไม่ได้แสดงข้อเท็จจริงและเหตุผลในการอุทธรณ์ให้เห็นว่าถูกลงโทษโดยไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม หรือไม่เป็นธรรมอย่างไร ตามข้อ 2 วรรคสอง ของประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการว่าด้วยการอุทธรณ์ ฯ และมีคำสั่งเมื่อวันที่ 2 มิ.ย.2559 ไม่รับอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณาตามข้อ 7 ของประกาศฉบับเดียวกัน
คำวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ลงวันที่ 2 มิ.ย.2559 ที่มีคำสั่งไม่รับคำอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณา จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
อ่านประกอบ :
ยกฟ้องอดีต รองเลขาฯ กสทช.!ศาลชี้ไม่มีเจตนาทุจริตกรณีจ่ายโบนัสพนักงาน