"...สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “มาตรการล็อกดาวน์ ควรไปต่อหรือไม่” จากการสำรวจเมื่อถามประชาชนถึงการประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากมาตรการ ล็อกดาวน์ในปัจจุบัน พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 35.67 ระบุว่า ไม่ประสบความสำเร็จเลย เพราะ การล็อกดาวน์ไม่มีความเข้มงวด..."
.......................
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “มาตรการล็อกดาวน์ ควรไปต่อหรือไม่” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 23 – 26 สิงหาคม 2564 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,312 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับมาตรการล็อกดาวน์ ควรไปต่อหรือไม่ การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 97.0
จากการสำรวจเมื่อถามประชาชนถึงการประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากมาตรการ ล็อกดาวน์ในปัจจุบัน พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 35.67 ระบุว่า ไม่ประสบความสำเร็จเลย เพราะ การล็อกดาวน์ไม่มีความเข้มงวด มีการล็อกดาวน์ แค่บางพื้นที่ ขณะที่บางส่วนระบุว่า ยังคงดำเนินชีวิตอย่างปกติ ทำให้มีการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น รองลงมา ร้อยละ 28.81 ระบุว่า ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เพราะ ประชาชนบางส่วนไม่ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามที่รัฐกำหนด และบางคนก็ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ร้อยละ 26.83 ระบุว่า ค่อนข้างประสบความสำเร็จ เพราะ ประชาชนมีการปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัด งดการรวมตัว ทำให้ลดการแพร่ระบาดลงได้ ร้อยละ 6.17 ระบุว่า ประสบความสำเร็จมาก เพราะ มีการจำกัดการเดินทางทำให้ลดการแพร่ระบาดของเชื้อลงได้ และร้อยละ 2.52 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่ทราบ/ไม่สนใจ
ส่วนความคิดเห็นของประชาชนต่อการดำเนินการมาตรการล็อกดาวน์เพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 26.14 ระบุว่า ควรดำเนินการต่อ แต่ให้มีมาตรการเข้มข้นขึ้น เพราะ มาตรการต่าง ๆ ต้องจริงจัง และบทลงโทษที่รุนแรงสำหรับคนที่ ฝ่าฝืน เพื่อให้ประชาชนจะได้หยุดการเดินทาง ลดการเดินทางข้ามจังหวัด ลดการรวมตัวมากยิ่งขึ้น และควรดำเนินการต่อ แต่ให้ผ่อนคลายมาตรการลง เพราะ บางพื้นที่ยอดผู้ติดเชื้อลดลงแล้ว และประชาชนบางส่วนก็ได้รับวัคซีนแล้ว ในสัดส่วนที่เท่ากัน รองลงมา ร้อยละ 24.16 ระบุว่า ไม่ควรดำเนินการต่อ เพราะ ถึงแม้จะมีมาตรการล็อกดาวน์ยังไงก็ยังมีจำนวนยอดผู้ติดเชื้อเยอะอยู่ดี รัฐบาลควรจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพมาฉีดให้แก่ประชาชน ขณะที่บางส่วนระบุว่า ประชาชนส่วนมากได้รับผลกระทบในเรื่องของการไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ร้อยละ 21.27 ระบุว่า ควรดำเนินการต่อเหมือนเดิม เพราะ มาตรการเป็นการควบคุมที่พอดี มีการควบคุมเฉพาะพื้นที่เสี่ยงเท่านั้น ประชาชนยังสามารถประกอบอาชีพและเดินทางไปไหนมาไหนได้สะดวก และร้อยละ 2.29 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่ทราบ/ไม่สนใจ
ด้านความกังวลว่าจะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 มากขึ้น หากมีการยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ หรือมีการผ่อนคลายมาตรการลง พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 33.38 ระบุว่า ค่อนข้างกังวล รองลงมา ร้อยละ 31.33 ระบุว่า กังวลมาก ร้อยละ 18.45 ระบุว่า ไม่กังวลเลย ร้อยละ 16.54 ระบุว่า ไม่ค่อยกังวล และร้อยละ 0.30 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่ทราบ/ไม่สนใจ
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงการยอมรับ ถ้ามีการยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ หรือมีการผ่อนคลายมาตรการลง แต่ทำให้มีการแพร่ระบาด ของโควิด-19 เพิ่มขึ้น พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 30.26 ระบุว่า ค่อนข้างยอมรับได้ รองลงมา ร้อยละ 29.42 ระบุว่า ไม่ยอมรับเลย ร้อยละ 25.30 ระบุว่า ยอมรับได้แน่นอน ร้อยละ 14.18 ระบุว่า ไม่ค่อยยอมรับ และร้อยละ 0.84 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่ทราบ/ไม่สนใจ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.77 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.76 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 18.29 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.69 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 13.49 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 48.93 เป็นเพศชาย และร้อยละ 51.07 เป็นเพศหญิง
ตัวอย่างร้อยละ 8.16 มีอายุ 18 – 25 ปี ร้อยละ 16.23 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 20.96 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 31.94 มีอายุ 46 – 59 ปี และร้อยละ 22.71 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 95.20 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.35 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.84 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ และร้อยละ 0.61 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่างร้อยละ 22.64 สถานภาพโสด ร้อยละ 74.01 สมรสแล้ว ร้อยละ 3.12 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 0.23 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส
ตัวอย่างร้อยละ 29.80 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 33.61 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 6.33 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 26.14 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 3.51 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 0.61 ไม่ระบุการศึกษา
ตัวอย่างร้อยละ 11.05 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 14.10 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 20.81ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 14.56 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 15.09 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 20.65 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 2.90 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 0.15 เป็นพนักงานองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหากำไร และร้อยละ 0.69 ไม่ระบุอาชีพ
ตัวอย่างร้อยละ 20.27 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 27.36 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 21.42 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 8.61 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 3.89 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 5.03 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 13.42 ไม่ระบุรายได้