ครม.อนุมัติปรับปรุงหลักเกณฑ์ปล่อยกู้ 'Soft Loan' ช่วยเหลือธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดระลอกใหม่ เผย 6 แบงก์รัฐ เหลือวงเงินสินเชื่อโควิดอีกกว่า 2.23 แสนล้านบาท
......................
เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการดำเนินการโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอกบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกใหม่ รวมทั้งการปรับปรุงหลักเกณฑ์การดำเนินโครงการ Soft Loan ออมสินฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย และโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ SMEs มีที่ มีเงิน สำหรับธุรกิจการท่องเที่ยว ประกอบด้วย
1.โครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) โดยให้ขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อออกไปเป็นสิ้นสุดวันที่ 30 ธ.ค.2564 จากเดิมที่สิ้นสุดในวันที่ 30 มิ.ย.2564
2.ปรับปรุงโครงการ Soft Loan ออมสินฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย โดยธนาคารออมสิน ได้แก่ ให้ขยายระยะเวลากู้ จากเดิมไม่เกิน 5 ปี เป็นไม่เกิน 7 ปี และขยายระยะเวลาปลอดชำระเงินต้น จากเดิมสูงสุดไม่เกิน 1 ปี เป็นสูงสุดไม่เกิน 2 ปี รวมทั้งขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อเป็นสิ้นสุดวันที่ 30 ธ.ค.2564 จากเดิมที่สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.2564
3.ปรับปรุงโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ SMEs “มีที่ มีเงิน สำหรับธุรกิจการท่องเที่ยว” โดยธนาคารออมสิน ได้แก่ การขยายกลุ่มเป้าหมายโครงการฯ ครอบคลุมผู้ประกอบการ SMEs ในภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ เช่น ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจการเดินทางและขนส่ง ธุรกิจค้าส่ง ค้าปลีก ธุรกิจบันเทิง ธุรกิจสปาและนวดแผนไทย ธุรกิจการเดินทางและขนส่ง ธุรกิจโรงเรียนเอกชน เป็นต้น
พร้อมทั้งปรับปรุงหลักเกณฑ์วงเงินสินเชื่อต่อรายกรณีผู้กู้เป็นนิติบุคคล จากเดิมพิจารณารายได้รวมของงบการเงินปีล่าสุด (รอบบัญชีปี 2562) เป็นพิจารณารายได้รวมของงบการเงินปีล่าสุด (รอบบัญชีปี 2562 หรือปี 2563 แล้วแต่กรณีใดสูงกว่า) เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและสะท้อนความต้องการที่แท้จริงของผู้ประกอบการ
นอกจากนี้ จะมีการปรับปรุงการพิจารณาหลักประกันการกู้เงินจากเดิมไม่รับหลักประกันที่ไม่มีสภาพคล่อง เช่น ที่ดินที่ไม่มีทางเข้า-ออก ที่ดินที่มีบ่อน้ำ หรือถูกขุดหน้าดิน ที่ดินใต้แนวเสาไฟฟ้าแรงสูง ที่ดินที่อยู่ในเขตป่าสงวน เป็นต้น เป็นไม่รับหลักประกันที่ไม่มีสภาพคล่องตามที่ธนาคารออกสินกำหนด เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs รวมทั้งให้ขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อออกไปเป็นสิ้นสุดวันที่ 30 ธ.ค.2564
"การปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าว เพื่อช่วยผู้ประกอบการ SMEs ได้รับผลกระทบจากการระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ โดยไม่ก่อให้เกิดภาระงบประมาณเพิ่มขึ้น รวมทั้งยังช่วยป้องกันความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีกด้วย" นายอนุชากล่าว
นายอนุชา กล่าวว่า ที่ประชุมครม.รับทราบความคืบหน้ามาตรการพักชำระหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) โดยข้อมูลล่าสุดสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 7 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน ,ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ,ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ,ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ,ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) ,ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ตามมาตรการพักชำระหนี้แล้วทั้งสิ้น 7.56 ล้านราย วงเงิน 3.46 ล้านล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีลูกหนี้ที่ยังอยู่ในมาตรการมีจำนวน 3.23 ล้านราย วงเงิน 1.26 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นประชาชนทั่วไป 3.21 ล้านราย วงเงิน 1.18 ล้านล้านบาท และธุรกิจ 21,310 ราย วงเงิน 87,948 ล้านบาท ขณะที่ SFIs ทั้ง 7 แห่ง ได้ขยายเวลาการพักชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2564 ตามความสมัครใจ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้ เพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้
@เผย 6 แบงก์รัฐเหลือวงเงินสินเชื่อ-ค้ำประกันกว่า 2.23 แสนล้าน
นายอนุชา กล่าวว่า ครม.รับทราบความคืบหน้ามาตรการสนับสนุนสินเชื่อของ SFIs ซึ่งยังคงเหลือวงเงินสินเชื่อและวงเงินค้ำระกันสินเชื่อคงเหลือทั้งสิ้น 223,215 ล้านบาท ประกอบด้วย
ธนาคารออมสิน วงเงินสินเชื่อคงเหลือ 32,559 ล้านบาท ได้แก่
1.สินเชื่อสู้ภัย COVID-19 วงเงินกู้สูงสุดรายละ 10,000 บาท วงเงินคงเหลือ 3,831 ล้านบาท
2.สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำช่วยเหลือ SMEs ภาคท่องเที่ยว วงเงินกู้สูงสุดรายละ 500,000 บาท วงเงินคงเหลือ 3,855 ล้านบาท
3.สินเชื่อ SMEs มีที่ มีเงิน สำหรับธุรกิจท่องเที่ยว วงเงินกู้บุคคลธรรมดารายละไม่เกิน 10 ล้านบาท นิติบุคคลรายละไม่เกิน 50 ล้านบาท วงเงินคงเหลือ 6,873 ล้านบาท
4.สินเชื่อ DxD เพื่อคู่ค้า Department Store เพื่อเสริมสภาพคล่องสำหรับคู่ค้าหรือผู้เช่าร้านค้า วงเงินกู้สูงสุดรายละ 5 ล้านบาท วงเงินคงเหลือ 2,000 ล้านบาท
5.มาตรการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ วงเงินคงเหลือ 16,000 ล้านบาท
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงินสินเชื่อคงเหลือ 52,252 ล้านบาท ได้แก่
1.สินเชื่อสู้ภัย COVID-19 ไม่ต้องมีหลักทรัพย์หรือบุคคลค้ำประกัน วงเงินกู้สูงสุดรายละ 10,000 บาท วงเงินคงเหลือ 10,000 ล้านบาท
2.สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย วงเงินคงเหลือ 42,252 ล้านบาท
ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) วงเงินสินเชื่อคงเหลือ 5,930 ล้านบาท ได้แก่
1.มาตรการสินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต วงเงินกู้สูงสุดรายละ 100 ล้านบาท วงเงินคงเหลือ 572 ล้านบาท
2.สินเชื่อส่งออกสุข สุด สุด วงเงินกู้สูงสุดรายละ 1.5 ล้านบาท วงเงินคงเหลือ 358 ล้านบาท
3.สินเชื่อ Global อุ่นใจ วงเงินกู้สูงสุดรายละ 100 ล้านบาท วงเงินคงเหลือ 5,000 ล้านบาท
ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.)
1.สินเชื่อมุสลิมและสินเชื่อสนับสนุนชายแดนภาคใต้รายย่อยวงเงินกู้สูงสุดรายละ 20 ล้านบาท
2.สินเชื่อเสริมสร้างธุรกิจรายย่อยมุสลิม วงเงินกู้สูงสุดรายละ 200,000 บาท
ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) วงเงินสินเชื่อ 12,834 ล้านบาท ได้แก่
1.สินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน วงเงินกู้สูงสุดสำหรับบุคคลธรรมดารายละ 1 ล้านบาท สำหรับนิติบุคคลรายละ 3 ล้านบาท วงเงินคงเหลือ 3,144 ล้านบาท
2.สินเชื่อจ่ายดีมีเติม วงเงินกู้สูงสุดรายละ 15 ล้านบาท วงเงินคงเหลือ 1,978 ล้านบาท
3.สินเชื่อ Local Economy Loan วงเงินกู้สูงสุดรายละ 5 ล้านบาท วงเงินคงเหลือ 7,712 ล้านบาท
บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) วงเงินค้ำประกันคงเหลือ 119,640 ล้านบาท
1.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 9 (PGS 9) วงเงินค้ำประกันสูงสุดรายละ 100 ล้านบาท วงเงินคงเหลือ 101,276 ล้านบาท
2.โครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ Micro Entrepreneursระยะที่ 4 (Micro 4) วงเงินค้ำประกันสูงสุดรายละ 500,000 บาท วงเงินคงเหลือ 18,364 ล้านบาท
ทั้งนี้ SFIs ได้ร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ดำเนินโครงการ “จับคู่กู้เงิน” เพื่อช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการร้านอาหารมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้
@ธปท.อนุมัติสินเชื่อฟื้นฟูฯแล้ว 4.07 หมื่นล้าน-พักทรัพย์ฯ 922 ล.
นอกจากนี้ ครม.ยังรับทราบความคืบหน้าการปล่อยสินเชื่อภายใต้ พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2564 วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้แก่ 1.มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู) วงเงิน 250,000 ล้านบาท อนุมัติสินเชื่อแล้ว 13,435 ราย วงเงินรวม 40,764 ล้านบาท คงเหลือวงเงิน 209,236 ล้านบาท และ2.มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ วงเงิน 100,000 ล้านบาท อนุมัติสินเชื่อแล้ว 7 ราย วงเงิน 922 ล้านบาท
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage