"...รัฐควรสนับสนุนให้ภาคเอกชนสามารถนำเข้าวัคซีนได้อย่างสะดวก เนื่องจากปัจจุบันมีเจ้าของธุรกิจหลายรายมีความพร้อมและจองวัคซีนล่วงหน้าจากบริษัทผู้นำเข้าวัคซีนหลายรายแล้ว ขณะที่ยังมีเจ้าของธุรกิจโรงแรมอีกหลายรายเช่นเดียวกันที่ยังต้องการ..."
……………………………………………..
สถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด ไม่ได้สร้างผลกระทบเฉพาะปัญหาสุขภาพเพียงอย่างเดียว
แต่หลายมาตรการในการรับมือจากภาครัฐ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่งผลกระทบไปถึงปัญหาทั้งด้านสังคม-เศรษฐกิจ ยกตัวอย่างมาตรการล็อกดาวน์ เพื่อปิดประเทศชั่วคราว ที่มีแนวความคิดลดจำนวนผู้ป่วยให้เป็นศูนย์โดยเร็ว ย่อมทำให้กลไกทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก เกิดปัญหาตั้งแต่ระดับรากหญ้าจนถึงภาพรวมระดับประเทศ
ไม่นับรวมปัญหาการว่างงาน - ธุรกิจขาดทุน โดยเฉพาะกิจการโรงแรมและธุรกิจการบิน หลายบริษัททนพิษเศรษฐกิจไม่ไหว จึงต้องปิดกิจการ ขณะที่ปัญหาทางสังคมเกิดความเหลื่อมล้ำ ทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนยากจนถูกถ่างออกไปมากขึ้น และบางส่วนยังไม่สามารถเข้าถึงสิทธิ หรือสวัสดิการจากรัฐได้
ด้วยเหตุนี้เป็นที่มาของการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อวางแผนบริหารจัดการวัคซีนโควิดในประเทศไทย ที่ ศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เชื่อว่า วัคซีนคือปลายทางสุดท้ายของปัญหา ที่ยังจำเป็นต้องมีนโยบายในการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอื่นๆ ซ้ำขึ้นมาอีก
ผศ.ดร.นพ.บวรศม ลีระพันธ์ รองผู้อำนวยการศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัญหาการจัดการสถานการณ์โควิดในไทยระยะแรก สะท้อนให้เห็นว่าการแก้ไขปัญหาแบบแยกส่วน ทำให้นโยบายการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโควิดไม่ประสบความสำเร็จเต็มที่ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
สำหรับการประชุมปฏิบัติการครั้งนี้ ที่ประชุมยังได้หยิบยก ประเด็นเกี่ยวกับบริหารจัดการวัคซีนขึ้นมาหารือ โดยมีหลายประเด็นที่ถูกนำเสนอได้อย่างน่าสนใจ ัดงนี้
@ แจกวัคซีนพื้นที่เสี่ยง สร้างภูมิคุ้มกันหมู่อย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะที่ รศ.ดร. วิริชดา ปานงาม ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา กล่าวว่า หากคำนึงตามหลักการระบาดวิทยา หากมีการกระจายวัคซีนไปยังพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น อันหมายถึงพื้นที่ที่มีโอกาสเกิดการติดเชื้อได้สูง ในสัดส่วนที่มากกว่าพื้นที่อื่นๆ ที่มีประชากรหนาแน่นน้อย วิธีดังกล่าวนี้จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม น.ส.ฟอระดี นุชส่งสิน ผู้จัดการสำนักบริหารความมั่นคงด้านวัคซีน กล่าวว่า การกระจายวัคซีนให้กับพื้นที่เสี่ยง เป็นการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุด ซึ่งจะป้องกันโอกาสการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อนได้ เนื่องจากประชาชนสามารถเดินทางข้ามจังหวัดได้ในขณะนี้ หากไม่เร่งฉีดให้กับพื้นที่เสี่ยงก่อน ประชาชนภายในพื้นที่เสี่ยงสูง อาจนำเชื้อเดินทางไปยังพื้นที่อื่นได้
ทั้งนี้ สำหรับการให้กลุ่มใดก่อนหลังนั้น นายศักดินาถ สุมะนะ ตัวแทนจากสมาคมโรงแรม กล่าวว่า ในช่วงที่วัคซีนยังมีจำกัด ควรให้กลุ่มเสี่ยงก่อน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่ได้รับผลกระทบจากการเสียชีวิตมากที่สุด เพื่อให้สอดคล้องกับประสิทธิภาพของวัคซีนในการลดอัตราการเสียชีวิต หรือความรุนแรงของโรคโควิด แต่ในวันที่จะเปิดประเทศ อยากให้รัฐเล็งเห็นความสำคัญของธุรกิจภาคบริการด้วย เช่น ธุรกิจโรงแรม เป็นต้น เนื่องจากต้องพบนักท่องเที่ยวจำนวนมาก
ขณะเดียวกันในภาคการศึกษา เนื่องจากยังมีข้อมูลการทดลองใช้วัคซีนในเด็กน้อย ควรจะพิจารณาถึงผลดีและเสียอย่างถี่ถ้วน เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมที่สุดในการเลือกว่าควรให้วัคซีนกับคณาจารย์หรือผู้ปกครองก่อน
@ เปิดบริการนอกสถานที่เพิ่มความเร็วในการฉีดวัคซีน
นอกจากนั้น ดร.นพ.วรสิทธิ์ ศรศรีวิชัย อาจารย์สถาบันการจัดการระบบสุขภาพภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อยากให้รัฐไม่จำกัดพื้นที่การฉีดวัคซีน เพียงแค่สถานพยาบาล โดยอาจเปลี่ยนมาให้บริการนอกสถานที่ เช่น สเตเดียม หรือโดมทำกิจกรรมขนาดใหญ่ได้ เพื่อให้สามารถกระจายวัคซีนได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันการกระจายวัคซีนยังไม่เร็วอย่างที่ควร ด้วยข้อจำกัดของสถานพยาบาลมีพื้นที่จำกัด และต้องจัดพื้นที่ตามมาตรการเว้นระยะห่าง ลดความแออัดของจำนวนผู้ใช้บริการด้วย
@ ผุดไอเดียแจกวัคซีนเท่าเทียมทุกชนชาติ
นพ.สามารถ ถิระศักดิ์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า การกระจายวัคซีนควรให้ประชาชนทุกจังหวัด ทุกชนชาติอย่างเท่าเทียมกัน กล่าวคือ ควรให้ผู้ที่อาศัยอยู่ภายในประเทศไทยได้รับอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งรวมถึงแรงงานข้ามชาติด้วย เนื่องจากขณะนี้ยังมีแรงงานข้ามชาติเฉพาะพื้นที่ที่ระบาดเท่านั้นที่ได้รับวัคซีน และบางกลุ่มยังมีรายชื่อตกหล่น แม้จะเข้าสู่ระบบการลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว แต่เมื่อจะเข้าสู่กระบวนการขอรับวัคซีน กลับต้องรอการยืนยัน ซึ่งต้องใช้ระยะเวลานานในการตรวจสอบ ทำให้เกิดช่องว่างที่จะนำไปสู่การระบาดของโควิดได้
สอดคล้องกับ ดร.นพ.ปณิธี ธัมมวิจยะ ผู้อำนวยการกองนวัตกรรมและวิจัย กรมควบคุมโรค กล่าวว่า การกระจายวัคซีนขณะนี้ยังมีความเลื่อมล้ำในประชาชนกลุ่มเปราะบาง ที่มีข้อจำกัดด้านการเงิน หรือการเดินทางไปยังสถานพยาบาลจุดรับวัคซีน ทำให้ประชาชนกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด ยังไม่ได้รับวัคซีนจำนวนมาก จึงอยากให้รัฐเล็งเห็นถึงความสำคัญในกลุ่มเปราะบางเช่นเดียวกัน
@ คาดฉีดวัคซีนทั่วถึง เศรษฐกิจฟื้นเร็วจากการท่องเที่ยว
นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า ภาครัฐควรมีมาตรการสนับสนุนหรือส่งเสริมการแจกจ่ายวัคซีนให้กับประขาชนให้รวดเร็วและครอบคลุมมากขึ้น เนื่องจากการที่ประชาชนได้รับวัคซีนได้อย่างทั่วถึง 70% ของประชากรทั้งหมด จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ รวมถึงหากสถานการณ์ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องอาจนำไปสู่การลดวันกักตัว ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ อันเป็นรายได้หลักสำคัญของประเทศ
นอกจากนั้น รัฐควรสนับสนุนให้ภาคเอกชนสามารถนำเข้าวัคซีนได้อย่างสะดวก เนื่องจากปัจจุบันมีเจ้าของธุรกิจหลายรายมีความพร้อมและจองวัคซีนล่วงหน้าจากบริษัทผู้นำเข้าวัคซีนหลายรายแล้ว ขณะที่ยังมีเจ้าของธุรกิจโรงแรมอีกหลายรายเช่นเดียวกันที่ยังต้องการ
ด้าน นายสุชาติ เลาบริพัตร ผู้อำนวยการสำนักผู้เชี่ยวชาญ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวอีกว่า เมื่อมีพาสปอร์ตวัคซีนแล้ว นอกจากการลดเวลากักตัว ควรอนุญาตให้เพิ่มเที่ยวบิน หรือควรเพิ่มจำนวนผู้เดินทางเข้าภายในประเทศ จากเดิมที่จำกัดไว้ประมาณ 500 รายต่อวัน รวมถึงควรปรับโครงสร้างทางธุรกิจ โดยไม่มุ่งเน้นไปที่การท่องเที่ยวมากจนเกินไป แต่ควรปรับเปลี่ยนหรือสร้างธุรกิจเสมือนการท่องเที่ยว ที่สามารถสร้างรายได้ดีกว่า
ทั้งนี้ อยากให้รัฐเตรียมความพร้อมในการรับมือการระบาดระลอกใหม่ด้วย โดยให้กำหนดนโยบายจากศูนย์กลางที่ชัดเจน กล่าวคือ จะไม่มีการให้อำนาจแต่ละจังหวัดในการวางมาตรการแก้ไขปัญหากันเอง ทุกจังหวัดจะต้องปฏิบัติแนวนโยบายของหน่วยงานกลางเท่านั้น เนื่องจากแต่ละจังหวัดมีมาตรการที่ไม่เหมือนกัน ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน หรือบางพื้นที่ได้รับผลกระทบจากโควิดน้อยมาก แต่กลับล็อคดาวน์ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ประชาชนภายในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ ยังไม่มีข้อสรุปอย่างเป็นทางการ ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในช่วง มิ.ย.2564 ก่อนจัดทำเป็นข้อเสนอในการปรับปรุงแผนปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศไทยในระยะยาวต่อไป
อ่านข่าวประกอบ:
รพ.รามาฯถกนโยบายบริหารจัดการวัคซีนไทย ก่อนเสนอแผนปฏิรูประบบสุขภาพ มิ.ย.64
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage