ระดมความคิด อยากเห็นเรือนจำเป็นอย่างไร? ผ่านประสบการณ์คนเกี่ยวข้องกับคุก หวังยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ต้องขัง คืนคนดีกลับสู่สังคม
(ภาพประกอบเท่านั้น)
คุณอยากเห็นเรือนจำเป็นอย่างไร?
แน่นอนว่า ในความรู้สึกของใครหลายคน ย่อมอยากเห็นเรือนจำเป็นพื้นที่จำกัดอิสรภาพ ดัดนิสัยผู้กระทำความผิด และคืนคนดีสู่สังคม
แต่จะมีสักกี่คนกันเล่าที่คิดไปถึงว่า การคืนคนดีสู่สังคมนั้น เรือนจำต้องมีความสมบูรณ์แบบเอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังให้ดีขึ้นด้วย
เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีการนำคำถามข้างต้นตั้งเป็นประเด็นในเวทีเสวนาแลกเปลี่ยน เรื่อง ‘นานาทัศนะเกี่ยวกับเรือนจำ : สิ่งที่เห็นกับสิ่งที่ควรเป็น’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมการประชุมวิชาการ “เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน ประชากรกลุ่มเฉพาะ (Voice of the voiceless : the vulnerable populations)" เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์จริงจากผู้ต้องขัง จัดขึ้นโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย ณ อิมแพคเมืองทองธานี
‘จินตนา แก้วขาว’ นักสู้เพื่อสิทธิชุมชน อดีตแกนนำคัดค้านโรงไฟฟ้าบ่อนอก-หินกรูด จ.ประจวบคีรีขันธ์
เธอต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ใช้ชีวิตอยู่ในกำแพงสูงนาน 2 เดือน จากโทษจำคุกทั้งหมด 4 เดือน ด้วยข้อหาบุกรุกสถานที่เอกชนและทำให้เสียทรัพย์ในงานเลี้ยงโต๊ะจีนครบรอบ 3 ปี ของบริษัท ยูเนี่ยนเพาเวอร์ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด เจ้าของโรงไฟฟ้าหินกรูด ขนาด 1,400 เมกะวัตต์ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์
เรื่องราวภายในคุกนับตั้งแต่ย่างก้าวเข้าไป ได้ถูกถ่ายทอดประสบการณ์ออกมาอย่างฉะฉานผ่านน้ำเสียงและดวงตากล้าแกร่งของเธอ
ภาพของเหล่าผู้ต้องขังต้องทนทุกข์ยากลำบากในแดนกักกันขังอิสรภาพแห่งนั้นยังคงหดหู่และไม่เลือนหายไปจากความทรงจำ
‘การกดขี่’ เป็นสิ่งแรกที่จินตนาเจอ โดยผู้ต้องขังหญิงทุกคนในเรือนจำต้องนั่งคุกเข่าพูดคุยกับผู้คุม ซึ่งเธอเห็นว่า การปฏิบัติเช่นนั้นไม่ควรเกิดขึ้น แต่ควรจัดโต๊ะให้นั่งพูดคุยกันแทนมากกว่า
“ทำไมไม่จัดโต๊ะให้นั่งแบบครูกับนักเรียน...ทำไมต้องคุกเข่า?”
เธอตั้งคำถาม และเน้นย้ำต่อไปว่า แล้วทำไมต้องใช้คำว่า “นาย” และ “แม่” แทนการเรียกผู้คุม แน่นอนล่ะ
ผู้หญิงนักสู้คนนี้เธอไม่ยอมปฏิบัติตาม ไม่ว่าจะนั่งคุกเข่า หรือเรียกสรรพนามอื่นแทนผู้คุม แต่ขอเรียก “พี่” กับ “คุณ” แทนผู้คุมที่อายุมากกว่าและน้อยกว่า
(ภาพประกอบเท่านั้น)
นอกจากนี้เธอยังสงสัยทุกวันว่า เหตุใดเมื่อผู้คุมกินข้าว จึงล้างจานเองไม่เป็น ต้องให้ผู้ต้องขังมาล้างจานให้ รวมถึงการลงโทษด้วยวิธีเหมารวม ซึ่งไม่ยุติธรรม!
“วันนี้มีเสียงคุยกัน ผู้คุมจะถามว่า ใครคุย ๆ ทุกคนย่อมไม่มีใครบอก เพราะจะมีผลต่อการถูกตีในเวลากลางคืน เวลาขังรวมกัน ใครปากดีก็ถูกตี เพราะฉะนั้นจะถูกลงโทษทุกคน อายุ 18-70 ปี จะถูกลงโทษด้วยวิธีการกอดคอ และสก๊อตจั๊มพ์ คราวนี้คนสาวจะลากคนแก่ ถามว่า สิทธิของเธอเอง เมื่อไม่ได้คุย งั้นไม่ขอรับการลงโทษ แต่ใครรับการลงโทษได้ก็รับไป แต่เราคิดว่า ไม่ได้คุย ทำไมต้องถูกสก๊อตจั๊มพ์ แล้วหัวเข่าเราไม่ดี”
นอกจากนี้ เธอยังเล่าต่อถึงสิ่งที่พบเจอ ทั้งปัญหาในการรักษาพยาบาลภายในเรือนจำ
"ตลอดเวลาที่อยู่ในเรือนจำแห่งนี้ ไม่มีแพทย์เลย มีแต่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและผู้ช่วยที่เป็นผู้ต้องขัง หากผู้ต้องขังป่วยไม่ลากสังขารมาพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขก็จะไม่ได้รับยา
เคยเดินไปถามว่า ในเมื่อเขาไม่สบาย ทำไมไม่นำยาไปให้ แต่กลับได้รับคำยืนยันว่า ต้องมารับยาที่โต๊ะเอง ซึ่งระเบียบจุกจิกบางอย่างหวั่นว่าจะทำให้คนตายเสียก่อน"
ส่วนการนำผู้ต้องขังที่เจ็บป่วยไปโรงพยาบาลนั้น จินตนา มองว่า ผู้ต้องขังรายนั้นจะถูกแสดงพฤติกรรมของการเป็นนักโทษ
“เราถามผู้ต้องขังว่า ป่วยหนัก...ทำไมไม่ไปโรงพยาบาล ได้รับคำตอบว่า ไม่กล้าไปหรอก...อาย เพราะผู้ชายจะถูกตีตรวนผู้หญิงจะถูกคุมไป 4 คน และต้องแต่งชุดนักโทษออกไป เกิดความอายก็ไม่กล้าไปรักษาพยาบาล”
เธอจึงเสนอให้มีแพทย์เพียงพอต่อจำนวนผู้ต้องขัง ถามว่าผู้ต้องขัง 200-300 คน แม้ไม่ป่วยทุกวันก็จริง แต่แพทย์เพียงคนเดียวรับไม่ไหว ต่อให้ผู้ต้องขังป่วย 20 คน/วัน ยังมั่นใจว่ารับไม่ไหว( อ่านประกอบ: ‘หมอ-พยาบาล’ ในเรือนจำ งานที่ยังคงขาดแคลน)
เช่นเดียวกับหนังสือในห้องสมุดที่หวังจะช่วยเยียวยาจิตใจไม่ให้ฟุ้งซ่านและเสริมสร้างความรู้ให้แก่ผู้ต้องขัง กลับพบว่า หนังสือ นิตยสาร และสารคดี ขาดความทันสมัย ย้อนหลังไปประมาณ 10 ปี และไม่มีหนังสือพิมพ์ให้อ่าน คงไม่ต้องการให้ตามทันสถานการณ์
เรื่องราวในเรือนจำยังไม่จบเพียงเท่านั้น จินตนายังพบปัญหาในการปฏิบัติต่อผู้หญิง นั่นคือ ‘ชุดชั้นใน’ เครื่องอาภรณ์ปกปิดร่างกายด่านแรก
“เกิดการขโมยชุดชั้นใน ซึ่งถือเป็นความผิดที่ผู้คุมมองว่าขี้ขโมย แต่เรามองว่า ถ้าไม่ขโมยจะเอาชุดชั้นในที่ไหนใส่ เพราะผู้ต้องขังบางคน ไม่มีพ่อแม่ ไม่มีญาติ เพราะอยู่จังหวัดอื่น แต่บังเอิญมาต้องโทษที่นี่ ทำให้ญาติจะมาช่วงใหม่ ๆ คนกลุ่มนี้จะถูกทิ้งไว้ เมื่อไม่มี จึงต้องเอาของเพื่อน ทำให้เพื่อนจำได้ และจะถูกตี เรากดกริ่งเรียกว่าเกิดเหตุตีกัน ผู้คุมแค่มาชะโงกมอง แต่ไม่สามารถไขประตูได้ พอตอนเช้าเราถามผู้คุมว่า ทำไมไม่ไขประตูไปแยกตีกัน เขาบอกว่า หลัง 18.00 น. กุญแจของแดนหญิงจะไปอยู่ในแดนชาย”
นอกจากนี้ยังมีเรื่อง ‘ผ้าอนามัย’ เชื่อหรือไม่ว่า 2 เดือน ที่เธออยู่ในเรือนจำ ได้รับแจกผ้าอนามัยเพียงครั้งเดียว!...เป็นแบบห่อเล็ก มีสี่ชิ้น บาง ๆ ในขณะที่ส่วนใหญ่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ แน่นอนย่อมไม่เพียงพอ
“สุขอนามัยในผู้หญิงต้องตรวจสอบให้ชัดว่าไปตกอยู่ที่ใคร ซึ่งจริง ๆ แล้วเราไม่เชื่อว่า 2 เดือน จะมีผ้าอนามัยตามเรือนจำครั้งหนึ่ง”
เธอคิดว่าต้องนำมาให้เดือนละครั้ง ทำงบประมาณจ่ายทุกเดือน แต่ไม่จ่ายจริง หรือคิดว่าผู้ต้องขังทั้งหมดสามารถจัดการตนเองได้
ก่อนทิ้งท้ายด้วยเรื่องการปล่อยทุกข์ ซึ่งหนีไม่พ้นส้วม ที่เรือนจำจังหวัดประจวบฯ แดนหญิง มีผู้ต้องขัง 300 คน ต่อส้วม 9 ห้อง ก่ออิฐขึ้นมาถึงระดับหน้าอก มองเห็นหน้ากัน ถามว่า นั่งสนิทหรือไม่ เพราะน้ำเฉอะแฉะ ฉะนั้นควรก่ออิฐให้พ้นศีรษะ และปรับส้วมบางห้องรองรับผู้พิการและสูงวัย
(ภาพประกอบเท่านั้น)
ทุกอย่างถูกจัดฉาก ไม่มีทางได้เห็นของจริง
‘นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี’ (หมอเลี้ยบ) อดีตรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ปัจจุบันผันตัวเองมาเป็นคอลัมน์นิสต์และพิธีกร เคยถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำสั่งจำคุกเป็นเวลา 1 ปี ไม่รอลงอาญา เมื่อเมื่อปี 2559 ในฐานความผิดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
ภายหลังเขาได้รับการพักโทษ
หมอเลี้ยบออกตัวว่า คำบอกเล่าต่อไปนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อสองปีที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันอาจจะดีขึ้นแล้ว ดังนั้นประสบการณ์ทั้งหมดจึงอยู่ระหว่างปี 2559-2560
ปัญหาของเรือนจำ แบ่งเป็น 4 ข้อ คือ
1.คนเข้ามากกว่าคนออก ทำให้จำนวนผู้ต้องขังมากจนกระทั่งบุคลากรและงบประมาณไม่เพียงพอ ทุกวันนี้มีผู้ต้องขังประมาณ 3 แสนคน ผู้คุมมีอัตราส่วนไม่มากนัก ขณะที่งบประมาณมีราว 1 หมื่นล้านบาท/ปี สำหรับการดูแลกรมราชทัณฑ์ ซึ่งมากกว่าหลายกระทรวง
2.การออกเดี๋ยวนี้ยากกว่าเมื่อก่อน จะเห็นว่า ในอดีตกระบวนการพักโทษและอภัยโทษง่ายมากกว่าปัจจุบัน จึงเป็นเหตุให้เกิดความสะสมจำนวนผู้ต้องขังมากขึ้นเรื่อย ๆ
3.นักโทษเพิ่มมากกว่าผู้คุม โดยอัตราการเพิ่มของนักโทษจากคดีต่างๆ กล่าวคือ หลายคดีไม่จำเป็นต้องอยู่ในนั้นเลย อาจเกิดจากความล้าสมัยของกฎหมาย ทำให้ไม่มีทางเลือก เลยต้องตัดสินจำคุก ทั้งที่มีการตัดสินด้วยวิธีอื่น เช่น การปรับ ใช้เทคโนโลยีควบคุม
4.เทคโนโลยีใหม่มีมากมาย แต่กรมราชทัณฑ์อยู่ในยุคที่ล้าสมัยมาก หลายอย่างควรปรับปรุง โดยเฉพาะการทำกำไลอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Monitoring: EM) ยังไม่มีการนำมาใช้อย่างจริงจัง
จากนั้น หมอเลี้ยบ ได้พาทุกคนเจาะลึกลงไปในห้องที่ถูกปิด (เกือบ) ตาย เพื่อให้เห็นสภาพจริงของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เกี่ยวกับปัจจัย 4 ได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค
-อาหาร
อดีตผู้ต้องขังชาย เล่าผ่านมุมมองมีการบริหารจัดการยากมาก เพราะผู้ต้องขังมีจำนวนเยอะ อย่างไรก็ตาม อาหารทานในแต่ละมื้อ มีคนกินน้อยมาก ไม่ว่าแดนไหน ส่วนใหญ่จะมีคนกินจำนวนหนึ่ง แต่คนส่วนใหญ่จะเลือกซื้อจากร้านค้าสวัสดิการแทน โดยผู้ต้องขังจะสามารถเติมเงินในบัตรใช้ได้ 300 บาท/วัน ซึ่งเงินได้มาจากญาติที่เข้าเยี่ยม
“ในร้านสวัสดิการไม่ค่อยมีอะไรกินเยอะ ส่วนใหญ่จะกินมาม่า 10 เดือน กินมาม่ามากกว่าที่กินตลอดชิวิต กินอย่างนั้น หรือไม่ก็สั่งจากพ่อครัว ที่เป็นนักโทษจัดทำอาหารพิเศษ จากแดนบางแดน มาป้อนให้”
สะท้อนให้เห็นว่า สภาพอาหารมีปัญหามาก หากเปรียบเทียบกับงบประมาณที่ได้รับ
-ที่อยู่อาศัย
ผู้ต้องขังต้องขึ้นเรือนนอนประมาณ 15.00 น. ทำให้ทุกคนต้องทานข้าวเย็นประมาณ 14.00 น. จากนั้นต้องอยู่ในเรือนนอนจนกระทั่งเช้า ระหว่างนั้นขึ้นอยู่กับนโยบายแต่ละช่วง ช่วงใหม่ ๆ นโยบายจะผ่อนคลายหน่อย สามารถนำอะไรขึ้นไปกินได้บ้าง เช่น นมกล่อง ได้คนละ 1 กล่อง แต่สักพักนโยบายจะเปลี่ยน นมต้องใส่ในขวดพลาสติก เพื่อความปลอดภัย ป้องกันคนใส่อะไรเข้าไปในกล่องนม
-เครื่องนุ่งหุ่ม
มีเครื่องแบบประจำที่แจกให้ โดยในแต่ละวันผู้ต้องขังจะสวมเสื้อคอกลม กางเกงขาสั้น รองเท้าแตะ 1 คู่ ซึ่งอาจมีปัญหาในฤดูหนาว ยกเว้นบางคนมีญาติจะซื้อเครื่องนุ่งห่มป้องกันความหนาวให้ แต่บางคนไม่มี ทำให้ต้องนอนหนาวพอสมควร
-ยารักษาโรค
ตอนเข้าไปในเรือนจำ ได้สอบถามว่า สิทธิการรักษาพยาบาลตามเข้าไปด้วยหรือไม่ แต่ไม่มีใครตอบได้ ซึ่งผู้ต้องขังราว 3 แสนคน น่าจะมีสิทธิหลักประกันสุขภาพ แต่ในเมื่อสิทธิดังกล่าวอยู่กับโรงพยาบาลนอกเรือนจำ ซึ่งไม่ตามเข้าไปด้วย ฉะนั้นกระบวนการเชื่อมโยงข้อมูลจึงไม่มี
“เรือนจำกรุงเทพฯ มีแพทย์เข้ามาตรวจวันละ 1 คน ในช่วงเช้า โดยในแง่การตรวจขึ้นอยู่กับทัศนคติของแพทย์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นทัศนคติที่มองผู้ต้องขังไม่เมตตาเอื้ออาทร ตรวจห่าง ๆ เวลาส่องปาก จะมองไกล ๆ เพราะมีความรู้สึกกลัว แต่โชคดีมีแพทย์หญิงคนหนึ่ง เรียกกันว่า นางฟ้าในเรือนจำ คอยรักษาผู้ป่วยปกติ จับเนื้อต้องตัว ดูแลดีมาก ฉะนั้นทุกวันพฤหัสบดี ซึ่งเป็นวันตรวจของแพทย์คนนี้ จะมีคนไข้เต็ม แต่วันอื่นคนไข้ไม่เยอะ”
ส่วนโรคระบาด นพ.สุรพงษ์ ระบุความเข้าใจเรื่องโรคระบาดมีปัญหามาก บางครั้งมีโรคตาแดง โรคผิวหนัง วัณโรค กลับพบว่า การจัดการเหล่านี้ไม่มีระบบ ขาดคู่มือที่ได้มาตรฐาน สามารถทำให้เกิดความเข้าใจได้
“คนในนั้นการปรับตัวมีปัญหามาก ผมอยู่ 10 เดือน วันแรกที่ออกมา ยังรู้สึกงง ๆ ไม่คุ้นเคยโลกข้างนอก แค่ 10 เดือน ออกมา...ตอนที่ลูกรับแล้วขับรถออกมา รู้สึกแปลกหูแปลกตาหมด อยู่ในนั้น 10 เดือน เห็นเฉพาะพื้นที่จำกัด และเห็นแต่ท้องฟ้าเท่านั้น พอมาอยู่ข้างนอก ต้องปรับชีวิตนิดหนึ่ง”
ขณะที่หลายคนอยากให้เข้าไปดูรายละเอียดต่าง ๆ ภายในเรือนจำว่าเป็นอย่างไร เรียนว่า “ไม่มีทางได้เห็นของจริง ถ้าไม่ไปอยู่ ไม่มีทางได้เห็นของจริง ทุกอย่างจะถูกจัดฉากหมด ฉะนั้นใครจะเข้าไปทีหนึ่ง จะมีการล้างเรือนจำกันขนานใหญ่ ผู้คุมจะกำหนดพื้นที่ให้นักโทษต้องอยู่ในโซนนี้เท่านั้น หลายท่านเข้าไปในเรือนจำจะเห็นว่า ทำไมนักโทษนั่งกันเรียบร้อย กำชับไว้แล้วว่าจะนั่งกันอยู่แบบนี้ แล้วสภาพแวดล้อมจะสะอาดมาก ซึ่งไม่มีวันจะได้เห็นของจริง”
...ทัศนคติคนภายนอกต่อคนที่อยู่ในเรือนจำ ต้องพิจารณากันว่าจะช่วยกันอย่างไร หากใครไม่ใช่ญาติหรือสนิทสนมกับผู้ต้องขัง จะมองคนที่อยู่ในเรือนจำเป็นคนมีปัญหา...น่ากลัว...คุณไม่ควรได้รับโอกาสใด ๆ ทั้งสิ้น ฉะนั้นเมื่อมีการประกาศอภัยโทษ จะแตกตื่นว่า คงจะแย่แล้ว ทั้งที่ควรมองว่า คนจำนวนไม่ต่ำกว่า 80% ไม่ควรไปอยู่ในนั้น หมอบางคนจ่ายเช็คเด้ง ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำปีครึ่ง...แค่จ่ายเช็คเด้ง ฉะนั้นวิธีการลงโทษต้องมาปรับปรุงหรือไม่ว่า สุดท้ายแล้วต้องอยู่ในนั้นจริง ๆ เพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้นกับคนอื่น แต่จำพวกคดีมโนสาเร่ สัพเพเหระต่าง ๆ หรือคดีเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพไม่ควรไปอยู่ตรงนั้น และให้ใช้กำไล EM เข้ามาเป็นทางเลือก...
(ภาพประกอบเท่านั้น)
เรือนจำเป็นสถาบันเบ็ดเสร็จ เกิดสัมพันธ์อำนาจเด็ดขาด
แล้วในมุมมองของคนนอกเรือนจำอย่าง ‘สุภิญญา กลางณรงค์’ (เก๋) อดีตกรรมการในคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีทัศนะต่อคุกไทยอย่างไรนั้น
เธอบอกเล่าประสบการณ์ในการเข้าเยี่ยมเพื่อนฝูงในเรือนจำ หนึ่งในนั้น คือ นายสุริยะใส กตะศิลา และนายพิภพ ธงไชย แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวติดตลกต้องพบกับความลำบากเกี่ยวกับการฝากสัมภาระ เพราะตู้ฝากของไม่มีกุญแจ ทำให้ต้องวิ่งไปซื้อกุญแจจากร้านสหกรณ์ร้อยกว่าบาทเพื่อมาคล้อง แล้วชาวบ้านทั่วไปจะทำอย่างไร เมื่อไปทุกครั้งก็ต้องซื้อกุญแจทุกครั้ง คราวนี้มีหลายคนนำกุญแจไปห้อยติดไว้เหมือนสะพานในฝรั่งเศส หวังจะกลับมาใช้ในคราวหน้าอีก
พอมาอีกวันหนึ่งเจ้าหน้าที่บอกไม่ต้องฝากสัมภาระแล้ว แต่ให้ปิดโทรศัพท์แทน สะท้อนให้เห็นว่า อาจไม่มีมาตรฐานชัดเจนมากเพียงพอ และไม่เอื้ออำนวยให้คนไม่มีสตางค์ต้องวิ่งไปซื้อ ดังนั้นคิดว่า เรือนจำควรมีระบบการรับฝากสัมภาระที่ดีกว่านี้
เก๋ สุภิญญา เล่าต่อว่า การเข้าไปเยี่ยมผู้ต้องขังต้องพูดคุยผ่านโทรศัพท์ เสียงไม่ชัด! ซึ่งความจริงแก้ไขได้ ด้วยการปรับปรุงระบบเสียงให้ดี จะได้ไม่ต้องตะโกนและรบกวนคนข้างเคียง
อีกทั้งยังเห็นว่า ในการพูดคุยกันนั้น ทุกอย่างจะถูกบันทึก ทำให้ไม่สามารถมีอารมณ์ลึกซึ้งส่วนตัวได้ ที่เป็นเช่นนี้ เธอคิดว่า ทุกอย่างอยู่ในระบบความไม่ไว้วางใจนั่นเอง
เรื่องที่อยู่อาศัย ผู้ต้องขังต้องเข้านอนตั้งแต่ 15.00 น. และตื่นในเวลา 04.00 น. ซึ่งเพื่อนของเธอที่เข้าไปเป็นคนดัง วัน ๆ ไม่มีเวลาส่วนตัว ต้องมีคนมาคุยด้วยตลอดเวลา อย่างสุริยะใสเล่าว่า “วัน ๆ มีคนมาร้องเรียน เล่าปัญหาของตนเอง ไม่มีมุมส่วนตัว พอเข้านอนตั้งแต่สามโมง จะเปิดทีวี ไม่ดูก็ต้องดู เพราะอยู่ด้วยกัน จากไม่อยากดู เปิดละครเมีย 2018 ตอนแรกไม่ชอบดู แต่เพื่อนร่วมชายคาดู สุดท้ายก็ติด ติดแล้วปรากฎว่าฉายไม่ต่อเนื่อง”
(ภาพประกอบเท่านั้น)
แล้วการนอนนั้นต้องเปิดไฟตลอดทั้งคืน ซึ่งทรมานมาก เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ป้องกันผู้ต้องขังทำร้ายกัน อย่างไรก็ตาม มองว่าน่าจะมีวิธีอื่น ๆ หรือไม่
“สุริยะใส เล่ากะโดยสายตาตั้งคำถามว่า คุกมีไว้สำหรับคนจนจริงหรือ? จากประสบการณ์ประมาณ 80% ล้วนมาจากคนจน อีก 20% มาจากคนมีฐานะ จะด้วยเหตุบังเอิญหรือกระบวนการยุติธรรมก็แล้วแต่ แต่คนที่เข้ามาอยู่ในคุกสะท้อนปัญหาโครงสร้างความเหลื่อมล้ำ ไม่ว่ามาเพราะปัญหาอะไรก็ตาม แสดงว่าสังคมไม่ได้สร้างเป็นธรรมเพียงพอทำให้คนอยู่ข้างนอกคุกลืมตาอ้าปากและมีศักดิ์ศรี
หลายกรณีไม่สมควรเข้ามา ไม่ใช่หมายความว่าจะละเลยคนผิด แม้แต่คดียาเสพติด เราคงเห็นจำนวนคนส่วนมากเสพขนาดเล็กน้อย แต่ต้องมาอยู่ยาวนาน กระทบต่อห่วงโซ่สังคม ถ้าเป็นผู้หญิงไม่มีคนเลี้ยงลูก ผู้ชายเป็นหัวหน้าครอบครัว กระทบทั้งหมด และช่วงเวลาวัยทำงานหายไป คนที่เหลืออยู่ไม่มีคนหาเลี้ยง นำไปสู่วงจรอาชญากรรม ทั้งที่ความผิดลักษณะนั้นเยียวยาได้ด้วยวิธีอื่น ๆ” เก๋ สุภิญญา ในฐานะคนเยี่ยมเพื่อนในคุก แสดงความเห็น
‘รศ.ดร.นภาภรณ์ หะวานนท์’ นักวิจัยเดินเข้าออกเรือนจำนับสิบปี มองผู้ต้องขังไม่ใช่แค่นักโทษ แต่มองในมิติของความเป็นมนุษย์ การเป็นแม่ลูก ที่ผ่านมาได้เข้าไปศึกษาและดำเนินการในเรือนจำหลายแห่ง ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ โครงการใหม่ ๆ ที่ส่งพลังต่อผู้ต้องขังหญิง ภายใต้ชื่อ “โครงการเรือนจำสุขภาวะ”
นักวิจัยรายนี้สะท้อนมุมมองไว้อย่างน่าสนใจ เรือนจำเป็นสถาบันเบ็ดเสร็จ หมายความว่า ทันทีที่เดินเข้าเรือนจำ จะถูกยึดหมดทุกอย่าง แล้วเรือนจำจะเป็นผู้จัดหาให้ ไม่ว่าจะเป็นผ้าอนามัย เสื้อชั้นใน อาหาร แน่นอนมีข้อยกเว้นสำหรับคนพอมีเงิน แต่นั่นไม่ใช่วิธีอยู่ในเรือนจำ มีประเทศกำลังพัฒนาที่ให้คนมีเงินสามารถมีชีวิตอีกชนชั้นหนึ่ง แต่หลายแห่งทำไม่ได้ ขณะที่บางแห่งอนุญาตให้รถเข็นเข้าไปขาย
ด้วยความเป็นสถาบันเบ็ดเสร็จ ทำให้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจเด็ดขาดเกินไป ดังเช่น การให้ผู้ต้องขังนั่งกับพื้นเวลาพูดคุย เหล่านั้นมาจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจ เมื่อทำไปนาน ๆ จึงกลายเป็นความเคยชิน
“ตอนเข้าไปมีความพยายามด้วยการไม่ให้ผู้ต้องขังนั่งกับพื้น เพื่อแสดงให้เห็นว่า ไม่ควรแตกต่างกัน แต่เชื่อหรือไม่ ผู้ต้องขังที่อยู่นานกลับพึงพอใจ รู้สึกในความสัมพันธ์เชิงอำนาจ การสยบยอมนั้น ทำให้ได้รับความรักและความแมตตตากลับมา จึงเป็นเรื่องแก้ไขยาก”
ถ้าจะเปลี่ยน เธอเสนอต้องเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างผู้คุมกับผู้ถูกคุม ไม่ต้องมีอิสระเสรีอะไรมาก แต่ต้องเปิดช่องให้มีความเสมอภาคกันมากขึ้น .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/