“...คนอาจจะเอาการเมืองไปปนกับการบริหาร เราถูกสอนมาว่า ตอนนี้การเมืองจบไปแล้ว รัฐบาลเท่ากับประเทศไทย นี่คือรัฐบาลไทย ถ้าเปรียบเทียบกับองค์กรก็เหมือนเป็นบริษัทที่ใหญ่มาก ต้องทำทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ของบริษัท แต่อันนี้ทำทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน...”
‘ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์’ หรือ ‘รองจิ๊บ’ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ‘ป้ายแดง’ ปัจจุบันอายุงาน 4 สัปดาห์ ภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแต่งตั้งเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567
‘รองจิ๊บ’ แม้เป็น ‘มือใหม่’ ในทำเนียบรัฐบาล ในตำแหน่ง ‘ข้าราชการการเมือง’ แต่เป็น ‘หน้าเก่า’ ที่เคยชิมลางบน ‘ถนนสายการเมือง’ มาแล้ว ทั้งใน ‘รูปแบบพิเศษ’ เวทีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ ‘ระดับชาติ’ ในการเลือกตั้ง สส.เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566
@ คนใต้-ลูกพ่อค้า-เด็กเนิร์ด-ติดไมค์
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) พาไปรู้จักตัวตนของ ‘รองจิ๊บ-ศศิกานต์’ ทั้งพื้นเพเดิม-ชีวิต ‘เด็กบ้านนอก’ ก่อนจะเข้ามาสู่ตำแหน่ง ‘รองโฆษกรัฐบาล’ ในรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร
‘ศศิกานต์’ ศึกษาชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบูรณะรำลึก ก่อนจะสอบเข้ามัธยมศึกษาปีที่ 4-5 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ จังหวัดปัตตานี (สาธิต มอ.ปัตตานี)
“เป็นคนจังหวัดตรัง เป็นเด็กบ้านนอก แหลงใต้ได้ 100 % เป็นลูกพ่อค้า คุณพ่อจบ ม.3 ตอนนี้ตั้งตัวได้ มีกิจการ ไม่ได้ยากจน แต่ก็ไม่ได้รวยเวอร์ เรื่องเรียนพ่อสนับสนุนเต็มที่ ตอนนั้นเหมือนสาธิต มอ.ปัตตานี เป็นเหมือเตรียมอุดมภาคใต้ ใครเข้าได้ เจ๋ง เป็นเด็กเตรียมอุดมภาคใต้ สอบเทียบตั้งแต่ ม.4 เอ็นทรานซ์ ติดตั้งแต่ ม.4 ติด มอ.ปัตตานี มนุษย์ศาสตร์ เอกอังกฤษ แต่คุณแม่ไม่ให้เรียน เพราะตอนนั้นอายุแค่ 14 ปี เอ็นทรานซ์ติดปริษญาตรี วารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันดับ 3 ก็เลยเข้ามากรุงเทพ ฯ เรียนจบ 4 ปี ได้เกียรตินิยม อันดับ 2”
ตอนเป็นเด็กที่ ถ้าตั้งเป้าหมายแล้วจะต้องทำให้ได้ เป็นเด็กดื้อ ตอนเด็ก ๆ อยากเรียนหนังสือเก่ง ๆ อยากท็อปวิชาเลข อยากท็อปภาษาอังกฤษ เราท็อบแล้วแม่กับปะป๊าดีใจ เราก็ดีใจ ใจฟู เป็นเด็กเนิร์ดมาก เป็นเด็กเรียน ทำอะไรก็ได้ให้พ่อแม่ดีใจ ไม่เคยสอบได้ที่ 1 แต่สอบได้ที่ 2 ที่ 3 ตลอด
“เป็นเด็กกิจกรรม ชอบจับไมโครโฟน เป็นตัวแทนโรงเรียนไปพูดสุนทรพจน์ ภาษาไทย ไปอ่านออกเสียงร้อยแก้ว ร้อยกรอง วันคริสต์มาสก็จะเป็นพิธีกร เป็นเด็กกล้าแสดงออก แต่ไม่ใช่เด็กพูดมาก ไม่ถึงขั้นติดไมค์ แต่มีความสุขที่ได้อยู่กับไมค์ แต่ไม่ถึงกับบ้าไมค์ เป็นเด็กชอบตั้งเป้าหมาย เล็ก ๆ ๆ แล้วทำให้สำเร็จ”
‘ศศิกานต์’ เรียนจบปริญญาตรี วารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดีกรีเกียรตินิยมอันดับสอง หลังวิกฤตต้มกุ้ง 2 ปี ไปทำงานอยู่กับบริษัทผลิตชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ ชั้นนำระดับโลก สัญชาติอเมริกัน 6 เดือน ก่อนจะไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ที่ประเทศอังกฤษ สาขาการบริหารการตลาดระหว่างประเทศ
“ชีวิตจิ๊บไม่มีอะไรง่าย ทุกอย่างต้องพยายาม ๆ ๆ”ศศิกานต์บอกความรู้สึกสบประการณ์ชีวิตที่ผ่านมากว่าจะมาถึงวันนี้
@ จุดเริ่มต้นเข้าสู่การเมือง
แม้ ‘ศศิกานต์’ จะบอกว่า “ชีวิตไม่เคยคิดว่าจะเข้าการเมือง” ทว่าเส้นทางชีวิตของเธอก็เดินมาถึงจุดหักเหหลังจากกลับจากเรียน ป.โท ที่อังกฤษ โดยได้ทำงานที่แรกกับบริษัทปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน)
ตำแหน่งสุดท้ายก่อนเข้าสู่ถนนการเมืองอยู่ ‘บริษัทเหล็ก’ ที่มี ‘เจ้านาย’ เป็นนักการเมือง (วินท์ สุธีรชัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ในขณะนั้น ปัจจุบันอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติ)
ที่นี่เองเป็น ‘จุดเริ่มต้น’ ของ ‘บันไดขั้นแรก’ ที่ทำให้ ‘ศศิกานต์’ ลงสู่สนามการเมืองเต็มตัว
“เขากำลังหาพีอาร์ ที่ทำงานการเมืองด้วย ต้องตามเขาด้วย ทำธุรกิจด้วย ดูทุกอย่างเกี่ยวกับเขา (วินท์) ช่วยดูข่าว ช่วยดูบริษัท ซึ่งตอนนั้นบริษัทกำลังจะเข้าตลาดหลักทรัพย์”
‘ศศิกานต์’ เริ่มถลำตัวเข้าไปลึกบนเส้นทางการเมือง โดยในปี 2565 ได้รับการสนับสนุนให้ลง ‘ผู้สมัครผู้ว่ากทม.’ เบอร์ 16 ในนามอิสระ ช่วงที่กระแส ‘ชัชชาติฟีเวอร์’ โดยได้รับคะแนนเสียงเป็นลำดับที่ 14
หลังจาก ‘ศศิกานต์’ สอบตกสนามเลือกตั้งผู้ว่ากทม.ช่วงปลายปี 2565 เธอเข้าไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ‘ตลอดชีพ’ เพื่อเตรียมลงเป็นผู้สมัคร สส.กทม.เขต คลองเตย ในนาม ‘พรรคสีฟ้า’ ทว่าวอร์มอยูข้างสนามได้เพียง 1 เดือน กลับโดน ‘เปลี่ยนตัวออก’ ทั้งที่ยังไม่ได้ลงแตะพื้นสนามแข่งขันการเลือกตั้งระดับชาติครั้งแรกในชีวิต!
“การเมืองเหมือนลูกบอล เปลี่ยนกันได้ วันดีคืนดีพรรคประชาธิปัตย์ก็โทรมาบอกว่าขอเปลี่ยนตัว เราก็รู้สึกเฮิร์ท เราก็เลยขออนุญาตออก”
อย่างไรก็ตามในความ ‘โชคร้าย’ ก็มีความ ‘โชคดี’ เมื่อ ‘อดีตสมาชิกพรรคเก่าแก่ 1 เดือน’ ได้มารู้จักกับ ‘ไตรรงค์ สุวรรณคีรี’ นักการเมืองรุ่นลายคราม และได้มาช่วยงานพรรครวมไทยสร้างชาติในตำแหน่ง ‘เด็กฝึกงาน’
“ท่านพูดมาคำหนึ่งว่า อยากลง สส.ไหม เราเป็นเด็กบ้านนอก ครอบครัวไม่เคยมีใครเล่นการเมืองเลย ค้าขายอย่างเดียว มันรู้สึกว่าเราก้าวกระโดด แค่ถามนะ และคนที่ถามคือท่านไตรรงค์ ปูชนียบุคคลของภาคใต้ถามฉัน why not ก็ตอบ yes สิ อยากค่ะ”
อดีตผู้สมัคร สส.กทม. เขต 30 บางแค-ภาษีเจริญ พรรครวมไทยสร้างชาติ บอกความรู้สึกการลงเลือกตั้งระดับชาติครั้งแรกในปี 2566 ซึ่งต้องเจอกับ ‘ผู้กว้างขวาง’ แห่งภาษีเจริญ – สุภาภรณ์ คงวุฒิปัญญา ภรรยา ‘กำนันมานะ’ จากขั้วตรงข้ามอย่างพรรคเพื่อไทยในขณะนั้น และยังต้องเผชิญหน้ากับกระแส ‘พรรคส้ม’ ซึ่ีงการเลือกตั้งครั้งนั้นกวาดเก้าอี้ สส.กทม.ไปได้ 33 เขต จากทั้งหมด 33 เขต
“ไม่ได้หวังว่าจะแพ้ ชนะ เพราะเรารู้ว่า เราสู้กับตัวใหญ่มาก เราก็เลยเปลี่ยนเป้า (หัวเราะ) ว่า เราสู้กับตัวเองดีกว่า เราทำให้ดีที่สุด ผลออกมาจะเป็นอย่างไรก็ไม่เป็นไร”
“หวังอยู่แล้ว (ว่าจะต้องได้เป็น สส.) แต่ตอนตั้งเป้า เราไม่ได้เอาตัวเองไปเทียบกับคนอื่น ถ้าเอาไปเทียบกับคนอื่น เราจะต้องคอยดูคู่แข่งตลอดเวลา ว่าคู่แข่งทำอะไร เราต้องชนะ ๆ ๆ ๆ แต่เราตั้งเป้าเอาตัวเองเป็นหลัก ทำให้ดีที่สุด ไม่ได้ก็ไม่แปลก ยอมรับ อย่างน้อยเราไม่เสียใจ ทำในแบบที่คิดว่า คนไม่เคยมีประสบการณ์การเมืองเลยทำ”
@ คอร์รัปชัน ‘มะเร็งร้าย’
‘ศศิกานต์’ เล่าประสบการณ์การทำงานกับ ‘องค์การต่อต้านคอรัปชั่น’ ในช่วงเวลาสั้น ๆ เมื่อครั้งสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด โดยไปช่วยงานด้านโซเชียลมีเดีย
“คอรัปชั่นมันเป็นเนื้อร้าย มันเหมือนมะเร็งที่คอยทำลายสังคม ช่วงไปเดือนแรกไฟแรงมาก แต่เรามาคิดได้ว่า จากดำไม่มีทางทำให้เป็นขาว แต่ทำอย่างไรให้น้ำที่ดำปี๋จางลง ต้องใส่ความรู้ให้คน ทุกสิ่งเกิดจากความไม่รู้ และความไม่รู้จักพอ จะมีคนที่ไม่รู้จักพอใช้โอกาสนั้น เอาเปรียบคนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือคิดไม่ถึง บางคนไม่ได้อยากโกง แต่โดนหลอก บางคนกลับตัวไม่ได้”
‘ศศิกานต์’ เปรียบเทียบปัญหาคอร์รัปชั่นกับการการเมือง ว่า การเมืองทำไมมีแต่คนไม่ดี แล้วทำไมเราเจอคนดี เราก็เลยรู้สึกว่า ถ้าเราเติมคนดีเข้าไปเรื่อยๆ น้ำดำปี๋ก็จะเป็นน้ำใสขึ้น ตราบใดที่มีมนุษย์ยังมีกิเลส อย่าไปหวังว่าน้ำมันจะใส อย่าไปหวังลมๆ แล้ง ๆ องค์กรต่อต้านคอรัปชั่นสอนเรามาอย่างนั้น
พยายามปรับวิธีคิด สิ่งที่จะช่วยได้ คือ การสื่อสาร การสื่อสารคือสิ่งที่เราถนัด บางเรื่องรัฐบาลทำดี รัฐบาลมีโปรเจกต์ดี ๆ เยอะมาก แต่ทำไมรากหญ้าไม่รู้ แปลว่าท่อไม่ถึง ต่อท่อไม่ได้ ตันตรงไหนไม่รู้
“ท่อเรื่องเงิน ก็ต้องเกิดจากคอร์รัปชั่น สมมุติเม็ดเงินลงมาพันล้านลงมาถึงชาวบ้านไม่เท่าไหร่ ณ ตอนนั้น เราไม่มีปัญญาทำตรงนั้น แต่ท่อเรื่องข้อมูลข่าวสาร เราทำได้ เราก็พยายามจะต่อท่อ กระจายข่าว ใช้โซเชียลมีเดียในการช่วยไปยังกลุ่มเป้าหมายให้ได้รับรู้ แต่ละองค์กรมีเป้าหมายไม่เหมือนกัน องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น คือ ทำอย่างไรให้คนตระหนักรู้มากที่สุด ทำให้คนรู้ทัน ช่วยบอกให้คนเป็น active citizen เจอคนโกงเราต้องช่วยกันบอก การเมืองเป็นเรื่องของบุคคล ไม่อยากให้มองเป็นเรื่องไกลตัว เหมือนกัน ไม่อยากให้คนมองว่าการต่อต้านคอรัปชั่นเป็นเรื่องไกลตัว เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก”
@ ล้างภาพลักษณ์รัฐบาลเพื่อไทย-ลบภาพหลอนทุจริต
‘ศศิกานต์’ ในฐานะ ‘รองโฆษกรัฐบาล’ ตอบคำถาม เมื่อรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำถูก ‘ตั้งคำถาม’ ภาพจำเรื่องการทุจริตตั้งแต่ในยุคโครงการรับจำนำข้าว หรือ ย้อนไปถึง ‘รัฐบาลรุ่นพ่อ’ อย่าง พรรคไทยรักไทย จนกลายเป็น ‘ข้ออ้าง’ ในการรัฐประหารเมื่อปี 2549 จะลบภาพจำออกไปอย่างไร ว่า ภาพหลอนของคนทั้งประเทศ ภาพหลอนมันเหมือนกิเลส มันไม่หายไปหรอก แต่จะทำอย่างไรให้ ดำปี๋ เป็น ดำจาง ๆ ค่อย ๆ เป็นภาพที่ดีขึ้นๆ
“ภาพหลอนเกิดจากประสบการณ์ที่เขาเจอในอดีต อาจจะเลวร้ายมาก โปรเจ็กต์อะไรก็ตามที่อาจจะมีผลกระทบกับเขาโดยตรง ภาพหลอนในอดีตทุกคนมีอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เห็น คือ รัฐบาลทำงานหนักมาก เห็นการประชุมศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ที่ Productive มากที่สุดในการประชุมหนึ่งที่เคยได้เห็นมา เป็นการบูรณาการแต่ละกระทรวง เป็น 3 ชั่วโมง เป็น Meeting ที่ดีที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา ภาพจำที่ติดอยู่กับรัฐบาล ภาพที่เขาบอกกันมา รัฐบาลทำงานช้า หวานเย็น แต่รัฐบาลทำงานหนักมาก ตอนนี้ที่เรา เรารู้แล้วว่า แต่ก่อนเราเป็นประชาชนเห็นอีกแบบหนึ่ง แต่พอเราเข้ามาตรงนี้ เราเห็นอีกแบบหนึ่ง เราเห็นทุกฝ่ายถกกันอย่างหนัก เพื่อผลประโยชน์ประชาชน”
“พอเป็นองคาพยพใหญ่ นี่ก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่ง มันไม่ใช่บริษัท การจะออกนโยบายอะไรมา มันอาจจะไปกระทบฝ่ายโน้น ฝ่ายนี้ ทำให้ต้องมีการศึกษา ต้องเอาไปปรับโน่น ปรับนี่ก่อน พอเป็นภาพใหญ่ในจะ sensitive ทุกเรื่อง ทำให้เกิดความล้าช้าในมุมมองคนภายนอก แต่ถ้าปล่อยไปเลย อาจจะเป็นผลเสียมากกว่าก็ได้ เพราะฉะนั้น มันคือ ความรัดกุมมากกว่า สิ่งที่เห็น คือ ทุกคนพยายามทำงานเพื่อประชาชน และพยายามปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนมากที่สุด เพื่อให้ท้ายที่สุดแล้ว ทั้งองคายพ หรือส่วนที่เรียกว่าประเทศไทย ทุกคนได้รับความเป็นธรรม”
“ถ้าปล่อยไปเลย คิดว่า จะดีด้านเดียว มันไม่ใช่บริษัทที่มีคน 10 คน หรือ มีแค่เจ้าของ มันคือ ประเทศไทยที่มีคน 70 กว่าล้านคน ไม่ว่าเขาจะอยู่จังหวัดอะไร ทุกคนคือคนไทย”
ถาม ‘ศศิกานต์’ ในฐานะที่มาเป็น ‘รองโฆษกรัฐบาล’ ในนาม ‘พรรครวมไทยสร้างชาติ’ เหตุไฉน ? ‘รัฐบาลแพทองธาร’ ที่บริหารงานต่อเนื่องมาจาก ‘รัฐบาลเศรษฐา’ นับนิ้วแล้ว บริหารประเทศมาเกิน 1 ปี แต่ยิ่งบริหาร ยิ่งทำให้คนยังคิดถึง ‘รัฐบาลลุงตู่’ ทว่า เธอ ออกตัวล้อฟรี ไม่ขอตอบ ‘ประเด็นการเมือง’
“ออกตัวก่อนว่า ไม่ใช่ทีมโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ ไม่มีตำแหน่งในพรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นเพียงสมาชิกพรรคหนึ่งคนที่ผู้ใหญ่ให้โอกาสทำงาน ช่วยรัฐบาล”
@ ตั้งเป้าเป็น ‘รองโฆษก’ เกรด B+-A
โยนคำถามต่อเนื่องไปว่า ผู้ใหญ่ในพรรครวมไทยสร้างชาติเห็นอะไรถึงเลือกให้มาเป็นรองโฆษกรัฐบาล ? ‘ศศิกานต์’ คิดเอง-ตอบเอง ว่า อาจจะไม่ถูก คิดว่า เขาอยากได้คนที่มีประสบการณ์ด้านนี้โดยตรง เขาไม่อยากเอาใครก็ได้มานั่ง แล้วทำงานไม่ได้ กลับไปที่ความคิดแรก “ประชาชนจะได้อะไร”
“ตรงนี้ (ตำแหน่งรองโฆษกรัฐบาล) เป็นตำแหน่งใหญ่มาก ใหญ่จนตกใจ ทุกวันนี้ก็ยังเครียดอยู่ กลัวทำได้ไม่ดี เพราะความคาดหวังจะมาเยอะมาก เรารู้ว่า มันมาพร้อมกับความรับผิดชอบ เราไม่อยากได้ทำให้พอผ่าน เราอยากได้ B+ หรือ A”
เราอยากเป็นรองโฆษกที่ทุกคนรัก เราอยากเป็นรองโฆษกที่นักข่าวรัก ประชาชนรัก ทุก ๆ คน Ok กับเรา รักเรา ราอยากปฏิบัติหน้าที่ที่เราได้รับโอกาสให้ดีที่สุด วันหนึ่งเราต้องไป ไม่รู้ว่าจะไปเมื่อไหร่ แต่ว่า มันเป็นโอกาสครั้งหนึ่งในชีวิต ที่เด็กคนหนึ่งจะทำได้
“ต้นทุนชีวิตไม่สูง มาจากครอบครัวค้าขาย นามสกุลวัฒนะจันทร์ ไม่ได้ดัง ไม่ได้เป็นทายาทใคร ตำแหน่งนี้ (รองโฆษกรัฐบาล) สมบัติผลัดกันชม วันหนึ่งก็ต้องไป ตำแหน่งอยู่ไม่นาน รู้แต่เพียง เมื่อมีตำแหน่งแล้วต้องทำให้ดีที่สุด เดี๋ยวก็ลง มีคนสอนว่า ให้คิดอยู่เสมอว่า เดี๋ยวจะลงแล้ว ๆ ๆ เราจะได้ไม่เหลิง เขียนข่าวให้ดีที่สุด แต่ว่า ไม่ใช่ข่าวบริษัท เป็นข่าวประเทศไทย เพราะเอฟเฟกต์กับคนทั้งประเทศ ไม่ใช่เขียนอะไรก็ได้ ไม่มีคนอ่าน”
“ไม่ได้หนักใจ แค่รู้สึกว่า ต้องทำให้ดีที่สุด ทุกอย่างมาพร้อมกับความรับผิดชอบ ความรับผิดชอบอันนี้ใหญ่หลวงนัก เพราะคือประเทศไทย ข่าวสารประเทศไทย ไม่ใช่ข่าวสารของบริษัท ไม่ใช่ข่าวสารของครอบครัว ไม่ใช่ข่าวสารของบริษัทส่วนตัว มีความรับผิดชอบในหนึ่งคำ หนึ่งประโยคมาก”
‘ศศิกานต์’ ยังไม่คิดว่าตำแหน่ง ‘รองโฆษกรัฐบาล’ จะเป็น ‘สปริงบอร์ด’ ขึ้นไปในตำแหน่งที่สูงขึ้น เช่น ‘เก้าอี้รัฐมนตรี’ อย่างที่ ‘โฆษกรัฐบาลรุ่นพี่’ ค่ายเดียวกัน อย่าง ‘ธนกร วังบุญคงชนะ’ อดีตรัฐมนตรีประจำนักนายกรัฐมนตรี-องครักษ์พิทักษ์พล.อ.ประยุทธ์ เคยทำไว้ แต่เธอก็ไม่ได้ ‘โกหก’ ว่า ไม่คาดหวังทั้งหมด
“ยังไม่เคยคิดถึงขนาดนั้น เป้าหมายขณะนี้ คือ ทำตรงนี้ให้ดีที่สุด ให้เป็น performance ให้เป็น B+ หรือ A ตั้งเป้าแล้วทำให้ได้ แต่ทุกตำแหน่งสำหรับทุกคนเป็นโอกาสต่อยอดอยู่แล้ว ถ้าบอกว่า ตำแหน่งนี้ไม่ใช่โอกาส โกหก”
@ ส่ง ‘right message’ มากที่สุด
หลายครั้งที่ ‘ทีมโทรโข่งรัฐบาล’ สื่อสารออกไปแล้ว ‘ทัวร์ลง’ ในฐานะเป็น ‘ทีมโฆษกรัฐบาล’ จะรับแรงกระแทกอย่างไร เรือรัฐนาวาแพทองธารจอดก่อนถึงฝั่ง ‘ศศิกานต์’ บอกว่า การสื่อสารสำคัญมาก ไม่ใช่เฉพาะทีมโฆษก รัฐมนตรีทุกคนสามารถแถลงข่าวได้เอง ทำอย่างไรให้ right message ได้มากที่สุด ประชาชนอาจจะ concern อาจจะมีประเด็นว่า เราเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ในแง่ของการเมือง แต่เมื่อเป็นรัฐบาล ก็เป็นรัฐบาลหนึ่งเดียว
“คนอาจจะเอาการเมืองไปปนกับการบริหาร เราถูกสอนมาว่า ตอนนี้การเมืองจบไปแล้ว รัฐบาลเท่ากับประเทศไทย นี่คือรัฐบาลไทย ถ้าเปรียบเทียบกับองค์กรก็เหมือนเป็นบริษัทที่ใหญ่มาก ต้องทำทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ของบริษัท แต่อันนี้ทำทุกอย่างเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน ท่านพีระพันธุ์ (สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯและรมว.พลังงาน) สอนเสมอว่า ให้ตั้งใจทำงานให้ดี ให้ยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง”
ทว่าในความเป็นจริงรัฐบาลผสม 6 พรรค มีประเด็นขัดแย้ง-มีการเมืองอยู่ในการบริหาร เห็นเป็นรอยปริ-รอยร้าวในรัฐบาลแพทองธาร จนต้องอาศัยการสังสรรค์พรรคร่วมรัฐบาลเป็น ‘ช่องทางการทูต’ บ่อยครั้ง เพื่อเคลียร์ใจ-สยบเกาหลา ทั้งเรื่อง เขากระโดง กัญชาเสรี กาสิโนถูกกฎหมาย
“กลับไปที่ Logic ต่อต้านคอรัปชั่น ไม่มีทางหมดไปจากโลก ตราบใดที่คนยังมีกิเลส ถ้าเขาเกลียดรัฐบาล สมมุติ เราสื่อสาร พรุ่งนี้เขาก็ไม่ได้รักรัฐบาล แต่อย่างน้อยทำให้เขาเข้าใจ ว่า ความตั้งใจของรัฐบาลเป็นอย่างไร”
“ถ้าตั้งเป้าให้คนรักรัฐบาลทั้งประเทศเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าตั้งเป้าว่า ให้เขาเข้าใจการทำงาน และเห็นความตั้งใจ และรักมากขึ้น อยู่กับความเป็นจริง อยากให้คนเปิดใจกับรัฐบาลนี้ ไม่อยากให้เอาการเมืองกับรัฐบาลมารวมกัน ช่วงเลือกตั้งมันจบไปแล้ว ผลเป็นอย่างไรเราต้องยอมรับ เป็นช่วงของการบริหาร”
ทั้งหมดคือ บทสนทนาของ ‘รองจิ๊บ-ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์’ รองโฆษกรัฐบาล หลังจากทำงานในศูนย์กลางอำนาจมาได้ 4 สัปดาห์