"...ประเด็นที่น่าสนใจ การหันมาจับมือจูบปากระหว่าง ‘ค่ายสีฟ้า’ ปชป. กับ ‘ค่ายสีแดง’ เพื่อไทย เป็นครั้งแรกในรอบ 23 ปี นับตั้งแต่ก่อร่างสร้างพรรคไทยรักไทย ที่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ เถลิงขึ้นเป็นนายกฯคนที่ 23 ของไทย พร้อมกับสร้างฐานอำนาจ บารมี เปลี่ยนการเมืองไทยไปตลอดกาล..."
อย่างที่ใครบางคนเคยเอ่ยไว้ว่าการเมืองไทย “ไม่มีมิตรแท้ และศัตรูถาวร” และวันนี้สถานการณ์การเมืองไทยก็กำลังเป็นไปตามคำพูดนั้น เมื่อสิ่งที่ไม่เคยคาดคิดอย่าง ‘พรรคประชาธิปัตย์’ (ปชป.) จะกล้าหันไป ‘จูบปาก’ จับมือร่วมรัฐบาลกับ ‘พรรคเพื่อไทย’ ปิดฉากศัตรูคู่รักคู่แค้นกันมา 23 ปี
กระแสข่าวนี้กำลังมาแรง และมีแนวโน้มสูงมาก พลันที่ ‘อุ๊งอิ๊ง’ แพทองธาร ชินวัตร ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 และฟอร์มทีมจัดตั้ง ครม.ชุดใหม่ ท่ามกลางสารพัดปัญหารอยร้าวใน ‘พรรคพลังประชารัฐ’ (พปชร.) ที่กำลังแตกแยกอย่างหนักระหว่าง ‘สายผู้กอง’ และ ‘สายลุงบ้านป่าฯ’ ทำให้ ‘ค่ายสีฟ้า’ เป็น ‘ตาอยู่’ เข้ามาเสียบใจกลางในการจัดตั้ง ครม.ครั้งนี้ด้วย
ภาพ ‘อุ๊งอิ๊ง’ แพทองธาร ชินวัตร จาก www.innnews.co.th
ว่ากันว่า ‘ค่ายสีฟ้า’ ต่อรองขอ 2 ตำแหน่ง คนแรกคือ ‘เสี่ยต่อ’ เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรค เป็น ‘รัฐมนตรีว่าการ’ อีกตำแหน่งคือ ‘รัฐมนตรีช่วยว่าการ’ แต่ยังเคาะไม่สะเด็ดน้ำ บางแหล่งบอกว่าเป็น ‘นายกฯชาย’ เดชอิศม์ ขาวทอง สส.สงขลา อีกแหล่งบอกว่าเป็น ‘ชัยชนะ เดชเดโช’ สส.นครศรีธรรมราช ซึ่งทั้ง 2 จังหวัดต่างเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายของ ‘ค่ายสะตอ’ ในพื้นที่ภาคใต้ และเป็น 2 จังหวัดที่กรำศึกได้ชัยชนะพา สส.เข้าสภาฯมากที่สุด
บางกระแสว่า ถ้าหากชื่อ ‘เสี่ยต่อ’ ไม่ผ่านคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี เพราะมีแผลเก่ากรณีถูกกล่าวหาพัวพันเรื่อง ‘หมูเถื่อน’ ซึ่ง ‘เฉลิมชัย’ ให้สัมภาษณ์-แถลงยืนยันหลายครั้งว่าไม่เกี่ยวข้อง แถมครั้งนี้ ‘อุ๊งอิ๊ง’ เอาจริง ตรวจละเอียดเข้มข้น ป้องกันซ้ำรอย ‘เศรษฐา ทวีสิน’ ก็อาจส่งชื่อ ‘เดชอิศม์-ชัยชนะ’ เป็น 2 รัฐมนตรีของพรรคแทน ส่วนใครจะเป็น ‘ว่าการ’ ใคร ‘ช่วยว่าการ’ ค่อยไปตกลงกันอีกที
ประเด็นที่น่าสนใจ การหันมาจับมือจูบปากระหว่าง ‘ค่ายสีฟ้า’ ปชป. กับ ‘ค่ายสีแดง’ เพื่อไทย เป็นครั้งแรกในรอบ 23 ปี นับตั้งแต่ก่อร่างสร้างพรรคไทยรักไทย ที่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ เถลิงขึ้นเป็นนายกฯคนที่ 23 ของไทย พร้อมกับสร้างฐานอำนาจ บารมี เปลี่ยนการเมืองไทยไปตลอดกาล
นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 มีผลบังคับใช้ ‘ชวน หลีกภัย’ ก้าวขึ้นเป็นนายกฯครั้งที่ 2 ในยุคนั้น ปชป.ยังมี ‘มนต์ขลัง’ สร้างบารมีครองอำนาจทางการเมืองมายาวนานตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 2530 แม้แต่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนักธุรกิจโทรคมนาคมหมื่นล้าน ที่เคยเป็น รมว.ต่างประเทศ สังกัดพรรคพลังธรรม ร่วมกับพรรค ปชป. เมื่อปี 2537 จากการผลักดันของ ‘จำลอง ศรีเมือง’ หัวหน้าพรรคพลังธรรม ขณะนั้น
อย่างไรก็ดีในปี 2541 ‘ทักษิณ’ รวบรวมสารพัดกลุ่มขั้วทางการเมือง จัดตั้งพรรคไทยรักไทย โดยมีบรรดานักธุรกิจ-นักการเมืองรุ่นใหม่จำนวนมากเข้าร่วมหัวขบวนนี้ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยชูนโยบาย ‘ประชานิยม’ ขึ้นมาเป็นครั้งแรก เพื่อช่วยเหลือคนรากหญ้า-เกษตรกร ซึ่งเป็นฐานเสียงกลุ่มใหญ่ที่สุดในทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค โครงการพักชำระหนี้เกษตรกร เป็นต้น ทำให้ได้รับคะแนนนิยมเรื่อยมา
กระทั่งปี 2544 ‘รัฐบาลชวน’ ประกาศยุบสภาฯ จัดเลือกตั้งใหม่ ‘ไทยรักไทย’ ที่มี ‘ทักษิณ’ เป็นหัวหน้าพรรค ประกาศม็อตโต้หาเสียง “คิดใหม่ ทำใหม่” คว้าชัยชนะแบบท่วมท้น นำพา 248 สส.เข้าสภาฯ กลายเป็นเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาล พร้อมกับดำเนินนโยบายต่าง ๆ ตามที่หาเสียงไว้ แม้ว่าจะเผชิญกับ ‘คดีซุกหุ้น’ แต่ก็รอดพ้นบ่วงมาได้ด้วยวาทกรรมในตำนาน “บกพร่องโดยสุจริต”
‘ทักษิณ’ กลายเป็นนายกฯคนเดียวในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่อยู่จนครบวาระ 4 ปีแบบไม่ยุบสภาฯ สะท้อนถึงเสถียรภาพอันเข้มแข็งของรัฐบาล หลังจากนั้นในปี 2548 เขาใช้ยุทธการ ‘ควบรวมพรรค’ กลุ่มการเมืองอื่น ๆ เข้ามาร่วมชายคา ‘ไทยรักไทย’ และคว้าชัยชนะเลือกตั้งเบ็ดเสร็จแบบ ‘รัฐบาลพรรคเดียว’ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองเช่นกัน ด้วยจำนวน สส. 377 เสียง จากทั้งหมด 500 ที่นั่งในสภาฯ
ในช่วงเวลาดังกล่าว ‘ค่ายสีฟ้า’ คือศัตรูตัวฉกาจของ ‘ทักษิณ-ค่ายสีแดง’ เนื่องจากเป็นพรรคการเมืองเดียว ที่ตั้งตนไม่ยอมร่วมรัฐบาล และประกาศต่อสู้กับ ‘ทักษิณ’ ที่ถูกมองว่าเป็น ‘เผด็จการเสียงข้างมาก’ ผ่านร่างกฎหมายต่าง ๆ ที่อาจเอื้อเครือข่ายผลประโยชน์ของตัวเอง-พวกพ้อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขายหุ้น ‘ชินคอร์ป’ การปล่อยกู้เงินธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ให้แก่เมียนมา การดำเนินนโยบาย ‘หวยบนดิน’ เป็นต้น
แต่สารพัดข้อกล่าวหาเหล่านี้ ไม่อาจเอาผิดได้เลยในรัฐบาลของทักษิณ เนื่องจากบรรดาองค์กรอิสระต่าง ๆ ที่เป็นกลไกตรวจสอบรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ถูกมองว่าเป็นเครือข่ายของ ‘ตระกูลชินวัตร’ ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทำให้เกิดภาคประชาชนรวมกลุ่มขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลทักษิณ หลังจากนั้นก่อกำเนิดกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) นำโดยสนธิ ลิ้มทองกุล กับพวก เป็นแกนนำ นัดชุมนุมต่อต้านรัฐบาลชุดนี้อย่างต่อเนื่อง
@พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน
บทสรุปสุดท้ายของเรื่องนี้คือ ‘บิ๊กบัง’ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ.ขณะนั้น ทำรัฐประหารเมื่อปี 2549 และตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ขึ้นมาตรวจสอบการกระทำของรัฐบาลทักษิณ ซึ่งใช้ข้อมูลบางส่วนจาก ปชป.ที่อภิปรายในสภาฯหลายครั้ง ก่อนส่งสำนวนต่อไปยัง ป.ป.ช.ชุดใหม่ ที่ตั้งขึ้นภายหลังรัฐประหาร เพื่อดำเนินการเอาผิดจำนวนหลายคดี และหลายคนคงทราบไปแล้วว่า บางคดีสำนวนไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอให้เรื่องตกไป แต่หลายคดีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เห็นว่า ‘ทักษิณ’ ผิดจริง และสั่งจำคุกไปแล้ว
หลังจากนั้นการเมืองไทยในช่วงทศวรรษ 2550 ถูกเรียกว่า ‘สงครามสีเสื้อ’ โดยในสภาฯคือ ‘สีแดง’ ปะทะ ‘สีฟ้า’ ส่วนนอกสภาฯ ‘สีแดง’ ปะทะ ‘สีเหลือง’ การต่อสู้ดังกล่าวนำไปสู่คดีในศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยให้นายกฯต้องหลุดจากตำแหน่ง 1 คน คือ ‘สมัคร สุนทรเวช’ มีการยุบพรรคการเมืองไปจำนวนมาก รวมถึง ‘พรรคไทยรักไทย-พรรคพลังประชาชน’ ทำให้นายกฯพ้นเก้าอี้อีก 1 คน คือ ‘สมชาย วงศ์สวัสดิ์’ นำไปสู่ ‘ค่ายสีฟ้า’ คัมแบ็กกลับเข้าสู่อำนาจการเมืองอีกครั้ง
เมื่อปลายปี 2551 พลันที่ ‘สมชาย’ ตกเก้าอี้เนื่องจากพรรคพลังประชาชนถูกยุบ ไม่ทันถ้ายุบสภาฯจัดเลือกตั้งใหม่ แต่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้นัดประชุมด่วนเพื่อโหวตเลือกนายกฯคนใหม่ ซึ่งกลายเป็นวาทกรรมในตำนาน “มันจบแล้วครับนาย” ในเวลาต่อมา เมื่อ ‘กลุ่มเพื่อนเนวิน’ (ชิดชอบ) พลิกขั้วย้ายข้างไปหนุน ‘ปชป.’ ผลักดัน ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ ขึ้นเป็นนายกฯคนที่ 27 ได้สำเร็จ
ส่งผลให้การเมืองนอกสภาฯร้อนแรงทันที กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) เดิมที่ถูกจัดตั้งโดย ‘เนวิน ชิดชอบ-จักรภพ เพ็ญแข’ ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น ‘นปช.’ (แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ) สวม ‘เสื้อแดง’ เป็นสัญลักษณ์ นำโดย 2 คู่หู ‘ตู่ จตุพร พรหมพันธุ์-เต้น ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ’ ปลุกระดมมวลชนแฟนคลับ ‘ทักษิณ-เพื่อไทย’ เข้า กทม.เพื่อล้มรัฐบาลอภิสิทธิ์ถึง 2 ครั้ง ในปี 2552-2553 แม้แต่ ‘ทักษิณ’ ที่ลี้ภัยอยู่ต่างประเทศยังโฟนอินมาให้กำลังใจในการต่อสู้ครั้งนี้
ทว่าการต่อสู้ 2 ครั้งดังกล่าวพ่ายแพ้ย่อยยับ และนำมาสู่หนึ่งในการสูญเสียชีวิตของประชาชนมากที่สุดเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ไม่ต่างจาก 14 ต.ค. 2516 และ 6 ต.ค. 2519 โดยรัฐบาลอภิสิทธิ์ตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) มี ‘สุเทพ เทือกสุบรรณ’ เป็นเลขาธิการ พร้อมด้วยบรรดา ‘ขุนศึก-บิ๊กลายพราง’ นั่งกันแน่นห้องประชุม ก่อนจะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน-พื้นที่ใช้กระสุนจริง ล้อมปรามคนเสื้อแดง จนยอมแพ้ไป และรัฐบาลอภิสิทธิ์ ประกาศยุบสภาฯในอีก 1 ปีถัดมาคือปลายปี 2554
ต่อมา ‘ทักษิณ’ แก้เกมด้วยการส่ง ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ น้องสาวแท้ ๆ ของตัวเอง เป็นแคนดิเดตชิงเก้าอี้นายกฯคนใหม่ ใช้เวลาหาเสียงเลือกตั้งแค่ 49 วัน ก็ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง ‘นายกฯหญิง’ คนแรกของไทย พร้อมกับฉายา ‘นารีขี่ม้าขาว’ โดยคราวนี้พรรคเพื่อไทยชูนโยบายประชานิยมเรียกฐานแฟนคลับกลับมาอีกครั้ง โดยเฉพาะ ‘โครงการรับจำนำข้าว’ ที่ได้เสียงตอบรับจำนวนมากจากเกษตรกร
ทว่ากลับได้เสียงต้านจากนักวิชาการ กูรูเศรษฐกิจการเงินการคลัง รวมถึงองค์กรอิสระ เช่น ป.ป.ช. สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และแน่นอนจากพรรคประชาธิปัตย์ เป็นอย่างมากว่า โครงการดังกล่าวอาจส่งผลเสียต่อการเงินการคลังของประเทศ และได้กลิ่นความไม่ชอบมาพากลหลายประการ
ในช่วงเวลา ‘รัฐนาวายิ่งลักษณ์’ บริหารราชการแผ่นดิน 2 ปี 275 วัน ‘ค่ายสีฟ้า’ ในฐานะฝ่ายค้าน ได้อภิปราย และยื่นเรื่องร้องเรียนตรวจสอบรัฐบาลแทบไม่เว้นแต่ละวัน จนนำไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติหลายครั้ง เช่น ห้ามมิให้แก้รัฐธรรมนูญเรื่องการได้มาซึ่ง สว. ห้ามดำเนินการกู้เงินเพื่อจัดทำโครงการรถไฟความเร็วสูง โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าว ที่สุดท้าย ป.ป.ช.รับเรื่องไว้ และมีมติชี้มูลความผิด ‘ยิ่งลักษณ์’ ไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการกว่า 5 แสนล้านบาท และชี้มูลผิด ‘บุญทรง เตริยาภิรมย์-ภูมิ สาระผล’ 2 รมต.พาณิชย์ กับพวกที่เป็นข้าราชการ ‘เสี่ยเปี๋ยง’ เอกชน ‘สยามอินดิก้า’ และโรงสีอีกจำนวนมาก ที่พัวพันกับการทุจริตโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการจำนำข้าว นอกจากนี้ ‘ยิ่งลักษณ์’ ยังถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นตำแหน่งนายกฯ จากการโยกย้าย ‘ถวิล เปลี่ยนศรี’ พ้นเลขาธิการ สมช.อีกด้วย
อีกทางหนึ่งนอกสภาฯ ‘ยิ่งลักษณ์’ ก็เผชิญวิบากกรรมในช่วงท้ายของการเป็นนายกฯ เนื่องจากถูก สส.ปชป. ที่นำโดย ‘สุเทพ เทือกสุบรรณ’ อดีตเลขาธิการพรรค พร้อมกลุ่ม สส.ภาคใต้ และกลุ่ม สส.กทม. จัดตั้งม็อบ กปปส. มี ‘นกหวีด’ เป็นสัญลักษณ์ เพื่อต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แม้ว่าต่อมา ‘สุเทพ-พวก’ จะประกาศลาออกจาก ปชป.แล้วก็ตาม แต่บรรดา สส.ปชป.ยังคงไปร่วมกับม็อบ กปปส.จำนวนมาก ม็อบ กปปส.ขับเคลื่อนยาวนานกว่า 7 เดือน กระทั่งเกิดรัฐประหารโดย คสช. เมื่อ 22 พ.ค. 2557 ปิดฉากรัฐนาวายิ่งลักษณ์ ลงไป
หลังจากนั้นการบริหารราชการแผ่นดินโดย คสช. ทั้ง ‘เพื่อไทย-ปชป.’ ก็เหมือนจะลดบทบาทลงไป กระทั่งการเลือกตั้งปี 2562 ‘เพื่อไทย’ คัมแบ็กกลับมากวาดเก้าอี้ สส.ได้อันดับ 1 ในสภาฯ ด้วยจำนวน 265 ที่นั่ง แต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เนื่องจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พรรคอันดับ 2 ได้รวบรวมเสียงเกินครึ่ง ก่อนชู ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหารปี 2557 ขึ้นเป็นนายกฯอีกสมัยได้สำเร็จ ซึ่งในจำนวนเสียงฝ่ายรัฐบาลมี ‘ค่ายสีฟ้า’ ที่ว่ากันว่า ‘กลุ่ม กปปส.’ คอนโทรล รวมอยู่ด้วย และ ‘ชวน หลีกภัย’ ถูกผลักดันขึ้นเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร สมัยที่ 2
@ เฉลิมชัย ศรีอ่อน
หลังจากนั้นในการเลือกตั้งปี 2566 เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ใน ‘ค่ายสีฟ้า’ เมื่อมีการเปลี่ยนกรรมการบริหารชุดใหม่ นำโดย ‘เสี่ยต่อ’ เฉลิมชัย ศรีอ่อน ที่มากด้วยคอนเนกชั่น และร่วมงานได้กับทุกกลุ่มทุกสี โดยว่ากันว่ามีการบินไปพบ ‘นายใหญ่’ ที่ฮ่องกงก่อนการเลือกตั้ง อย่างไรก็ดี ‘เฉลิมชัย’ ให้การปฏิเสธเรื่องนี้มาโดยตลอด กระทั่ง ‘เพื่อไทย’ จัดตั้ง ‘รัฐบาลข้ามขั้ว’ โดดเดี่ยว ‘ก้าวไกล’ ที่ได้ สส.อันดับ 1 ในสภาฯ ชู ‘เศรษฐา ทวีสิน’ เป็นนายกฯคนที่ 30 บรรดา สส.ค่ายสีฟ้า อย่างน้อย 16 คน ที่แม้จะเป็น ‘ฝ่ายค้าน’ ได้ยกมือโหวต ‘เศรษฐา’ เป็นนายกฯด้วย
ทำให้เสียงลือเสียงเล่าอ้างเริ่มถูกมองเป็นข้อเท็จจริงมากขึ้นว่า ปชป.เป็น ‘ตาอยู่’ เตรียมพลิกขั้วย้ายข้างร่วมกับรัฐบาลได้ทุกเมื่อหากเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง และวันนั้นก็มาถึงเมื่อมีการเดินเกมโดย ‘ใครบางคน’ สอย ‘เศรษฐา’ พ้นนายกฯ และเตรียมเท ‘ลุงบ้านป่าฯ’ พ้นตำแหน่งแห่งที่ในรัฐบาล ‘ค่ายสีฟ้า’ ที่มีสถานะเป็น ‘ตัวสำรอง’ ได้เข้าร่วมทันที ปิดฉากสงครามสีเสื้อ 23 ปีระหว่าง ‘ค่ายสีแดง-ค่ายสีฟ้า’ ลงไป
เพราะขณะนี้มีศัตรูคนใหม่ที่ ‘ผู้มีอำนาจเดิม’ หรือ ‘นักการเมืองรุ่นเก่า’ จำเป็นต้องปราบปรามลงไป นั่นคือ ‘ค่ายสีส้ม’ ที่เขย่าการเมืองไทยมาตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2562 กำลังได้รับคะแนนนิยมจำนวนมากจาก ‘คนรุ่นใหม่’ หรือแม้แต่ ‘วัยกลางคน-วัยดึก’ ก็เริ่มเอนเอียงเห็นใจ เทคะแนนให้พรรคนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว
ดังนั้นบทบาทของ ‘ปชป.’ หลังจากนี้ นอกจากต้องกู้วิกฤติศรัทธาที่หมดมนต์ขลังลงไปแล้ว ยังต้องต่อสู้กับศัตรูตัวฉกาจคนใหม่คือ ‘ค่ายสีส้ม’ ที่กำลังมาแรงในช่วงเวลานี้
จะทำได้สำเร็จเห็นผล หรือว่าพ่ายแพ้หมดรูปเหมือนตอนสู้กับ ‘ค่ายสีแดง’ คงต้องรอลุ้นกัน