"...ขณะเกิดเหตุคดีนี้ พลเอกลือพงศ์ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาภาค 5 กับพวก ได้ร่วมกันเข้าไปกระทำด้วยประการใด ๆ อันมีผลให้ตนเข้ามามีส่วนได้เสียโดยตรงในการจัดซื้อจัดจ้างของสำนักงานพัฒนากาค 5 หน่วยบัญชาการกองทัพไทย ที่ตนเองมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลในลักษณะครอบงำสั่งการ...เพื่อให้ บริษัท เกษตรสีมา จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่พลเอกลือพงศ์ และนางเมรารัศมี เป็นผู้จดทะเบียนจัดตั้งและเป็นผู้เริ่มก่อการรวมถึงเป็นเจ้าของที่แท้จริง โดยได้นำบ้านพักราชการที่ตนเองใช้สิทธิพักอาศัยไปจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทดังกล่าว แล้วเชิด นางสาวกฤติมา ซึ่งเป็นพี่สาวของนางเมธารัศมี ให้เข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัทฯ แทน..."
นางสาวกฤติมา ทองพูล เป็นใครมาจากไหน?
ทำไมถึงตกเป็นบุคคลตามหมายจับของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 3 ที่ จ.17/2566 ลงวันที่ 10 ตุลาคม 2566 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 151 มาตรา 152 มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 และมาตรา 91 และความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และมาตรา 91
มีคำอธิบายเบื้องต้นไปแล้วว่า
1. นางสาวกฤติมา เป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหา คดีกล่าวหา พลตรี ลือพงศ์ โชติวิทยากาญจน์ หรือ พลตรีลือ วิทยากาญจน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาภาค 5 กับพวก ทุจริตต่อหน้าที่และเข้ามีส่วนได้เสียในการดำเนินโครงการฟื้นฟูพื้นที่ต้นน้ำสำนักงานพัฒนาภาค 5 หน่วยบัญชาการกองทัพไทย ที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดไปแล้ว
โดยเมื่อวันที่ 16 ส.ค.2566 สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 3 แถลงผลการชี้มูลคดีนี้เป็นทางการ ระบุพฤติการณ์คดีว่า พลตรี ลือพงศ์ โชติวิทยากาญจน์ หรือ พลตรีลือ วิทยากาญจน์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาภาค 5 กับพวก ทุจริตต่อหน้าที่และเข้ามีส่วนได้เสียในการดำเนินโครงการฟื้นฟูพื้นที่ต้นน้ำสำนักงานพัฒนาภาค 5 หน่วยบัญชาการกองทัพไทย จำนวน 4 โครงการ 8 ฎีกา เมื่อปีงบประมาณ 2551 จำนวนเงิน 1,825,000 บาท และในการทำสัญญาซื้ออุปกรณ์หรือเช่าเครื่องมือในโครงการขุดลอกคลอง เพื่อป้องกันอุทกภัยและภัยแล้งในเขตจังหวัดนครราชสีมา เมื่อปีงบประมาณ 2552 จำนวน 115 ครั้ง จำนวนเงิน 7,795,785 บาท และมีการส่งสำนวน เอกสารหลักฐาน ให้อับการสูงสุด (อสส.) ฟ้องร้องดำเนินคดีพลตรี ลือพงศ์ โชติวิทยากาญจน์ หรือ พลตรีลือ วิทยากาญจน์ และพวก ตามขั้นตอนทางกฎหมายไปแล้ว
นอกจากนี้ยังมีพฤติการณ์มุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออำนวยแก่ผู้เข้าเสนอราคารายใดหนึ่ง ให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับสำนักงานพัฒนาภาค 5 หรือเพื่อกีดกันผู้เสนอราคารายใด มิให้มีโอกาสเข้าแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม
2. ส่วน นางสาวกฤติมา ผู้ถูกเชิดให้เข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท เกษตรสีมา จำกัด และเข้าเป็นคู่สัญญาซื้อขายกับสำนักงานพัฒนาภาค 5 ทั้งที่ ไม่ได้มีอาชีพขายวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างหรือมีความสามารถในการทำสัญญาซื้ออุปกรณ์หรือเช่าเครื่องมือในโครงการขุดลอกคลองแต่อย่างใด โดยเกี่ยวข้องในปีงบประมาณ 2551 จำนวน 4 โครงการ 8 ฎีกา รวมจำนวนเงิน 1,825,000 บาท และในปีงบประมาณ 2552 จำนวน 115 ครั้ง รวมเป็นเงินจำนวน 7,795,785 บาท
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายละเอียดและพฤติการณ์การกระทำความผิดในคดีนี้
ปรากฏตามรายละเอียดดังต่อไปนี้
หนึ่ง.
คดีนี้ มีผู้ถูกกล่าวหา 4 ราย คือ พลเอกลือพงศ์ โชติวิทยากาญจน์ , นางเมธารัศมี โชติวิทยากาญจน์ หรือ นางสาวิตรพิมพ์ วิทยากาญจน์ (ภรรยาพลเอกลือพงศ์) , นางสาวกฤติมา ทองพูล (พี่สาว นางเมธารัศมี) และ บริษัท เกษตรสีมา จำกัด
สอง.
ในสำนวนการไต่สวนคดีของ ป.ป.ช. ที่แจ้งต่ออัยการสูงสุด ระบุว่า ขณะเกิดเหตุคดีนี้ พลเอกลือพงศ์ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาภาค 5 กับพวก ได้ร่วมกันเข้าไปกระทำด้วยประการใด ๆ อันมีผลให้ตนเข้ามามีส่วนได้เสียโดยตรงในการจัดซื้อจัดจ้างของสำนักงานพัฒนากาค 5 หน่วยบัญชาการกองทัพไทย ที่ตนเองมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลในลักษณะครอบงำสั่งการ โดยแบ่งหน้าที่กันทำตามแต่ละบทบาทและหน้าที่เพื่อให้ บริษัท เกษตรสีมา จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่พลเอกลือพงศ์ และนางเมรารัศมี เป็นผู้จดทะเบียนจัดตั้งและเป็นผู้เริ่มก่อการรวมถึงเป็นเจ้าของที่แท้จริง
โดยได้นำบ้านพักราชการที่ตนเองใช้สิทธิพักอาศัยไปจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทดังกล่าว แล้วเชิด นางสาวกฤติมา ซึ่งเป็นพี่สาวของนางเมธารัศมี ให้เข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัทฯ แทน
จากนั้นได้นำบริษัทฯ เข้ามาเป็นคู่สัญญาซื้อขายกับสำนักงานพัฒนาภาค 5 ในการจัดซื้อจัดจ้างวัสดุก่อสร้างฝ่ายกักเก็บน้ำ คสล. โครงการฟื้นฟูพื้นที่ต้นน้ำ เมื่อปีงบประมาณ 2551 จำนวน 4 โครงการ 8 ฎีกา รวมจำนวนเงิน 1,825,000 บาท และในการทำสัญญาซื้ออุปกรณ์หรือเช่าเครื่องมือในโครงการขุดลอกคลองเพื่อป้องกันอุทกภัยและภัยแล้งในเขตจังหวัดนครราชสีมา ปีงบประมาณ 2552 จำนวน 115 ครั้ง รวมเป็นเงินจำนวน 7,795,785 บาท
ทั้งที่ นางสาวกฤติมา ไม่ได้มีอาชีพขายวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างหรือมีความสามารถในการทำสัญญาซื้ออุปกรณ์หรือเช่าเครื่องมือในโครงการขุดลอกคลองแต่อย่างใด
สาม.
ขณะที่ในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีการเสนอราคาก็ไม่ปรากฎหลักฐานว่ามีการส่งประกาศเผยแพร่ไปยังผู้มีอาชีพขายสินค้าวัสดุก่อสร้างโดยตรงแต่อย่างใด อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ข้อ 41 และมีลักษณะเป็นการกีดกันผู้เสนอราคาหรือเพื่อกีดกันผู้เสนอราคารายใดมิให้มีโอกาสเข้าแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม
จากนั้นได้มีการจัดหาวัสดุก่อสร้างและซื้ออุปกรณ์หรือเช่าเครื่องมือในโครงการขุดลอกคลอง เพื่อส่งมอบให้กับสำนักงานพัฒนากาค 5 โดยนางสาวกฤติมา ไม่ได้เป็นผู้จัดหาวัสดุก่อสร้างหรือเป็นผู้ขายอุปกรณ์หรือให้เช่าเครื่องมือในโครงการขุดลอกคลองแต่อย่างใด
แต่มีการจัดทำเอกสารประกอบการเบิกจ่ายเงินเพื่อให้ดูเสมือนว่า นางสาวกฤติมา เป็นผู้จัดหาพัสดุดังกล่าวเพื่อส่งมอบให้กับสำนักงานพัฒนาภาค 5 ทั้งที่ความจริง นางสาวกฤติมา ไม่ได้เป็นผู้จัดหาพัสดุดังกล่าวแต่อย่างใด และพลเอกลือพงศ์ ได้มีการอนุมัติเบิกจ่ายเงินให้บริษัท เกษตรสีมา จำกัด
สี่.
จากนั้นได้มีการเบิกถอนเงินจากบัญชี บริษัท เกษตรสีมา จำกัด แล้วนำฝากเข้าเลขบัญชีของนางเมธารัศมี ซึ่งเป็นกรรยาของพลเอกลือพงศ์ ในช่วงปี 2551-2552 ขณะเกิดเหตุจำนวนหลายครั้ง
ห้า.
การกระทำดังกล่างของพลเอกลือพงศ์ จึงเป็นกรณีเข้ามีส่วนได้เสียในการจัดซื้อจัดจ้างวัสดุก่อสร้างฝายกักเก็บน้ำ คสล. โครงการฟื้นฟูพื้นที่ต้นน้ำเมื่อปีงนประมาณ 2551 จำนวน 4 โครงการ 8 ฎีกาจำนวนเงิน 1,825,000 บาท และในการทำสัญญาซื้ออุปกรณ์หรือเช่าเครื่องมือในโครงการขุดลอกคลองเพื่อป้องกันอุทกภัยและภัยแล้งในเขตจังหวัดนครราชสีมา ปีงบประมาณ 2552 จำนวน 115 ครั้ง รวมเป็นเงินจำนวน 7,795,785 บาท อีกทั้งเป็นการมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้ออำนวยแก่ผู้เข้าเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับสำนักงานพัฒนาภาค 5 หรือเพื่อกีดกันผู้เสนอราคารายใด มิให้มีโอกาสเข้าแข่งขันในการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม
ส่วนการจับกุมตัว นางสาวกฤติมา ทองพูล ครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ส่งสำนวน เอกสารหลักฐาน ให้อัยการสูงสุด (อสส.) ฟ้องร้องดำเนินคดีพลตรี ลือพงศ์ โชติวิทยากาญจน์ หรือ พลตรีลือ วิทยากาญจน์ และพวก ตามขั้นตอนทางกฎหมาย
โดยในช่วงเดือน ส.ค.2566 สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 3 ได้มีหนังสือแจ้ง ป.ป.ช. ขอให้ส่งตัวผู้ถูกกล่าวหา รวมถึงนางสาวกฤติมา ไปรายงานตัวต่อพนักงานอัยการ ในวันที่ 21 ก.ย.2566 เพื่อยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 3 แต่ไม่ได้ไปรายงานตัวตามนัดหมาย และไม่ได้แจ้งเหตุขัดข้องแต่อย่างใด คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงพิจารณาให้ดำเนินการนำตัวผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด ไปฟ้องดำเนินคดีภายในอายุความต่อไป
โดยจากการสืบสวนทราบว่า นางสาวกฤติมา อยู่ในพื้นที่ตำบลระเริง อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา จึงได้ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.วังน้ำเขียว เพื่อติดตามและดำเนินการจับกุมตามขั้นตอนของกฎหมาย แล้วนำตัวส่งไปยังพนักงานอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 3 เพื่อฟ้องคดีต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 3 ตามที่ปรากฏเป็นข่าวไปแล้ว
อย่างไรก็ดี การชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุด ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด มีสิทธิ์ต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ในชั้นศาลได้อีก
สุดท้ายแล้ว ผลการต่อสู้คดีในชั้นศาลจะออกมาเป็นอย่างไร ติดตามดูกันต่อไป