การที่เผด็จการทหารเริ่มแสดงให้เห็นความอ่อนแอ ไม่สามารถจะควบคุมบริเวณชายแดนได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ใกล้กับประเทศไทย นี่หมายความว่าแม้กรุงเทพจะมีสายตรงสามารถเข้าถึงผู้บริหารในกรุงเนปยีดอ ก็อาจจะไม่ได้ช่วยเหลือในเรื่องการแก้การไหลบ่าของยาเสพติดและผู้ลี้ภัยแต่อย่างใด ..... “รัฐบาลไทยควรจะติดต่อประสานงานกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ โดยเฉพาะที่อยู่ในรัฐฉาน,รัฐว้า และรัฐกะเหรี่ยง”
เป็นที่รับทราบกันดีว่าประเทศไทยถูกกล่าวหาจากประชาคมเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือว่าอาเซียน ว่าไม่ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับกรณีเหตุการณ์ที่ประเทศเมียนมา
และเมื่อไม่นานมานี้ก็มีบทความจากสำนักข่าวเซาธ์ไชน่าโพสต์ของฮ่องกงวิเคราะห์เกี่ยวกับพฤติกรรมของประเทศไทยว่าเป็นการดำเนินงานนอกรอบ ที่แตกต่างจากทิศทางของแนวทางอาเซียน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงเอารายงานดังกล่าวมานำเสนอ มีรายละเอียดดังนี้
การที่ประเทศไทยมีข้อเสนอเรื่องการเป็นผู้นำการมีส่วนร่วมกับรัฐบาลทหารเมียนมา ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับวาระในการชัดการกับปัญหาความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศเมียนมา ซึ่งส่งผลอย่างต่อเนื่องกับความเป็นเอกภาพของอาเซียน
มีนักวิเคราะห์กล่าวว่าการที่ประเทศไทยทำหน้าที่เป็นอิสระ ไม่ยุ่งกับสมาคมอาเซียน ทำให้เกิดความรู้สึกว่าประเทศไทยกำลังสนับสนุนระบอบการปกครองของเมียนมา แม้ว่าตอนนี้จะมีข้อกังวลเกี่ยวกับทั้งปัญหาอาชญากรรมและการไหลบ่าของผู้ลี้ภัยตามชายแดนที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ย้อนไปเมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าประเทศไทย ควรจะเข้ามามีบทบาทนำในอาเซียนในการหารือกับเมียนมา เนื่องจากว่า “เราเป็นประเทศใกล้ชิดกับพวกเขามากที่สุด”
นายเศรษฐากล่าวว่าเพราะประเทศไทยมีพรมแดนติดเมียนมา 2,000 กิโลเมตร และมีปัญหาทั้งสถานการณ์ผู้ลี้ภัย การค้ายาเสพติดที่เพิ่มขึ้นจากเหตุขัดแย้ง ดังนั้นประเทศไทยจึงมีความเหมาะสมที่จะริเริ่มโครงการหารือดังกล่าวนี้
อนึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่ต้องรับผลกระทบมาตั้งแต่เหตุรัฐประหารในเมียนมาเมื่อปี 2564 เพราะว่าผู้ลี้ภัยจำนวน 45,000 คนต้องหนีข้ามพรมแดนมายังประเทศไทย แล้วหลังจากครั้งนั้นแรงกดดันก็ตกไปอยู่ที่ภูมิภาตะวันตกเฉียงเหนือของไทย
นายเกร็ก เรย์มอนด์ อาจารย์อาวุโสที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (ANU) กล่าวว่าประเทศไทยพร้อมที่จะดำเนินการออกนอกนโยบายที่เป็นทางการของอาเซียน
โดยคำกล่าวของนายเรย์มอนด์มาจากการวิเคราะห์กรณีที่พล อ.อาวุโส ต้าน ชเว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเมียนมาเดินทางมาเยือนกรุงเทพเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา
ส่วนนายเคน เมธิส โลหเตปานนท์ นักศึกษาปริญญาเอกสาขารัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนกล่าวว่าสิ่งที่ไทยกำลังทำนั้น อาเซียนไม่สามารถทำอะไรได้เลยเพื่อจะหยุดยั้งสิ่งนี้ โดยการกระทำของไทยในการจัดการปัญหาเมียนมาอยุ่นอกเหนือการควบคุมของอาเซียน
ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีการจัดการพุดคุย แทรค 1.5 โดยเชิญเอาเจ้าหน้าที่รัฐบาล เจ้าหน้าที่สถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อเข้าร่วมหารือแนวทางการแก้ปัญหาในเมียนมา และผู้เข้าร่วมหารือยังประกอบด้วยสมาชิกจากประเทศเมียนมา,กัมพูชา,ลาว และเวียดนาม รวมไปถึงจากจีนและอินเดีย
สำนักข่าวอิรวดีนำเสนอข่าวไทยกับบทบาทเป็นตัวกลางเจรจากับเผด็จการเมียนมา
หลายประเทศในอาเซียน รวมถึงมาเลเซีย,อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ น่าจะมีความไม่พอใจเป็นอย่างยิ่งกับการที่ไทยไปจัดเวทีเจรจาโดยตรงกับเมียนมา และปฏิเสธอินโดนีเซีย ประธานอาเซียนในปีนี้ซึ่งเป็นผู้นำการหารือในกรณีดังกล่าว
กลุ่มรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชนหรือ Asean Parliamentarians for Human Rights กล่าวหาว่าการประชุมนอกรอบของไทยนั้นถือว่าเป็นการทรยศต่อประชาชนเมียนมาและทรยศต่อการยึดในความเป็นเอกภาพของอาเซียน
เป็นที่รับทราบกันดีว่าอาเซียนยังคงยึดแผนสันติภาพที่มีการเร่งรัดให้ทำตามฉันทามติ 5 ข้อ และเพื่อให้มีการเจรจาระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในประเทศ โดยเป็นแผนงานเดียวในการแก้ไขสงครามกลางเมืองเกือบสามปี
@ความเชื่อมโยงทางทหาร
นายเรย์มอนด์กล่าวว่าเมื่อพิจารณาถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างกองทัพไทยและความอดทนต่อเผด็จการทหารของทั้งสองประเทศจึงไม่แปลกใจที่ประเทศไทยจะทำงานนอกการดำเนินงานของอาเซียนในประเด็นเรื่องเมียนมา
โดยนับตั้งแต่เหตุรัฐประหารในปี 2557 ที่ประเทศไทย พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่าย ก็เป็นคนแรกๆที่ออกมาแสดงจุดยืนการสนับสนุนเหตุรัฐประหาร
อีกเหตุปัจจัยหนึ่งก็คือว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีผลกระทบอย่างยิ่งจากข้อตกลงทวิภาคี เนื่องจากว่าประเทศเพื่อนบ้านของไทยได้จัดหาก๊าซธรรมชาติมาให้กับไทยประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์
ในปี 2564 การค้ากับประเทศไทยคิดเป็นสัดส่วน 40 เปอร์เซ็นต์ของการค้าทั้งหมดของประเทศเมียนมา โดยมีมูลค่าการค้าอยู่ที่ 5.117 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (177,124,955,000 บาท) แต่ว่าความขัดแย้งระหว่างกองทัพเมียนมากับกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธหรือกลุ่ม EAO ทำให้นักลงทุนไทยไม่สามารถลงทุนเพิ่มเติมได้
ตอนนี้กลุ่ม EAO เข้าไปควบคุมพื้นที่สำคัญในเมียนมาได้แล้วและเข้าไปควบคุมในส่วนที่ดำเนินการด้านบริหารและให้บริการกับประชาชนจำนวนมาก
นายเรย์มอนด์กล่าวว่าการที่เผด็จการทหารเริ่มแสดงให้เห็นความอ่อนแอ ไม่สามารถจะควบคุมบริเวณชายแดนได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ใกล้กับประเทศไทย นี่หมายความว่าแม้กรุงเทพจะมีสายตรงสามารถเข้าถึงผู้บริหารในกรุงเนปยีดอ ก็อาจจะไม่ได้ช่วยเหลือในเรื่องการแก้การไหลบ่าของยาเสพติดและผู้ลี้ภัยแต่อย่างใด
กองทัพจีนเคลื่อนพลที่พรมแดนเมียนมาเพื่อระงับเหตุผู้ลี้ภัย (อ้างอิงวิดีโอจาก The Telegraph)
“รัฐบาลไทยควรจะติดต่อประสานงานกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ โดยเฉพาะที่อยู่ในรัฐฉาน,รัฐว้า และรัฐกะเหรี่ยง” นายเรย์มอนด์กล่าวและกล่าวต่อไปว่าเหตุผลที่ไทยต้องทำเช่นนั้นเพราะไทยเป็นผู้ลงทุนสำคัญและเป็นผู้นำเข้าก๊าซธรรมชาติจากเมียนมา
“ถ้าไทยต้องการจะปกป้องสิ่งเหล่านี้ ไทยก็ต้องทำแบบนี้” นายเรย์มอนด์กล่าว
ย้อนไปเมื่อปลายเดือน ต.ค. กลุ่มพันธมิตรสามพี่น้องในภูมิภาคตอนเหนือของรัฐฉาน ซึ่งประกอบไปด้วยกองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติ (Myanmar National Democratic Alliance Army),กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (Ta'ang National Liberation Army),และกองทัพชาติพันธุ์อาระกัน (Arakan Army) เปิดปฎิบัติการณ์ที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงามกับรัฐบาลทหาร
โดยในช่วงสองสัปดาห์ก่อนกลุ่มพันธมิตรกล่าวว่าได้ยึดฐานทัพจำนวน 422 แห่ง และเมือง 7 แห่ง จากกองทัพเมียนมา ซึ่งยึดได้ตั้งแต่วันที่ 27 ต.ค.
และเมื่อต้นเดือน ธ.ค. ทั้งสองประเทศตกลงที่จะจัดตั้งคณะทํางานเฉพาะกิจเพื่อเพิ่มความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้พลัดถิ่นจากการสู้รบ และกล่าวว่าพวกเขาสามารถขยายความร่วมมือเพื่อรวมหน่วยงานช่วยเหลือได้
นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่าจากพฤติกรรมของไทย เป็นข้อบ่งชี้ว่าแม้อาเซียนจะอยู่ในที่นั่งเพื่อจะขับเคลื่อนการแก้ปัญหาที่ตอนนี้มีพัฒนาการมากขึ้นในเมียนมา แต่ประเทศไทยเองก็ต้องการแสวงหาผลประโยชน์ของตนเองเช่นกัน
ดังนั้นในอนาคตคาดว่าประเทศไทยจะมีเส้นสายเรื่องการมีส่วนร่วมมากขึ้น โดยเฉพาะกรณีการมีสัมพันธ์กับรัฐบาลทหาร