"...ขณะเกิดเหตุจําเลยดํารงตําแหน่ง นายกเทศมนตรีตําบลท่าเสา มีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและเป็นเจ้าพนักงาน มีอํานาจหน้าที่ในการกําหนดนโยบายโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย และรับผิดชอบในการบริหารราชการของเทศบาลให้เป็นไปตามกฎหมาย ...จึงมีอํานาจหน้าที่สั่งการ อนุมัติจัดจ้างซ่อมแซมรถยนต์ของเทศบาลตําบลท่าเสา อู่รุ่งเรืองยนตรการ มีจําเลยเป็นเจ้าของกิจการ แต่ได้เชิดนายสําราญ อ่อนสนิท ลูกจ้างของจําเลย ขึ้นเป็นเจ้าของกิจการดังกล่าวแทนจําเลย..."
กรณี สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เผยแพร่ความคืบหน้าผลคดีกล่าวหา นายสิทธิชัย เจริญธนะจินดา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลท่าเสา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ กับพวก สั่งการและอนุมัติให้ดำเนินการจ้างซ่อมแซมรถยนต์กับอู่ซ่อมรถยนต์ของตนเอง และเบิกจ่ายเงินค่าซ่อมแซมรถยนต์เป็นประโยชน์สำหรับตนเอง โดยเมื่อวันที่ 18 เม.ย.2566 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 6 มีคำพิพากษาลงโทษ จำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 58 กระทง เป็นจำคุก 58 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษ ตามมาตรา 78 กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกกระทงละ 6 เดือน รวม 58 กระทง เป็นจำคุก 348 เดือน เมื่อรวมโทษทุก กระทงแล้วคงให้จำคุก 20 ปี ตามมาตรา 91 (2)
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำรายละเอียดพฤติการณ์การกระทำความผิดในคดีนี้ ของ นายสิทธิชัย เจริญธนะจินดา มาเสนอไปแล้วว่า ได้เชิดนายสำราญ อ่อนสนิท ลูกจ้าง ขึ้นเป็นเจ้าของกิจการ อู่รุ่งเรืองยนตรการ แทนตัวเอง และมีการอนุมัติจัดจ้างซ่อมแซมรถยนต์ของเทศบาลตำบลท่าเสา กับ อู่รุ่งเรืองยนตรการ รวมค่าจ้างที่มีการเบิกจ่าย 58 ครั้ง รวมเป็นเงิน 516,630 บาท โดยในการพิจารณาอนุมัติให้ อู่รุ่งเรืองยนตรการ เข้ามารับงาน นายสิทธิชัย ได้สั่งการให้มีการเขียนใบเสนอราคาของอู่ฯ เพื่อเข้าเสนอราคารับจ้างบำรุงและซ่อมแซมรถยนต์ประเภทต่างๆ โดยใช้วิธีตกลงราคา
เมื่อดำเนินการซ่อมแซ่มรถยนต์เสร็จแล้ว นายสิทธิชัย จะอนุมัติสั่งจ่ายเช็คเงินค่าจ้างและนำไปให้นายสำราญลูกจ้างของตนเอง เพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็ค หลังเบิกถอนเงินแล้ว นายสำราญจะมอบเงินทั้งหมดให้กับบุคคลคนหนึ่งเป็นผู้รับเงินดังกล่าวแทนนายสิทธิชัย พร้อมแบ่งจ่ายเงินเป็นค่าจ้างให้แก่นายสำราญตามที่ตกลงกันไว้
- คุก 20 ปี! อดีตนายกเทศฯ ท่าเสา อุตรดิตถ์ สารภาพสั่งการจ้างซ่อมรถอู่ตัวเอง
- เผยพฤติการณ์คุก 20 ปี! อดีตนายกฯท่าเสา เชิดลูกจ้างเจ้าของอู่ซ่อมรถเทศบาล 58 ครั้ง
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลคำพิพากษาฉบับเต็มคดีนี้ มานำเสนอเป็นทางการต่อสาธารณชน ณ ที่นี้
คดีนี้เป็นคดีความอาญา
อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ นายสิทธิชัย เจริญธนะจินดา จำเลย
เรื่อง ความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ
โจทก์ฟ้องจําเลยให้การรับสารภาพโดยไม่มีการสืบพยาน เมื่อพิเคราะห์ประกอบสํานวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เทศบาลตําบลท่าเสา อําเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นทบวงการเมือง และเป็นราชการส่วนท้องถิ่น
ขณะเกิดเหตุจําเลยดํารงตําแหน่ง นายกเทศมนตรีตําบลท่าเสา มีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและเป็นเจ้าพนักงาน มีอํานาจหน้าที่ในการกําหนดนโยบายโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย และรับผิดชอบในการบริหารราชการของเทศบาลให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ เทศบัญญัติ และนโยบาย สั่ง อนุญาต และอนุมัติเกี่ยวกับราชการของเทศบาล จึงมีอํานาจหน้าที่สั่งการ อนุมัติจัดจ้างซ่อมแซมรถยนต์ของเทศบาลตําบลท่าเสา อู่รุ่งเรืองยนตรการ มีจําเลยเป็นเจ้าของกิจการ แต่ได้เชิดนายสําราญ อ่อนสนิท ลูกจ้างของจําเลย ขึ้นเป็นเจ้าของกิจการดังกล่าวแทนจําเลย
เมื่อระหว่างวันที่ 16 ตุลาคม 2557 ถึงวันที่ 5 สิงหาคม 2559 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน เมื่อกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมเสนอขออนุมัติตรวจสอบการซ่อมแซมรถขยะอัดท้าย หมายเลขทะเบียน 80 - 6689 อุตรดิตถ์ 5 ครั้ง, รถตักหน้าขุดดิน หมายเลขทะเบียน ตค 704 อุตรดิตถ์ 7 ครั้ง, รถบรรทุกเฉพาะกิจ หมายเลขทะเบียน 80 - 5672 อุตรดิตถ์ 5 ครั้ง, รถขยะอัดท้าย หมายเลขทะเบียน 80 - 8469 อุตรดิตถ์ 4 ครั้ง, รถขยะอัดท้าย หมายเลขทะเบียน 80 - 9403 อุตรดิตถ์ 3 ครั้ง, รถขยะอัดท้าย หมายเลขทะเบียน 81 - 1381 อุตรดิตถ์ 3 ครั้ง, รถขยะอัดท้าย หมายเลขทะเบียน 80 - 6689 อุตรดิตถ์ และรถขยะอัดท้าย หมายเลขทะเบียน 81 - 1381 อุตรดิตถ์ รวม 1 ครั้ง, รถขยะอัดท้าย หมายเลขทะเบียน 80 - 8469 อุตรดิตถ์ รถขยะอัดท้าย หมายเลขทะเบียน 81 - 1381 อุตรดิตถ์ และรถบรรทุกเฉพาะกิจ หมายเลขทะเบียน 80 - 5672 อุตรดิตถ์ รวม 1 ครั้ง
สํานักปลัดเสนอขออนุมัติตรวจสอบการซ่อมแซมรถดับเพลิง หมายเลขทะเบียน บท 5556 อุตรดิตถ์ 10 ครั้ง, รถดับเพลิง หมายเลขทะเบียน บธ 5451 อุตรดิตถ์ 3 ครั้ง, รถดับเพลิง หมายเลขทะเบียน 80 - 5340 อุตรดิตถ์ 5 ครั้ง, รถยนต์ หมายเลขทะเบียน กข 5235 อุตรดิตถ์ 2 ครั้ง
กองช่างเสนอขออนุมัติตรวจสอบการซ่อมแซมรถกระเช้าไฟฟ้า หมายเลขทะเบียน 80 - 6908 อุตรดิตถ์ 5 ครั้ง, ปั๊มสูบน้ำบาดาล 1 ครั้ง, รถยนต์ตรวจการณ์ หมายเลขทะเบียน บท 7050 อุตรดิตถ์ 1 ครั้ง
จําเลยพิจารณาอนุมัติให้ดําเนินการตรวจสอบการซ่อมแซมแล้ว จําเลย ได้สั่งให้นางสาว ร.(ตัวย่อ) เขียนใบเสนอราคาของอู่รุ่งเรืองยนตรการซึ่งเป็นกิจการของจําเลยโดยนายสําราญมิได้ลงนามในใบเสนอราคาดังกล่าว เป็นผู้เข้าเสนอราคารับจ้างบํารุงและซ่อมแซมรถยนต์และทรัพย์สินดังกล่าวต่อเทศบาลตําบลท่าเสา แล้วให้นําใบเสนอราคาไปให้เจ้าหน้าที่พัสดุจัดทํารายงานการขอจ้างซ่อมแซมทรัพย์สินดังกล่าวโดยวิธีตกลงราคา เสนอให้จําเลยพิจารณาอนุมัติตามอํานาจหน้าที่
พร้อมกับสั่งการให้เจ้าหน้าที่พัสดุจัดทําใบสั่งจ้างซ่อมแซมทรัพย์สินดังกล่าวไว้ล่วงหน้าแล้วแจ้งให้นายสําราญ มาลงชื่อในใบเสนอราคาดังกล่าวเป็นคู่สัญญาโดยวิธีตกลงราคากับเทศบาลตําบลท่าเสาในภายหลัง โดยมิให้เจ้าหน้าที่พัสดุติดต่อตกลงกับผู้รับจ้างรายอื่นโดยตรง อันเป็นการมิชอบด้วยระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535
เมื่อการซ่อมแซมในแต่ละครั้งดําเนินการแล้วเสร็จ กรรมการตรวจรับพัสดุทําการตรวจรับว่ามีปริมาณและคุณภาพถูกต้องทุกครั้ง และจําเลยอนุมัติสั่งจ่ายเช็คชําระค่าจ้างตามฎีกาเบิกจ่ายเงิน 58 ฉบับ แล้ว จําเลยเป็นผู้นําเช็คที่สั่งจ่ายชําระค่าจ้างของแต่ละครั้งไปให้นายสําราญเพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็ค
เมื่อเบิกถอนเงินแล้ว นายสําราญมอบเงินทั้งหมดให้แก่นาย ถ.(ตัวย่อ) ซึ่งเป็นผู้มารับเงินดังกล่าวแทนจําเลย พร้อมแบ่งจ่ายเป็นค่าจ้างให้แก่นายสําราญตามที่ตกลงกันไว้
หลังจากนั้นนายสําราญจึงไปลงนามเป็นผู้รับเช็คในต้นขั้วเช็คและเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ที่เทศบาลตําบลท่าเสา ค่าจ้างที่มีการเบิกจ่าย 54 ครั้ง รวมเป็นเงิน 516,630 บาท
เหตุเกิดที่ตําบลท่าเสา อําเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์
การกระทําดังกล่าว ถือได้ว่า จําเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด จงใจใช้อู่รุ่งเรืองยนตรการ ซึ่งเป็นกิจการส่วนตัวของจําเลยเองเข้าเป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้เสียในสัญญาจ้างที่ทํากับเทศบาลตําบลท่าเสา ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่จําเลยมีอํานาจกํากับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบและดําเนินคดี เพื่อประโยชน์สําหรับตนเองหรือผู้อื่น เนื่องด้วยกิจการนั้น ทั้งยังเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบการจัดซื้อจัดจ้างของทางราชการ และเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสําหรับตนเองหรือผู้อื่น อันเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
การกระทําของจําเลยจึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สําหรับตนเองหรือผู้อื่น เนื่องด้วยกิจการนั้น ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐดําเนินกิจการเป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทํากับหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอํานาจกํากับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดําเนินคดีรวม 58 กรรม ตามฟ้อง
เมื่อการกระทําของจําเลยในแต่ละกรรมเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สําหรับตนเองหรือผู้อื่น เนื่องด้วยกิจการนั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว จึงไม่จําต้องปรับบทความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก
อนึ่ง ภายหลังการกระทําความผิด ได้มีพระราชบัญญัติเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 26) พ.ศ. 2560 โดยมาตรา 3 ให้ยกเลิกอัตราโทษในมาตรา 152 และให้ใช้อัตราโทษใหม่แทนโดยโทษจําคุกตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษเท่ากัน ส่วนโทษปรับตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษสูงกว่าโทษปรับตามกฎหมายเดิม กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จําเลย จึงให้ใช้กฎหมายที่ใช้ขณะกระทําความผิดบังคับแก่จําเลย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 กับได้มีการยกเลิกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ทั้งฉบับและมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 แทน โดยองค์ประกอบของฐานความผิดตามมาตรา 100 ประกอบมาตรา 122 ในกฎหมายที่ใช้ขณะกระทําความผิด ได้มีการบัญญัติไว้ตามมาตรา 126 ประกอบมาตรา 168 ในกฎหมายที่ใช้ภายหลังกระทําความผิด แต่กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทําความผิดและกฎหมายที่ใช้ภายหลังกระทําความผิดมีอัตราโทษเท่ากัน จึงให้ใช้กฎหมายที่ใช้ขณะกระทําความผิดบังคับแก่จําเลย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 3
พิพากษาว่า จําเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 (เดิม) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 100 (1) ประกอบมาตรา 122 วรรคหนึ่ง การกระทําของจําเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สําหรับตนเองหรือผู้อื่น เนื่องด้วยกิจการนั้น กับฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทํากับหน่วยงานของรัฐ เป็นการกระทํากรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สําหรับตนเองหรือผู้อื่น เนื่องด้วยกิจการนั้น ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
จําคุกกระทงละ 1 ปี รวม 58 กระทง เป็นจําคุก 58 ปี
จําเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจําคุกกระทงละ 6 เดือน รวม 58 กระทง เป็นจําคุก 348 เดือน
เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงให้จําคุก 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2).
******
อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับคดีนี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 27 ต.ค.2566 ได้พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบในการที่อัยการสูงสุด (อสส.) จะไม่อุทธรณ์คำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 6
ขณะที่ จำเลย ยังมีสิทธิต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้อีกได้
แต่ไม่ว่าบทสรุปสุดท้ายการต่อสู้คดีจะออกมาเป็นอย่างไร กรณีนี้นับเป็นบทเรียนสำคัญอีกกรณีหนึ่ง ของผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไม่ให้ใครเดินย้ำซ้ำรอยเอาเป็นเยี่ยงอย่างในอนาคตอีกต่อไป ดังที่เคยระบุไปแล้วในหลายคดีก่อนหน้านี้