"...กรณีนี้ จึงต้องขึ้นอยู่กับการตรวจสอบของ นายทะเบียนพรรคการเมือง (เลขาธิการ กกต.) ที่จะต้องตรวจสอบ รวบรวมพยานหลักฐานต่อไปว่า การที่ นายชัยณัฐร์ กรณ์ชายานันท์ บริจาคเงิน 3 ล้านบาทให้กับพรรคพลังประชารัฐนั้น ถือเป็นเงินที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และ การที่พรรคพลังประชารัฐและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรค รับบริจาคเงินจำนวนดังกล่าวนั้น เข้าลักษณะ “รู้หรือควรจะรู้” ว่าเงินดังกล่าวได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า มีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ..."
เป็นประเด็นร้อนทางการเมืองทันที
กรณี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้ออกมายอมรับว่า นายชัยณัฐร์ กรณ์ชายานันท์ นายทุนจีนที่ได้รับสัญชาติไทยได้มีการบริจาคเงินให้พรรคพลังประชารัฐจำนวน 3 ล้านบาท เมื่อปี 2564 แต่ยังยืนกรานว่าเงินดังกล่าวเข้ามาตามกฎหมาย (ช่องทางการบริจาค) พร้อมยืนยันว่าทางพรรคพลังประชารัฐ ไม่ได้รู้จักกับบุคคลดังกล่าวเป็นการส่วนตัว
แม้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม จะยืนยันเสียงแข็งว่า เงินบริจาคดังกล่าวเข้ามาตามกฎหมาย และ พรรคพลังประชารัฐ ไม่ได้รู้จักกับบุคคลดังกล่าวเป็นการส่วนตัว
แต่กรณียังเป็นประเด็นที่ถูกถกเถียงในสังคมวงกว้าง เนื่องจาก พ.ร.ป.พรรคการเมือง ระบุไว้ชัดเจนว่า ห้ามพรรครับบริจาคเงินผิดกฎหมาย แถมโทษยังร้ายแรงถึงขั้นยุบพรรค-ตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคด้วย
น่าสนใจว่า ข้อเท็จจริงทางกฎหมายต่อกรณีนี้เป็นอย่างไร?
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สืบค้นข้อมูลทางกฎหมายพบว่า ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 72 ระบุไว้ชัดเจนว่า ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า มีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ประกอบมาตรา 92 ที่ระบุว่า เมื่อคณะกรรมการมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น (3) กรทำการฝ่าฝืนมาตรา 20 วรรคสอง มาตรา 28 มาตรา 30 มาตรา 36 มาตรา 44 มาตรา 45 มาตรา 46 มาตรา 72 หรือมาตรา 74
นอกจากนี้ ยังมีบทลงโทษ ตามมาตรา 126 ที่ระบุว่า ผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 72 ต้องระวางโทษจําคุก ไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น
ดังนั้นกรณีนี้ จึงต้องขึ้นอยู่กับการตรวจสอบของ นายทะเบียนพรรคการเมือง (เลขาธิการ กกต.) ที่จะต้องตรวจสอบ รวบรวมพยานหลักฐานต่อไปว่า การที่ นายชัยณัฐร์ กรณ์ชายานันท์ บริจาคเงิน 3 ล้านบาทให้กับพรรคพลังประชารัฐนั้น ถือเป็นเงินที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และ การที่พรรคพลังประชารัฐและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรค รับบริจาคเงินจำนวนดังกล่าวนั้น เข้าลักษณะ “รู้หรือควรจะรู้” ว่าเงินดังกล่าวได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า มีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
สอดคล้องกับคำชี้แจงของแหล่งข่าวระดับสูงสำนักงาน กกต. ที่ยืนยันว่า ตามระเบียบ กกต. ว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน พ.ศ. 2564 ข้อ 4 กำหนดให้เมื่อมีผู้ร้องหรือข้อเท็จจริงปรากฎต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง ว่ามีพรรคการเมืองใดกระทำการอันอาจเป็นเหตุให้ยุบพรรค ทางนายทะเบียนพรรคการเมืองสามารถดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ทันที ดังนั้น กรณีนี้นายทะเบียนพรรคการเมือง (เลขาธิการ กกต.) ก็จะมีการดำเนินการตรวจสอบ และรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานก่อน หากมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำความผิดอันเป็นเหตุให้ยุบพรรคการเมือง นายทะเบียนพรรคการเมืองก็จะเสนอความเห็นต่อ กกต. เพื่อพิจารณาต่อไป
@ ศรีสุวรรณ จรรยา
อย่างไรก็ดี ในช่วงบ่ายวันที่ 28 ต.ค. นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เข้ายื่นหนังสือถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) รับเงินบริจาค 3 ล้านบาทจากนักธุรกิจชาวจีน ว่าเป็นการกระทำที่เข้าข่ายขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 44 มาตรา 72 และมาตรา 74 หรือไม่ หากเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าว ก็ขอให้ กกต. พิจารณายื่นศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค พปชร. ตามมาตรา 92 (3) ของรัฐธรรมนูญ 2560
แม้นักธุรกิจคนดังกล่าวแปลงสัญชาติเป็นไทย และมีบัตรประจำตัวประชาชนไทยแล้ว แต่นายศรีสุวรรณตั้งข้อสงสัยว่าได้สละสัญชาติจีนด้วยหรือไม่ หรือว่ามีการถือ 2 สัญชาติ ซึ่งเกี่ยวข้องกับกฎหมายพรรคการเมือง
ขณะที่ นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ออกมาเปิดเผยผลการตรวจสอบเบื้องต้น โดยดูจากตัวเลขตามบัตรประจำตัวประชาชน พบว่าเป็นผู้มีสัญชาติไทย ซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่สามารถบริจาคเงินให้กับพรรคการเมืองได้
แต่ในท้ายที่สุด ผลการตรวจสอบเรื่องนี้ของ กกต. จะออกมาเป็นอย่างไร จะเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 หรือไม่ จนนำสู่การยุบพรรคหรือไม่ ยังไม่มีใครยืนยันได้ในขณะนี้
สำหรับปูมประวัติของนายชัยณัฐร์ กรณ์ชายานันท์ ถูกระบุในสื่อมวลชนว่า มีชื่อจีนว่า “หาว เจ๋อ ตู้” เป็น “นายทุนจีน” 1 ใน 5 เสือของกลุ่มนักธุรกิจท่องเที่ยวจีนในไทย ในชื่อ “กั่วลี่กรุ๊ป” ก่อนจะได้รับสัญชาติไทย หลังสมรสกับหญิงชาวไทยที่เป็นตำรวจหญิง มีศักดิ์เป็นหลานอดีตนายตำรวจยศ “นายพล” และเป็นนักการเมืองรัฐบาลในอดีต ปัจจุบันนายชัยณัฐร์ ยังมีชื่อเป็นกรรมการเอกชนนับ 10 แห่ง
ขณที่ นายชัยณัฐร์ เคยให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่า เดินทางมาจากจีน เพราะหวังพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ประกอบสัมมาชีพสุจริต เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ได้ Work Permit (ใบอนุญาตทำงาน) ตามขั้นตอน และเมื่อแต่งงานกับหญิงไทย มีลูกด้วยกัน จึงได้สัญชาติไทย เป็นพลเมืองไทยถูกต้อง โดยเมื่อรัฐส่งเสริมธุรกิจ จึงเปิดศูนย์แสดงสินค้า อัญมณี ที่นอนยางพารา สมุนไพร จำหน่ายสินค้าให้นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวภูเก็ต นำเงินเข้าประเทศ ทั้งหมดนี้มีหุ้นส่วนคนไทย มิได้เป็นนอมินีใคร คนงานเป็นคนไทยสร้างรายได้ กระจายรายได้หมุนเวียนในประเทศ พร้อมกับยืนยันว่า “กั่วลี่กรุ๊ป” คือบริษัทคนไทย
ล่าสุด มีรายงานข่าวว่า นายชัยณัฐร์ กรณ์ชายานันท์ ได้ออกมายืนยันว่า เป็นผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวโดยสุจริตมานาน ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจผิดกฎหมายแต่อย่างใด
ผลการตรวจสอบจากนี้เป็นอย่างไร ต้องติดตามดูกันต่อไป แบบห้ามกระพริบตาโดยเด็ดขาด