"...สำหรับกิจกรรมการท่องเที่ยวในอุทยานราชภักดิ์ในปัจจุบันนั้น เมื่อนักท่องเที่ยวขับรถเข้าไปในอุทยานฯ รถของนักท่องเที่ยวจะถูกกำหนดให้ไปจอดไว้บริเวณด้านหน้าอาคารร้านค้าและห้องสุขา จากนั้นต้องเดินเท้าไปที่อาคารต้อนรับ เพื่อรอนั่งรถนำเที่ยวต่อไปยังพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระมหากษัตริย์ไทยในอดีต 7 พระองค์ โดยรถนำเที่ยว จะไปจอดอยู่ตรงบริเวณด้านซ้ายของพระบรมราชานุสาวรีย์ ที่มีจัดทำเป็นจุดให้บริการข้อมูล ร้านค้า รวมไปถึงจุดรับบริจาคเงินสนับสนุนอุทยาน ซึ่งหากใครบริจาคเงินจำนวน 100 บาท จะได้รับภาพโปสเตอร์อุทยาน และสายรัดข้อมือที่ปลุกเสกแล้วจากวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร 1 ชิ้น ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ เดินทางเข้าไปยัง อุทยานราชภักดิ์อยู่เป็นระยะๆ โดยรูปแบบลักษณะกิจกรรม ยังเป็นเหมือนเมื่อปี 2563 ที่สำนักข่าวอิศรา เคยมาลงพื้นที่ไปแล้ว ไม่ค่อยจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมากนัก ..."
"งานจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ใต้ฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ ยังไม่เรียบร้อย มีน้ำรั่วซึมอยู่ และยังไม่มีกำหนดว่าจะดำเนินการก่อสร้างได้แล้วเสร็จเมื่อไร "
คือ ข้อมูลที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เคยนำเสนอไป ในการลงพื้นที่ตรวจสอบความคืบหน้างานก่อสร้างโครงการต่างๆ ใน อุทยานราชภักดิ์ เมื่อปี 2563
หลังจากในช่วงเดือนตุลาคม 2560 กองทัพบก และมูลนิธิอุทยานราชภักดิ์ ออกมาชี้แจงข้อมูลการใช้จ่ายงบประมาณจัดทำโครงการก่อสร้างต่างๆ ภายในอุทยานราชภักดิ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ว่ามีความโปร่งใสปฏิบัติตามขั้นตอนระเบียบราชการ รวมวงเงินกว่า 85 ล้านบาท ขณะที่ความคืบหน้าโครงการอุทยานราชภักดิ์ ระยะที่ 2 จะมีการจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ใต้ฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ซึ่งได้รับงบประมาณจากมูลนิธิอุทยานราชภักดิ์จำนวน 80 ล้านบาท ด้วย
ล่าสุด ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักข่าวอิศรา ย้อนกลับไปติดตามความคืบหน้างานก่อสร้างโครงการต่างๆ ใน อุทยานราชภักดิ์ โดยเฉพาะงานจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ใต้ฐานพระบรมราชานุสาวรีย์อีกครั้ง
พบว่า ปัจจุบันงานก่อสร้างส่วนนี้ ก็คงยังไม่แล้วเสร็จ และไม่มีกำหนดว่าจะดำเนินการก่อสร้างได้แล้วเสร็จเมื่อไรด้วย สภาพบริเวณจุดก่อสร้างด้านหลังฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ เหมือนถูกปล่อยทิ้งเอาไว้มาสักระยะแล้ว (ดูรูปภาพประกอบ)
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า จากการสอบถาม เจ้าหน้าที่อุทยานราชภักดิ์รายหนึ่ง ถึงกำหนดการเปิดใช้งานพิพิธภัณฑ์ใต้ฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ ได้รับคำตอบว่า "ไม่มีกำหนด"
เมื่อถามว่า ทำไมงานก่อสร้างส่วนนี้ถึงมีความล่าช้า เจ้าหน้าที่ อุทยานราชภักดิ์รายนี้ ตอบว่า "เท่าที่ทราบเรามีการเปลี่ยนตัวผู้รับผิดชอบใหม่ หลังจากสัญญาเดิมสิ้นสุดไปแล้ว เข้าใจว่าผู้รับผิดชอบปัจจุบัน ก็คือ ทหารช่างของกองทัพบก แต่เนื่องจากทหารช่างติดภารกิจงานในกรุงเทพฯ อยู่ เลยยังไม่ได้เข้ามาทำงาน และไม่รู้จะเข้ามาทำงานที่นี่ได้เมื่อไร"
เจ้าหน้าที่ อุทยานราชภักดิ์รายนี้ ให้ข้อมูลด้วยว่า ส่วนการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้างานในส่วนพิพิธภัณฑ์ใต้ฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ ที่ทำกันอยู่ตอนนี้ ก็มีการนำสิ่งของบางส่วน ออกมาแสดงโชว์ไว้ที่อาคารต้อนรับแล้ว" (ดูภาพชุดประกอบ)
เมื่อถามย้ำว่า งานก่อสร้างส่วนพิพิธภัณฑ์ใต้ฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ มีกำหนดชัดเจนหรือไม่ว่าจะแล้วเสร็จเมื่อไร
เจ้าหน้าที่อุทยานราชภักดิ์รายนี้ ตอบว่า "ตอบไม่ได้เหมือนกัน"
สำนักข่าวอิศรา รายงานเพิ่มเติม ว่า สำหรับกิจกรรมการท่องเที่ยวในอุทยานราชภักดิ์ในปัจจุบันนั้น เมื่อนักท่องเที่ยวขับรถเข้าไปในอุทยานฯ รถของนักท่องเที่ยวจะถูกกำหนดให้ไปจอดไว้บริเวณด้านหน้าอาคารร้านค้าและห้องสุขา
จากนั้นต้องเดินเท้าไปที่อาคารต้อนรับ เพื่อรอนั่งรถนำเที่ยวต่อไปยังพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระมหากษัตริย์ไทยในอดีต 7 พระองค์ โดยรถนำเที่ยว จะไปจอดอยู่ตรงบริเวณด้านซ้ายของพระบรมราชานุสาวรีย์ ที่มีจัดทำเป็นจุดให้บริการข้อมูล ร้านค้า รวมไปถึงจุดรับบริจาคเงินสนับสนุนอุทยาน ซึ่งหากใครบริจาคเงินจำนวน 100 บาท จะได้รับภาพโปสเตอร์อุทยาน และสายรัดข้อมือที่ปลุกเสกแล้วจากวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร 1 ชิ้น ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ เดินทางเข้าไปยัง อุทยานราชภักดิ์อยู่เป็นระยะๆ (ดูภาพประกอบ)
โดยรูปแบบลักษณะกิจกรรม ยังเป็นเหมือนเมื่อปี 2563 ที่สำนักข่าวอิศรา เคยมาลงพื้นที่ไปแล้ว ไม่ค่อยจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปมากนัก
ส่วนพิพิธภัณฑ์ใต้ฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ นั้น ถ้าหากนับช่วงระยะเวลาตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน เท่ากับวันเวลาผ่านมาแล้ว 5 ปี ก็ยังไม่แล้วเสร็จ และไม่มีกำหนดที่จะแล้วเสร็จด้วย
ทั้งที่ งานส่วนนี้ถูกระบุว่าเป็นงานสำคัญในการจัดแสดงนิทรรศการประวัติศาสตร์ ที่ได้มีการค้นคว้า รวบรวม จัดทำพระราชประวัติ และพระราชกรณียกิจของทั้ง 7 พระองค์เอาไว้ ถือเป็นมรดกอันล้ำค่าของชาติไทย
อนึ่งก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ พบว่า เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2559 ที่ผ่านมา กองทัพบก โดยศูนย์การทหาราบค่ายธนะรัชต์ ได้ว่าจ้างบริษัท อะครอส ยูนิเวิร์ซ จำกัด ดำเนินการก่อสร้างอาคารร้านค้าและห้องน้ำจำนวน 5 รายการ ทำสัญญาเมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2559 สิ้นสุดในวันที่ 2 ก.ค. 2560 ที่ผ่านมา วงเงินงบประมาณ 15,950,000 บาท
บริษัท อะครอส ยูนิเวิร์ซ จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2552 ทุนปัจจุบัน 1 ล้านบาท สินทรัพย์รวม 2,968,199 บาท ตั้งอยู่ที่ 63/302 ม.7 ต.บางรักพัฒนา อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี แจ้งประกอบธุรกิจประมูลเพื่อรับจ้างทำของ งานรับเหมาก่อสร้าง มี น.ส.สกุลรัตน์ ภูหมื่น และนายธิปไตย เนื่องนิยม เป็นกรรมการ
แจ้งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2560 รายได้รวม 9,582,630 บาท รายจ่ายรวม 9,569,906 บาท กำไรสุทธิ 12,723 บาท
ขณะเดียวกันเมื่อเดือน มิ.ย. 2560 ที่ผ่านมา พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร อดีต ผบ.ทบ. ปัจจุบันเป็น รมช.กลาโหม ในฐานะประธานมูลนิธิราชภักดิ์ ได้แก้ไขข้อบังคับในส่วนของที่ตั้งสำนักงานใหญ่ เป็นอาคารกองบัญชาการกองทัพบก เลขที่ 111 ถ.ราชดำเนินนอก แขวงบางขุนพรหม เขตพระนคร กทม. จากเดิมตั้งอยู่ที่ เลขที่ 326/2 ถ.อำนวยสงคราม แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กทม. (อ่านประกอบ : เผยโฉมที่ตั้ง'มูลนิธิราชภักดิ์'ทหารเวรอ้างบ้าน'อุดมเดช')
ทั้งนี้ กองทัพบกดำเนินการว่าจ้างเอกชนเข้ามาก่อสร้างงาน และสร้างอาคาร รวมถึงป้ายทางเข้าในอุทยานราชภักดิ์แล้วอย่างน้อย 5 คร้ง (เท่าที่ตรวจสอบพบ) ได้แก่
1.ก่อสร้างงานระบบสุขาภิบาล โครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ดำเนินงานโดยกรมกิจการพลเรือนทหารบก ว่าจ้างบริษัท เอลิท เอ็นจิเนียร์ส ทำสัญญาเมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2558 สิ้นสุด 30 ก.ย. 2558 วงเงิน 15,441,104 บาท
2.ก่อสร้างอาคารรักษาความปลอดภัยอุทยานราชภักดิ์ ดำเนินงานโดยกรมยุทธโยธาทหารบก ว่าจ้างบริษัท ซีนิค พาร์ค จำกัด ทำสัญญาเมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2558 สิ้นสุด 9 มี.ค. 2559 วงเงิน 2,250,000 บาท
3.ก่อสร้างป้ายทางเข้าอุทยานราชภักดิ์ ดำเนินงานโดยกรมยุทธโยธาทหารบก ว่าจ้างบริษัท โคพลา (ประเทศไทย) จำกัด ทำสัญญาเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2558 สิ้นสุด 15 ธ.ค. 2558 วงเงิน 5,025,000 บาท
4.ติดตั้งหินอ่อนรอบแท่นพระบรมรูป 7 รัชกาล อุทยานราชภักดิ์ ดำเนินงานโดยกรมยุทธโยธาทหารบก ว่าจ้างบริษัท สยาม สโตน อาร์ต จำกัด ทำสัญญาเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2558 สิ้นสุด 30 ธ.ค. 2558 วงเงิน 11,950,000 บาท
5.งานปูพื้นหินลานสักการะ บันได และลานชั้นบน รอบแท่นพระบรมรูป อุทยานราชภักดิ์ ดำเนินงานโดยกรมยุทธโยธาทหารบก ว่าจ้างบริษัท สยาม สโตน อาร์ต จำกัด ทำสัญญาเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2558 สิ้นสุด 18 พ.ย. 2558 วงเงิน 34,941,750 บาท
รวมเบ็ดเสร็จ 6 ครั้ง (เท่าที่ตรวจสอบพบ) ใช้งบประมาณแผ่นดินทั้งสิ้น 85,557,854 บาท (ไม่นับรวมการก่อสร้างอื่น ๆ ที่อาจใช้เงินบริจาคของมูลนิธิราชภักดิ์)
อย่างไรก็ดีก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2558 กองทัพบก เคยประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมเสนอราคาก่อสร้างรั้วอุทยานราชภักดิ์ วงเงิน 9,343,500 บาท ต่อมาได้ยกเลิกการประกาศเชิญชวนประกวดราคาด้วยวิธีพิเศษดังกล่าว โดยไม่ระบุถึงเหตุผล และช่วงเวลาในการยกเลิกประกาศแต่อย่างใด
ขณะเดียวกันจากการลงพื้นที่ตรวจสอบอุทยานราชภักดิ์ เมื่อปี 2558-2559 อย่างน้อย 2 ครั้ง ได้รับการยืนยันข้อมูลจาก ทหารในพื้นที่ และคนงานก่อสร้างว่า งานก่อสร้างรั้วดังกล่าวดำเนินงานโดยบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) โดยทำในลักษณะบริจาค (อ่านประกอบ : ย้อนข้อมูล ทบ.ประกาศจ้างสร้างรั้ว 'ราชภักดิ์'ยกเลิกหลังทำเสร็จ-ใครสร้าง?)
นอกจากนี้สำนักข่าวอิศรา ที่เป็นหนึ่งในสื่อที่เข้าไปตรวจสอบการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์มาตั้งแต่เริ่มต้น เคยสัมภาษณ์โรงหล่อพระบรมรูปหลายแห่ง ต่างยืนยันตรงกันว่า ได้มีการจ่ายเงินประมาณ 10% จากค่าจ้างให้กับเซียนพระรายหนึ่ง ที่เป็นคนดีลงานให้ ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนาหูว่า เป็นเงินค่าหัวคิวหรือไม่ ต่อมานายวัชรพงศ์ ระดมสิทธิพัฒน์ หรือ 'เซียนพระอุ๊' เข้าให้ข้อมูลกับ สตง. ยืนยันว่า ไม่ได้เป็นเงินค่าหัวคิว แต่เป็นเงินค่าตอบแทนที่ปรึกษา (อ่านประกอบ : ทหารตามเงินได้แล้ว แต่ไม่มีใครเอาคืน! โรงหล่อแจงยิบปมจ่ายเงิน 'เซียนพระ', ตีเช็ค5ใบ20ล. บริจาคแทนโรงหล่อ!เซียนพระอุ๊ โผล่แจงสตง.ไร้หัวคิวราชภักดิ์)
กระทั่งเดือน ก.ย. 2559 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า การดำเนินโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ของกองทัพบก ไม่ผิดปกติ ดำเนินการอย่างถูกต้อง ดังนั้นจึงขอให้ยกคำร้องดังกล่าว (อ่านประกอบ : ไม่พบความผิดปกติ! ป.ป.ช.มติเอกฉันท์ 9:0 ตีตกคดีสร้างราชภักดิ์)
ต่อมาสำนักข่าวอิศราทำหนังสือถึงคณะกรรมการ ป.ป.ช. ขอให้เปิดเผยสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริง และรายงานการประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เกี่ยวกับกรณีนี้ เนื่องจากตามระเบียบใหม่ของ ป.ป.ช. เปิดช่องให้ประชาชนทั่วไปขอดูเหตุผลการตีตกคดีต่าง ๆ ของ ป.ป.ช. ได้ แต่สำนักงาน ป.ป.ช. ปฏิเสธ อ้างว่าตีตกในชั้นแสวงหาข้อเท็จจริง (การตรวจสอบขั้นต้น) ยังไม่ถึงขั้นไต่สวนข้อเท็จจริง (มีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน) จึงไม่อนุญาตสำนักข่าวอิศราคัดสำเนารายงานการไต่สวน และรายงานการประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช. (อ่านประกอบ : ป.ป.ช.ไม่ให้ข้อมูล‘อิศรา’คดีราชภักดิ์ อ้างตีตกในชั้นแสวงข้อเท็จจริง ยังไม่ไต่สวน)
อ่านประกอบ :
ป.ป.ช.ไม่ให้ข้อมูล‘อิศรา’คดีราชภักดิ์ อ้างตีตกในชั้นแสวงข้อเท็จจริง ยังไม่ไต่สวน
วัดความโปร่งใส? เปิดแฟ้ม‘อิศรา’ ขอข้อมูล ป.ป.ช.แต่ถูกปฏิเสธ ก่อนกรณี ‘ปรีชา’
ไม่พบความผิดปกติ! ป.ป.ช.มติเอกฉันท์ 9:0 ตีตกคดีสร้างราชภักดิ์
ศอตช.สอบไม่ครบ! ป.ป.ช.สานต่อล่ามือมืดหักหัวคิวสร้างราชภักดิ์
ไม่ให้ข้อมูลราชภักดิ์! ทบ.อ้างรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคล-โยนขอ ป.ป.ท.-สตง.เอง
สำนักเลขาฯทบ.จี้กรมกำลังพลทหารบกเปิดข้อมูลสร้างราชภักดิ์แก่‘อิศรา’
‘อิศรา’ใช้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารขอ ทบ.เปิดรายละเอียดสร้าง‘อุทยานราชภักดิ์’
2 เดือนเพิ่งตอบ! ทบ.ไม่ให้ข้อมูลสร้างราชภักดิ์'อิศรา'อ้าง สตง.สอบอยู่
‘วีระ’ ค้าน ศตอช.สรุป 'ราชภักดิ์' โปร่งใส ลั่นนโยบายปราบโกงหมดความชอบธรรม
เช็คจ่ายเมื่อไหร่-ใครสร้างรั้ว! ปมที่ยังไม่เคลียร์หลัง ศอตช.ยันราชภักดิ์โปร่งใส?
มีประเด็นใหม่! ป.ป.ช.สั่งสอบเพิ่มปมราชภักดิ์-รวมข้อมูลกล่าวหา‘บิ๊กโด่ง’
‘วีระ’ยื่น ป.ป.ช.สอบ‘อุดมเดช-ศิริชัย’ ปมก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์
เจาะถุงเงิน! ‘บ.สยามปุระ’เอาจากไหนจ่ายเช็ค 20 ล.บริจาคสร้าง‘ราชภักดิ์’
หุ้น‘เซียนอุ๊’หายจาก บ.สยามปุระฯช่วงเกิดเรื่องราชภักดิ์-นักธุรกิจโผล่ถือแทน
เทียบจุดตาย! ‘ราชภักดิ์-อผศ.ขุดคลอง’ วัดใจ‘รบ.บิ๊กตู่’สางปัญหาใต้พรม?
สตง.ชงศอตช.ชี้ขาดผลสอบราชภักดิ์ ลั่นพร้อมให้สื่อซักถาม-โชว์เช็คเซียนพระ
ตีเช็ค5ใบ20ล. บริจาคแทนโรงหล่อ!เซียนพระอุ๊ โผล่แจงสตง.ไร้หัวคิวราชภักดิ์
ทหารตามเงินได้แล้ว แต่ไม่มีใครเอาคืน! โรงหล่อแจงยิบปมจ่ายเงิน 'เซียนพระ'
แกะรอย 'อุ๊ กรุงสยาม' เซียนพระคดีอุทยานราชภักดิ์ ถูกทหารเชิญตัวให้ปากคำจริงหรือ?
ขมวดปมหัวคิวโรงหล่อ! สรุป 'เซียนพระอุ๊' มีเอี่ยวจริงหรือ? หาตัวมาแถลงชัดๆได้ไหม?
เปิดตัว2เอกชนใหม่ สร้างตึก รปภ.-ป้ายราชภักดิ์!คู่สัญญาร.ร.นายร้อยฯ 216 ล.
เบ็ดเสร็จคว้า2 สัญญา 46 ล.! ผู้รับเหมาจ.นนท์ ยันทำงานอุทยานราชภักดิ์เพื่อชาติ-ไร้หัวคิว
ทบ.ยกเลิกประกวดราคาสร้างรั้ว‘ราชภักดิ์’วิธีพิเศษ 9.3 ล.ทั้งที่ทำเสร็จแล้ว
ย้อนข้อมูล ทบ.ประกาศจ้างสร้างรั้ว 'ราชภักดิ์'ยกเลิกหลังทำเสร็จ-ใครสร้าง?
ทบ.เฉย! ‘อิศรา’ร้องเรียน กก.ข่าวสารฯขอให้เปิดเผยข้อมูลสร้างราชภักดิ์