"...เรื่องนี้มีอยู่ 2 มุม ที่ต้องทำควบคู่ไปพร้อมกัน นอกจากการปรับปรุงประสิทธิภาพของกฎหมาย อีกด้านหนึ่งคือประชาชนเองต้องอยู่ในเงื่อนไขที่เขาพร้อมปรับเปลี่ยนไปพร้อมกับกฎหมายหรือไม่ ถ้าประชาชนไม่พร้อมด้วยเหตุผลว่าคาร์ซีทราคาแพง สภาพรถติดตั้งไม่ได้ หรือมีลูกหลายคน สิ่งเหล่านี้ก็อาจทำให้การบังคับใช้เริ่มยากขึ้นเช่นกัน..."
7 พ.ค.2565 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พ.ร.บ.การจราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2565 โดยให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วัน ซึ่งจะตรงกับช่วงเดือนกันยายน 2565
นอกจากจะปรับปรุงกฎหมายให้เหมาะสมกับสภาพปัจจุบันแล้ว กฎหมายฉบับนี้ยังเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้ ป้องกันการกระทำความผิดเกี่ยวกับช่องทางเดินรถ เพิ่มลักษณะความผิดในการขับรถ เข็มขัดนิรภัย รวมถึงป้องกันการแข่งรถในทางโดยไม่ได้รับอนุญาต
41 มาตราที่ถูกเขียนใน พ.ร.บ.การจราจรทางบก (ฉบับที่ 13) ส่วนใหญ่ว่าด้วยการเพิ่มบทระวางโทษจำคุก-ปรับในหลายฐานความผิด
และยังเพิ่มข้อบัญญัติความผิดในหลายกรณี อาทิ การเพิ่ม มาตรา 43 (8) ห้ามมิให้ผู้ขับขี่รถในลักษณะที่เห็นได้ว่าไม่คำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตหรือร่างกายของผู้อื่น
อย่างไรก็ตามประเด็นที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดคือ มาตรา 123 ที่เพิ่มบทบัญญัติ-เงื่อนไขในการขับขี่ปลอดภัย ที่กำหนดข้อบังคับการรัดเข็มขัดนิรภัยอย่างเข้มข้น
โดยเฉพาะมาตรา 123 (2) (ข) กำหนดให้คนโดยสารที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องจัดให้นั่งในที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กหรือนั่งในที่พิเศษสำหรับเด็กเพื่อป้องกันอันตราย หรือมีวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ หากฝ่าฝืนระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
ประเด็นข้างต้นนำไปสู่ข้อถกเถียงเกี่ยวกับความจำเป็น ความปลอดภัย และค่าใช้จ่ายที่ถูกเพิ่มขึ้นท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน
เพราะ ‘คาร์ซีท’ ที่จำหน่ายในประเทศไทย ยังมีราคาสูงตั้งแต่หลักพันบาทจนถึงหลายหมื่นบาท ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าสินค้าบางรุ่นถูกนำเข้าจากต่างประเทศและต้องถูกจัดเก็บภาษีเพิ่มอีกประมาณ 20%
ที่สุดแล้วประเทศไทยมีความพร้อมแค่ไหนกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ?
ข้อมูลจากรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย ซึ่งจัดทำขึ้นตามกระบวนการตรากฎหมายตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ก่อนที่จะมีการเสนอร่างกฎหมายให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) และสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะเจ้าของเรื่องรายงานว่า เหตุผลและความจำเป็นในการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับ ‘คาร์ซีท’ เพราะไทยยังไม่ได้บัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับที่นั่งสำหรับเด็ก กรณีซึ่งไม่สามารถใช้เข็มนิรภัยได้ไว้โดยเฉพาะ ซึ่งการกำหนดที่นั่งสำหรับเด็กเป็นหลักการสำคัญที่หลายประเทศได้ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้ครอบคลุมแล้ว
นอกจากนั้นเรื่องที่นั่งสำหรับเด็กยังเป็นหัวข้อสำคัญที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดเป้าหมายให้ทุกประเทศ ต้องมีกฎหมายกลางระดับชาติในเรื่องดังกล่าวบังคับใช้ในประเทศนั้นๆ ภายในปี 2573 จึงสมควรกำหนดการให้ใช้ที่นั่งสำหรับเด็กไว้เป็นความผิดและมีบทกำหนดโทษไว้โดยเฉพาะ
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังรายงานผลกระทบในทางลบไว้ด้วยว่า การบังคับใช้กฎหมายในเรื่องเข็มขัดนิรภัยและการยกเว้นรถบางประเภทที่ผู้โดยสารไม่ต้องรัดเข็มขัดนิรภัย ต้องอาศัยการออกกฎหมายลำดับรองในหลายประเด็น ในช่วงแรกอาจทำให้ผู้บังคับใช้มีความยากลำบากในการตรวจจับ เพราะกฎหมายกำหนดแยกประเภทของการใช้เข็มขัดนิรภัย และการยกเว้นไว้รายละเอียดที่ค่อนข้างซับซ้อน ผู้ปฏิบัติต้องใช้ข้อมูลการประกอบในการพิจารณาว่า รถคันดังกล่าวกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้หรือไม่
นอกจากนั้น ยังพบว่าระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมายในสภาผู้แทนราษฎร-วุฒิสภา ที่ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.การจราจรทางบก (ฉบับที่ 13) ก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ มีการพูดถึงเรื่องราวของ ‘คาร์ซีท’ ไว้หลายประเด็น
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ การอภิปรายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ส่วนใหญ่เห็นว่า ‘คาร์ซีท’ ซึ่งเป็นที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กยังมีราคาแพง อาจทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน จึงต้องต้องมีมาตรการในการควบคุมราคา และออกข้อบังคับว่าด้วยคุณสมบัติมาตรฐานสินค้า เพื่อความปลอดภัยสำหรับเด็กต่อไป
อาทิ นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา อภิปรายสนับสนุนการปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้ ในฐานะที่ได้มีส่วนร่วมในการจัดทำแนวทางแก้ปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายจราจรทางเป็นเวลา 18 ปี ตั้งแต่ปี 2545 สมัยดำรงตำแหน่ง รมช.คมนาคม แต่ยังเห็นว่า ‘คาร์ซีท’ เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ราคาแพง อาจสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน ดังนั้นจะต้องให้ภาครัฐไปลดภาษี เพื่อให้ราคาถูกลง
“เนื่องจากว่าเพื่อความปลอดภัยของเด็กจะต้องไปลดภาษีลงมา ต้องไปดำเนินการอีกหลายอย่าง ตรงนี้ฝากไปด้วยกับท่านรัฐมนตรีที่มาชี้แจงว่าต้องไปทำให้ลดลงมา อาจให้บีโอไอ (BOI) หรือสิทธิประโยชน์ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องก็ได้” นายนิกร กล่าว
เช่นเดียวกับนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย แสดงความกังวลเกี่ยวกับเรื่องราคาของ ‘คาร์ซีท’ พร้อมตั้งคำถามถึงการบังคับใช้กฎหมายว่าจะสามารถทำได้จริงหรือไม่
“สังคมไทย ประเทศไทย มันไม่ใช่แค่กรุงเทพมหานครที่มีคนไฮโซอย่างเดียวนะครับ ต่างจังหวัดลูกเล็กๆ เยอะ แค่ซ้อนมอเตอร์ไซค์ ซ้อนสี่หมวกกันน็อกยังไม่ใส่เลย ตำรวจยืนเกาหัวแกรกๆ กลางสี่แยก จับกันหรือเปล่าล่ะครับ” นายจิรายุ กล่าว
ด้าน พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 ในฐานะผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตอบชี้แจงในสภาว่า กรณีกฎหมายกำหนดให้มีที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กนั้น ไม่ได้ก่อให้เกิดภาระแก่ประชาชนแต่อย่างใด เนื่องจากกฎหมายอนุญาตให้เด็กสามารถนั่งที่นั่งแถวตอนอื่นนอกจากแถวตอนหน้าได้ หากมีผู้โดยสารอื่นที่นั่งแถวตอนเดียวกันเป็นผู้ดูแล โดยผู้ดูแลนั้นต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งตลอดเวลาในขณะโดยสารรถยนต์ ไม่ได้บังคับใช้รถทุกคันจะต้องซื้อที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กแต่อย่างใด
“ถ้าผู้ใหญ่ 1 คน พาเด็ก 3-4 ขวบนั่งไปในรถด้วย เขาจะขับรถอย่างไร โอกาสเกิดอันตรายมีสูงหรือไม่ กฎหมายนี้บอกว่าถ้าจะพาเด็กไปด้วยให้ใช้ที่นั่งสำหรับเด็ก แล้วมีเข็มขัดรัด แต่ถ้าไม่มี คุณต้องหาผู้ใหญ่อีก 1 คน อุ้มเด็กและอยู่ในที่นั่งตอนหลังแล้วคาดเข็มขัดนิรภัยก็ใช้ได้ มันไม่ใช่ภาระว่ารถทุกคันต้องซื้อที่นั่งสำหรับเด็กอันละ 5,000-50,000 บาท แต่ขอว่าถ้าเกิดคุณจะเอาเด็กไปด้วย ต้องมีผู้ใหญ่หรือผู้ปกครองดูแลเด็ก ไม่ใช่เป็นภาระหน้าที่ของผู้ขับขี่ต้องดูแลเพียงเท่านั้นครับ” พล.ต.ต.เอกรักษ์ กล่าว
ส่วนการพิจารณาในวาระที่ 2 คณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) สภาผู้แทนราษฎรตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติม 3 ประเด็น เนื่องจากเห็นว่านั่งพิเศษสำหรับเด็กที่มีราคาค่อนข้างสูง
1.สมควรที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะมีประกาศกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ เพื่อเป็นทางเลือกที่ใช้แทนการจัดให้มีที่นั่งพิเศษ โดยมีหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม เพียงพอต่อความปลอดภัยและไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนเกินความจำเป็น
2.สำนักงานตำรวจแห่งชาติควรจัดให้มีการอบรมเจ้าหน้าที่ที่บังคับใช้กฎหมายให้มีความเข้าใจในหลักการนี้ในแนวทางเดียวกัน และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบแนวทางการบังคับใช้กฎหมายในเรื่องนี้เป็นการล่วงหน้า
3.หน่วยงานของรัฐควรมีมาตรการส่งเสริมให้มีการผลิตหรือนำเข้าที่นั่งพิเศษสำหรับเด็ก เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงอุปกรณ์ดังกล่าวได้ในราคาถูก หรือมีการส่งเสริมให้เกิดการประกอบธุรกิจให้เช่าที่นั่งพิเศษสำหรับเด็ก เพื่อเป็นทางเลือกในการจัดหาอุปกรณ์ดังกล่าวให้สอดคล้องกับความต้องการหรือความจำเป็นทางเศรษฐกิจของประชาชน
พร้อมยกตัวอย่าง ประเทศฟิลิปปินส์ได้มีโครงการบริจาคที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กในครอบครัวที่ไม่จำเป็นต้องใช้ที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กอีกต่อไป โดยสามารถนำมาบริจาคให้แก่ทางราชการเพื่อที่จะได้นำไปใช้บรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ครอบครัวที่ขาดแคลนที่นั่งพิเศษสำหรับเด็ก
ส่วนการพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการร่วมของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ได้ลงมติเห็นชอบการเพิ่มข้อความ ‘ที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กเพื่อป้องกันอันตราย’ จากเดิมที่กำหนดไว้เพียง ‘ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก’ เพื่อทำให้กฎหมายมีความยืดหยุ่นมากขึ้น
เนื่องจากเห็นว่า ‘ที่นั่งนิรภัย’ สำหรับเด็กมีมาตรฐานที่สูงและราคาแพง ทำให้ประชาชนทั่วไปไม่สามารถจัดซื้อได้ ส่วน ‘ที่นั่งพิเศษ’ มีความหมายกว้างขึ้น โดยเน้นให้มีความปลอดภัยและสำนักงานตำรวจแห่งชาติสามารถนำไปประกาศกำหนดเป็นทางเลือกได้
ขณะเดียวกันยังพบข้อมูลทางวิชาการหลายตัวที่สนับสนุนความจำเป็นเกี่ยวกับการติดตั้ง ‘คาร์ซีท’ ให้กับเด็กไว้อย่างน่าสนใจ
กองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค ระบุว่า ระหว่างปี 2560-2564 มีผู้โดยสารที่เป็นเด็กอายุ 0-6 ปี เสียชีวิตในอุบัติเหตุรถยนต์ปีละ 44 รายหรือเฉลี่ยสัปดาห์ละ 1 คน และพบว่าในเด็กที่บาดเจ็บและเสียชีวิตมีการใช้ ‘คาร์ซีท’ เพียง 3.46%
ศูนย์วิจัยเพื่อความปลอดภัยในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เผยผลการศึกษารายงานของสหรัฐอเมริกา พบว่าการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับ ‘คาร์ซีท-เข็มขัดนิรภัย’ ช่วยลดการเสียชีวิตในกลุ่มเด็ก 1-4 ปีได้ 69% และลดการเสียชีวิตในกลุ่มเด็ก 5-16 ปีขึ้นไป 45%
ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่า เบาะนั่งนิรภัยสามารถช่วยลดการเสียชีวิตของเด็กทารกได้ถึง 70% และสำหรับเด็กโต 54%- 80% ปัจจุบันทั่วโลกมากกว่า 96 ประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้สูงมีการบังคับใช้กฎหมายนี้แล้ว ส่วนกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางยังไม่บังคับใช้ โดยประมาณการว่าทั่วโลกมีอัตราการใช้เบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็กในรถยนต์เพียง 32% ของประชากรโลกเท่านั้น
ส่วนประเทศไทย WHO พบว่า มีการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายตามมาตรฐานสากล ได้แก่ คาดเข็มขัดนิรภัย กำหนดอัตราความเร็ว การใช้หมวกนิรภัย แต่ยังไม่มีการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายเบาะนั่งนิรภัยสำหรับเด็กในรถยนต์ และประมาณการว่ามีการใช้สิ่งนี้ในประเทศไทยเพียง 1% เนื่องจากมีราคาสูง และประชาชนยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการใช้
นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า ประเทศไทยมีการหารือเกี่ยวกับการเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้โดยสารเด็กกันมานาน ทุกคนรู้ว่าเรื่องนี้สำคัญมาก แต่ที่ผ่านมายังไม่สามารถผลักดันให้ผ่านกฎหมายได้สำเร็จ เพราะรู้ว่าจะต้องเจอแรงต้านพอสมควร
อย่างไรก็ตามข้อมูลทางวิชาการมีความชัดเจนว่า ‘คาร์ซีท’ มีความจำเป็นด้านความปลอดภัย ดังนั้นโจทย์สำคัญเวลานี้คือจะทำอย่างไรให้สังคมไทยตื่นตัวและยอมใช้จ่ายกับความจำเป็นเหล่านี้
“เรื่องนี้มีอยู่ 2 มุม ที่ต้องทำควบคู่ไปพร้อมกัน นอกจากการปรับปรุงประสิทธิภาพของกฎหมาย อีกด้านหนึ่งคือประชาชนเองต้องอยู่ในเงื่อนไขที่เขาพร้อมปรับเปลี่ยนไปพร้อมกับกฎหมายหรือไม่ ถ้าประชาชนไม่พร้อมด้วยเหตุผลว่าคาร์ซีทราคาแพง สภาพรถติดตั้งไม่ได้ หรือมีลูกหลายคน สิ่งเหล่านี้ก็อาจทำให้การบังคับใช้เริ่มยากขึ้นเช่นกัน” นพ.ธนะพงศ์ กล่าว
นอกจากนี้ นพ.ธนะพงศ์ ยังกล่าวถึง 2 ข้อเสนอเพื่อให้ภาครัฐใช้เป็นแนวทางการส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้ ‘คาร์ซีท’ มากขึ้น คือ 1.รัฐต้องปรับฐานภาษีการนำเข้าอุปกรณ์นี้ เพื่อทำให้ราคาถูกลง 2.รัฐแจกเงินอุดหนุนโดยการทำเป็นคูปองหรือสวัสดิการสำหรับครอบครัวที่มีลูก
“เมื่อรัฐทำให้คาร์ซีทเป็นสินค้าที่มีราคาจับต้องได้แล้ว ด่านต่อไปที่ต้องทำคือการปรับทัศนคติของคน เช่น ไปแค่นี้ไม่ต้องใช้ หรือ ใช้งานไม่ได้เพราะเด็กไม่ยอมจนกลายเป็นอุปสรรค สิ่งเหล่านี้รัฐช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่สำคัญที่สุดคือมิติทางครอบครัวที่ต้องช่วยกันตักเตือน” นพ.ธนะพงศ์
นอกจากเรื่อง ‘คาร์ซีท’ แล้ว อีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญใน พ.ร.บ.การจราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2565 คือการปรับปรุงมาตรา 160 เพื่อวางแนวทางการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำเดิม กรณี ‘เมาแล้วขับ’
โดยมาตรา 160 ตรี/1 ระบุว่า ผู้ใดเมาแล้วขับ และได้กระทำความผิดซ้ำภายใน 2 ปีนับแต่วันทำผิดครั้งแรก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และ ปรับตั้งแต่ 50,000 – 100,000 บาท และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของผู้นั้นมีกำหนดไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่
มาตรา 160 ตรี/2 ระบุว่า ผู้ใดเมาแล้วขับ ถ้าผู้กระทำความผิดนั้นขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับขี่ หรือถูกพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ ผู้กระทำต้องระวางโทษสูงกว่าที่กฎหมายกำหนดสำหรับความผิดนั้นอีก 1 ใน 3
หากกรณีการกระทำผิดตามวรรคหนึ่งเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจอันตรายสาหัส หรือถึงแก่ความตาย ให้ศาลพิพากษาเพิ่มโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดอีกกึ่งหนึ่งของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับความผิดนั้น
มาตรา 160 ตรี/3 ผู้ใดเมาแล้วขับ และได้กระทำความผิดซ้ำอีก ภายใน 2 ปี นับแต่วันที่กระทำความผิดครั้งแรก ให้ศาลลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ
ทั้งนี้มิให้ใช้บังคับกับผู้กระทำความผิดที่มีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่กระทำความผิดครั้งหลัง
อย่างไรก็ตาม นพ.ธนะพงศ์ กล่าวย้ำว่า แม้ว่าจะมีการปรับปรุงเพื่อเพิ่มโทษให้รุนแรงเพียงใด แต่หากกฎหมายไม่อยู่ในสภาพที่บังคับใช้ได้จริงก็จะไม่เกิดประโยชน์ในการป้องปรามอะไรเลย ดังนั้นตัวผู้บังคับใช้กฎหมายควรที่จะต้องมีความเข้าใจในรายละเอียดของกฎหมายแต่ละฉบับอย่างลึกซึ้ง
“คำว่าเข้าใจคือเข้าใจเจตนารมณ์ของกฎหมายที่มีการปรับปรุงขึ้นใหม่ เพื่อให้การใช้ดุลยพินิจเป็นไปอย่างเหมาะสม หากไม่เข้าใจเจตนารมณ์ของกฎหมายจราจรที่ต้องการสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนแล้ว สุดท้ายกฎหมายทุกฉบับจะถูกเพ่งเล็งเฉพาะเรื่องค่าปรับเพียงอย่างเดียว ทั้งที่บางกรณีอาจจะแค่ตักเตือนก็ได้” นพ.ธนะพงศ์ กล่าว
ดังนั้นนอกจากการปรับปรุงกฎหมายเพื่อเพิ่ม ‘ยาแรง’ สำหรับประชาชน แต่ ‘ตำรวจ’ ในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมายจะต้องพิจารณาการใช้ดุลยพินิจให้เป็นไปอย่างเหมาะสมควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้กฎหมายจราจรอยู่ในสภาพบังคับใชได้จริง และเป็นไปตามจุดมุ่งหมายการลดอุบัติเหตุ และสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคน