"..กรมวิทย์ฯ แจงเดลต้าระบาดกระจายครบทุกจังหวัด ไทยพบสายพันธุ์ 4 ชนิด ในผู้ป่วย 7 ตัวอย่าง ย้ำไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่-สายพันธุ์ไทย เคยพบแล้วที่ยุโรป เผยยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่าจะส่งผลต่อการดื้อต่อวัคซีนมากกว่าสายพันธุ์หลักหรือไม่ เร่งติดตาม-ถอดรหัสพันธุกรรมเพิ่มอีก 6 พันตัวอย่างภายในปีนี้.."
---------------------------------------------
เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2564 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีการตรวจไป 2,295 ตัวอย่าง พบเดลต้ามากที่สุด โดยภาพรวมประเทศอยู่ที่ 92.9% ในพื้นที่ กทม.พบ 96.7% จากจำนวน 1,531 ตัวอย่าง ส่วนภูมิภาค 85.2% จาก 764 ตัวอย่าง
เป็นข้อสรุปได้ว่า สายพันธุ์เดลตากระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยทุกจังหวัดหมด สัปดาห์ที่แล้ว ไม่พบสายพันธุ์เดลต้าในสุพรรณบุรี แต่ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีรายงาน 3 ราย ดังนั้น 76 จังหวัดและ กทม. พบสายพันธุ์เดลต้าหมดแล้ว จึงถือว่า เดลต้าเป็นสายพันธุ์หลักในการติดเชื้อของไทย ส่วนเบต้า ยังพบในโซนภาคใต้ส่วนล่าง โดยเฉพาะที่ติดมาเลเซีย ส่วนที่เคยเจอที่บึงกาฬ และ กทม. ขณะนี้ไม่มีแล้ว ดังนั้น สัปดาห์ที่ผ่านมาพบเพียง 29 รายในภาคใต้ โดยพบที่นราธิวาสมากสุด 15 ราย นอกนั้นมีกระบี่ ภูเก็ต ปัตตานี และสงขลา
@ สายพันธุ์เดลต้าย่อย ไม่ใช่สายพันธุ์ไทย
นพ.ศุภกิจ กล่าวด้วยว่า เมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมาทางศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้วิเคราะห์สายพันธุ์ย่อยของเดลต้า ปัจจุบันเดลตาในบ้านเรา และเกือบทั่วโลก จะเป็นเดลตาที่เรียกว่า B.1.617.2 เป็นส่วนใหญ่ แต่เมื่อมีการระบาดเร็วก็มีสายพันธุ์ย่อยๆ ขึ้นมา ซึ่งในส่วนกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็มีการตรวจเช่นกัน โดยส่วนใหญ่ที่พบได้มีการติดตามอาการว่า แตกต่างหรือมีความรุนแรงอย่างไร มีจำนวนมากน้อยแค่ไหน โดยคนที่ตรวจพบได้มีการประสานกับกรมควบคุมโรคในการติดตามอาการว่า มีอาการหนักหรือไม่อย่างไร เบื้องต้นยังไม่พบข้อแตกต่างตรงนี้
ทั้งนี้ สำหรับสายพันธุ์ย่อยที่พบครั้งนี้ ต้องเรียนก่อนว่า ไม่ได้มีเฉพาะประเทศไทย ยังมีอีกหลายประเทศ ทั้งอังกฤษ สเปน เดนมาร์ก มีรายงานเช่นกัน ดังนั้น อย่าไปสรุปว่าเป็นสายพันธุ์ของไทย แต้องจับตามองว่า สายพันธุ์นี้จะมีผลต่อการควบคุมโรคหรือไม่ ซึ่งมีการติดตามต่อเนื่อง
@ พบเดลต้าสายพันธุ์ย่อยถึง 27 สายพันธุ์
ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า จากการที่หลากหลายประเทศมีการถอดรหัสพันธุ์กรรมของโควิด ทั้งจีโนม (whole genome sequence) อย่างต่อเนื่องทุกอาทิตย์ หรือทุกเดือน และอัปโหลดขึ้นไว้บนระบบฐานข้อมูลจีโนมโควิดโลก (GISAID) โดยประเทศไทยได้เข้าร่วม มีการจัดทำข้อมูลดังกล่าวเช่นกัน
ปัจจุบันมี 3 ล้านตัวอย่างทั่วโลก ช่วยกันใส่ข้อมูลเข้าไป และจะมีการจัดหมวดหมู่แต่ละสายพันธุ์ และประมวลผลในรูปแบบของแผนภูมิต้นไม้ (Phylogenetic tree) คือ แผนภูมิที่แสดงถึงสายวิวัฒนาการจากลำต้น (สายพันธุ์ดั่งเดิม) ทั้งอัลฟ่า เดลต้า แกมม่า เบต้า โดยในรูปแบบนี้จะทำให้เห็นถึงการกลายพันธุ์ได้ด้วย
ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าวว่า จากข้อมูลดังกล่าวพบว่า สายพันธุ์เดลต้า มีการกลายพันธุ์หลุดออกมาถึง 60 ตำแหน่งเมื่อเทียบกับอู่ฮั่นเดิม จากจีโนมทั้งหมด 3 หมื่น ซึ่งมีการกลายพันธุ์ออกไปจำนวนมาก บ่งชี้ว่ามีการแพร่ระหว่างคนสู่คนมาก อย่างไรก็ตาม กรณีสายพันธุ์เดลต้า จะมีตัวหลักที่เรียกว่า B.1.617.2 พบว่ามีการกระจายตัวแตกเป็นสายพันธุ์ย่อยถึง 27 สายพันธุ์ย่อย มีตั้งแต่ AY.1 ไปจนถึง AY.22 ข้อมูลนี้มาจากระบบ ไม่ใช่นักวิจัยทำกันเอง และเมื่อดูฐานข้อมูลของประเทศไทยจะพบว่า อัลฟ่า 11% เบต้า 14% เดลต้า 71% และสายพันธุ์ย่อยเดลต้า พบดังนี้ AY.4 หรือ B.1.617.2.4 พบ 3% ในปทุมธานี 4 คน , AY.6 หรือ B.1.617.2.6 พบ 1% มี 1 คน , AY.10 หรือ B.1.617.2.10 พบ 1% หรือ 1 คนในกทม. และ AY.12 พบ 1 คนเป็นต้น
โดยข้อมูลที่มีการเก็บทั้งหมดจะรายงานว่า พบที่ไหน อย่างไร เมื่อไหร่ จำนวนเท่าไหร่ เพื่อติดตามการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง จากนี้ต้องติดตาม AY ต่างๆมากขึ้น อย่างสายพันธุ์ย่อย AY.4 พบมากแถวปทุมธานี ส่วน AY.12 พบย่านพญาไท ที่พบบริเวณดังกล่าวเพราะมีการสุ่มบริเวณนั้น
@ สายพันธุ์ย่อยเป็นลูกหลานเดลต้า กลายพันธุ์ในประเทศ
ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าวถึงข้อสงสัยว่าสายพันธุ์ย่อยมาจากไหนนั้นว่า หากพิจารณาสายพันธุ์ย่อยที่พบไม่ได้บ่งชี้ว่ามาจากสถานกักตัวของรัฐ หรือมาจากสนามบิน แต่กลับบ่งชี้ว่า เป็นลูกหลานของสายพันธุ์หลักเดลต้าที่มีอยู่แล้วในประเทศไทย ส่วนสายพันธุ์หลักจะมาจากไหนก็ต้องไปว่ากันอีกที ว่า ได้มีการแพร่เชื้อไปให้ประเทศเพื่อนบ้าน หรือเพื่อนบ้านแพร่มา ดังนั้น เมื่อทราบข้อมูลก็จะนำไปสู่การควบคุมดูแลอีกแบบหนึ่ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สายพันธุ์ย่อยดังกล่าว ยังไม่มีข้อมูลมารองรับว่าดื้อต่อวัคซีนหรือไม่ รวมไปถึงอาการต่างๆ เป็นต้น
@ เตรียมถอดรหัสพันธุกรรมอีก 6 พันตัวอย่างในปีนี้
นพ.สุรัคเมธ มหาศิริมงคล ผู้อำนวยการสถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ข้อมูลสายพันธุ์เดลต้ามีการอัปเดตตลอด และข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 9 ส.ค.2564 ทำให้ทราบว่ามีสายพันธุ์ย่อย AY.1 ไปจนถึง .25 และทุกตัวของสายพันธุ์เดลต้ายังคงคุณสมบัติแพร่กระจายเร็ว อาการรุนแรง
สำหรับเชื้อเดลต้าพลัสที่อินเดียเคยรายงาน คือ K417N ในไทยยังไม่เจอ อย่างไรก็ตาม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้มีการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของเชื้อไวรัส ใช้เวลา 3-5 วัน และดำเนินการมาตลอด โดยการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมล่าสุด 1,955 ตัวอย่าง พบว่าเป็นอัลฟา 71% ส่วนเดลตา 23% เป็นการสุ่มตรวจตั้งแต่ 28 พ.ค. เป็นข้อมูลพื้นฐานที่ทำให้พบสายพันธุ์เดลต้าอยู่ อย่างไรก็ตาม AY.4 พบมากสุดในปทุมธานี 4 ตัวอย่าง AY.6 พบในกรุงเทพฯ 1 ตัวอย่าง AY.10 พบ กทม. 1 ตัวย่าง และ AY.12 พบสุราษฎร์ธานี 2 ตัวอย่าง และ กทม. 1 ตัวอย่าง เป็นข้อมูลตั้งแต่ มิ.ย.-ส.ค. โดยจะมีการติดตามและถอดรหัสพันธุกรรมอีก 6,000 ตัวอย่างในปี 2564
@ ยังไม่พบความรุนแรงผู้ป่วยสายพันธุ์ย่อยเดลต้า
เมื่อสอบถามอาการของคนที่พบสายพันธุ์ย่อยเป็นอย่างไร นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ยังไม่พบว่าแตกต่างจากผู้ป่วยสายพันธุ์หลัก แต่ด้วยยังมีจำนวนไม่มาก จึงต้องมีการติดตามต่อเนื่องอีก อย่างที่บอกว่า จำนวนยังน้อยอยู่จึงไม่สามารถบอกอะไรได้มาก แต่หลักๆ ทุกสายพันธุ์ย่อยมักเจอในสถานที่มีการระบาดอย่างกว้างขวาง จึงต้องเฝ้าระวัง
ผู้สื่อข่าวสอบถามว่า ตัวอย่างในต่างประเทศพบความรุนแรงของสายพันธุ์ย่อยด้วยหรือไม่ นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า ในต่างประเทศ ยังไม่มีข้อมูลว่าแพร่เร็วขึ้น หรือทำให้อัตราการป่วยตายมากขึ้น และยังไม่ถูกจัดชั้นอะไร เพียงแต่ว่าทุกอย่างก็จะเป็นแบบนี้ เพราะการกลายพันธุ์เกิดขึ้นได้ตลอด แต่หากการกลายพันธุ์แล้วไม่รุนแรงก็จะไม่มีอะไร ซึ่งก็ต้องเฝ้าระวังและติดตามอย่างต่อเนื่อง
ศ.เกียรติคุณ ดร. วสันต์ กล่าวถึงสาเหตุการพบสายพันธุ์ย่อยในเดลต้า แต่ก่อนหน้านี้สายพันธุ์อัลฟาไม่มีรายงานสายพันธุ์ย่อยว่า ไม่ว่าสายพันธุ์อะไรก็ตาม หากมีการแพร่กระจายจากคนสู่คนได้มากก็มีโอกาสกลายพันธุ์ และมีสายพันธุ์ย่อยได้มาก
เมื่อถามว่าการสุ่มตรวจตัวอย่างจะมีการขยายไปยังพื้นที่ใดต่อไป นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า หลักการสุ่มตรวจสายพันธุ์ปัจจุบันสอดคล้องทั้งคนไข้หนัก คนไข้ชายแดน รวมถึงการสุ่มรูทีนปกติ หากพบปัญหาหรือจำนวนมากก็จะพบขึ้น แต่หากมีน้อย ไม่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น เพราะบางสายพันธุ์โผล่ขึ้นมาแล้วแต่ก็จบหายไปก็มีเช่นกัน ซึ่งเรามีเครือข่ายติดตามเรื่องนี้อยู่ ทั้งนี้ ยังได้รับร้องขอจากภูมิภาคว่า หากประเทศเพื่อนบ้านไม่สามารถตรวจได้ ก็สามารถส่งตัวอย่างมาได้ ก็ต้องมีการหารือกันต่อ
@ เดลต้าเกิดจากอินเดีย-4 สายพันธุ์ย่อยพบครั้งแรกที่ยุโรป
เมื่อถามว่าสรุปแล้วเดลตามีต้นกำหนดจากที่ไหน และสายพันธุ์ย่อยคือ ไม่ใช่ของไทยใช่หรือไม่ นพ.สุรัคเมธ กล่าวว่า เดลต้าต้นกำเนิดมาจากอินเดีย การจะบอกว่าเดลต้าเกิดในไทยก็ยังไม่ชัดเจน แต่ 4 ตัวนี้ชัดเจนว่า พบครั้งแรกในแถบยุโรป ซึ่งทั้งหมดอาจมาจากอินเดียก็ได้ แล้วกระจายไปทั้งโลก แต่ก็ต้องมีการศึกษาติดตามข้อมูลต่อไป
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า สรุปการพบสายพันธุ์ย่อยในเดลตานั้น ไม่ใช่สายพันธุ์ไทย และไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่ แต่ 4 สายพันธุ์ย่อยนี้เป็นลูกหลานของเดลต้าที่พบในไทยอยู่แล้ว ซึ่งยังไม่พบความรุนแรง หรือมีผลใดๆ และไม่เป็นปัญหากับระบบใดๆ
ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และเครือข่ายจะติดตามข้อมูลอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม จากฐานข้อมูลระดับโลก ประเทศไทยที่มีรายงานเข้าไปในระบบ อย่างสายพันธุ์ย่อย AY.4 อย่างอังกฤษ 67% อเมริกา 13% เดนมาร์ก 3% สเปน 2% ฝรั่งเศส 2% ซึ่งอังกฤษทำเยอะมาก
"โดยจริงๆ การที่ประเทศพบและเจอสายพันธุ์ย่อยและมีการรายงานเข้าระบบ ถือเป็นด้านบวก เพราะการพบจะช่วยให้เราจัดทำข้อมูลเพื่อควบคุมโรคอย่างเหมาะสม อย่างในอนาคตหากพบสายพันธุ์ไทย แต่ถ้าเราตรวจจับได้ถือเป็นเรื่องดีในแง่การควบคุมโรค" นพ.ศุภกิจ กล่าว
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage