กระทรวง อว. เคาะแผนโปรแกรมวิจัยเพิ่มในภาวะเร่งด่วน แก้ปัญหาวิกฤตโควิด – 19 หวังระบบวิจัย สร้างผลงานและนวัตกรรม ตั้งรับ ฟื้นฟูประเทศอย่างเป็นรูปธรรม
เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานการประชุม รัฐมนตรี อว. พบ สกสว. และพีเอ็มยู (หน่วยบริหารจัดการทุนวิจัย) เพื่อรับฟังข้อมูลความก้าวหน้าด้านการขับเคลื่อนแผนงานระบบวิจัยของประเทศ โอกาสนี้ รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล รองผู้อำนวยการด้านนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้รายงานความคืบหน้าในการดำเนินการจัดสรรงบประมาณวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Fund) ประจำปีงบประมาณ 2563 ว่า ปัจจุบันทางกรมบัญชีกลางได้โอนงบประมาณเพื่อจัดสรรเข้ากองทุน เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2563 ซึ่งทาง สกสว. ได้ดำเนินการจัดสรรงบประมาณให้กับพีเอ็มยู ในภาพรวมประมาณ 6,000 ล้านบาท แต่ด้วยสถานการณโควิด–19 จึงได้มีการปรับงบประมาณรองรับวิกฤตการณ์ โดยในส่วนของงบประมาณวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Fund) ประจำปีงบประมาณ 2563 เดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ได้อนุมัติแผนปฏิบัติการกำหนดหลักเกณฑ์ว่าด้วยการใช้จ่ายเงินอุดหนุนของพีเอ็มยู ปีงบประมาณ 2563 เดือนมีนาคม สกสว. ได้รับงบประมาณจากกรมบัญชีกลางและดำเนินการจัดทำบันทึกข้อตกลง (MOA) กับพีเอ็มยูและหน่วยงานรับทุน และในเดือนเมษายน 2563 สกสว. ได้เบิกจ่ายงบประมาณให้หน่วยรับทุนและปรับแผนและงบประมาณรองรับการแก้ปัญหาโควิด 19
ทั้งนี้ผลผลิตที่สำคัญจากการดำเนินการจัดสรรทุนผ่านกรอบแพลตฟอร์มยุทธศาสตร์ (Strategic Platform) ในระดับงบประมาณแผนงานสำคัญ (Flagship Program) ปี 2563 เดิมมี 27 แผนงาน 16 โปรแกรม และทาง กสว. ให้เพิ่มโปรแกรม 17 การแก้ปัญหาวิกฤติของประเทศ เพื่อรองรับวิกฤตโควิด-19 โดยโปรแกรมที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณสูงสุด คือ โปรแกรม 10 การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เพื่อยกระดับความสามารถด้านการแข่งขันและวางรากฐานทางเศรษฐกิจ คิดเป็นร้อยละ 48.16 ของงบประมาณทั้งหมด ประกอบด้วยเรื่อง หลัก ๆ เช่น “บีชีจีโมเดล” การพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ระบบฟาร์มอัจฉริยะ (สมาร์ท ฟาร์มมิ่ง) และแผนงานการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศสำหรับอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ (Technology Localization) รองลงมา คือ โปรแกรม 16 การปฏิรูปอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เช่น การปฏิรูประบบหาวิทยาลัย วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงลึก โปรแกรมที่ 17 การแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศ โปรแกรมที่ 5 การวิจัยขั้นแนวหน้า และการวิจัยพื้นฐาน เช่น เรื่องงานวิจัยแนวหน้า (Frontier Research) และ โปรแกรมที่ 13 นวัตกรรมเศรษฐกิจฐานรากและชุมชน ตามลำดับ
ทั้งนี้ โปรแกรมที่ 17 การแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศ ปี 2563 ที่ดำเนินการภายใต้งบประมาณ 1,000 ล้านบาท เกิดขึ้นเนื่องจากที่ประชุม เล็งเห็นว่าประเทศไทยควรมีชุดความรู้และศักยภาพในการพึ่งตนเองด้านกําลังคน อุปกรณ์และโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) เพื่อสนับสนุนการจัดการทั้งในภาวะวิกฤตและการฟื้นตัวหลังภาวะวิกฤต โดยมีเป้าหมายสำคัญในการสร้าง 1) ชุดความรู้สาธารณะเกี่ยวกับปัญหาและการจัดการเมื่อประสบภัยพิบัติอย่างเป็นระบบ ที่ถูกปลูกฝังอยู่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชน 2) ฐานข้อมูลและศูนย์ข้อมูลเพื่อการจัดการภาวะวิกฤตและหลังภาวะวิกฤต 3) นโยบายและนวัตกรรมเพื่อการจัดการภัยพิบัติที่เป็นผลงานจาก ววน. อย่างน้อย 50 ชิ้น/เรื่อง ในช่วง 2 ปี (2563 – 2564) ที่ต้องถูกนำไปใช้ประโยชน์และต่อยอดอย่างเป็นรูปธรรมไม่ขึ้นหิ้ง และ 4) ผลิตข้อมูลเพื่อการลงทุน ในการพัฒนากำลังคนและโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่เกี่ยวข้องกับการรับมือภาวะวิกฤต ทั้งในภาควิชาการ ภาคอุตสาหกรรม และภาคราชการ เพื่อผลลัพธ์สำคัญคือ ลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจสังคม ได้ร้อยละ10 ของความสูญเสียที่คาดการณ์ อย่างกรณีโควิด-19 ลดความสูญเสียประมาณ 19,000 ล้านบาท จากการมีการพัฒนาอุปกรณ์การแพทย์ เวชภัณฑ์ ระบบติดตามการระบาดของโรค ให้ความรู้แก่ประชาชน และมีมาตรการทางการแพทย์ สาธารณสุข และฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคมในระดับอุตสาหกรรมและระดับพื้นที่ และมุ่งเน้นให้ประเทศมีกลไกในการปรับตัวทั้งทางด้านความมั่นคงในด้านอาหาร สุขภาพ และสังคมเพื่อเกิดภาวะวิกฤต