สทนช. เร่งสร้างความรู้ความเข้าใจ กลุ่มผู้ใช้น้ำ ตาม พ.ร.บ.น้ำ ปูพื้นฐานสู่การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน
นายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังจากกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2562 ประกาศในราชกิจจา-นุเบกษา เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2562 ว่า ได้มีการจัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาค (สทนช.ภาค) ใน 4 ภูมิภาค รับผิดชอบครอบคลุม 22 ลุ่มน้ำหลักใหม่ 353 ลุ่มน้ำสาขา ทั่วประเทศ โดย สทนช.ภาค 1 รับผิดชอบพื้นที่ภาคเหนือ มีสำนักงานตั้งอยู่ที่จังหวัดลำปาง สทนช.ภาค 2 รับผิดชอบพื้นที่ภาคกลาง มีสำนักงานตั้งอยู่ที่จังหวัดสระบุรี สทนช.ภาค 3 รับผิดชอบพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีสำนักงานตั้งอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น และ สทนช.ภาค 4 รับผิดชอบพื้นที่ภาคใต้ มีสำนักงานตั้งอยู่ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการลุ่มน้ำ ในการบริหารทรัพยากรน้ำ ตลอดจนประสานหน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรผู้ใช้น้ำ ในการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับการใช้ พัฒนา บริหารจัดการ บำรุงรักษา ฟื้นฟู และอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ และกฎหมายที่เกี่ยวกับการควบคุมมลพิษทางน้ำในเขตลุ่มน้ำ เพื่อให้เป็นไปตามแผนแม่บทการบริหารทรัพยากรน้ำระยะ 20 ปี
ปัจจุบัน สทนช. ได้เร่งดำเนินการบริหารทรัพยากรน้ำทั้งระบบในทุกพื้นที่ลุ่มน้ำ โดยการบูรณาการการทำงานร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงลงพื้นที่สร้างความรู้ความเข้าใจและทำงานบริหารจัดการน้ำร่วมกับ 3 กลุ่มใช้น้ำอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ได้แก่ 1) ผู้ใช้น้ำภาคเกษตรกรรม 2) ผู้ใช้น้ำภาคอุตสาหกรรม 3) ผู้ใช้น้ำภาคพาณิชยกรรม การบริการและการท่องเที่ยว เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งประเทศ มีประสิทธิภาพ เกิดประสิทธิผลสูงสุด
เนื่องจากผู้ใช้น้ำทั้ง 3 กลุ่ม เป็นกลุ่มบุคคลและองค์กรที่มีความสำคัญ และเป็นส่วนหนึ่งในโครงสร้างองค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 นอกเหนือจากองค์กรในระดับชาติ และระดับลุ่มน้ำ และด้วย สทนช. เป็นหน่วยงานใหม่ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อปลายปี พ.ศ.2560 ทำให้ผู้ใช้น้ำบางกลุ่มไม่ทราบว่ามีองค์กรใหม่อย่าง สทนช. เข้ามาทำหน้าที่ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างครบวงจร และเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 และแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2561 – 2580) สทนช. จึงได้เร่งสร้างการรับรู้และชี้แจงบทบาทหน้าที่ของ สทนช. ต่อผู้ใช้น้ำ รวมถึงบทบาทหน้าที่ของกลุ่มผู้ใช้น้ำทั้ง 3 กลุ่ม เพื่อให้ผู้ใช้น้ำได้รับทราบข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ รวมทั้งสิทธิและหน้าที่ของตนเองตามกฎหมาย โดยผู้ใช้น้ำแต่ละกลุ่มอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันและอยู่ในเขตลุ่มน้ำเดียวกัน สามารถรวมตัวกันจดทะเบียนก่อตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำเพื่อประโยชน์ร่วมกันเกี่ยวกับการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู และการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในหมู่สมาชิกขององค์กรผู้ใช้น้ำ ทั้งยังมีสิทธิที่จะส่งผู้แทนขององค์กรฯ เข้ารับการพิจารณาคัดเลือกเป็นกรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำ ซึ่งเป็นการสะท้อนการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อร่วมกันบริหารทรัพยากรน้ำต่อไป