ธนาคารกรุงไทยเผยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.57 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง”
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.57 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.47 บาทต่อดอลลาร์
โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนสูงและโดยรวมอ่อนค่าลง (แกว่งตัวในช่วง 35.27-35.62 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะผันผวนแข็งค่าในช่วงก่อนตลาดรับรู้ผลการประชุมเฟด หลังรายงานยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP และดัชนีต้นทุนการจ้างงาน (Employment Cost Index) ออกมาต่ำกว่าคาด อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่อง หลังเฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25%-5.50% ตามคาด และย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมีนาคม จนกว่าจะมั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่เป้าหมาย 2% ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งมุมมองดังกล่าวได้หนุนให้ เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น พร้อมกับการปรับตัวลดลงของราคาทองคำ อย่างไรก็ดี ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ หลังรับรู้ผลการประชุมเฟด ก็มีส่วนกดดันให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลง และทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเล็กน้อย ซึ่งช่วยชะลอแรงกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าได้บ้าง ทำให้เงินบาทยังไม่ได้อ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 35.50-35.60 บาทต่อดอลลาร์ ไปไกลนัก
บรรยากาศในตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) สอดคล้องกับการปรับตัวลงของสัญญาฟิวเจอร์สก่อนหน้า หลังผู้เล่นในตลาดต่างผิดหวังกับรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทเทคฯ ใหญ่ ทั้ง Alphabet -7.5% และ Microsoft -2.7% นอกจากนี้ การย้ำจุดยืน “ไม่รีบลดดอกเบี้ย” จนกว่าจะมั่นใจว่าคุมปัญหาเงินเฟ้อได้สำเร็จของเฟด รวมถึงความกังวลต่อปัญหาธนาคารภูมิภาค (Regional Bank) ที่บางธนาคารได้รายงานผลประกอบการที่ขาดทุนหนัก ก็มีส่วนกดดันตลาดหุ้นสหรัฐฯ ส่งผลให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลง -2.23% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -1.61%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นเล็กน้อย +0.01% โดยตลาดหุ้นยุโรปเผชิญแรงกดดันจากแรงขายหุ้นเทคฯ ที่ปรับตัวลดลงตามหุ้นเทคฯ ในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง จากหุ้นส่วนใหญ่ที่รายงานผลประกอบการหรือคาดการณ์ผลประกอบการที่สดใส โดยเฉพาะหุ้นกลุ่ม Healthcare เช่น Novo Nordisk +3.6%, GSK +2.0%
ในฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่าเฟดจะย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ย ทว่า ผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างก็ยังคงคาดหวังว่า ถ้าเฟดเริ่มลดดอกเบี้ยได้ในการประชุมเดือนพฤษภาคม เฟดก็อาจทยอยลดดอกเบี้ยลงต่อเนื่องในทุกครั้งการประชุม ซึ่งมุมมองดังกล่าวอาจได้แรงหนุนเพิ่มเติมจากความกังวลปัญหาสภาพคล่องของบรรดาธนาคารภูมิภาคสหรัฐฯ หลังเริ่มมีบางธนาคารรายงานการขาดทุนหนักในไตรมาสที่ผ่านมา นอกจากนี้ บรรยากาศในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่กลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ก็กดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ชัดเจน และยังคงทรงตัวใกล้ระดับ 3.92% ทั้งนี้ เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรรอติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด เพราะจะส่งผลกระทบต่อการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดได้ โดยผู้เล่นในตลาดควรเน้นกลยุทธ์ Buy on Dip เพื่อลดความเสี่ยงการขาดทุน โดยเฉพาะในกรณีที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ไม่ยาก หากผู้เล่นในตลาดทยอยลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด เช่น จากเดิมเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ย 5-6 ครั้งในปีนี้ เป็น 4 ครั้ง หรือ 3 ครั้ง ตาม Dot Plot ล่าสุด
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวนสูงในกรอบ sideways โดยเงินดอลลาร์มีจังหวะอ่อนค่าลงในช่วงแรกจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาต่ำกว่าคาด ก่อนที่การย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ยของเฟด จะหนุนให้เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นเร็วและต่อเนื่อง ก่อนที่เงินดอลลาร์จะย่อตัวลงเล็กน้อย ตามบอนด์ยีลด์ 10 สหรัฐฯ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 103.5 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 103-103.7 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย.) ก็เคลื่อนไหวผันผวนสูงเช่นกัน โดยมีจังหวะปรับตัวขึ้นเร็วและแรง แตะโซน 2,070 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าคาด และความกังวลปัญหาธนาคารภูมิภาคสหรัฐฯ ทว่า ราคาทองคำก็เผชิญแรงขายต่อเนื่องทั้ง แรงขายทำกำไร และแรงกดดันจากการปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์ หลังเฟดย้ำจุดยืนไม่รีบลดดอกเบี้ย จนย่อตัวลงสู่โซน 2,050 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง
สำหรับวันนี้ ในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซน ซึ่งจะเป็นข้อมูลเศรษฐกิจที่ช่วยสะท้อนแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในปีนี้ได้
นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) อย่างใกล้ชิด เพราะแม้ว่าในการประชุมครั้งนี้ เราจะมองว่า BOE จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.25% และอาจยังไม่ส่งสัญญาณปรับลดดอกเบี้ย เหมือนกับเฟด ทว่าจากการศึกษาข้อมูลในอดีตของทาง Bloomberg พบว่า หากมีคณะกรรมการเริ่มโหวต “ลดดอกเบี้ย” หลังจากนั้นราว 2 การประชุม BOE มักจะเริ่มทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ ซึ่งหากมีการโหวตลดดอกเบี้ยราว 1-2 เสียงในการประชุมครั้งนี้ ก็อาจเปิดโอกาสในการลดดอกเบี้ยของ BOE ในช่วงไตรมาสที่ 2 ได้
ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ ทั้ง ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) รวมถึง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรม โดย ISM และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว เราประเมินว่า ผู้เล่นในตลาดจะติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนอย่างใกล้ชิด
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า ค่าเงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบ sideways หลังผลการประชุมเฟดล่าสุด ก็ไม่ได้ต่างจากที่ผู้เล่นในตลาดคาดหวัง นอกจากนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด รวมถึงความกังวลปัญหาธนาคารภูมิภาคของสหรัฐฯ ที่เริ่มกลับเข้ามา ก็ยังคงทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้มากกว่า 3 ครั้ง ที่ระบุไว้ใน Dot Plot
อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินบาทอาจเคลื่อนไหวผันผวนได้พอสมควร และมีโอกาสอ่อนค่าลงบ้าง ตามแรงขายสินทรัพย์เสี่ยงของไทย หลังบรรยากาศในตลาดการเงินกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) แต่โดยรวมเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดอาจยังไม่รีบกลับมาเพิ่มสถานะ Short THB (มองเงินบาทอ่อนค่าลง) จนกว่าจะรับรู้รายงานยอดการจ้างงานสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้ ทำให้เงินบาทก็อาจไม่ได้อ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 35.70 บาทต่อดอลลาร์ไปได้ง่ายนัก
ทั้งนี้ ควรจับตาผลการประชุม BOE อย่างใกล้ชิด เพราะหาก BOE กลับส่งสัญญาณพร้อมทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ เร็วกว่าเฟด ก็อาจยิ่งกดดันให้ เงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ผันผวนอ่อนค่าลง และหนุนให้เงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อได้
นอกจากนี้ เงินบาทก็ยังขาดปัจจัยหนุนฝั่งแข็งค่าอยู่ในช่วงนี้ ทำให้การแข็งค่าของเงินบาทจะเป็นไปอย่างจำกัด และเราคงประเมินให้ โซน 35.30 บาทต่อดอลลาร์ เป็นแนวรับหลักในช่วงนี้ จนกว่าจะมีปัจจัยสนับสนุนเงินบาทที่แข็งค่าชัดเจน
ในช่วงนี้ ความผันผวนของเงินบาทที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) อย่างเห็นได้ชัด ทำให้เรายังคงคำแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.35-35.65 บาท/ดอลลาร์