กลุ่ม Draw for sea ร่วมชาวบ้านเกาะลิบง สร้างสตรีทอาร์ท ‘บ้านมาเรียม’ ส่งเสริมท่องเที่ยว-อนุรักษ์ จินตนาการ การ์ตูนดัง ‘เดอะลิตเติ้ลเมอเมด’ เหล่าผองเพื่อนสัตว์ทะเล
เมื่อเร็วๆนี้ ศิลปินในนามกลุ่ม Draw for sea ร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่เกาะลิบง ต.ลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง ร่วมกันวาดภาพความสมบูรณ์ของโลกใต้ท้องทะเลลงบนพื้นสะพานหอชมพะยูนระยะทางเกือบ 100 เมตร บริเวณ ‘อ่าวบาตูปูเต๊ะ’ ซึ่งเป็นบ้านของ ‘พะยูนน้องมาเรียม’ รวมถึงที่ผนังอาคารเรียน โรงเรียนบ้านเกาะลิบง และโรงเรียนบ้านบาตูปเต๊ะ
เหล่าสัตว์ทะเลถูกแต่งแต้มตามจินตนาการของเด็กๆที่มีวิถีชีวิตผูกพันและดำรงชีวิตกับท้องทะเลมาตั้งแต่เกิด ด้วยจินตนาการ สีสัน และความตั้งใจ จนออกมาสวยงามราวมีชีวิต โดยเฉพาะ พะยูน ในอิริยาบทของ ‘แม่-ลูกมาเรียม’ ที่กำลังว่ายน้ำกินหญ้าทะเลที่อุดมสมบูรณ์อย่างมีความสุข รวมถึงความน่ารักของ เต่าทะเล กุ้ง หอย ปู ปลา ปลาหมึก ปลาการ์ตูน ม้าน้ำ ปลาดาว ตลอดจนความสมบูรณ์ดั่งสวรรค์ของเหล่าปะการัง ดอกไม้ทะเล โดยเฉพาะ ‘หญ้าทะเล’ ที่เป็นแหล่งอาหารของพะยูนฝูงใหญ่ฝูงสุดท้ายของโลก บนพื้นที่แห่งนี้
สำหรับไฮไลท์ของงานสตรีทอาร์ทในครั้งนี้มีหลายจุด อย่างเช่น ที่สะพานหอชมพะยูน เป็นภาพเข็มทิศโบราณตรงกึ่งกลางลานสะพาน ซึ่งบอกพิกัดตรงกับตำแหน่งจริงของพื้นที่ นอกจากนี้หากใครจำได้เรื่อง ‘แม่ส้ม’ ซึ่งเป็นเรือคายัคสีส้มที่ ‘มาเรียม’ มักว่ายเข้ามาคลอเคลียด้วยคิดว่าเป็นแม่ เหล่าศิลปินก็วาดเอาไว้ให้คนสามารถมานั่งพายถ่ายรูปได้เช่นกัน และอีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ที่โรงเรียนบ้านเกาะลิบง ที่สะท้อนภาพ ‘บ้านของมาเรียม’ ซึ่งมีเพื่อนเต่าทะเลกำลังมาเล่นกัน ตามจิตนนาการจาก การ์ตูน ‘เงือกน้อยผจญภัย’ (The Little Mermaid) เป็นหนังแอนิเมชันในปี 1989
เกาะลิบง ถือเป็นแหล่งอนุรักษ์พะยูนที่สำคัญของประเทศไทย ขึ้นชื่อว่าเป็น เมืองหลวงพะยูน และเป็นจุดเดียวกันกับกรณีของพะยูนน้องมาเรียม ที่โด่งดังไปทั่วโลกจนเกิดกระแสอนุรักษ์พะยูนในระดับประเทศ หากย้อนกลับไป ความเข้มแข็งของความร่วมมือระหว่างชาวบ้านในพื้นที่กับภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลแลชายฝั่ง ได้เริ่มเกิดเป็นรูปธรรมนับแต่ปี 2562 ในกรณีของมาเรียม ซึ่งเป็นลูกพะยูนเพศเมียที่ได้มาเกยตื้นที่อ่าวทึง ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ ขณะมีอายุได้เพียง 6 เดือนเท่านั้น เปรียบกับมนุษย์ยังอยู่ในวัยทารก เจ้าหน้าที่พยายามผลักดันกลับสู่ทะเลหลายครั้ง แต่ลูกพะยูนมาเรียมยังคงว่ายวนเวียนในจุดเดิม เจ้าหน้าจึงตัดสินใจหาที่อยู่ที่เหมาะสม คือบริเวณอ่าวบาตูปูเต๊ะ ซึ่งมีความพร้อมทุกด้าน ภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง สถาบันวิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามัน กรมทช. ทีมพิทักษ์ดุหยง ผู้นำท้องที่ท้องถิ่น จิตอาสา ทีมสัตวแพทย์
เจ้าหน้าที่ต้องต้องคอยป้อนนมจนกว่ามาเรียมจะแข็งแรงพอที่จะกินหญ้าทะเลได้อย่างเดียว มาเรียมจึงถือเป็นพะยูนตัวแรกของไทยที่มนุษย์ให้นมในสภาวะธรรมชาติ การดูแลมาเรียมเป็นงานที่เหนื่อยเอาการ แต่เจ้าหน้าที่และชาวบ้านในพื้นที่ก็ผูกพันกับมาเรียม รู้สึกว่าเหมือนลูกหลาน แต่สุดท้ายโชคร้ายที่มาเรียมต้องมาจากไปด้วยขยะพลาสติกตามผลชันสูตร จนรัฐบาลต้องจัดให้มี ‘แผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ’ และ ‘วันพะยูนแห่งชาติ’ ขึ้นในวันที่ 17 สิงหาคมของทุกปี โดยในปี 2565 นี้ มีเสียงเรียกร้องจากคนในชุมชน อยากให้มีการจัดงานขึ้นที่ ‘บ้านของมาเรียม’ เกาะลิบง
สำหรับโครงการ ‘วาด เพื่อ ทะเล’ หรือ Draw for Sea จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-19 เม.ย. ริเริ่มโดย ‘แพรว-ศุภลักษณ์ ประภาศิริ’ Designer and Illustration Artist ศิลปินหัวหน้าโครงการ ที่คิดออกแบบและนำเสนอโรงการ พร้อมชักชวนเพื่อนชาวศิลปินมาร่วมกันรังสรรค์งานศิลปะ ในแนวความคิดการใช้งานศิลปะเพื่อการสื่อสารงานอนุรักษ์ทางทะเล โดยมีภาคีทั้งร่วมงานและสนับสนุน อาทิ กลุ่มศิลปิน , กรม ทช. , อบต.เกาะลิบง , กำนันผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านในพื้นที่ , ทีมพิทักษ์ดุหยง , นักออกแบบและนักวาดภาพประกอบ , นักทำ VDO content หรือแม้แต่ภาคเอกชน อย่าง บริษัท Nippon paint , บริษัท EPG อุตสาหกรรมพลาสติก ที่สนับสนุนสีพร้อมอุปกรณ์อย่างดีสำหรับการทำงาน ที่สำคัญมีการลงพื้นที่สำรวจ ศึกษาสภาพพื้นที่ รวมทั้งสอบถามความเห็นความต้องการของคนในชุมชนก่อนดำเนินการ จึงถือได้ว่าโครงการนี้เป็นโครงที่ถูกคิดโดยศิลปินและนักออกแบบเพื่อชุมชน โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างแท้จริง