‘นายกสมาคมโภชนาการการกีฬาฯ’ ชี้ ‘จักรยานนอนปั่น’ มีประโยชน์ ‘ลดปวดหลัง-ข้อมือ-ลดอุบัติเหตุ’ได้ พร้อมเผยวงการแพทย์ฯ นำมาดัดแปลงเป็นเครื่องออกกำลังกาย-รักษาอาการต่างๆแล้ว
................................
นพ.ฆนัท ครุธกูล อายุรแพทย์โรคหัวใจ และนายกสมาคมโภชนาการการกีฬาและสุขภาพ กล่าวว่า จักรยานในปัจจุบันมีหลายประเภทที่เป็นที่นิยม ซึ่งจักรยานนอนปั่น หรือ Recumbent Bike เป็นอีกประเภทที่มีการปั่นแพร่หลายมากขึ้นและมีประโยชน์อย่างมาก โดยจักรยานนอนปั่นมีโครงสร้างที่ผู้ขี่เหมือนกับการนั่งเก้าอี้ มีที่วางแขน พนักพิงหลัง ให้นั่งได้สะดวกสบาย ขาเหยียดไปด้านหน้าของตัวรถ ซึ่งก็มีหลากหลายรูปแบบทั้ง 2 ล้อ 3 ล้อ ขึ้นอยู่กับความชอบ ความถนัด และเหมาะสมกับร่างกายของผู้ขับขี่ ทำให้ความสะดวกสบาย ลดอาการปวดหลัง ปวดข้อมือ ซึ่งจะช่วยให้คนที่ไม่สนุกกับการปั่นจักรยานปกติ สามารถเดินทางระยะไกลได้มากกว่าเดิม
"ถึงจะยาวและแบน แต่จักรยานนอนปั่นทำความเร็วได้มากกว่าจักรยานทรงทั่วไป เมื่อใช้พลังงานของมนุษย์ เพราะการที่มีระดับที่ต่ำ ทำให้การต้านลมน้อยกว่าจักรยานทรงสูง เมื่อจักรยานมีลักษณะต่ำ ก็จะช่วยเพิ่มความปลอดภัย จากการตกจักรยานลงได้ รูปแบบที่หัวจะอยู่ด้านหลัง จะทำให้ลดโอกาสที่หัวจะกระแทก เมื่อเกิดอุบัติเหตุ นอกจากนั้น การมองวิวข้างหน้าและสองข้างทางบนจักรยานนอนปั่นนั้น จะได้มองทางข้างหน้าแบบภาพมุมกว้างกว่า บางคนที่ลองไปปั่นจักรยานนอนปั่น บอกว่าไม่อยากกลับไปปั่นจักรยานทั่วไปอีกเลย หรือบางคนก็บอกว่า เหมือนกับกำลังขับเครื่องบินเล็กๆ ที่บินอยู่บนพื้นถนนก็ว่าได้" นพ.ฆนัท กล่าว
นพ.ฆนัท ระบุด้วยว่า จักรยานนอนปั่นเหมาะกับทุกวัย ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ ในวงการแพทย์ก็ได้นำมาดัดแปลงเป็นเครื่องออกกำลังกายหรือรักษาอาการต่างๆ แล้ว ทั้งการกายภาพบำบัดผู้ป่วยอัมพฤกษ์ ซึ่งมีปัญหาเรื่องการใช้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ หรือคนอ้วนที่มีน้ำหนักก็นำไปออกกำลังกายได้อย่างปลอดภัยกว่า ผู้สูงอายุที่ใช้ในการเน้นบริหารข้อเข่ากระดูก หรือแม้แต่บุคคลทั่วไปก็ช่วยสร้างสุขภาพให้แข็งแรงอย่างเหมาะสมเช่นกัน
เครดิตภาพจาก www.bike-on.com