‘ชัชชาติ’ เผย 13 มิ.ย. 66 แถลงผลงาน 1 ปี ก่อนเปิดแผนรับมือฤดูฝน-น้ำท่วมปี 66 เร่งขุดลอกท่อให้เสร็จ 3,758.4 กม. ภายในเดือน มิ.ย. 66 ด้านแผนที่ Risk Map ออกแบบให้ลงลึกถึงประปาหัวแดง-ถังแดง-สถานีดับเพลิง-สถานพยาบาล-โรงเรียน-ที่พักพึ่งชั่วคราว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 2 มิถุนายน 2566 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมหัวหน้าหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 6/2566 เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2566 ได้หารือถึงวาระการบริหารราชการครบ 1 ปี ซึ่งมีความคืบหน้าไปหลากหลายด้าน โดยจะมีการแถลงข่าวในวันที่ 13 มิ.ย. 66 นี้
สำหรับระยะเวลาที่ผ่านมาได้มีการปฏิบัติงานแก้ไขปัญหาที่มีมาต่อเนื่อง โดยได้นำเรื่องต่าง ๆ ที่ค้างคาอยู่มาผลักดัน ซึ่งทำไปได้เยอะ ส่วนในปีต่อไปก็จะเป็นมาตรการเชิงรุกมากขึ้น ได้สั่งการให้ผู้อำนวยการเขตลงพื้นที่เพื่อเข้าถึงปัญหาและเร่งแก้ไขโดยไม่ต้องรอให้ประชาชนแจ้งเหตุเข้ามา
@เปิดแผนรับน้ำท่วมปี 66
ด้านนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯกทม. กล่าวถึงเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมว่า จากการถอดบทเรียนในปีที่ผ่านมา ได้ข้อมูลจุดน้ำท่วมทั้งหมด 737 จุด เป็นจุดที่น้ำท่วมจากน้ำฝน 617 จุด โดยมีการแก้ไขถาวร 90 จุด แก้ไขเร่งด่วน 527 จุด (ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 224 จุด ล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำ 165 จุด เรียงกระสอบทราย 97 จุด ขุดลอกคลอง 17 จุด เสริมผิวจราจร 24 จุด) และเป็นจุดที่น้ำท่วมจากน้ำหนุน 120 จุด โดยมีการแก้ไขถาวร 29 จุด แก้ไขเร่งด่วน 91 จุด (เรียงกระสอบทราย 69 จุด ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 1 จุด สร้างรางระบายน้ำ 1 จุด JET MIX 18 จุด ปรับปรุงบ่อสูบน้ำ 1 จุด ปรับปรุงบ่อสูบน้ำ+JET MIX 1 จุด)
ในส่วนของการขุดลอกท่อระบายน้ำ กทม.มีท่อระบายน้ำยาว 6,441 กม. แผนขุดลอกในปี 2565 ระยะทาง 3,356.9 กม. และลอกต่อเนื่องอีก 674.4 กม. แล้วเสร็จ 100% ส่วนแผนขุดลอกในปี 2566 ระยะทาง 3,758.4 กม. แล้วเสร็จ 2,597.6 กม. (69.11%) อยู่ระหว่างดำเนินการ 1,160.8 กม. (30.89%) จะแล้วเสร็จทั้งหมดภายใน มิ.ย. 66
สำหรับการขุดลอกและเปิดทางน้ำไหลคลอง 1,980 คลอง ระยะทาง 2,744,923 เมตร แบ่งออกเป็นเปิดทางน้ำไหล (เก็บผักตบชวา ขยะ ฯลฯ) โดยการดูแลรักษาประจำ 1,227,262 ม. เปิดทางน้ำไหลปีละ 1 ครั้ง 1,326,058 ม. และเปิดทางน้ำไหลปีละ 4 ครั้ง 191,603 ม. ซึ่งการเปิดทางน้ำไหลปีละ 1 ครั้งและ 4 ครั้ง ขณะนี้แล้วเสร็จ 85% จะแล้วเสร็จทั้งหมดภายใน มิ.ย. 66 ด้านการขุดลอก มีแผนขุดลอก 182 คลอง 202,704 ม. แล้วเสร็จ 75% จะแล้วเสร็จทั้งหมดภายใน มิ.ย. 66 เพื่อรับน้ำฝนที่จะมา
ด้านการบำรุงรักษาสถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำประจำปี 2566 ได้มีการบำรุงรักษาประจำปี เช่น ตรวจเช็กระบบไฟฟ้า เครื่องจักร เครื่องสูบน้ำ ระบบน้ำมันหล่อลื่น ทำความสะอาด ทาสี ฯลฯ ปัจจุบันดำเนินการได้ 409 แห่ง อยู่ระหว่างดำเนินการ 21 แห่ง ซึ่งต้องแล้วเสร็จภายในเดือนนี้
นายชัชชาติ กล่าวเสริมว่า เรื่องน้ำท่วมเป็นเรื่องที่ดำเนินการมาตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมาโดยไม่ได้หยุด เราลุยเรื่องเส้นเลือดฝอย เช่น ท่อระบายน้ำ อย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงมีการบำรุงรักษาดูแลเส้นเลือดใหญ่ เช่น อุโมงค์ระบายน้ำ ควบคู่กันไปด้วย เมื่อท่อระบายน้ำสามารถระบายได้ดี น้ำก็ไปถึงอุโมงค์ได้เร็วขึ้น ไม่ท่วมขังนาน ซึ่งทั้งหมดน่าจะเห็นผลในปีนี้ คือ มีการระบายน้ำที่รวดเร็วขึ้น
อีกเรื่องที่น่าสนใจที่เริ่มทำไปแล้วคือ Open Data และแผนที่ความเสี่ยง หรือ Bangkok Risk Map โดยนำจุดเสี่ยงมาลงแผนที่ อาทิ จุดเสี่ยงน้ำท่วม ทำให้เห็นภาพว่าเราต้องโฟกัสตรงตำแหน่งไหนบ้าง
โดยนางทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่ากทม.กล่าวเสริมว่า วัตถุประสงค์ของ Risk Map คือ 1. กรุงเทพมหานครใช้ในการบริหารจัดการได้ตรงมากขึ้น โดยมีเหตุผลในการใช้งบประมาณในการปรับปรุง และ 2. เปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ด้วย เช่น เรื่อง Road Safety ซึ่งมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุ ประกอบกับภาพจากกล้องวงจรปิดที่สามารถนำมาเทียบได้เมื่อมีเหตุเกิดขึ้น ทำให้ กทม.สามารถใช้ในการแก้ปัญหาเรื่องจุดเสี่ยง ในขณะเดียวกัน ประชาชนสามารถดูเรื่องการจราจรและจุดเสี่ยงได้ด้วย
@ลงลึก Risk Map เรื่องประปาหัวแดง
สิ่งที่กำลังจะทำเพิ่มเติมซึ่งสำนักงานเขตช่วยดำเนินการอยู่ คือ นำเข้าข้อมูลประปาหัวแดงอยู่ที่ไหน มีถังแดงอยู่ที่ไหนในชุมชน สถานีดับเพลิง สถานพยาบาล และพื้นที่ที่โรงเรียนหรือสถานที่ราชการที่เราใช้เป็นพื้นที่พักพิง ก็จะเริ่มเอาข้อมูลเข้า ตอนนี้ทางสำนักงานเขตจะคุ้นชินกับการนำเข้าข้อมูลอยู่ในแผนที่ที่เป็น Google Map ที่ใช้อยู่
แต่ต่อไป จะถอดข้อมูลเหล่านี้เข้าแผนที่กลางแผนที่เดียว หรือ One Map เพื่อให้เราสามารถเรียกดูข้อมูลทั้งในแง่ของพื้นที่เสี่ยง ทรัพยากรและอุปกรณ์ที่เรามี สุดท้ายจะทำแผนที่ละเอียดขึ้น คือ ผังชุมชน โดยทำให้ง่าย ๆ เพื่อให้ประชาชนใช้ได้ และกำลังจัดทำแผนเผชิญเหตุชุมชนเพื่อให้ชุมชนสามารถทราบทางเข้า-ออก ทราบความแคบของพื้นที่ จุดรวมพลจะอยู่ตรงไหน จุดนับคน และมีการระบุว่ามีกลุ่มเปราะบางอยู่ที่ไหน ทั้งนี้จะยังเห็นเป็นข้อมูลคร่าว ๆ เพราะต้องใช้ในการบริหารจัดการและต้องปกป้อง privacy ของภาคประชาชนด้วย
นายชัชชาติ กล่าวด้วยว่า ปีนี้จะขยายเรื่องนี้ไปทุกเขตให้ครบถ้วน ซึ่งจะมีอาสาสมัครเทคโนโลยีช่วยในการอัปเดตข้อมูลในชุมชน เพื่อให้อนาคตเราเข้าถึงการให้บริการแก่ประชาชนได้ดียิ่งขึ้น
“เบื้องต้นค่อนข้างพอใจ เชื่อว่าสิ่งที่เห็นเป็นการทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ เส้นเลือดใหญ่เส้นเลือดฝอยทำไปพร้อมกัน เอาประชาชนเป็นที่ตั้ง โครงการที่ให้ไว้กับประชาชนก็เดินหน้าทุกโครงการไม่มีปัญหาอะไร” นายชัชชาติ กล่าว