แพร่ระเบียบคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ระบุหลักเกณฑ์เอาผิดคนไม่สวมหน้ากากอนามัย-หน้ากากผ้า กำหนดค่าปรับ 3 ระดับ ตั้งแต่ 1,000 - 20,000 บาท พร้อมมอบอำนาจอธิบดีกรมควบคุมโรคเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดกรณีมีปัญหา
------------------------------------------------------------
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.2564 ราชกิจจานุเบกษา แพร่ระเบียบคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การเปรียบเทียบความผิดกรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามมาตรา 34 (6) แห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด พ.ศ.2564 โดยมีสาระสำคัญ กล่าวถึงการกำหนดมาตรการป้องกันควบคุมโรคที่สำคัญ คือการให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า เพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อและป้องกันมิให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ และจำกัดวงในการระบาดของโรคโควิด
ทั้งนี้กรณีเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อออกคำสั่งห้ามผู้ใดกระทำการซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะโดยการไม่สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคโควิดแพร่ออกไป แล้วผู้นั้นฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม อาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ดังนั้นเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและไม่เป็นภาระแก่ประชาชนเกินควร จึงสมควรกำหนดหลัเกณฑ์การเปรียบเทียบความผิดกรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งไว้เป็นการเฉพาะ ซึ่งหากสถานกาณณ์การระบาดของโควิดสงบลงหรือมีเหตุอันสมควรหรือได้มีการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 แล้ว เห็นควรให้ยกเลิกระเบียบนี้ไปในคราวเดียวกันด้วย
สำหรับสาระสำคัญของระเบียบฉบับนี้ ประกอบด้วย ข้อ 5 เมื่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อได้แจ้งให้ผู้มีาอำนาจเปรียบเทียบทราบว่าการกระทำความผิดเกิดขึ้น หรือปรากฎหลักฐานต่อผู้มีอำนาจเปรียบเทียบว่าได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นให้ผู้มีอำนาจเปรียบเทียบดำเนินการ ดังนี้
1.กรณีพิจารณาแล้วเห็นว่าสมควรให้มีการเปรียบเทียบ ให้เรียกหรือแจ้งให้ผู้ต้องหามารับทราบข้อหาในการกระทำความผิด วัน เวลา และสถานที่เกิดเหตุ พร้อมชี้แจงให้เข้าใจถึงความผิด โดยให้ดำเนินการ ดังนี้
กรณีผู้ต้องหารับสารภาพและยินยอมให้มีการเปรียบเทียบ ให้กำหนดจำนวนเงินค่าปรับที่ต้องพึงชำระ โดยครั้งที่ 1 ปรับไม่เกิน 1,000 บาท ครั้งที่ 2 ปรับมากกว่า 1,000 บาท แต่ไม่เกิน 10,000 บาท และครั้งที่ 3 เป็นต้นไป ปรับมากกว่า 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 20,000 บาท
ส่วนกรีผู้ต้องหาไม่ยินยอมให้มีการเปรียบเทียบ หรือยินยอมให้เปรียบเทียบแต่ไม่ชำระค่าปรับภายในระยะเวลา 30 วันนับแต่วันที่มีการเปรียบเทียบ ให้ส่งเรื่องให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อเพื่อส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อไป
2.กรณีพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่สมควรให้มีการเปรียบเทียบ เนื่องจากเป็นการกระทำความผิดซ้ำซากหรือกระทำความผิดติดนิสัย หรือกระทำความผิดนั้นก่อหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตหรือร่างกายของประชาชน หรือเป็นการกระทำที่ก่อหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อความปลอดภัยต่อสาธารณะหรือประโยชน์สาธารณะ ให้ส่งเรื่องให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อเพื่อส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อไป
3.กรณีพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่เป็นความผิดให้สั่งยุติเรื่อง ทั้งนี้หากเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานควบคุมดรคติดต่อได้แจ้งต่อผู้มีอำนาจเปรียบเทียบว่าได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น ให้ส่งเรื่องให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อเพื่อดำเนินการตามที่เห็นสมควรต่อไป
นอกจากนั้น ยังกำหนดให้ผู้มีอำนาจเปรียบเทียบดำเนินการเปรียบเทียบให้แล้วเสร็จภายในที่ตั้งสำนักงานปกติของหน่วยงานที่ตนสังกัด เว้นแต่มีความจำเป็นต้องทำให้เสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุดให้เปรียบเทียบปรับนอกที่ตั้งสำนักงานได้ ทั้งนี้ให้คำนึงถึงความเหมาะสมของสถานที่ด้วย
สำหรับผู้มีอำนาจเปรียบเทียบ หมายถึง อธิบดีกรมควบคุมโรค หรือผู้ซึ่งอธิบดีกกรมควบคุมโรคมอบหมายให้มีอำนาจเปรียบเทียบบรรดาความผิดที่มีโทษปรับสถานเดียวหรือมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ทั้งนี้ให้อธิบดีกรมควบคุมโรครักษาการตามระเบียบนี้ กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินการตามระเบียบให้เป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด และให้คำสั่งหรือข้อวินิจฉัยถือเป็นที่สุด
โดยระเบียบฉบับนี้ ลงนามโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะ ประธานกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ และให้ประกาศ ณ วันที่ 31 พ.ค.2564
อ่านรายละเอียด : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/122/T_0004.PDF
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/