ครม.ไฟเขียวออกกฎหมายรับรองขึ้นทะเบียนรถยนต์ส่วนบุคคล สามารถรับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ได้อย่างถูกกฎหมาย ให้สอดคล้องกับบริบทสังคมและวิถีการใช้ชีวิตในปัจจุบัน
........................
ผู้สื่อข่าวรานงานว่า เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2564 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้มีรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน ที่เรียกใช้ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้เกิดทางเลือกในการให้บริการรถยนต์รับจ้าง สอดคล้องกับบริบทของสังคมและวิถีการใช้ชีวิตของประชาชนในปัจจุบันที่นิยมเรียกใช้บริการผ่านแอปพลิเคชันมากขึ้น ขณะเดียวกันทางราชการสามารถควบคุมติดตามตรวจสอบเพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่คนโดยสารได้ และยังช่วยส่งเสริมให้ผู้ขับรถยนต์ที่ให้บริการดังกล่าวสามารถประกอบอาชีพได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
น.ส.ไตรศุลี กล่าวอีกว่า สำหรับร่างกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ มีรายละเอียดที่สำคัญ เช่น การกำหนดนิยาม 'รถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์' หมายความว่า รถยนต์รับจ้างที่เกิดจากการนำรถยนต์นั่งส่วนบุคคลมาจดทะเบียนเปลี่ยนประเภทเป็นรถยนต์รับจ้าง โดยการรับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และกำหนดให้รถยนต์รับจ้างที่จะนำมาจดทะเบียนแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ ขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ โดยให้จดทะเบียนได้คนละ 1 คัน ส่วนลักษณะของรถยนต์รับจ้างที่จะนำมาจดทะเบียนต้องมีลักษณะเป็น รถเก๋งสองตอน รถเก๋งสองตอนแวน รถเก๋งสามตอน รถเก๋งสามตอนแวน รถยนต์นั่งสองตอน รถยนต์นั่งสองตอนแวน รถยนต์นั่งสามตอน รถยนต์นั่งสามตอนแวน หรือรถยนต์ลักษณะอื่นตามที่อธิบดีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรี
นอกจากนี้ ยังกำหนดให้รถยนต์รับจ้างต้องมีและใช้อุปกรณ์เครื่องสื่อสารเพื่อรับงานผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่กรมการขนส่งทางบกให้การรับรอง ต้องแสดงเครื่องหมายแสดงการเป็นรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ติดไว้ที่ตัวรถ ต้องใช้สีของตัวถังรถตามสีที่ใช้ในการจดทะเบียนรถ และให้รถยนต์รับจ้างมีอายุการใช้งานได้ไม่เกิน 9 ปี นับแต่วันที่จดทะเบียนครั้งแรก พร้อมกำหนดอัตราค่าจ้างไว้ดังนี้ รถยนต์รับจ้างขนาดเล็กและขนาดกลาง ระยะทาง 2 กิโลเมตรแรกไม่เกิน 50 บาท รถยนต์ขนาดใหญ่ไม่เกิน 200 บาท ส่วน กิโลเมตรต่อๆไปรถยนต์ขนาดเล็กและขนาดกลางกิโลเมตรละไม่เกิน 12 บาท ขนาดใหญ่ 50 บาท ในกรณีที่ไม่สามารถเคลื่อนที่หรือเดินรถต่อไปได้ตามปกติวิสัยรถยนต์ขนาดเล็กและขนาดกลางคิดไม่เกินนาทีละ 3 บาท ขนาดใหญ่ 10 บาท ส่วนค่าบริการกรณีการจ้างผ่านศูนย์บริการสื่อสารหรือระบบสื่อสารทางอิเล็กทรอนิกส์กำหนดได้ไม่เกิน 50 บาท ขนาดใหญ่ 100 บาท
น.ส.ไตรศุลี กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะเดียวกันยังกำหนดให้รถยนต์รับจ้าง ต้องมีการตรวจสภาพตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนด รวมทั้งต้องรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยทั้งภายนอกและภายในตัวรถเป็นอย่างดี ต้องไม่บรรทุกสิ่งของที่ไม่จำเป็นจนทำให้ผู้โดยสารไม่ได้รับความไม่สะดวก และกำหนดให้ผู้ขับรถยนต์รับจ้างต้องแต่งกายให้สะอาด สุภาพเรียบร้อยและรัดกุม
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม ระบุว่า ปัจจุบันมีรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน ที่ได้จดทะเบียนตามกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน พ.ศ.2560 มีรูปแบบการบริการที่ให้ประชาชนเรียกใช้บริการบนท้องถนนทั่วไป หรือโทรศัพท์เรียก หรือเรียกผ่านศูนย์บริการสื่อสารรถยนต์รับจ้าง (แท็กซี่) ที่รถยนต์รับจ้างสังกัด โดยคิดอัตราค่าโดยสารตามมิเตอร์มีรถจดทะเบียนในระบบจำนวน 75,448 คัน และปัจจุบันมีการพัฒนาแอปพลิเคชันเรียกรถเพื่อใช้บริการในการเดินทางผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือ แท็บเล็ต โดยมีการนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาใช้รับจ้างผ่านแอปพลิเคชันเป็นจำนวนมาก บริการดังกล่าวทำให้ผู้ใช้บริการสามารถรับรู้ค่าโดยสารล่วงหน้าก่อนตัดสินใจใช้บริการ จึงเกิดความสะดวกต่อผู้ใช้งานและประชาชนให้ความนิยม แต่การบริการดังกล่าวเป็นความผิดตามมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ.2522 ฐานใช้รถไม่ตรงตามประเภทที่จดทะเบียนไว้ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ดังนั้นเพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนและส่งเสริมให้ผู้ขับรถยนต์ดังกล่าวสามารถประกอบอาชีพได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย จึงได้ยกร่างกฎกระทรวงดังกล่าวขึ้นมา
สำหรับรายละเอียดของแอปพลิเคชันนั้น จะต้องเป็นแอปพลิเคชันสําหรับเรียกใช้บริการรถยนต์รับจ้างฯ ในส่วนของผู้ขับรถ (Driver Application) จะต้องมีระบบยืนยันตัวตน เช่น Pin Code, Fingerprint, Face Scan เป็นต้น อีกทั้งมีระบบคํานวณเส้นทาง ระยะเวลา และค่าโดยสารโดยประมาณ มีระบบรับส่งข้อความและโทรศัพท์กับผู้โดยสาร ในส่วนของผู้โดยสาร (Passenger Application) จะมีระบบลงทะเบียนผู้โดยสาร ระบบเรียกใช้งานรถยนต์รับจ้างแบบทันทีและแบบจองล่วงหน้า รวมถึงมีระบบคํานวณเส้นทาง ระยะเวลา และค่าโดยสารโดยประมาณ ระบบประเมินความพึงพอใจต่อผู้ขับรถ และระบบแจ้งเหตุฉุกเฉิน
โดยคุณสมบัติของผู้ให้บริการแอปพลิเคชันนั้น จะต้องเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย มีทุนจดทะเบียนตามที่กำหนดในประกาศ ไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท และต้องมีสถานที่ประกอบการในประเทศไทย รวมถึงมีความพร้อมในการให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง และต้องไม่เคยถูกเพิกถอนในการได้รับอนุญาตเป็นผู้ให้บริการระบบ GPS ตามกฎหมายของกรมการขนส่งทางบก
จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า บริษัทผู้ให้บริการแอปพลิเคชันในประเทศไทย เช่น บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด (Grab) มีทุนจดทะเบียน 2.87 พันล้านบาท บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด (Robinhood) มีทุนจดทะเบียน 900 ล้านบาท บริษัท เดลิเวอรี่ ฮีโร่ (ประเทศไทย) จำกัด (Food Panda) มีทุนจดทะเบียน 204 ล้านบาท บริษัท เวล็อคซ์ จำกัด (Gojek) มีทุนจดทะเบียน 104 ล้านบาท บริษัท ไลน์แมน (ประเทศไทย) จำกัด มีทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage