ศาล รธน.ไม่รับคำร้อง ป.ป.ช.ตีความอำนาจหน้าที่ชี้มูลความผิดทางวินัยฐานอื่น เหตุเคยวินิจฉัยไปแล้วว่ามีสิทธิทำได้ แต่ต้องเริ่มไต่สวนจากความผิดมูลฐานตาม รธน.-กฎหมายประกอบเสียก่อน
ผู้สื่อข่าวรายงาว่า เมื่อต้นเดือน มิ.ย. 2563 ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่คำสั่งไม่รับคำร้อง กรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้วินิจฉัยเกี่ยวกับอำนาจและหน้าที่ในการชี้มูลความผิดทางวินัยแก่เจ้าหน้าที่รัฐ เนื่องจากเห็นว่าที่ผ่านมาศาลปกครอง มีคำพิพากษาว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจไต่สวน และชี้มูลความผิดทางวินัยฐานอื่น นอกจากความผิดฐานทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ นอกจากนี้ผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหาบางกรณี ไม่ลงโทษผู้ถูกกล่าวหาภายใน 30 วันนับแต่ได้รับเรื่อง โดยอ้างว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจชี้มูลความผิดวินัยฐานอื่นที่มิใช่ฐานทุจริตต่อหน้าที่ และอ้างว่าผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากราชการเกิน 180 วันหรือเกิน 1 ปีแล้วไม่สามารถลงโทษได้
โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยกกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ฉบับ 2550 และฉบับ 2560 ประกอบ พ.ร.บ.ป.ป.ช.ฉบับเดิม (ปี 2542) และฉบับใหม่ (ปี 2561) สรุปได้ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีอำนาจหน้าที่ชี้มูลความผิดทางวินัยฐานอื่นที่เป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือความผิดที่เกี่ยวข้องกันด้วย มิใช่ความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐที่สนับสนุนความผิดดังกล่าว นอกจากนี้เมื่อชี้มูลความผิดไปแล้วผู้บังคับบัญชาต้องพิจารณาลงโทษทางวินัยภายใน 90 ไม่สามารถตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยได้อีก
ศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะใช้หน้าที่และอำนาจในการไต่สวนและวินิจฉัยชี้มูลความผิดเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตได้ จะต้องเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม อันเป็นความผิดมูลฐานตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เสียก่อน หากมีความผิดที่เกี่ยวข้องอื่นกับความผิดมูลฐานดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงจะมีหน้าที่และอำนาจชี้มูลความผิดทางวินัยอันเป็นความผิดเกี่ยวข้องกันได้
ประเด็นปัญหาที่คณะกรรมการ ป.ป.ข. ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาดังกล่าว มีประเด็นปัญหาเดียวกันกับประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยพิจารณาวินิจฉัยแล้วในคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 51/2561 ว่า พ.ร.บ.ป.ป.ช.ปี 2561 มาตรา 91 บัญญัติว่า เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไต่สวนและมีมติวินิจฉัยว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือความผิดที่เกี่ยวข้องกัน สามารถชี้มูลความผิดทางอาญา และทางวินัยได้ ส่วนมาตรา 101 วรรคหนึ่ง เกี่ยวกับผู้ซึ่งถูกลงโทษตามาตรา 98 มีสิทธิร้องต่อศาลปกครองได้ ขณะที่มาตรา 98 วรรคสอง บัญญัติเกี่ยวกับกรณีผู้ถูกลงโทษนำคดีไปฟ้องต่อศาลปกครองโดยมิได้ฟ้องคดีต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ศาลปกครองแจ้งคณะกรรมการ ป.ป.ช.ทราบ และมีสิทธิเข้ามาเป็นคู่กรณีด้วยได้นั้น
จากบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว จึงมีความชัดเจนในประเด็นที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว กรณีนี้จึงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.จะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ประกอบ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7 (2) และมาตรา 44 ได้อีก อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage