อธิบดีกรมวิทย์ฯ ชี้กรณีที่จังหวัดยะลา พบติดเชื้อโควิด 40 ราย ดำเนินตามมาตรฐานแล้ว แจงในขั้นตอนตรวจเปรียบเทียบเป็นลบ และเจอเชื้อ เจ้าหน้าที่ห้องแล็ปหยุดตรวจ และรายงานให้จังหวัดรับทราบ ระบุ ความผิดพลาดเกิดขึ้นได้เสมอ ทั้งจากมนุษย์ เครื่องมือ ระบบ แม้แต่รพ.ใหญ่ๆ ก็เคยผลออกมาไม่ตรงกัน
วันที่ 5 พฤษภาคม นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงมาตราฐานการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (ห้องแล็ป) ตรวจโรคไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ ทั่วโลกเพิ่งรู้จักประมาณ 4-5 เดือน ซึ่งช่วงใหม่ของการเกิดโรคการตรวจหาเชื้อ ทางห้องแล็ปมีอยู่ 2 แห่งในประเทศไทย ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ และที่กรมวิทย์ฯ ต่อมาเมื่อสถานการณ์การระบาดของโรคมีมากขึ้น จำเป็นต้องเพิ่มศักยภาพการตรวจทางห้องแล็ปเพื่อให้หาเชื้อได้มากขึ้นและครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศ
ปัจจุบันกรมวิทย์ฯ มีเครือข่ายห้องปฏิบัติการมากกว่า 150 แห่ง ทั้งของภาครัฐ ภาคเอกชน และมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยการตรวจทางห้องแล็ปที่เป็นมาตรฐาน คือการตรวจหาเชื้อในคอ จมูก ทางเดินหายใจ เรียกว่า ป้ายหาตัวอย่างของเชื้อด้วยวิธี RT - PCR สามารถวินิจฉัยหาเชื้อได้ตั้งแต่ต้นๆ ของโรค
นพ.โอภาส กล่าวถึงขั้นตอนการหาเชื้อโควิดด้วยวิธี RT - PCR ก็มีจุดอ่อน ขั้นตอนค่อนข้างซับซ้อน มีรายละเอียด ผู้ทำต้องมีความรู้ความเข้าใจในการตรวจ ขณะที่เครื่องมือการตรวจหาเชื้อก็มีราคาสูง รวมทั้งมีเรื่องระบบความปลอดภัยทางชีวะ
"ช่วงแรกๆ ประเทศไทยจะมีการตรวจ 2 แล็ป ถึงจะยืนยันว่าติดเชื้อโควิดหรือไม่ เพื่อให้แน่ใจผลการตรวจตรงกัน หลังจากกรมวิทย์ฯ สร้างเครือข่าย เราก็มีเกณฑ์กำหนดห้องแล็ปใดสามารถตรวจหาเชื้อได้ ทำให้ขณะนี้จาก 150 ห้องปฏิบัติการ เราสามารถตรวจตัวอย่างได้กว่า 2.2 แสนตัวอย่าง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆุุ วันนี้ สามารถตรวจเชื้อได้สัปดาห์ละ ุุ6 พันกว่าตัวอย่าง มากกว่าเมื่อต้นเดือนเมษายนถึง 2 เท่า"
นายแพทย์โอภาส กล่าวถึงวิธีการตรวจด้วย วิธี RT - PCR ในห้องแล็ป จะมีตัวควบคุม เปรียบเทียบเสมอ โดยมี 2 แบบ 1.negative control (กลุ่มควบคุมแบบลบ) ปกติจะใช้น้ำเปล่า และ 2.positive control (กลุ่มควบคุมแบบบวก) กรณีที่จังหวัดยะลา พบว่า มีการดำเนินตามมาตรฐาน พบว่า ตอนตรวจ ตัวเปรียบเทียบที่เป็นลบ คือน้ำเปล่า ปรากฎว่า เจอเชื้อ แสดงว่า มีเหตุการณ์ปกติเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ห้องแล็ปต้องหยุดตรวจและรายงานให้จังหวัดรับทราบ และหาสาเหตุ
"แล็ปของรพ.ยะลา ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ให้บริการประชาชนในจังหวัดยะลาไปแล้วกว่า 4 พันตัวอย่าง ใน 1 เดือนที่ผ่านมา เป็นการปฏิบัติที่มีมาตรฐานการดำเนินการ"
ส่วนสาเหตุทำไม เกิดผลบวกขึ้นมานั้น อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ห้องปฏิบัติการสามารถเกิดความผิดพลาด (error)ได้เสมอ หลักๆ มาจาก ความผิดพลาดที่เกิดจากมนุษย์ ความผิดพลาดที่เกิดจากกเครื่องมือ และความผิดพลาดของระบบ ฉะนั้นเมื่อเกิดเราต้องหาทางป้องกันทางห้องปฎิบัติการ ซึ่งรพ. ยะลา สามารถตรวจจับความผิดพลาดได้ และดำเนินการตามมาตรฐาน
"ทุกแล็ปไม่ได้แปลว่า ต้องได้ผลเหมือเดิมหรือซ้ำเดิมเสมอไป มีผิดพลาดได้เสมอ แม้แต่แล็ปมาตรฐานช่วงแรกๆ ก็มีผลตรวจไม่ตรงกันหลายครั้ง วิธีปฏิบัติ คือ นำตัวอย่างมาตรวจซ้ำ ที่ผ่านมาทำให้เราสามารถสรุปได้ว่า ตัวอย่างนั้นๆ พบ หรือไม่พบเชื้อ การเฝ้าระวังเชิงรุกในชุมชนที่ยะลา ก็เพื่อให้แน่ใจว่า ไม่มีผู้ติดเชื้อไม่มีอาการในชุมชน การแปรผลห้องแล็ปจึงเป็นเครื่องมือหนึ่ง ช่วยวินิจฉัย ธรรมชาติการเกิดโรค การเฝ้าระวังเชิงรุก ปกติส่วนใหญ่โอกาสเจอผู้ป่วยไม่เกิน 5% เมื่อไหร่หากพบผิดปกติต้องสอบทานรายงานกัน ซึ่งตรงกับยะลาที่ดำเนินการ ขณะนี้คณะผู้เชี่ยวชาญลงไปช่วยห้องแล็ปว่าเกิดอะไรขึ้น ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต แล็ปกรมวิทย์ต่อไป"