‘SCB EIC’ หนุนรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม หลังกนง.ประเมินเศรษฐกิจปี 63 ติดลบ 5.3% พร้อมประเมิน กนง.จะลดดอกเบี้ยอีก 0.25% ภายในไตรมาส 2 ขณะที่ ‘ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’ คาดเศรษฐกิจจีนไตรมาส 1 ติดลบ กดดันเศรษฐกิจจีนทั้งปี 63 โตเพียง 1-3%
เมื่อวันที่ 26 มี.ค. ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ออกบทวิเคราะห์ โดยระบุว่า แม้ว่าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา จะมีมติ 4 ต่อ 2 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.75% แต่อีไอซีประเมินว่า กนง.มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% ภายในไตรมาส 2 ปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวรุนแรงและมากกว่าที่คาดไว้
“ตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจปี 2563 ของ ธปท.ที่ออกมาติดลบ 5.3% ได้เน้นย้ำถึงแนวโน้มการหดตัวอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจไทย ซึ่ง EIC มองว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมยังมีความจำเป็นเพื่อช่วยส่งเสริมการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศต่อไป รวมทั้งเป็นการช่วยผ่อนคลายภาวะการเงินไทยที่ตึงตัวขึ้นมากเมื่อเทียบกับช่วงก่อนระบาดของไวรัส COVID-19” บทวิเคราะห์อีไอซีระบุ
อีไอซียังมองว่า ในระยะต่อไป มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐจะยังมีความจำเป็น ทั้งนี้ แม้ว่ามาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อที่ทางธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) ได้ออกมาล่าสุดนั้น จะเป็นการลดภาระด้านรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อทั้งรายจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้น ซึ่งช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการได้บ้าง
อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ผู้ประกอบการและครัวเรือนยังต้องเผชิญอยู่ คือ การขาดหายไปของรายได้ (income shock) และอุปทานของสินค้าและบริการที่ชะงักไป (supply disruption)
“อีไอซีประเมินว่า เพื่อประคับประคองอุปสงค์ในประเทศในช่วงที่เศรษฐกิจไทยยังได้รับผลกระทบจาก COVID-19 และสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี ภาครัฐยังมีความจำเป็นต้องออกมาตรการทางการคลังเพิ่มเติมโดยเฉพาะมาตรการชดเชยรายได้ให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ซึ่งอาจพิจารณาขยายระยะเวลาของมาตรการที่ออกไป เพิ่มวงเงินมาตรการเดิม หรือการขยายขอบเขตผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์ เป็นต้น”อีไอซีระบุ
ด้าน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ล่าสุดว่า มีความเป็นไปได้สูงที่เศรษฐกิจจีนไตรมาส 1/2563 จะติดลบ เนื่องจากมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ของทางการจีน นับตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ม.ค. 2563 เป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งปิดเมืองในมณฑลหูเป่ย รวมถึงเมืองไท่โจวและบางส่วนของหางโจวในมณฑลเจ้อเจียง มีส่วนทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนต้องชะงักงัน โดยมูลค่าจีดีพีของเมืองเหล่านี้อยู่ที่ 5% ของจีดีพีของจีน
ก่อนหน้านี้ นักเศรษฐศาสตร์จากหลายสถาบันของโลก ได้ประเมินอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในไตรมาส 1/2563 ใหม่ โดยบางรายประเมินว่า มีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงที่จีดีพีของจีนจะหดตัวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลสถิติมา โดยเฉพาะสำนักข่าว Bloomberg มองว่าเศรษฐกิจจีนไตรมาส 1/2563 จะติดลบถึง 11% หลังจาก 2 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.พ.2563) มูลค่าค้าปลีกของจีนหดตัว 20.5% ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัว 13.5% เป็นต้น
“มาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจจีนในไตรมาส 1/2563 นั้น คาดว่าจะเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราวที่กดดันศรษฐกิจจีนทั้งปี 2563 โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในจีนที่ดีขึ้นมาก และไม่พบการติดเชื้อในประเทศเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 มี.ค.2563 นับเป็นสัญญาณที่ดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยเฉพาะการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชน”บทวิเคราะห์ระบุ
อย่างไรก็ดี พัฒนาการของการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 นอกประเทศจีนที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะชะลอลงอาจกดดันการส่งออกของจีน สะท้อนได้จากตัวเลข new exports order ซึ่งเป็นส่วนประกอบหนึ่งของดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ในเดือน ก.พ. 2563 ที่ลดต่ำสุดนับตั้งแต่เคยจัดเก็บมา ซึ่งอาจมีผลต่อภาคการผลิตของจีนในไตรมาส 2/2563 และอาจลากยาวไปถึงไตรมาสที่ 3/2563 ได้ หากนานาประเทศยังไม่สามารถสกัดการระบาดของไวรัสได้
ดังนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในช่วงไตรมาสที่เหลือของปี 2563 จะยังคงต่ำกว่าอัตราการขยายตัวของจีดีพีในช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่แต่ละไตรมาสสามารถโตได้ราว 6% ซึ่งส่งผลทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนทั้งปี 2563 อาจขยายตัวชะลอลงมาอยู่ในกรอบ 1-3% ลดลงจากปี 2562 ที่เศรษฐกิจจีนขยายตัวได้ 6.1%
ทั้งนี้ ในปี 2562 จีนเป็นตลาดส่งออกสินค้าอันดับ 3 ของไทย โดยมูลค่าการส่งออกไทยไปจีนอยู่ที่ 29,172.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วน 11.8% ของมูลค่าส่งออกรวม ส่วนตลาดส่งออกอันดับ 1 คือ อาเซียน (9) มูลค่า 62,903.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 25.5% อันดับสอง คือ ตลาดสหรัฐ มูลค่า 31,342.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 12.7%
ขณะที่ในช่วง 2 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-ก.พ.2563) ไทยส่งออกสินค้าไปจีน มูลค่า 4,348.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 1.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทยยังคงเป็นอาเซียน (9) มูลค่า 10,450.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 4% รองลงมาเป็นตลาดสหรัฐ 5,111.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ติดลบ 19.9%
อ่านประกอบ :
กนง.มีมติ 4 ต่อ 2 คงดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% หั่นจีดีพีปี 63 ติดลบ 5.3%
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage