สศช.หั่นคาดการณ์จีดีพีปี 63 เหลือ 1.5-2.5% จากเดิม 2.7-3.7% เซ่นผลกระทบ ‘ไวรัสโควิด-ภัยแล้ง-งบช้า’ พร้อมลดเป้าส่งออกเหลือ 1.4% คาดการระบาดของไวรัสทำนักท่องเที่ยวต่างชาติหาย 3.7 ล้านคน
เมื่อวันที่ 17 ก.พ. นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/2562 และแนวโน้มปี 2563 ว่า เศรษฐกิจไตรมาส 4/2562 ขยายตัวเพียง 1.6% จากการลงทุนภาครัฐที่ติดลบ 5.1% และการส่งออกที่ติดลบ 4.9% แม้ว่าการบริโภคและการใช้จ่ายเอกชนจะปรับตัวดีขึ้นก็ตาม ส่งผลให้เศรษฐกิจปี 2562 ขยายตัว 2.4% ต่ำกว่าเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.6%
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2563 คาดว่าจะขยายตัวได้เพียง 1.5-2.5% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 2.7-3.7% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ปัญหาภัยแล้ง และความล่าช้าของงบประมาณ
ทั้งนี้ ในเบื้องต้น สศช. ประเมินว่าผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 จะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติไตรมาส 1/2563 ลดลง 3.4 ล้านคน หรือลดลง 31.5% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2563 ส่วนไตรมาส 2/2563 นักท่องเที่ยวจะลดลง 3.74 แสนคน เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2562 ซึ่งการประเมินดังกล่าวเป็นการเปรียบเทียบกับบทเรียนโรคซาร์ส ส่วนผลกระทบภัยแล้งคาดว่าจะทำให้จีดีพีภาคเกษตรลดลง 5%
ส่วนแนวโน้มการส่งออกในปี 2563 คาดว่าจะขยายตัว 1.4% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 2.3% และการลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัว 4.8% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 6.5% โดยเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงกว่าทั้งปี 2562 ที่การลงทุนภาครัฐขยายตัวเพียง 0.2% ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัว 3.2% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 4.2% ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงกว่าปี 2562 ที่การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 2.8%
นอกจากนี้ ในส่วนการบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัว 3.5% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 3.7% และเป็นอัตราการขยายตัวที่ชะลอลงจากปี 2562 ที่การบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 4.5%
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจปี 2563 มีปัจจัยสนับสนุนจาก 1.การปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจและการค้าโลกตามการลดลงของแรงกดดันจากมาตรการกีดกันการค้าและความเสี่ยงจากการแยกตัวของสหราชอาณาจักรแบบไร้ข้อตกลง 2.การขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจของการใช้จ่ายภาคครัวเรือน และการลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐ 3.แรงขับเคลื่อนจากมาตรการภาครัฐ และ4.ฐานการขยายตัวที่ต่ำในไตรมาสสุดท้ายของปี 2562
ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ได้แก่ การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอน ประเด็นสงครามการค้าที่ต้องติดตามต่อไป โดยเฉพาะความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและสหภาพยุโรป (อียู) และการดำเนินการตามข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ที่อาจมีปัญหาอุปสรรคและทำให้ความตึงเครียดมากขึ้น สถานการณ์ภัยแล้งอาจรุนแรงกว่าที่คาด รวมถึงการชะลอตัวและปัญหาเสถียรภาพเศรษฐกิจรุนแรงของบางประเทศ เช่น จีน อาร์เจนตินา และกรีซ เป็นต้น
นายทศพร กล่าวว่า สำหรับประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงปี 2563 รัฐบาลควรให้ความสำคัญใน 6 ประเด็น ได้แก่ 1.การประสานนโยบายการเงินการคลัง เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจในครึ่งปีแรก และสนับสนุนการฟื้นตัวและกำรขยำยตัวในครึ่งปีหลัง
2.การฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว ให้สามารถกลับมาขยายตัวในครึ่งปีหลัง โดยมีจำนวนและรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีไม่ต่ำกว่า 37.0 ล้านคน และ 1.73 ล้านล้านบาท ตามลำดับ
โดยการยกเว้นค่าธรรมเนียมและค่าปรับกรณีผิดนัดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ไม่สามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 การรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวไทยหันมาท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น การจัดกิจกรรมท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นกำรท่องเที่ยวในช่วงครึ่งหลังของปี การพิจารณาวันหยุดเพิ่มเติมในช่วงครึ่งปีแรก โดยไม่กระทบต่อกิจกรรมเศรษฐกิจ และติดตามขับเคลื่อนมาตรการสนับสนุนการท่องเที่ยว
3.การขับเคลื่อนการส่งออกให้สามารถกลับมาขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 2% (ไม่รวมทองคำ) โดยมุ่งเน้นการขับเคลื่อนแผนการส่งออกปี 2563 การให้ความสำคัญกับการส่งออกสินค้าที่ได้รับประโยชน์จากการเบี่ยงเบนทางการค้าและสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 การให้ความช่วยเหลือผู้ผลิตที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตและการค้าไทย-จีน และการเร่งรัดการเจรจาความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สำคัญๆ
4.การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ โดยการเร่งรัดการเบิกจ่ายเพื่อให้สามารถเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 งบประมาณเหลื่อมปี และงบลงทุนรัฐวิสำหกิจไม่ต่ำกว่า 91.2% 70% และ75% ตามลำดับ
5.การสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดยการติดตามและขับเคลื่อนมาตรการเพื่อสนับสนุนการลงทุน การขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ การเร่งรัดการเจรจาความร่วมมือทางการค้าที่สำคัญๆ และการแก้ไขปัญหาอุปสรรคการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการต่างชาติ
และ6.การดูแลผู้มีรายได้น้อย ผู้ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง การลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยว และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจโดยให้ความสำคัญมากขึ้นกับกลุ่มเกษตรกรที่ทำงานในภาคบริการในช่วงนอกฤดูการเพาะปลูกและฤดูการเก็บเกี่ยว กลุ่มพนักงานในสาขาการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs การเร่งรัดเบิกจ่ายเงินชดเชย และการฟื้นฟูเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจำกภัยแล้ง และการบริหารจัดการน้ำ
อ่านประกอบ :
‘ไวรัสอู่ฮั่น’ สะเทือนขวัญแรงงาน ‘ไกด์ทัวร์’ เตะฝุ่น 1 หมื่น-ลูกจ้างรายวัน 4 แสนคน สูญรายได้
สถิติฯเผยผู้ว่างงานเดือนธ.ค.เพิ่ม 5.16% ยอดตกงานเหตุ ‘ปิดกิจการ’ พุ่ง 965%
กระสุนพร้อม! ส่องแผนคลัง 5 ปี 'รบ.บิ๊กตู่' ชงกู้เงินเฉียด 4.4 ล้านล. หนุนลงทุน-กระตุ้นศก.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/