บ.ผู้ผลิตเพกาซัสสปายแวร์ยืนยันบริษัททำงานอย่างมีความรับผิดชอบ มุ่งเน้นเทคโนโลยีเพื่อต่อต้านอาชญากรรมเท่านั้น หลังศาลแพ่งมีคำพิพากษายกฟ้องคดี “ไผ่ ดาวดิน” ขอให้ชดใช้ อ้างถูกสอดแนม ขณะกลุ่มแอมเนสตี้คำพิพากษาเป็นเรื่องที่น่าตกใจอย่างยิ่ง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวกรณีสืบเนื่องจากที่ศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาให้ยกฟ้องคดีที่นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือที่รู้จักกันในชื่อ 'ไผ่ดาวดิน' เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัทบริษัท เอ็นเอสโอ กรุ๊ป เทคโนโลยี จำกัด (N.S.O. GROUP TECHNOLOGIES LTD.) ผู้ผลิตเพกาซัสสปายแวร์ เป็นจำเลย โดยคดีนี้ฝ่ายโจทก์ขอให้บริษัทผู้ผลิตเพกาซัสสปายแวร์ ต้องชดใช้กับฝ่ายโจทก์ที่ได้รับความเสียหาย เนื่องจากอ้างว่าถูกจารกรรมข้อมูลส่วนบุคคล อย่างไรก็ตามศาลแพ่งมีคำพิพากษายกฟ้องเนื่องจากมองว่าโจทก์ไม่สามารถหาพยานหลักฐานมายืนยันเพียงพอได้ว่าโทรศัพท์ของตัวเองถูกโจมตี
โดยหลังจากที่มีคำพิพากษา ทางด้านของบริษัท เอ็นเอสโอ กรุ๊ป ได้ออกมากล่าวว่ามีความยินดีที่คำพิพากษาออกมาแบบนี้ และกล่าวย้ำในแถลงการณ์ยืนยันว่า “ไม่มีหลักฐานที่สนับสนุนการเรียกร้องต่อบริษัทของเรา”
“เรายังคงมุ่งมั่นที่จะใช้เทคโนโลยีของเราอย่างมีความรับผิดชอบ โดยมอบเทคโนโลยีให้กับหน่วยงานของรัฐเพื่อป้องกันอาชญากรรมร้ายแรงและการก่อการร้ายโดยเฉพาะ” นายกิล เลเนอร์ (Gil Lainer) กล่าวในอีเมลที่ส่งให้กับสำนักข่าวเอพี
นายเลเนอร์กล่าวย้ำว่าเอ็นเอสโอดำเนินการภายใต้กรอบการกํากับดูแลและมาตรฐานทางจริยธรรมที่เข้มงวด และเราจะยังคงร่วมมือกับหน่วยงานรัฐเพื่อให้แน่ใจว่าผลิตภัณฑ์ของเราถูกใช้อย่างถูกกฎหมายและมีประสิทธิภาพ
อนึ่งกรณีข้อครหาเกี่ยวกับบริษัทเอ็นเอสโอ ที่ประเทศไทยดังกล่าวเริ่มต้นมาจากเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา โดยภาคประชาสังคมไทยได้แก่กลุ่มไอลอว์,กลุ่มองค์กรเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตของไทยชื่อว่า DigitalReach และกลุ่มเฝ้าระวังอินเทอร์เน็ตจากแคนาดาชื่อว่า Citizen Lab หรือซิติเซ่นแล็บ พบว่ามีบุคคลจำนวนอย่างน้อย 35 รายในประเทศไทยที่ตกเป็นเป้าการเฝ้าระวังจากทางรัฐบาล โดยมีการใช้เพกาซัสสปายแวร์สอดแนมคนกลุ่มนี้ตั้งแต่ปี 2563-2564 โดยเหยื่อส่วนใหญ่เป็นนักเคลื่อนไหวและนักวิชาการ
ขณะที่นักกิจกรรมคนอื่นๆ กล่าวหาว่าหน่วยงานของรัฐบาลไทยอยู่เบื้องหลังการใช้เพกาซัส แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้ให้ความเห็นโดยตรงเกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อถูกกดดันจากฝ่ายค้านในช่วงปี 2565 รัฐบาลไทยยอมรับว่าหน่วยงานของรัฐใช้เพกาซัสเพื่อกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับ "ความมั่นคงหรือยาเสพติด"
ทั้งนี้หลังจากที่มีคำพิพากษาศาลแพ่งออกมา ทางด้านของนายจตุภัทร์ได้ออกมากล่าวแสดงความไม่เห็นด้วยต่อคำพิพากษาโดยกล่าวว่า เราต่อสู้เพราะเราต้องการพิสูจน์ว่ากฎหมายจะคุ้มครองใคร" เห็นได้ชัดว่าวันนี้ศาลเลือกที่จะปกป้องความมั่นคงของรัฐ
ทางด้านของ น.ส.สุธาวัลย์ ชั้นประเสริฐ จาก DigitalReach ได้กล่าวว่าคำพิพากษานั้นน่าผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง โดยเธอกล่าวว่า “คิดว่าเรื่องนี้มีบทเรียนที่ได้เรียนรู้ ฉันคิดว่าเหตุผลที่ศาลให้ไว้จะช่วยให้เราเตรียมตัวได้ดีขึ้นสําหรับคดีในอนาคต”
ส่วนกลุ่มแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งได้ออกแถลงสนับสนุนการฟ้องร้องของนายจตุภัทร์ และได้ดำเนินการสอบสวนการใช้เพกาซัสสปายแวร์ ทั่วโลกกล่าวว่าผลคำพิพากษานั้นเป็นสิ่งที่น่าตกใจอย่างยิ่ง
“อย่างไรก็ตาม มันจะไม่ยับยั้งการต่อสู้กับการใช้สปายแวร์อย่างผิดกฎหมายและการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมให้กับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของสปายแวร์ในประเทศไทยและที่อื่นทั่วโลก” แถลงการณ์แอมเนสตี้ระบุ
อนึ่งบริษัทเอ็นเอสโอ กรุ๊ป ได้เคยกล่าวในช่วงก่อนหน้านี้แล้วว่าบทบาทของบริษัทนั้นแค่ดำเนินการพัฒนาสปายแวร์เท่านั้น และไม่ได้เข้าไปควบคุมการใช้งานแต่อย่างใด ผลิตภัณฑ์ของบริษัทรวมถึงซอฟแวร์เพกาซัส โดยทั่วไปแล้วจะได้รับอนุญาตจากหน่วยข่าวกรองของรัฐบาลและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายเพื่อสืบสวนการก่อการร้ายและอาชญากรรมร้ายแรง ตามเว็บไซต์ของบริษัทระบุ
เรียบเรียงจาก:https://www.irvinetimes.com/news/national/24742694.thai-court-dismisses-suit-israeli-spyware-producer-lack-evidence/