ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 ไม่รับคำร้อง ‘ธีรยุทธ สุวรรณเกษร’ ร้อง ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี กับ ‘พรรคเพื่อไทย’ ใช้สิทธิและเสรีภาพล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เอื้อประโยชน์เจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ขณะที่ ประเด็นชั้น 14 - พรรคร่วมเข้าบ้านจันทร์ส่องเหล้า มติเอกฉันท์ไม่รับไว้พิจารณาวินิจฉัย ชี้ ยังไม่มีน้ำหนักพยานหลักฐานเพียงพอ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 22 พฤศจิกายน 2567 เว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญ ได้เผยแพร่เอกสารข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ (Press Release) ข่าวที่ 45/2567 ถึงผลการพิจารณาคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ของนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ผู้ร้อง ที่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า นายทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกร้องที่ 1 กับพรรคเพื่อไทย ผู้ถูกร้องที่ 2 ร่วมกันกระทำการอันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติมีมติเอกฉันท์ไม่รับไว้พิจารณาวินิจฉัยในประเด็นที่ 1 และประเด็นที่ 3 ถึงประเด็นที่ 6 เนื่องจากเห็นว่า ยังไม่มีน้ำหนักพยานหลักฐานเพียงพอ สำหรับประเด็นที่ 2 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย
สำหรับประเด็น 6 ประเด็น ได้แก่
- ประเด็นที่ 1 ผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการรัฐบาลผ่านกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ และโรงพยาบาลตำรวจตำรวจ ให้เอื้อประโยชน์แก่ผู้ถูกร้องที่ 1 ให้พักอาศัยอยู่ห้องพัก ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ในระหว่างรับโทษจำคุก เพื่อให้ไม่ต้องรับโทษในเรือนจำ ทั้งที่ไม่พบว่ามีอาการป่วยขั้นวิกฤต
- ประเด็นที่ 2 ผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการรัฐบาลให้เอื้อประโยชน์แก่อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศกัมพูชาให้มีการเจรจาพื้นที่ทับช้อนทางทะเลเพื่อแบ่งผลประโยชน์ก๊าซธรรมชาติและทรัพยากรใต้ทะเลในเขตอธิปไตยทางทะเลของประเทศไทยให้แก่ประเทศกัมพูชา
- ประเด็นที่ 3 ผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 2 ร่วมมือเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญกับพรรคประชาชนซึ่งเป็นพรรคที่ก่อตั้งโดยกลุ่มการเมืองของพรรคก้าวไกลเติมที่ต้องคำวินิจฉัยศาลรัฐธธรรมนูญว่ามีพฤติการณ์ล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
- ประเด็นที่ 4 ผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการแทนผู้ถูกร้องที่ 2 โดยเจรจากับแกนนำของพรรคการเมืองอื่น
ที่ร่วมรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือการเสนอชื่อบุคคลผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่บ้านพักส่วนตัวของผู้ถูกร้องที่ 1 - ประเด็นที่ 5 ผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 2 มีมติขับพรรคพลังประชารัฐออกจากพรรคร่วมรัฐบาล
- ประเด็นที่ 6 ผู้ถูกร้องที่ 1 สั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 2 นำนโยบายของผู้ถูกร้องที่ 1 ที่แสดงวิสัยทัศน์ไว้ไปดำเนินการให้เป็นนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภา
เอกสารข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า สำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก จำนวน 7 คน คือ 1.นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ 2.นายปัญญา อุดชาชน 3.นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม 4.นายวิรุฬห์ แสงเทียน 5.นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ 6.นายอุดม รัฐอมฤต และ 7.นายสุเมธ รอยกุลเจริญ เนื่องจากเห็นว่า ยังไม่มีน้ำหนักพยานหลักฐานเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองน่าจะทำให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกตรองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง
ขณะที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย จำนวน 2 คน คือ 1.นายจิรนิติ หะวานนท์ และ 2.นายนภดล เทพพิทักษ์ เพราะเห็นว่า มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองน่าจะทำให้เกิดผลเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรดหนึ่ง ที่ศาลรัฐธรรระรับไว้พิจารณาวินิจฉัยได้