‘ปกรณ์ นิลประพันธ์’ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา แนะ ‘เอ็มโอยู2544’ ยกเลิก ได้ แต่ไม่ควร ติง ใช้คำว่า ‘พื้นที่ทับซ้อน’ ไม่ได้ ต้องใช้ ‘พื้นที่อ้างสิทธิ์’ เพราะไม่เป็นผลดีต่อประเทศในระยะยาว-เอาไปอ้าง ‘ศาลโลก’ ได้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีเรียกร้องให้ยกเลิกบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ฉบับลงวันที่ 18 มิถุนายน 2544 หรือ ‘MOU2544’ สามารถยกเลิกฝ่ายเดียวได้หรือไม่ ว่า ตามหลักการการทำเอ็มโอยูมีจุดเริ่มต้นมาจากสองประเทศว่าจะคุยกันเรื่องอะไร ไม่ใช่อยู่ที่ว่าเราเป็นคนริเริ่มทำและทำฝ่ายเดียว แต่เป็นการร่วมกันทำ ถามว่าการยกเลิกเอ็มโอยูฝ่ายเดียวทำได้หรือไม่ ตอบว่าทำได้ แต่ควรหรือไม่คือ ไม่ควร เนื่องจากมีผลกระทบมาก ต้องให้เกียรติกัน เราเริ่มมาด้วยกัน เวลาจะยกเลิก หลักการคือจะต้องพูดคุยกัน
“เรื่องดินแดนทับซ้อนกันไม่ได้ ดินแดนใครดินแดนมัน แต่ในระหว่างเรากับประเทศเพื่อนบ้าน พื้นที่ที่ยังคุยกัน ไม่ตกลงว่าเป็นดินแดนของใครจะใช้คำว่าทับซ้อนไม่ได้ มันผิด ต้องใช้คำว่าพื้นที่อ้างสิทธิ ต่างคนต่างอ้าง เพราะฉะนั้น เอ็มโอยูที่ทำขึ้นกับประเทศเพื่อนบ้าน เราไม่ได้บอกว่าอันนี้ของเรา อันนี้ของเขา แต่เป็นเรื่องที่เราตกลงกันว่าอันนี้เราจะคุยกันถึงแนวทางการกำหนดแนวเขตที่ชัดเจน แต่ก็ยังไม่เป็นที่ยุติ เป็นเพียงกรอบการหารือ”นายปกรณ์กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า การใช้คำว่าพื้นที่ทับซ้อนในทางกฎหมายจะเสียเปรียบใช่หรือไม่ นายปกรณ์กล่าวว่า ในกฎหมายระหว่างประเทศอาจมีผล ตนแนะนำให้สื่อมวลชนใช้คำว่าพื้นที่อ้างสิทธิ เพราะต่างคนต่างอ้าง ตอนนี้ยังไม่ได้มีของใครเป็นของใครแน่ จะแบ่งกันอย่างไร และการใช้คำว่าทับซ้อน ตนคิดว่าไม่เป็นผลดีต่อประเทศในระยะยาว เนื่องจากจะมีคนเอาไปอ้างหากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นต้องไปขึ้นองค์กรระหว่างประเทศเพื่อวินิจฉัย ก็จะหยิบยกไปอ้างได้ แต่หากเราคุยกันเป็นพื้นที่ต่างคนต่างอ้างสิทธิ มองว่าเป็นประโยชน์กับประเทศมากกว่า และจะเป็นผลดีต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากกว่า ตนพูดในแง่ทางวิชาการ ไม่มีการเมือง ขณะที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ใช้คำว่าพื้นที่อ้างสิทธิมาตลอด ไม่เคยใช้คำว่าพื้นที่ทับซ้อน