คณะกรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร มีมติ ดูงานจัดการแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพในระดับนานาชาติ สหราชอาณาจักร เดือนเมษายน 2568 ‘ชิตวัน ชินอนุวัฒน์’ รองประธานกมธ. ปฏิเสธ-ยังไม่สะเด็ดน้ำ ให้ไปถาม ‘ปริญญา ฤกษ์หร่าย’ ประธานกมธ.กีฬา โดยตรง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2567 การประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กีฬา สภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 34 ที่มีนายปริญญา ฤกษ์หร่าย สส.กำแพงเพชร เขต 4 พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานคณะกรรมาธิการ ได้มีการพิจารณาระเบียบวาระที่ 4 เรื่องอื่น ๆ วาระที่ 4.1 พิจารณาเรื่องการเดินทางไปศึกษาดูงานต่างประเทศของคณะกรรมาธิการ
โดยที่ประชุมมีมติเดินทางไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับการบริหารจัดการสถานที่จัดการแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพในระดับนานาชาติ ณ สหราชอาณาจักร ในช่วงเดือนเมษายน 2568 โดยจะมีการหารือในรายละเอียดต่อไป
นายชิตวัน ชินอนุวัฒน์ สส.เชียงราย เขต 1 พรรคประชาชน ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่สอง ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราถึงที่มาและที่ไป รวมถึงเหตุผลที่ต้องไปดูงานดังกล่าว และขอให้ไปถามนายปริญญา ประธานคณะกรรมาธิการกีฬา โดยตรง
นายชิตวันกล่าวว่า การหารือดังกล่าว ยังไม่สะเด็ดน้ำ โดยขอให้ไปถามประธานกรรมาธิการกีฬา เพราะมีอำนาจโดยตรง ส่วนการจะไปดูงานที่ไหน อย่างไร เป็นการประชุมร่วมกันของกรรมาธิการ ทุกอย่างเป็นมติของที่ประชุม
รายงานข่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนมีมติดูงานดังกล่าว คณะกรรมาธิการกีฬาได้มีการพิจารณาระเบียบวาระที่ 3 เรื่องพิจารณาศึกษาแนวโน้มและทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมการกีฬาของประเทศไทย โดยได้เชิญกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาชี้แจง
โดยกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ได้มีข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมของประเทศไทย โดยเป็นการศึกษาและรวบรวมข้อมูลจากบุคลที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมกีฬา ดังนี้
- พัฒนาและส่งเสริมผลิตภัณฑ์กีฬาของไทยให้เป็นที่ยอมรับ และสามารถแข่งชันได้ในระดับสากล
- พัฒนารายการแข่งขันทีเป็นของประเทศไทย (เป้าหมายระยะยาว)โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำงานร่วมกันในเชิงบูรณาการเพื่อวิเคราะห์ชนิดกีฬาและพื้นที่ที่จัดการแข่งขันกีฬาที่เหมาะสม
- เป็นตัวกลางในการจัดทำฐานข้อมูลผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมกีฬา เพื่อทำการพัฒนาและส่งเสริมทักษะและขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการกีฬาทุกกลุ่ม
- จัดหาโครงสร้างพื้นฐานด้านการกีฬาที่จำเป็น เช่น สนามกีฬา สถานเรียนและฝึกกีฬาสถานที่ท่องเที่ยวเชิงกีฬาให้ครอบคลุมพื้นที่ของประเทศ โดยต้องเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ได้มาตรฐานคุณภาพและมีความปลอดภัยครอบคลุมชนิดกีฬาที่หลากหลาย
- เร่งพัฒนาทักษะที่จำเป็นในทุกมิติให้แก่ผู้จัดการแข่งขันกีฬาตามเป้าหมายที่วางไว้และสามารถดำเนินการได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้มีการกล่าวถึงตลาดอุตสาหกรรมกีฬาโลกที่มีมูลค่าประมาณ 538 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ โดยคาดการณ์ว่าจะเติบโตต่อเนื่องทุกปีระยะยาวจะมีมูลค่าประมาณ 623 และ 862 พันล้านเหรียญสหรัฐ ช่วงระหว่างปี ค.ศ.2027-ค.ศ.2033 ขณะที่อุตสาหกรรมกีฬาของไทยครึ่งปีแรกของปี 2567 เติบโตต่อเนื่องจากปี 2566 เป็นไปตามแนวโน้มอุตสาหกรรมกีฬาโลก
ประเทศไทยได้มีการจัดทำบัญชีประชาชาติด้านการกีฬา โดยสำนักงานเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมถึงข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยตัวชี้วัดในแผนการพัฒนาการกีฬาแห่งชาติเป็นตัวเลขจีดีพีในสัดส่วนด้านกีฬา ในปี 2566 มีมูลค่าประมาณ 109,441 ล้านบาท โดยกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬาคาดการณ์ว่า ในปี 2567 จะเพิ่มขึ้นประมาณ 2 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1 ต่อจีดีพี
ขณะที่การจ้างงานในอุตสาหกรรมกีฬาในปี 2566 อยู่ที่ประชุม 356,000 คน คาดการณ์ว่าใน พ.ศ.2567 จะมีการจ้างงานเพิ่มประมาณ 4 แสนคน และประเมินว่า อุตสาหกรรมเกี่ยวกับโรงแรม ที่พักและร้านอาหารจะได้รับอานิสงส์มูลค่าสูงสุดประมาณ 1 แสนล้านบาท
สำหรับรายนามของคณะกรรมาธิการการกีฬา ประกอบด้วย
- นายปริญญา ฤกษ์หร่าย ประธานคณะกรรมาธิการ
- นายจิรวัฒน์ ศิริพานิชย์ รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่หนึ่ง
- นายชิตวัน ชินอนุวัฒน์ รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่สอง
- นายวิชัย สุดสวาสดิ์ รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่สี่
- นายมนัสนันท์ หลีนวรัตน์ รองประธานคณะกรรมาธิการ คนที่ห้า
- นายวัชระพล ขาวขำ โฆษกคณะกรรมาธิการ
- นายองอาจ ฉัตรชัยพลรัตน์ โฆษกคณะกรรมาธิการ
- นายวิทวิสิทธิ์ ปันสวนปลูก โฆษกคณะกรรมาธิการ
- นายพิชัย แจ้งจรรยาวงศ์ กรรมาธิการ
- นายธเนศ เครือรัตน์ กรรมาธิการ
- นางนุชนาถ จารุวงษ์เสถียร กรรมาธิการ
- นายสุไลมาน บือแนปีแน กรรมาธิการ
- นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ กรรมาธิการ
- นางสุพัชรี ธรรมเพชร เลขานุการคณะกรรมาธิการ